xs
xsm
sm
md
lg

“ห้วยน้ำกืน” หมู่บ้านเล็กกลางป่าใหญ่ไม่ธรรมดา ต้นแบบคนอยู่กับป่า รักษาต้นน้ำ/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี (pinn109@hotmail.com)

Facebook Travel Unlimited / เที่ยวถึงไหนถึงกัน
บ้านห้วยน้ำกืน หมู่บ้านเล็กกลางป่าใหญ่
     ...ชุมชนกลางป่า    นานาพืชผล
พอเพียงเลี้ยงตน          ทุกคนอยู่ดี
รักใคร่ปรองดอง           เป็นน้องเป็นพี่
เศรษฐกิจดี                ชีวีร่มเย็น

ข้อความจากป้ายข้างทางไม่ใหญ่ ไม่เล็ก มีต้นไม้ขึ้นบังเล็กน้อย ที่นักท่องเที่ยวหลาย ๆ คนมักจะเดินผ่านไปเพราะไม่ได้สังเกต หรือบางคนที่เห็นแล้วอาจไม่ได้ใส่ใจอะไร

แต่สำหรับผมนี่เป็นหนึ่งในสิ่งที่บอกถึงตัวตนของชุมชนแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี

ชุมชนที่มีนามว่า“บ้านห้วยน้ำกืน” หมู่บ้านกลางผืนไพรที่ไม่ธรรมดา เพราะที่นี่เป็นหนึ่งในต้นแบบของชุมชนคนอยู่กับป่าและต้นแบบของชุมชนอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ ที่แตกต่างจากชุมชนคนอยู่กับป่าทั่ว ๆ ไป

เนื่องจากบ้านห้วยน้ำกืนเป็นชุมชนไม่กี่แห่งในเมืองไทยที่ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งปกติทั่วไปยาก(มาก)ที่จะทำได้ แต่ที่บ้านน้ำกืนวันนี้กลับทำได้อย่างองอาจน่าภาคภูมิใจ

เพราะอะไรถึงเป็นเช่นนั้น???
บ้านห้วยน้ำกืน ชุมชนคนอยู่กับป่ารักษาป่าต้นน้ำ
ห้วยน้ำกืน หมู่บ้านเล็กกลางป่าใหญ่

บ้านห้วยน้ำกืน เป็นหมู่บ้านเล็กกลางป่าใหญ่ ตั้งอยู่ที่ ต.แม่เจดีย์ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ชาวบ้านที่นี่เป็นคนเมือง(ไม่ใช่ชาวเขา)ที่ดำรงวิถีอย่างเรียบง่าย ประกอบอาชีพทำเมี่ยง ชา และกาแฟ เป็นหลัก ปัจจุบันบ้านห้วยน้ำกืนหนึ่งในชุมชนที่ตั้งอยู่ใน“เขตอุทยานแห่งชาติขุนแจ” ที่มีพื้นที่ครอบคลุมผืนป่าในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และลำปาง

“น้ำกืน เป็นภาษาคำเมือง มีความหมายว่าทะลัก สมัยก่อนที่นี่เป็นป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ มีน้ำมาก ขุดดินลงไป(ลึก)ไม่เท่าไหร่ ก็เจอน้ำผุดทะลักขึ้นมา คนเลยเรียกกันว่า บ้านห้วยน้ำกืน”

เสถียร ชัยนาม ผู้ใหญ่บ้านห้วยน้ำกืนคนปัจจุบัน เผยถึงที่มาของชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ให้ฟัง
เสถียร ชัยนาม ผู้ใหญ่บ้านห้วยน้ำกืน
ในอดีตผืนป่าเทือกเขาผีปันน้ำแถบนี้สมัยที่ยังไม่ได้ถูกประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ชาวบ้านห้วยน้ำกืน(และหมู่บ้านอีกจำนวนหนึ่ง) ได้เข้ามาอยู่อาศัยและทำมาหากินกันตามปกติ แต่ด้วยความที่ผืนป่าแถบนี้มีความอุดมสมบูรณ์อีกทั้งยังเป็นป่าต้นน้ำสำคัญ ทางภาครัฐจึงมีการประกาศจัดตั้ง“อุทยานแห่งชาติขุนแจ” ขึ้นในปี พ.ศ. 2538 เพื่อต้องการดูแลสงวนรักษาผืนป่าแห่งนี้ไว้ไม่ให้ถูกบุกรุกทำลายเพิ่มมากขึ้น

เมื่อประกาศเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ การมีชุมชนอยู่ในผืนป่าของอุทยานจึงเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ซึ่งในอดีตมีหลายอุทยานเลือกที่จะนำชาวบ้านออกจากป่า แล้วไปจัดสรรพื้นที่แห่งใหม่ให้อยู่อาศัยทำมาหากิน แต่นั่นกับประสบปัญหาหลายอย่างตามมา โดยเฉพาะการไปบุกรุกแผ้วถางสร้างที่ทำกินแห่งใหม่ เกิดเป็นปัญหาการบุกรุกผืนป่าตามมาอีก
ลำธารป่าต้นน้ำห้วยน้ำกืนที่ปลอดสารเคมี ไหลเป็นสายน้ำคุณภาพไปสู่ชุมชนเบื้องล่าง
สำหรับบ้านห้วยน้ำกืนและหมู่บ้านอื่น ๆ ในผืนป่าแห่งนี้ที่หลังประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติขุนแจ ชาวบ้านแม้ยังคงอาศัยอยู่ในผืนป่าได้ แต่ก็เป็นไปแบบไม่แน่นอนว่าวันใดอาจถูกทางภาครัฐยึดคืน เกิดเป็นความหวาดระแวงไม่ไว้ใจในเจ้าหน้าที่รัฐ(จนท.ป่าไม้และอุทยานฯ)

ขณะที่นโยบายของป่าไม้ในยุคนั้นก็มุ่งเน้นไปในด้านการปราบปราม เพราะต้องทำตามกฎหมายของบ้านเมือง และต้องการรักษาป่าไม้ของเมืองไทยที่ถูกทำลายอย่างหนัก
บรรยากาศบ้านห้วยน้ำกืนยามเช้าตรู่ที่พระกำลังออกบิณฑบาต
นั่นจึงทำให้ทั้งชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่อุทยานฯ อยู่กันแบบขัดแย้ง เผชิญหน้า ไม่ไว้ใจต่อกัน ชนิดที่ผู้ใหญ่เสถียรบอกว่า

“สมัยก่อน เมื่อเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ขึ้นมาตรวจที่หมู่บ้าน น้ำสักแก้วก็อย่าหวังว่าจะได้กินจากชาวบ้าน”

คนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืน

แม้ปัญหาเรื่องความขัดแย้งของชาวบ้านที่อยู่ในผืนป่ามาก่อนกับอุทยานฯที่ประกาศขึ้นมาทีหลังเพื่อต้องการรักษาผืนป่าไว้ จะไม่มีใครถูกใครผิด และทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็มีเหตุผลของตัวเอง แต่หากปล่อยไว้จะกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง และอาจนำไปสู่การเผชิญหน้ากันได้
ผืนป่าแห่งหมู่บ้านห้วยน้ำกืน อช.ขุนแจ ที่คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน
ด้วยเหตุนี้ ต่อมาในภายหลังทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งมีแนวคิดที่จะทำอย่างไรให้คนอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน จึงอนุญาตให้ชาวบ้าน(ในบ้างพื้นที่)ที่อาศัยอยู่ในป่ามาตั้งแต่ดั้งเดิม(ก่อนประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ)อยู่อาศัยในป่าต่อไปได้ พร้อมทั้งให้ชาวบ้านเหล่านี้มาช่วยเป็นผู้ดูแลรักษาป่าด้วยอีกทาง

นั่นจึงทำให้มีการจัดตั้ง “โครงการส่งเสริมและพัฒนาการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์(สสอ.)”ขึ้นมาในปี พ.ศ.2549 เพื่อเดินหน้าไปสู่การอนุรักษ์ผืนป่าที่ยั่งยืน
ประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ
โครงการ สสอ. มีสำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ เป็นดังแนวหน้า(และผู้ปิดทองหลังพระ) ในการฟื้นคืนชีวิตคืนความชุ่มชื้นให้ผืนป่า

ประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล” ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ ได้กล่าวถึงภารกิจของสำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ ว่า หน่วยจัดการต้นน้ำ ดำเนินการภายใต้การมีส่วนร่วม เริ่มจากการเข้าไปเรียนรู้วิถีชีวิตของคนในชุมชน ช่วยเหลือคนในชุมชน ทำให้คนในชุมชนเชื่อมั่นในความจริงใจของเจ้าหน้าที่

“ตรงนี้ต้องใช้ระยะเวลาและความอดทน เนื่องจากวิถีชีวิตของแต่ละชุมชนแตกต่างกัน เจ้าหน้าที่ของเราเชื่อว่าทุกชุมชน เมื่อเข้าใจและเรียนรู้เกี่ยวกับความสำคัญของป่าต้นน้ำ คนในชุมชนจะรู้สึกรักและหวงแหนป่าซึ่งเปรียบเสมือนป่าของตนเอง” ผอ.ประกิต กล่าว
สภาพผืนป่าแห่งเทือกเขาผีปันน้ำ หนึ่งในแหล่งต้นน้ำสำคัญ
สำหรับที่หมู่บ้านห้วยน้ำกืนนั้น ก่อนที่โครงการ สลอ.จะเข้ามาในช่วงประมาณปี 2557 ชาวบ้านที่นี่ได้มีการปลูกพืชเชิงเดี่ยวคือเสารส ซึ่งมีการใช้สารเคมีและมีการถางป่าสมบูรณ์จนเกิดเป็นสภาพ“ป่าแหว่ง”ขึ้นมา

หลังจากนั้น “หน่วยจัดการต้นน้ำขุนลาว”(ภายใต้สำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ) ที่เป็นกองหน้าสำคัญ ได้เข้าไปช่วยเหลือ ทำความเข้าใจกันชาวบ้าน พร้อมทั้งทำงานร่วมกัน ระหว่างชุมชนกับป่าไม้อย่างเป็นระบบ เป็นขั้นเป็นตอน
กาแฟ หนึ่งในอาชีพหลักของชุมชนเครือข่ายรักษ์ป่าต้นน้ำขุนลาว
ผอ. ประกิต อธิบายว่า การฟื้นสภาพป่าต้นน้ำที่บ้านห้วยน้ำกืนนั้นเริ่มจากการไปสร้างฝายกักเก็บน้ำตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวง รัชกาลที่ ๙ เพื่อให้ชุมชนแห่งนี้มีน้ำตลอดทั้งปี

จากนั้นก็ได้ทำการ“ปลูกป่าเลียนแบบธรรมชาติ” อย่างเป็นระบบ คือ มีการปลูกต้นไม้ไล่เรียงมาจากระดับความสูง ตั้งแต่ ไม้เรือนยอดเด่น ไม้ชั้นบนให้ร่มเงา ไม้พื้นล่างที่เป็นพืชท้องถิ่น ไม้ตามพื้นดิน และพืชหัวเป็นต้น

เมื่อมีน้ำท่ามีป่าสมบูรณ์แล้ว ก็ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของชาวบ้านให้เลิกปลูกพืชเชิงเดี่ยว แต่หันมาปลูกพืชผสมผสานที่กลมกลืนกับธรรมชาติและวิถีชีวิตดั้งเดิมแทน อย่างเช่น การปลูกกาแฟที่แต่เดิมปลูกเป็นแปลงบนพื้นที่โล่งก็ให้หันมาปลูกใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ ส่วนพืชผลอื่น ๆ นั้นก็เน้นไม้ท้องถิ่นที่ขึ้นได้ดีตามสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศเป็นหลัก
กระบวนการผลิตชาออร์แกนนิคของชาวบ้านห้วยน้ำกืน
ผอ.ประกิต ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การปลูกพืชเชิงเดี่ยวนอกจากจะทำให้เกิดการบุกรุกป่า ยังทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาอีก อย่างเช่น การชะล้างหน้าดิน น้ำท่วม น้ำแล้ง ไฟป่า และการใช้สารเคมีที่ส่งผลกระทบต่อคนหมู่มาก ทั้งต่อคนในชุมชนเอง ผู้บริโภค และคนที่อยู่ถัดจากสายน้ำลง

“ชาวบ้านห้วยน้ำกืนเป็นผู้อาศัยในป่าต้นน้ำที่สำคัญ พวกเขารู้ว่าคนที่อยู่ถัดลงไปต้องอาศัยน้ำกินทำใช้ เมื่อเขาไม่ใช้สารเคมี นั่นหมายถึงอีกหลายชีวิตก็จะได้ใช้น้ำที่สะอาด นอกจากนี้ผลผลิตจากชากาแฟ ยังได้รับรางวัลต่างๆมากมาย เพราะเป็นชากาแฟอินทรีย์ปลอดสารพิษ ปลูกใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่ที่กำหนดและกติกาที่วางไว้ร่วมกันเพื่อรักษาป่าให้คงอยู่อย่างยั่งยืน” ผอ. ประกิตกล่าว
วิถีชีวิตอันสงบงาม ท่ามกลางขุนเขาป่าไพรของชาวบ้านห้วยน้ำกืน
นอกจากนี้การอยู่อาศัยของชุมชนบ้านห้วยน้ำกืน(และชุมชนอื่น ๆ )ในผืนป่าอุทยานแห่งชาติขุนแจ ทางชาวบ้านและทางอุทยานฯนนั้นได้มีวางกฎ กติกา ของคนอยู่กับป่าร่วมกัน คือ ชาวบ้านห้ามบุกรุกแผ้วถางขยายผืนป่าเพื่อบุกรุกที่ทำกินเพิ่มเติม และที่สำคัญคือชาวบ้านจะต้องไม่ขายที่ดินให้กับคนภายนอก ซึ่งนั่นจะทำให้ผิดกฎหมายอุทยานแห่งชาติทันที

ห้วยน้ำกืน ชุมชนน่ารัก น่าพัก น่าเที่ยว

เมื่อได้ข้อตกลงระหว่างคนอยู่กับป่า มีการปลูกป่า ฟื้นชีวิตป่าต้นน้ำ ชาวบ้านมีรายได้จากอาชีพหลักที่พอเพียงแต่มั่นคง จังหวะก้าวต่อมาของชุมชนที่นี่ก็คือการที่ภาครัฐเข้าไปส่งเสริมให้ชุมชนบ้านห้วยน้ำกืนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชุมชนเชิงอนุรักษ์(ร่วมกับอีกบางหมู่บ้านในเขตอช.ขุนแจ) พร้อมทั้งมีการจัดตั้ง “ชมรมท่องเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์ อุทยานแห่งชาติขุนแจ”ขึ้น โดยมีผู้ใหญ่เสถียร ชัยนาม เป็นประธานชมรม

“เราทำท่องเที่ยวเป็นอาชีพเสริม แล้วไม่เปิดท่องเที่ยวโฮมสเตย์ตลอดปี แต่จะเน้นหนักการรับนักท่องเที่ยวช่วงไฮซีซั่น คือปลายเดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนเมษายน หลังจากนั้นเราจะปิดเรื่องการศึกษาดูงานเพราะเป็นคณะใหญ่ เพราะช่วงนี้ชาวบ้านจะหันไปเก็บเกี่ยวด้านผลิตทางการเกษตรที่เป็นอาชีพหลักของเรา แต่นักท่องเที่ยวกลุ่มเล็ก ๆ ยังคงมาเที่ยวได้” ผู้ใหญ่เสถียรให้ข้อมูล
มุมหนึ่งขอบ้านพักโฮมสเตย์บรรยากาศดี วิวสวย
สำหรับผู้ที่มาเที่ยวห้วยน้ำกืนนั้น จะได้สัมผัสกับวิถีชาวบ้านที่เรียบง่ายแต่ทรงเสน่ห์ ได้เที่ยวชมวิวบรรยากาศของหมู่บ้านท่ามกลางป่าใหญ่ นอนพักค้างแบบโฮมสเตย์บรรยากาศดี อิ่มอร่อยกับอาหารพื้นบ้านรสเด็ด ซึ่งปัจจุบันมีโฮมสเตย์อยู่ประมาณ 13 หลัง ใช้ระบบหมุนเวียนให้นักท่องเที่ยวเข้าพัก ตื่นเช้าขึ้นมาก็สามารถใส่บาตรพระท่ามกลางสายหมอกร่วมกับชาวบ้านได้อย่างปีติอิ่มเอม
กะท่างสัตว์ชี้วัดคุณภาพน้ำสะอาดของบ้านห้วยน้ำกืน
นอกจากนี้เรายังได้สัมผัสกับผืนป่าต้นน้ำอันอุดมสมบูรณ์ที่หากโชคดีจะได้พบกับ “กะท่าง”สัตว์พื้นถิ่นจำพวกซาลาแมนเดอร์ขนาดเล็กที่พบได้ตามลำน้ำ แอ่งน้ำ ซึ่งกะท่างนั้นเป็นตัวชี้วัดคุณภาพของน้ำสะอาดชั้นดี

ส่วนอีกหนึ่งสิ่งที่เป็นไฮไลท์ของหมู่บ้านแห่งนี้ก็คือ อาชีพการปลูกชา กาแฟ ของชาวบ้าน ซึ่งเป็นการทำการเกษตรแบบผสมผสานกลมกลืนกับธรรมชาติ และเป็นชา กาแฟ อินทรีย์ ปลอดสารเคมี 100% นักท่องเที่ยวสามารถเลือกมุมจิบ ชา กาแฟ ชมวิว ในหลาย ๆ มุม ของหมู่บ้านได้อย่างเพลิดเพลิน
จิบชา กาแฟ แลหมู่บ้านห้วยน้ำกืน
รวมถึงมีการเลี้ยงผึ้งที่เป็นตัวช่วยในการผสมเกสรตามธรรมชาติชั้นดี ซึ่งที่นี่มีน้ำผึ้งคุณภาพเยี่ยมราคาไม่แพงไว้ให้นักท่องเที่ยวเลือกซื้อเลือกหากันตามฤดูกาล

ขณะที่อีกสิ่งหนึ่งที่ประทับใจผมมาก ก็คือ รอยยิ้มพิมพ์ใจ และน้ำมิตรไมตรีของผู้คนที่นี่ ซึ่งหากใครได้มาสัมผัสก็จะชวนให้เกิดความรู้สึกหลงรักชุมชนแห่งนี้ขึ้นมาอย่างไม่ยากเย็น

ชุมชนที่มีนามว่า“บ้านห้วยน้ำกืน” หมู่บ้านเล็กกลางป่าใหญ่ ชุมชนคนอยู่กับป่าที่ไม่ธรรมดาแห่งหนึ่งของเมืองไทย
รอยยิ้มพิมพ์ใจของชาวบ้านห้วยน้ำกืน
...............................................................................................

หมู่บ้านห้วยน้ำกืน ตั้งอยู่ที่ ต.แม่เจดีย์ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เป็นหมู่บ้านที่มีอาศัยอยู่ในป่า แล้วช่วยดูแลรักษาป่าร่วมอนุรักษ์ป่าต้นน้ำอันโดดเด่น จนสามารถคว้ารางวัลเลิศรัฐ สาขา การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประจำปี 2561 ประเภทรางวัลสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม ระดับดีเด่น มาครองได้อย่างน่าภาคภูมิใจ

สำหรับโฮมสเตย์ที่บ้านห้วยน้ำกืน มีอัตราค่าบริการ ค่าที่พักราคา 250 บาท/คน อาหารมื้อละ 100 บาท/คน เหมารวม ที่นอน+อาหารเช้า-เย็น 2 มื้อ 450 บาท/คน

นอกจากนี้บ้านห้วยน้ำกืนยังเป็น 1 ใน 8 หมู่บ้านโครงการ สสอ. และเครือข่ายรักษ์ป่าต้นน้ำขุนลาว โดยหมู่บ้านที่เหลือ ประกอบไปด้วย บ้านห้วยคุณพระ, บ้านปางมะกาด,บ้านห้วยทราย,บ้านทุ่งยาว,บ้านแม่หาง, บ้านห้วยไคร้/ห้วยมะเกลี้ยง และ“บ้านขุนลาว” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งชุมชนคนอยู่กับป่า และชุมชนอนุรักษ์ป่าต้นน้ำอันโดดเด่นเช่นเดียวกับบ้านห้วยน้ำกืน
ร้านกาแฟมีวนา บ้านขุนลาว
บ้านขุนลาวมีความโดดเด่นในเรื่องของการปลูกกาแฟอินทรีย์รักษาป่า ปลอดสารเคมี 100% ภายใต้แบรนด์ “มีวนา” ซึ่งสามารถคว้ารางวัลด้านกาแฟมาได้มากมาย

สำหรับผู้สนใจต้องการท่องเที่ยวที่บ้านห้วยน้ำกืน และบ้านขุนลาว ซึ่งปัจจุบันได้รับการคัดสรรให้เป็นชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติขุนแจ เชื่อมโยงกับหมู่บ้านทั้ง 2 อาทิ น้ำตกขุนแจ น้ำตกแม่โถ ดอยลังกาหลวง อ่างเก็บน้ำแม่ฉางข้าว ดอยมด ฯ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ “ชมรมท่องเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์ อุทยานแห่งชาติขุนแจ” โทร. 0-5331-7969,08-4366-5213,09-2719-9558
....................................................................................................

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager


กำลังโหลดความคิดเห็น