xs
xsm
sm
md
lg

อันซีนพะเยา “พระเจ้าล้านตื้อ” วัดศรีอุโมงค์คำ พระพุทธรูปสุดงามแห่งล้านนา/ ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี (pinn109@hotmail.com)

Facebook Travel Unlimited / เที่ยวถึงไหนถึงกัน
พระเจ้าล้านตื้อ อันซีนพะเยา แห่งวัดศรีอุโมงค์คำ
“กว๊านพะเยาแหล่งชีวิต ศักดิ์สิทธิ์พระเจ้าตนหลวง บวงสรวงพ่อขุนงำเมือง งามลือเลื่องดอยบุษราคัม” : คำขวัญจังหวัดพะเยา

แน่นอนว่าหากพูดถึงพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองจังหวัดพะเยา หลายคนคงรู้ดีว่าคือ “พระเจ้าตนหลวง” พระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในดินแดนล้านนา โดยมีหน้าตักกว้าง 14 เมตร สูง 17 เมตร ประดิษฐานอยู่ในวิหารพระเจ้าตนหลวง วัดศรีโคมคำ อ.เมือง จ.พะเยา

ปกติเวลาผมขึ้นไปแอ่วพะเยา ก็ต้องมักหาโอกาสไปกราบสักการะองค์พระเจ้าตนหลวงอยู่เสมอ
พระเจ้าตนหลวง วัดศรีโคมคำ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองพะเยา
นอกจากพระเจ้าตนหลวงแล้ว พะเยายังมีพระพุทธรูปสุดงามประดิษฐานอยู่ที่ “วัดศรีอุโมงค์คำ” ที่อยู่ไม่ไกลจากวัดศรีโคมคำสักเท่าไหร่

วัดศรีอุโมงค์คำ ถือเป็นวัดที่มีสิ่งน่าสนใจให้ชมกันหลากหลาย โดยเฉพาะ “พระเจ้าล้านตื้อ” พระประธานของวัดแห่งนี้นั้น นอกจากจะมีความพิเศษแล้วยังมีความงดงามยิ่งจนหลาย ๆ คน ยกให้เป็นอันซีนพะเยากันเลยทีเดียว

วัดศรีอุโมงค์คำ

วัดศรีอุโมงค์คำ ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองพะเยา ถ.ท่ากว๊าน ต.เวียง อ.เมือง (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนพินิตประสาธน์)
ทางเข้าด้านหน้า วัดศรีอุโมงค์คำ
วัดศรีอุโมงค์คำสร้างขึ้นมาตั้งแต่หนใด ไม่มีใครรู้ เพราะไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน แต่ผู้รู้หลายๆท่านสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในสมัยอยุธยา ราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 เพราะพบหลักฐานเป็นพระพุทธรูปหินทราย และงานแกะสลักหินทรายอื่นๆ อาทิ เทวรูป รูปสัตว์ต่างๆ ในยุคหินทรายเมืองพะเยาอยู่เป็นจำนวนมาก

ขณะที่ในส่วนของชื่อวัดศรีอุโมงค์คำนั้น มีเอกสารระบุว่า คำว่า “ศรี” หรือที่ล้านนาอ่านว่า “สะ-หรี” หมายถึง ต้นโพธิ์ หรือความเป็นมงคล เป็นสิ่งอันประเสริฐ ดังนั้นคนโบราณจึงใช้ชื่อศรีนำหน้าเพื่อความเป็นสิริมงคล

ส่วนคำว่า“อุโมงค์” นั้นชัดแจ้งว่าหมายถึงอุโมงค์ หรือถ้ำ ซึ่งเดิมทีชาวบ้านเชื่อกันว่าใต้ฐานโบสถ์ของวัดแห่งนี้ มีถ้ำหรืออุโมงค์อยู่ สามารถลอดไปโผล่ยังแม่น้ำอิงที่ไหลผ่านใจกลางกว๊านพะเยาได้

และสุดท้ายคำว่า “คำ” หมายถึง ทองคำ ซึ่งที่มาของคำนี้มีความเชื่อแยกย่อย แตกออกไป 3 ประการด้วยกัน

ประการแรกเชื่อว่าที่นี่มีพระพุทธรูปทองคำฝังอยู่ใต้ฐานอุโมงค์

ประการที่สองเชื่อว่าที่นี่มีอุโมงค์ลงรักปิดทอง สามารถนำพระบรมธาตุมาประดิษฐานไว้ได้

และประการที่สามเชื่อว่า เชื่อว่าที่นี่มี “สะเปา” (เรือ) ที่ลงรักปิดทองอยู่
วัดศรีอุโมงค์คำ ตั้งอยู่บนเนินสูงเด่น ชาวบ้านจึงเรียกว่า วัดสูง
วัดสูง

วัดศรีอุโมงค์คำ ชาวบ้านมักเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “วัดสูง” ตามลักษณะพื้นที่ตั้งวัดที่เป็นเนินสูงเด่น เป็นเนินที่เกิดจากการขุดสระของชาวบ้านแล้วนำดินไปถมจนเกินเป็นเขินเขาขนาดใหญ่ขึ้นมา โดยเหตุผลของการขุดสระนั้นมีอยู่ 2 ประการด้วยกัน

ประการแรก เมืองพะเยาก่อนที่จะมีกว๊านพะเยาดังเช่นทุกวันนี้ มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง มักประสบกับปัญหาขาดแคลนน้ำ ชาวบ้านจึงร่วมมือกันขุดสระขึ้นมา เพื่อใช้อุปโภค บริโภค และเพื่อการเกษตรกรรม

ประการที่สอง ชาวบ้านขุดสระขึ้นมาเพราะต้องการดินมาสร้างเป็นเนินเขาขนาดย่อม เพื่อก่อสร้างวัด เจดีย์ วิหาร ลงบนเนินให้ดูมีความโดดเด่น สูงสง่า สมค่ากับการเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์
บันไดพญานาค สู่โบสถ์วัดสูง
ขณะเดียวกันก็มีบางข้อมูลระบุว่า เนินภูเขาดินของวัดศรีอุโมงค์คำนั้น สร้างขึ้นจากดินที่ขุดมาจากกว๊านพะเยา แต่ถ้าพิจารณาให้ดีๆจะพบว่าพ.ศ.ที่สร้างกว๊านพะเยานั้น ห่างจากอายุความเก่าแก่ของวัดแห่งนี้อยู่เป็นร้อย ๆ ปีเลยทีเดียว

และนั่นก็คือที่มาที่ไปของวัดศรีอุโมงค์คำที่แม้จะมีความเชื่ออันหลากหลายมาเกี่ยวข้อง แต่ว่าความเชื่อบางอย่างก็มีความสมเหตุสมผลอยู่ในตัวของมันเอง

เจดีย์วัดศรีอุโมงค์คำ

วัดศรีอุโมงค์คำ ถือเป็นหนึ่งในวัดสำคัญของจังหวัดพะเยาที่มีของดีในระดับโดดเด่นเป็นเอกอุอยู่ไม่น้อย
เจดีย์วัดศรีอุโมงค์คำ ตั้งอยู่บนเนินโดดเด่น
เริ่มกันตั้งแต่สิ่งที่มองเห็นมาแต่ไกลเมื่อย่างก้าวเข้ามาทางด้านฝั่งโรงเรียนนั่นก็คือ องค์พระธาตุเจดีย์บนเนินที่ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ด้านหลังของโบสถ์

เจดีย์องค์นี้สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยเชียงแสน (แต่จากเอกสารของวัดระบุว่าไม่ปรากฏหลักฐาน ปี พ.ศ.ที่สร้างชัดเจน แต่น่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 400 ปี)

เจดีย์วัดศรีอุโมงค์คำ เป็นเจดีย์แบบล้านนาย่อไม้มุมสิบสอง ฐานสี่เหลี่ยมซ้อนกัน 3 ชั้น เรือนธาตุรูปแปดเหลี่ยมย่อมุม มีซุ้มจระนำทั้งสี่ทิศ มีพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ประดิษฐานอยู่ในซุ้ม
เจดีย์วัดศรีอุโมงค์คำ งานศิลปกรรมย่อไม้มุมสิบสอง
ด้วยความที่เจดีย์องค์นี้ ในอดีตมักถูกฟ้าผ่าอยู่บ่อยครั้ง ทำให้คนโบราณหลายคนเชื่อว่าเป็นเจดีย์อาถรรพ์ แต่หากมองกันในข้อเท็จจริงของหลักวิทยาศาสตร์ ยุคนั้นยังไม่มีสายล่อฟ้าการที่เจดีย์องค์นี้ตั้งอยู่บนเนินที่สูงถือเป็นสื่อนำไฟฟ้าอย่างดี ดังนั้นเมื่อกาลเวลาผ่านไปมีการติดตั้งสายล่อฟ้าที่เจดีย์ขึ้นก็ทำให้ปัญหาเรื่องฟ้าผ่าเจดีย์หักพังเป็นอันหมดไป

ส่วนอีกหนึ่งเรื่องเล่าที่มีคนเคยเห็นแสงคล้ายลูกแก้วลอยจากพระธาตุวัดลี มาสู่องค์พระธาตุที่วัดศรีอุโมงค์คำในค่ำคืนวันพระสำคัญๆนั้น ถือเป็นคำบอกเล่าที่วันนี้ยังไม่มีใครพิสูจน์ได้

หลวงพ่อศิลา
ภายในห้องลานธรรม
จากเจดีย์ก่อนที่จะเข้าไปชมของดีภายในโบสถ์ ผมขอพาไปไหว้พระพุทธรูปที่อยู่ใน “ห้องลานธรรม” ที่อยู่ตรงข้ามองค์เจดีย์กันเสียก่อน

ห้องลานธรรม ที่ตรงราวบันไดสร้างเป็นรูปตัวมอมกินตัวกันดูสวยงามแปลกตาดี ห้องนี้เดิมคือวิหารพระเจ้าทันใจ ที่แม้จะเป็นห้องกระจกเล็ก ๆ แต่ก็เคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญของพะเยาไว้ถึง 2 องค์ด้วยกัน
บันไดตัวมอมกินกัน
องค์แรกคือ “พระเจ้ากว๊าน” หรือ “หลวงพ่อศิลา” พระพุทธรูปหินทรายสกุลช่างพะเยา ปางมารวิชัยอายุเก่าแก่กว่า 500 ปี ที่ถูกค้นพบในกว๊านพะเยาช่วงน้ำลดในปี พ.ศ. 2526 (ในอดีตก่อนจะเป็นกว๊านพะเยา บริเวณนั้นเคยเป็นชุมชนมีวัดมีหมู่บ้านมาก่อน)

พระเจ้ากว๊าน ถูกอัญเชิญจากกว๊านพะเยามาประดิษฐานที่วัดศรีอุโมงค์คำอยู่ 20 กว่าปี จนกระทั่งทางการบูรณะปรับแต่ง “วัดติโลกอาราม”กลางกว๊านพะเยาเสร็จสิ้น จึงได้ได้อัญเชิญหลวงพ่อศิลากลับไปประดิษฐานที่วัดติโลกอารามในกว๊านพะเยาตามเดิม
พระเจ้ากว๊าน วัดติโลกอาราม ที่เคยอยู่ที่วัดศรีอุโมงค์คำ
นั่นจึงทำให้ทางวัดศรีอุโมงค์คำ สร้างองค์พระเจ้ากว๊านจำลองขึ้นมา (อยู่ขวามือองค์พระประธาน) เพื่อรำลึกถึงว่าครั้งหนึ่งท่านเคยมาประดิษฐานอยู่ที่นี่

พระเจ้าทันใจ

ส่วนพระพุทธรูปสำคัญองค์ที่ 2 ที่เคยประดิษฐานอยู่ในห้องลานธรรมแห่งนี้ คือ “พระเจ้าทันใจ” ซึ่งเดิมเป็นพระพุทธรูปมาจากที่ไหนไม่มีใครทราบ แต่ในปี พ.ศ. 2497 หลวงพ่อใหญ่ หรือพระธรรมวิมลโมลีที่ขณะนั้นเป็นพระครูพินิตธรรมประภาส ได้ย้ายจากวัดเมืองชุม ต.แม่ต๋ำ มาเป็นเจ้าอาวาสที่นี่
พระเจ้าทันใจ
ความที่หลวงพ่อใหญ่เป็นผู้นิยมสะสมพระพุทธรูปเก่า เมื่อท่านพบพระพุทธรูปองค์นี้ที่สวนของนายอัฐ สายวรรณะ ใกล้ๆกับป่าช้าวัดลี(แหล่งขุดค้นงานพุทธศิลป์หินทรายอันสำคัญแห่งเมืองพะเยา) จึงอัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดศรีอุโมงค์คำในปีเดียวกันนั่นเอง

พระเจ้าทันใจองค์นี้ เป็นพระพุทธรูปหินทรายที่ได้ชื่อว่ามีความสมบูรณ์ที่สุดในบรรดาพระพุทธรูปหินทรายที่ขุดค้นพบ เดิมพระพุทธรูปองค์นี้ไม่มีชื่อเรียก แต่ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของท่าน คนที่มาสักการะขอพรมักสมหวังในไม่ท่าน ชาวบ้านจึงเรียกท่านว่า “พระเจ้าทันใจ
วิหารพระเจ้าทันใจ
ปัจจุบันพระเจ้าทันใจถูกย้ายไปประดิษฐานใน “วิหารพระเจ้าทันใจ” ที่สร้างขึ้นใหม่บริเวณหน้าวัดศรีอุโมงค์คำ ซึ่งได้อัญเชิญองค์พระเจ้าทันใจมาประดิษฐานเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2560 ซึ่งตรงกับวันมาฆบูชาพอดี
ภายในวิหารพระเจ้าทันใจ
วิหารพระเจ้าทันใจเป็นวิหารหลังเล็ก ๆ ที่ดูงดงามสมส่วน มีหลังคาซ้อน 3 ชั้น ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังตามความเชื่อเรื่องการไหว้พระธาตุประจำปีเกิดของล้านนาโบราณ

สำหรับในช่วงที่ผมไปไหว้พระเจ้าทันใจช่วงวันพระใหญ่ มาฆบูชา 2562 ทางวัดได้จัดทำซุ้มอุโมงค์ “ต๋าแหลว” (ตาแหลว,ตาเหลว) หรือ “เฉลว” ในภาคกลาง
ลอดอุโมงค์ต๋าแหลวเพื่อความเป็นสิริมงคล
ต๋าแหลว เป็นเครื่องรางทำจากไม้ไผ่จักสาน ซึ่งเชื่อกันว่าใช้สำหรับป้องกันสิ่งไม่ดี สิ่งชั่วร้าย ขับไล่เสนียดจัญไร โดยชาวล้านนาจะใช้ต๋าแหลวในพิธีกรรมความเชื่อต่าง ๆ นอกจากนี้ก็ยังปักต๋าแหลวเพื่อให้คอยช่วยปัดเป่าขับไล่สิ่งชั่วร้าย ไว้ตรงหน้าบ้าน บานประตู หรือตามท้องทุ่งนา

ทั้งนี้วัดศรีอุโมงค์คำไว้ให้ลอดเพื่อความเป็นสิริมงคล ให้ช่วยปัดเป่าเคราะห์ร้าย สิ่งอัปมงคล และเสริมชะตาราศี โดยเมื่อเดินลอดซุ้มต๋าแหลวเข้าสู่วิหาร ก็เหมือนเป็นการขับไล่สิ่งไม่ดีออกจากตัว แล้วจึงไปตั้งจิตอธิฐานขอพรแด่องค์พระเจ้าทันใจ ส่วนใครจะสำเร็จสมหวังแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับการกระทำของตัวเองเป็นที่ตั้ง

พระเจ้าแข้งคม

จากวิหารพระเจ้าทันใจมาต่อกันภายในโบสถ์ที่ตั้งเด่นตระหง่านอยู่บนเนินโดดเด่น
ภายในโบสถ์วัดศรีอุโมงค์คำ
โบสถ์วัดศรีอุโมงค์คำ เป็นโบสถ์ที่มีลักษณะเรียบง่ายแต่สมส่วน ภายในไม่มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง มีเพียงองค์พระประธานและพระพุทธรูปบริวารประดิษฐานอยู่ ดูสงบนิ่งแฝงความขรึมขลังอยู่ในที

ใครหลาย ๆ คน เมื่อมาไหว้พระที่นี้หากไม่ได้สังเกตหรือไม่รู้มาก่อน อาจจะใช้เวลาไหว้พระ ขอพร อยู่ไม่นานแล้วก็จากไป แต่หากลองสังเกตมองให้ถ้วนถี่รอบคอบ จะพบว่าในโบสถ์หลังนี้มีพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะโดดเด่นเป็นพิเศษอยู่ 2 องค์ด้วยกัน
พระเจ้าแข้งคม
องค์แรกคือ “พระเจ้าแข้งคม” ประดิษฐานอยู่ทางมุมด้านขวาของโบสถ์ (ซ้ายมือองค์พระประธาน)

พระเจ้าแข้งคมเป็นพระพุทธรูปหินทรายงานศิลปะพื้นบ้าน ที่สร้างอย่างสวยงามสมส่วนดูน่ายลและมีเอกลักษณ์ด้วยแข้งคมอันเป็นที่มาของพระพุทธรูปองค์นี้

สำหรับเหตุที่พระพุทธรูปองค์นี้ได้ชื่อว่าพระเจ้าแข้งคม เป็นเพราะท่านมีหน้าแข้ง (พระชงฆะ) เป็นเหลี่ยมเป็นสันคมชัดอย่างชัดเจน นับเป็นอีกหนึ่งในงานพุทธศิลป์พื้นบ้านล้านนาที่ปัจจุบันหาชมได้ยากยิ่ง

พระเจ้าล้านตื้อ
พระเจ้าล้านตื้อ 1 ใน พระพุทธรูปสุดงามแห่งล้านนา
จากพระเจ้าแข้งคมมาถึงองค์พระประธานที่ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ภายในโบสถ์ พระประธานองค์นี้คือ “พระเจ้าล้านตื้อ” ที่หลาย ๆ คนยกให้เป็นหนึ่งในอันซีนพะเยาที่น่าสนใจยิ่ง

พระเจ้าล้านตื้อ มีหลักฐานปรากฏในศิลาจารึกว่าสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าเมืองสร้อยพะเยา ในราวปี พ.ศ. 2058 แต่ไม่ทราบว่าดั้งเดิมมาจากที่ไหน เพราะพบถูกทิ้งอยู่ที่สนามเวียงแก้ว (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งศาลหลักเมืองพะเยา) ก่อนถูกอัญเชิญมาเป็นพระประธานภายในโบสถ์วัดศรีอุโมงค์คำ
พระเจ้าล้านตื้อ มีพระวรกายอวบอิ่มสมส่วน
พระเจ้าล้านตื้อ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ทำจากทองสำริด หน้าตักกว้าง 184 เซนติเมตร สูง 270 เซนติเมตร มีพระวรกายอวบอิ่มสมส่วน องค์พระพุทธรูปเป็นสีทองงามอร่ามเปล่งปลั่ง พระพักตร์ดูอมยิ้มอยู่ตลอดเวลา มองแล้วให้ความรู้สึกสุขใจอิ่มบุญดีเหลือเกิน

เหตุที่พระพุทธรูปองค์นี้ถูกเรียกขานว่า “พระเจ้าล้านตื้อ” นั้น มีที่มาระบุว่า คำว่า “ตื้อ” เป็นจำนวนนับของทางล้านนา ตื้อเป็นจำนวนนับที่เยอะมาก จากแสน ล้าน โกฏิ ก็เป็น“ตื้อ” ดังนั้นล้านตื้อจึงหมายถึงความมีน้ำหนักมากของพระพุทธรูปองค์นี้
สลักที่องค์พระเจ้าล้านตื้อ
นอกจากนี้พระเจ้าล้านตื้อยังมีอีก 2 ชื่อเรียกขาน ชื่อแรก คือ “พระเจ้าแสนแส้” (บางข้อมูลเขียนว่าแสนแซ่) ที่มีข้อมูลระบุว่า คำว่า “แส้” เป็นภาษาล้านนาหมายถึงสลัก พระพุทธรูปนี้มีความพิเศษตรงที่ ตลอดทั้งองค์ของท่านช่างทำเป็นสลัก สามารถถอดประกอบได้ มีทั้งหมด 4 จุดด้วยกัน คือที่คอ (พระศอ) ข้อศอกทั้ง 2 ข้าง และที่เอว

ขณะที่อีกชื่อเรียกขานหนึ่งของพระเจ้าบ้านตื้อนั้นก็คือ “หลวงพ่องามเมืองเรืองฤทธิ์” ซึ่งเป็นชื่อที่ตั้งมาทีหลัง โดยตั้งเพื่อยกย่องให้เกียรติในความงดงามพระเจ้าล้านตื้อ ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดองค์หนึ่งแห่งล้านนา
พระเจ้าล้านตื้อมีพระพักตร์ที่ดูอมยิ้มอยู่ตลอดเวลา
หลวงพี่ที่วัดศรีอุโมงค์คำได้เคยบอกกับผมว่า อ.ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินนามอุโฆษ (ผู้ล่วงลับ) เมื่อมาเห็นพระพุทธรูปองค์นี้ แกไม่รีรอที่จะบอกว่าพระเจ้าล้านตื้องดงามที่สุดในล้านนาตั้งแต่แกเคยพบเจอมา

และนี่ก็คือสุดยอดของดีของวัดศรีอุโมงค์คำ วัดที่แม้จะไม่ได้ชื่อว่า ถ้าไปแอ่วพะเยาแล้วไม่ได้เยือนวัดนี้เหมือนกับว่ายังมาไม่ถึง แต่นี่ถือเป็นวัดที่ถ้าไปแอ่วพะเยาแล้ว หากมีโอกาสแวะเวียนไปเยือน เราก็จะมีกำไรในชีวิตเพิ่มมากขึ้น
....................................................................................................

สามารถสอบถามข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดพะเยาเชื่อมโยงกับวัดศรีอุโมงค์คำ รวมถึง ที่พัก ร้านอาหาร และการเดินทางได้ที่ ททท.สำนักงานเชียงราย (รับผิดชอบพื้นที่ เชียงราย,พะเยา) โทร. 0-5371-7433, 0-5374-4674-5
....................................................................................................

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager


กำลังโหลดความคิดเห็น