xs
xsm
sm
md
lg

อะเมซิ่ง 8 ชุมชนจีนชื่อดัง อวลไออดีต เปี่ยมเสน่ห์จิตวิญญาณแห่งมังกร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

Youtube :Travel MGR

เยาวราชเป็นชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนที่ใหญ่ที่สุดในไทย
“เทศกาลตรุษจีน” หรือ “วันปีใหม่จีน” ถือเป็นเทศกาลที่สำคัญที่สุดของชาวจีนที่กำลังจะเวียนมาถึงอีกครั้งในวันเสาร์ที่ 25 มกราคม 2563 นี้ ซึ่งในหลายๆ พื้นที่ของไทยที่เป็นชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนก็จะมีการจัดงานเฉลิมฉลองและมีพิธีต่างๆ เพื่อเซ่นไหว้ขอบคุณและขอพรจากเทพเจ้า และบรรพบุรุษที่ล่วงลับ พร้อมขอให้คุ้มครองลูกหลานให้ประสบโชคดีมีชัยไปตลอดทั้งปี

ในโอกาสนี้จึงขอนำเสนอเรื่องราวของชุมชนชาวจีน 8 แห่งในเมืองไทยที่มีเสน่ห์น่าสนใจ เผื่อว่าใครอยากจะไปเที่ยวชมในวันหยุดตรุษจีนนี้กัน

มีสินค้าจากประเทศจีนให้เลือกซื้อที่ตลาดเก่าเยาวราช
“เยาวราช” กรุงเทพฯ

เมื่อพูดถึงชุมชนชาวจีนที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย ต้องยกให้ “เยาวราช” ชุมชนชาวจีนที่เต็มไปด้วยเรื่องราวเล่าขานประวัติศาสตร์ชุมชนขาวจีนอันเปี่ยมเสน่ห์

ไชน่าทาวน์เยาวราชถือกำเนิดขึ้นในต้นแผ่นดินรัตนโกสินทร์ เมื่อรัชกาลที่ ๑ ทรงสถาปนากรุงเทพมหานครใน พ.ศ.2325 และมีพระราชดำริจะสร้างพระบรมมหาราชวัง ณ บริเวณระหว่างวัดโพธิ์และวัดมหาธาตุซึ่งขณะนั้นเป็นที่อยู่อาศัยของชาวจีน พระองค์โปรดเกล้าฯให้เวนคืนที่ดินบริเวณนั้นและพระราชทานที่ดินซึ่งเป็นที่สวนริมแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างลงไป คือบริเวณวัดสามปลื้ม (วัดจักรวรรดิราชาวาส) ลงไปจนถึงวัดสามเพ็ง (วัดปทุมคงคา) ให้แก่กลุ่มชาวจีน และในเวลาต่อมาชุมชนสามเพง หรือ “สำเพ็ง” ก็กลายเป็นชุมชนชาวจีนที่ขยายตัวเติบโตทั้งด้านพื้นที่และด้านเศรษฐกิจ

ปัจจุบันเยาวราชเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติในชื่อของไชนาทาวน์เมืองไทยที่เต็มไปด้วยสีสันความคึกคักของตลาดค้าขาย ร้านทองมากมาย ศาลเจ้าและวัดจีนเก่าแก่ สตรีทฟูดเจ้าอร่อย และยังคงเป็นศูนย์กลางสำคัญในการจัดงานเทศกาลตรุษจีนอย่างยิ่งใหญ่ของไทยในทุกๆ ปีอีกด้วย

บรรยากาศบ้านเรือนเก่าๆ ในตลาดโบราณบ้านชากแง้ว
“ชากแง้ว” ชลบุรี

เมืองท่องเที่ยวอย่างพัทยาใช่ว่าจะมีแต่ชายหาดหรือแหล่งบันเทิงยามราตรีเท่านั้น อีกมุมหนึ่งที่ไม่ไกลจากความคึกคักของถนนสายหลักก็ยังมีชุมชนชาวจีนเล็กๆ ที่ควรค่าแก่การเที่ยวชม นั่นคือ “ตลาดจีนโบราณบ้านชากแง้ว” ที่ผสมผสานเสน่ห์ระหว่างไทย-จีนได้อย่างลงตัว

“ตลาดจีนโบราณบ้านชากแง้ว” ตั้งอยู่ใน อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เป็นชุมชนชาวจีนแต้จิ๋วแผ่นดินใหญ่ที่อพยพมาเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว ปัจจุบันได้รับการผลักดันและฟื้นฟูให้เป็นถนนสายวัฒนธรรมไทย-จีนโบราณ เปิดเป็นถนนคนเดินสายวัฒนธรรมในช่วงเย็นวันเสาร์ มีร้านรวงมาเปิดขายทั้งอาหารไทย อาหารจีน ของกินพื้นบ้าน ต่างๆ นักท่องเที่ยวที่มาเยือนสามารถชิมอาหารหลากหลาย ชมวิถีชีวิตและบ้านเรือนแถวไม้ที่ยังมีให้เห็น อีกทั้งไม่ควรพลาดที่จะไปกราบศาลเจ้าแม่ทับทิม หรือ ศาลอาม้าชากแง้ว ที่คนในชุมชนนี้ให้ความเคารพนับถืออย่างมากด้วย

ตลาดน้ำเหล่าตั๊กลัก ชุมชนชาวจีนริมคลองดำเนินสะดวก
“ตลาดน้ำเหล่าตั๊กลัก” ราชบุรี

ตลาดน้ำดำเนินสะดวกเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดราชบุรี ปัจจุบันตั้งอยู่บริเวณคลองต้นเข็มซึ่งเป็นคลองสายย่อยที่แยกไปจากคลองดำเนินสะดวก แต่ตลาดน้ำดำเนินสะดวกดั้งเดิมจริงๆ แล้วนั้นคือ “ตลาดน้ำเหล่าตั๊กลัก” หรือตลาดน้ำปากคลองลัดพลี ซึ่งตั้งอยู่ในคลองลัดพลี จากตลาดน้ำดำเนินสะดวกปัจจุบันสามารถเดินข้ามสะพานข้ามคลองดำเนินสะดวกมาเที่ยวกันได้

“ตลาดน้ำเหล่าตั๊กลัก” เป็นภาษาจีนแปลว่าตลาดเก่า มีอายุกว่า 150 ปีแล้ว และยังเป็นชุมชนชาวจีนริมคลองที่ส่วนใหญ่มีเชื้อสายจีนแต้จิ๋วและจีนไหหลำเป็นชาวสวนทำการค้าขายตามลำคลอง โดยเมื่อก่อนนี้ชาวสวนจะพายเรือนำสินค้าจากสวนมาค้าขายบริเวณปากคลองลัดพลีกันอย่างหนาแน่น แต่หลังจากมีการสร้างถนน ศูนย์กลางของตลาดก็ย้ายไปอยู่บริเวณคลองต้นเข็มที่รถสามารถเข้าถึงสะดวกมากกว่า

ปัจจุบันตลาดน้ำเหล่าตั๊กลักมีบรรยากาศที่เงียบสงบแต่ก็เปี่ยมเสน่ห์ด้วยเรือนแถวไม้ริมน้ำแบบดั้งเดิม มีร้านค้าเก่าแก่ในชุมชนยังเปิดให้บริการ มีเรือพ่อค้าแม่ขายผ่านมาสามารถเรียกซื้อได้ตามชอบ มีร้านกาแฟสไตล์จีนให้นั่งกินลมชมวิว และอย่าลืมไปไหว้ศาลเจ้าตีลิ่วยี่ และศาลเจ้าแม่ทับทิมซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของคนไทยเชื้อสายจีนในชุมชนกันด้วย

บ้านเรือนยังคงบรรยากาศโบราณที่ถนนคนเดินตรอกโรงยา อุทัยธานี
“ตรอกโรงยา เซ็กเกี๋ยกั้ง” อุทัยธานี

“เซ็กเกี๋ยกั้ง” เป็นภาษาจีนที่เพี้ยนมาจากคำว่า “สะแกกรัง” อันหมายถึงแม่น้ำสะแกกรังเส้นเลือดหลักของอุทัยธานี ที่ชาวจีนได้ล่องเรือมาค้าขายสินค้าต่างๆ ทั้งข้าวเปลือก ไม้สัก แล้วได้ร่วมกันก่อตั้งเป็นชุมชนย่านตลาดการค้าขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3

ต่อมาในช่วงสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่นี่มีการตั้งโรงยาฝิ่นขึ้น ชาวบ้านสามารถสูบฝิ่นกันได้อย่างถูกกฎหมายจนย่านนี้ได้ชื่อว่า “ตรอกโรงยา” ขณะที่ต่อมาในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โรงยาฝิ่นต้องปิดตัวลงตามคำสั่งของทางการ อันถือเป็นยุคเปลี่ยนผ่านของตรอกโรงยาจากแหล่งสูบฝิ่นมาเป็นแหล่งค้าขาย

แม้ต่อมาย่านการค้าแห่งนี้ได้ซบเซาลงไป แต่ทว่ารอยอดีตอันรุ่งโรจน์ของอดีตยังคงอยู่กับบรรดาอาคารเรือนแถวไม้เก่าแก่อายุยาวยานกว่า 100 ปี ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ หลายฝ่ายจึงร่วมกันสร้างสีสันด้วยการเปิดเป็น “ถนนคนเดินตรอกโรงยา เซ็กเกี๋ยกั้ง” ในทุกๆ เย็นวันเสาร์ โดยจะมีร้านค้าร้านอาหารจากคนในพื้นที่มาสร้างสีสันให้สะแกกรังคึกคักมากขึ้น

ศาลเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ชุมแสง
“ชุมแสง” นครสวรรค์

ชุมชนชาวจีนขนาดใหญ่ในนครสวรรค์ที่หลายๆ คนรู้จักดีอยู่แล้วก็คือที่ปากน้ำโพ แต่วันนี้เราขอชวนมาเที่ยวชุมชนชาวจีนเล็กๆ แต่มีเสน่ห์กันที่ “ชุมแสง” กันบ้าง

ในย่านตลาดหน้าสถานีรถไฟชุมแสง อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ถือเป็นตลาดที่มีความเป็นมายาวนานนับร้อยปีแล้ว โดยในอดีตชุมแสงเป็นเมืองเล็กๆ แต่มีการค้าขายที่รุ่งเรืองเพราะมีการคมนาคมที่สะดวกทั้งทางบกคือรถไฟ และทางน้ำคือแม่น้ำน่าน ที่นี่จึงเป็นชุมทางการค้าที่สำคัญในการขนถ่ายสินค้าระหว่างภาคเหนือและภาคกลาง โดยเฉพาะการค้าข้าว ว่ากันว่าเรือบรรทุกข้าวมานั้นจอดเรียงรายเต็มลำน้ำน่านคึกคักเป็นอย่างยิ่ง

ที่ชุมแสงยังมีชาวจีนอพยพมาตั้งถิ่นฐานทำมาหากินค้าขายเป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นชุมชนชาวจีนที่ผสมกลมกลืนกับชาวไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยหากใครได้มาเยือนชุมแสงแล้วก็ขอแนะนำให้เข้าไปกราบ “ศาลเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ชุมแสง” ศาลเจ้าเก่าแก่คู่ชุมชนกันด้วย

บ้านไม้เก่างดงามในกาดกองต้า หรือตลาดจีน
“กาดกองต้า” ลำปาง

“กาดกองต้า” เป็นตลาดเก่าแม่น้ำวังในตัวเมืองลำปาง ที่ในอดีตหลายๆ คนเรียกว่า “ตลาดจีน” โดยบริเวณนี้เป็นท่าล่องซุงไม้สักของผู้ที่ทำสัมปทานป่าไม้ และเป็นแหล่งจอดเรือที่มาค้าขายขึ้นล่องระหว่างภาคกลางและภาคเหนือ เนื่องจากมีสภาพภูมิประเทศที่เหมาะสม

กลุ่มคนที่เข้ามาทำธุรกิจการทำไม้และค้าขายในสมัยนั้นได้แก่ ชาวอังกฤษ พม่า อินเดีย และชาวจีน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด ซึ่งบางส่วนเริ่มต้นโดยการมาขายแรงงาน และได้มองเห็นช่องทางทำเลพัฒนาตัวเองจนกลายมาเป็นพ่อค้าคหบดี ชาวบ้านจึงนิยมเรียกว่า “ตลาดจีน” แต่ต่อมาการคมนาคมทางบกสะดวกมากขึ้น มีทั้งสถานีรถไฟและถนนตัดผ่านเมืองลำปาง ศูนย์กลางการค้าจึงย้ายไปจากบริเวณนี้

ปัจจุบันมีการฟื้นฟูกาดกองต้าให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยจัดเป็นถนนคนเดินกาดกองต้าทุกวันเสาร์-อาทิตย์ นักท่องเที่ยวนอกจากจะได้มาซื้อของฝากของที่ระลึกและของกินหลากหลายแล้ว ก็ยังจะได้ชมบ้านเรือนเก่าแก่งดงามที่มีสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานกันระหว่างยุโรป พม่า จีน ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดลำปางที่มีมานานกว่า 100 ปี

บ้านนครใน บ้านแบบจีนโบราณ ภายในเป็นพิพิธภัณฑ์
“ย่านเมืองเก่าสงขลา”

ย่านเมืองเก่าสงขลาบริเวณริมทะเลสาบสงขลาก็เป็นชุมชนอีกแห่งหนึ่งที่ชาวจีนได้เข้ามาตั้งรกรากถิ่นฐานมาเป็นเวลานาน โดยในย่านนี้มีถนนสายสำคัญ 3 สายคือถนนนครนอก ถนนนครใน และถนนนางงาม สำหรับถนนนครนอกจะอยู่ติดกับฝั่งทะเลสาบ เป็นท่าเทียบเรือค้าขายสินค้ากับต่างประเทศมานาน ส่วนถนนนครในจะอยู่ถัดเข้ามา บนถนนเส้นนี้มี “บ้านนครใน” เป็นพิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตในอดีตของชาวสงขลา เป็นบ้านจีนแบบโบราณงดงาม

ส่วนถนนนางงาม หรือชื่อเดิมว่าถนนเก้าห้องก็เป็นถนนสายสำคัญเพราะเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา และศาลเจ้าพ่อกวนอู ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวสงขลา และยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยสายเชื้อจีนในย่านนี้ โดยบนถนนทั้งสามสายเราจะสามารถพบเห็นบ้านเรือนสไตล์ชิโนโปรตุกิส และเรือนแถวแบบจีนโบราณที่สวยงาม และปัจจุบันก็กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตเพราะมีภาพสตรีทอาร์ทสวยๆ ให้เดินถ่ายรูปกันด้วย

อาคารสไตล์ชิโนโปรตุกีสสีสันสนใสที่ภูเก็ต
ย่านเมืองเก่าภูเก็ต

เช่นเดียวกับสงขลา ภูเก็ตก็มีย่านเก่าที่มีอาคารบ้านเรือนในสไตล์ชิโนโปรตุกิสอยู่มากมาย โดยเฉพาะบริเวณถนนถลาง ถนนรัษฎา ถนนระนอง ถนนดีบุก ซอยรมณีย์ ฯลฯ โดยอาคารสไตล์นี้ผสมผสานรูปแบบการก่อสร้างและสถาปัตยกรรมแบบยุโรปกับจีนได้อย่างลงตัว สามารถเดินเล่นถ่ายรูปอาคารสวยๆ ได้อย่างเพลิดเพลิน

แต่หากอยากรู้เรื่องราวของชาวจีนในภูเก็ตต้องไปชมที่ “พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว” ที่รวบรวมเรื่องราวของย่านเมืองเก่าและวิถีชีวิตวัฒนธรรมชาวจีนโพ้นทะเลที่อพยพมาทำเหมืองในภูเก็ตในยุคที่เหมืองแร่เฟื่องฟู พร้อมทั้งเรื่องราวประวัติศาสตร์และการอนุรักษ์อาคารชิโนโปรตุกีสที่สวยงามเหล่านี้ด้วย

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager
ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Travel MGR





กำลังโหลดความคิดเห็น