xs
xsm
sm
md
lg

“ตรอกบ้านจีน” ชุมชนเก่าเมืองตาก จากความคึกคักในวันวาน สู่ความสงบงามในวันนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

Facebook :Travel @ Manager
ตรอกบ้านจีน
ในสมัยก่อน การเดินทางทางน้ำถือว่าเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญยิ่ง ฉะนั้น จึงมีชุมชนที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำลำคลองมากมาย ทั้งเป็นที่อาศัย และเป็นชุมชนการค้าขายที่คึกคัก

อย่างที่ อ.เมือง จ.ตาก ก็มีชุมชน “ตรอกบ้านจีน” ชุมชนเล็กๆ ที่เคยคึกคักเป็นอย่างมากเมื่อสมัยร้อยกว่าปีก่อน แม้ปัจจุบันนี้กลายเป็นชุมชนที่สงบเงียบ แต่ร่องรอยความรุ่งเรืองในอดีตก็ยังมีให้เห็นสืบทอดต่อกันมา

เริ่มตั้งแต่สมัยสุโขทัย ตัวเมืองตากจริงๆ ตั้งอยู่ที่บ้านตาก (ปัจจุบันคือ อ.บ้านตาก จ.ตาก) ต่อมาเมื่อมีการค้าขายกับเมืองมะละแหม่ง ท่าเรือบริเวณเมืองตากในปัจจุบันสามารถคมนาคมได้สะดวกกว่า ในสมัยอยุธยาจึงทำการย้ายเมืองตากมาอยู่ในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง จากนั้นก็กลายมาเป็นจุดพักทัพในสงครามหลายๆ ครั้ง ต่อมาในช่วงสงครามเก้าทัพ พื้นที่ทางฝั่งตะวันตกถูกตีจนราบ ในสมัยรัชกาลที่ 2 จึงได้ย้ายเมืองมาอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำ ซึ่งก็คือบริเวณเมืองตากในปัจจุบัน
บรรยากาศย่านตรอกบ้านจีนในปัจจุบัน
โดยบริเวณริมแม่น้ำปิง ก็จะมีการตั้งชุมชนต่างๆ หลายชุมชน โดยที่ชุมชน “ตรอกบ้านจีน” แห่งนี้ เป็นตลาดค้าขายสินค้าขนาดใหญ่ของเมืองตาก ซึ่ง นางเยาวเรศ บัวทอง ชาวชุมชนตรอกบ้านจีน เล่าให้ฟังถึงความเป็นมาของตรอกบ้านจีนว่า ในสมัยก่อน เมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว ที่ตรอกบ้านจีนแห่งนี้ถือว่าเป็นศูนย์กลางการค้าขายของเมืองตาก เนื่องจากพื้นที่อยู่ติดริมแม่น้ำปิง และเป็นท่าเรือขนถ่ายสินค้าจากที่ต่างๆ พอสินค้ามาขึ้นทีท่าน้ำบริเวณนี้ แม่ค้าก็จะรับขึ้นมาขายบริเวณตรอกบ้านจีน แล้วก็มีแม่ค้าจากชุมชนอื่นๆ มารับสินค้าเพื่อนำไปขายต่ออีกทอด

นอกจากจะเป็นตลาดค้าขายแล้ว ในตรอกบ้านจีนก็ยังมีบริษัทค้าไม้ระหว่างเชียงใหม่-กรุงเทพฯ มีบ้านนายอากรบ่อนเบี้ย รวมถึงบ้านของเศรษฐีอีกหลายๆ คน โดยในตลาดนั้นมีถนนทางเดิน มีการมุงหลังคาชนกันทำให้ถนนเป็นที่ร่ม สามารถเดินเชื่อมถึงกันได้ทั้งตรอก เรียกว่าเป็นตลาดใหญ่ที่คึกคักเป็นอย่างมากเมื่อช่วยร้อยกว่าปีก่อน
บ้านไม้เก่าแก่ที่ยังเหลืออยู่
ตรอกบ้านจีนเจริญรุ่งเรืองมาจนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง บริเวณตรอกบ้านจีนมีเสาโทรเลขตั้งอยู่ด้วย จึงโดนผลกระทบจากการทิ้งระเบิด การค้าขายชะงักงัน ชาวบ้านในตรอกต้องอพยพไปอยู่ถิ่นอื่น พอหลังสงครามสงบ ก็มีการขยายตลาดขึ้นไปทางทิศเหนือ ชาวบ้านในตรอกที่อพยพไปอยู่ที่อื่น บ้างก็ไม่ได้กลับมาอยู่ที่ตรอกนี้แล้ว บางคนมีลูกหลานก็ส่งเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ จึงทำให้ตรอกบ้านจีนเงียบเหงาลงไปอย่างมาก

จนกระทั่งเมื่อประมาณสิบปีก่อน ชาวชุมชนตรอกบ้านจีนก้ได้รวมตัวกันเพื่อดูแลรักษา ฟื้นฟู และซ่อมแซมบ้านเก่าที่ยังมีอยู่ในตรอกให้มีชีวิตชีวามากขึ้น ทำให้ชุมชนนี้กลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้ง ซึ่งแม้ว่าในชุมชนตรอกบ้านจีนจะยังคงเงียบสงบอยู่ แต่ก็กลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งในตัวเมืองตากที่นักท่องเที่ยวสามารถแวะมาเดินเล่นชมบ้านเก่าๆ ได้
บ้านของตระกูลไชยนันท์
บ้านไม้สวยๆ ทั้งสองข้างทางในตรอกบ้านจีน ถูกอนุรักษ์และปรับปรุงให้สวยงามน่าชม เริ่มตั้งแต่บริเวณถนนท่าเรือตัดกับถนนตากสิน บริเวณนั้นจะเรียกว่าห้าแยก เมื่อเดินเข้าตรอกบ้านจีน ก็จะได้สัมผัสความเงียบสงบ เดินถ่ายรูปมาเรื่อยๆ จนถึงบ้านไม้หลังใหญ่ที่มีป้ายพรรคประชาธิปัตย์ติดไว้ด้านหน้า ซึ่งเป็นบ้านของตระกูลไชยนันท์
บ้านสีฟ้า
เดินลึกเข้าไปในตรอกจะพบบ้านไม้เก่าแก่อีกหลายหลัง อย่างเช่น “บ้านสีฟ้า” ของตระกูลโสภโณดร เป็นอาคารไม้แบบตะวันตก 2 ชั้น ทรงขนมปังขิง ขอบประตู หน้าต่าง และเชิงชายหลังคาเป็นไม้ฉลุลายโปร่งแบบตะวันตก สร้างโดยหลวงบริรักษ์ประชากร ในอดีตบ้านหลังนี้ถูกใช้เป็นสถานที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองหรือข้าราชการต่างๆ ที่ต้องเดินทางโดยทางน้ำเพื่อติดต่อราชการขึ้นล่องระหว่างจังหวัดเชียงใหม่กับกรุงเทพมหานคร
บ้าน (จีนทองอยู่) หลวงบริรักษ์ประชากร
ผสมผสานไทย ตะวันตก และจีน
ด้านในบ้านจีนทองอยู่
“บ้าน (จีนทองอยู่) หลวงบริรักษ์ประชากร” เป็นเรือนไทยหลายหลังติดกัน ลักษณะสถาปัตยกรรมจะเป็นแนวผสมผสานไทย ตะวันตก และจีน ทางเข้าโดดเด่นด้วยซุ้มประตูแบบตะวันตก มีบันได้โค้งเดินขึ้นด้านบนดูคลาสสิกเป็นอย่างยิ่ง

ด้านในบ้านมีลวดลายสลักเสลาด้วยไม้ประดับสวยงาม และมีการสะสมของเก่าของโบราณ เช่น โถกระเบื้องเคลือบ ปิ่นโต ตะเกียง เครื่องถ้วยชามโบราณ ภาพเก่าๆ ฯลฯ ให้ชม นอกจากนี้ยังมีเตียงโบราณที่ใช้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งใครอยากสัมผัสบรรยากาศบ้านโบราณอย่างเต็มอิ่ม ที่นี่ก็ห้องพักให้บริการด้วย
ยาธาตุตำรับร้านจันทรประสิทธิ์โอสถ
เดินตามตรอกไปอีกนิด จะเป็น “ร้านจันทรประสิทธิ์โอสถ” ที่มีประวัติยาวนานกว่า 100 ปี เจ้าของคนแรกของบ้านนึ้คือ จีนบุญจันทร์ แซ่เต็ง (สุประกอบ) เป็นชาวจีนที่อพยพเข้ามาทำมาหากินในตรอกบ้านจีนช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 4 โดยได้เปิดร้านขายยาแผนโบราณ ใช้ชื่อว่า “จันทรประสิทธิ์โอสถ” และมีการสืบต่อภูมิปัญญาด้านยาแผนโบราณมาจนถึงรุ่นปัจจุบัน

ซึ่งปัจจุบันนี้ ร้านก็ยังมียาธาตุตามตำรับยาแผนโบราณของที่นี่ขายอยู่ ในบ้านก็ยังมีกล่องใส่เครื่องยาสมุนไพรแบบโบราณ ตำรับยาโบราณ สลากยาเก่าแก่ ถุงใส่เงิน และข้าวของโบราณอีกหลายๆ ชิ้นเก็บไว้ให้ชมกัน
โบสถ์วัดสีตลาราม
เดินจนสุดตรอกแล้ว ก็จะเห็น “วัดสีตลาราม” หรือ “วัดน้ำหัก” ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ของชุมชน สิ่งที่น่าสนใจของวัดนี้คือกุฏิพระและโบสถ์สร้างตามศิลปะยุโรป สร้างด้วยไม้แกะสลัก ภายในโบสถ์ประดิษฐานพระพุทธรูปสมัยอยุธยา

แม้จะเป็นชุมชนเล็กๆ ที่เงียบสงบ แต่ที่ “ตรอกบ้านจีน” ก็มีเรื่องราวความเป็นมาที่น่าสนใจ รวมถึงบ้านเรือนเก่าๆ ที่ยังหลงเหลืออยู่ ก็ถูกอนุรักษ์ให้คนรุ่นหลังได้เข้ามาสัมผัสถึงร่องรอยความรุ่งเรืองในย่านนี้ได้อย่างเต็มอิ่ม
เดินเล่นถ่ายรูปในตรอกบ้านจีน
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวใน จ.ตาก ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานตาก โทร. 0-5551-4341-3 Facebook : TAT TAK
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager


กำลังโหลดความคิดเห็น