xs
xsm
sm
md
lg

แอ่วเหนือม่วนใจ๋...ไหว้พระ ชมผ้า พาชิมของอร่อยเด็ด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผ้าตีนจกแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ หนึ่งในสุดยอดงานหัตถศิลป์ผ้าทอมืออันขึ้นชื่อ
มนต์เสน่ห์แห่งผ้าไทย นอกจากจะประณีต งดงาม มีเอกลักษณ์ และมีชื่อเสียงเลื่องลือไกลไปในระดับโลกแล้ว งานหัตถศิลป์ผ้าไทยจำนวนมากยังเกิดจากการสืบสานภูมิปัญญานับจากอดีตถึงปัจจุบัน นับเป็นหนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าที่น่าภาคภูมิใจยิ่งของชาวไทย

สำหรับภาคเหนือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่เต็มไปด้วยแหล่งผลิตผ้าไทยผืนงามมากมาย ด้วยเหตุนี้ทาง “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ภูมิภาค ภาคเหนือ จึงได้นำศักยภาพอันโดดเด่นของงานหัตถศิลป์ผ้าเมืองเหนือ มาจัดเป็น“เส้นทางแพรพรรณอาภรณ์” พาไปสัมผัสกับความงดงามของผ้าพื้นเมืองเลื่องชื่อต่างๆ ในพื้นที่ภาคเหนือ
งานหัตถศิลป์ผ้าไทยเป็นหนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่ายิ่ง
นอกจากนี้ททท.ภูมิภาค ภาคเหนือ ยังได้นำเส้นทางแพรพรรณอาภรณ์มาต่อยอด สำหรับนักท่องเที่ยว “กลุ่มผู้หญิง”ที่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวศักยภาพและมาแรงแห่งยุค โดยได้ผนวกรวมเข้ากับเส้นทางอื่นๆ จาก 8 เส้นทางท่องเที่ยวภาคเหนือที่จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “เหนือฝัน ล้านแรงบันดาลใจ”โดยเฉพาะ“เส้นทางอิ่มบุญอุ่นใจ”และ“เส้นทางอร่อย ล้านแรงบันดาลใจ” ด้วยการพาไปตะลอนทัวร์(เส้นทางตัวอย่าง)ใน 6 จังหวัดสัมผัสกับผ้างามเมืองเหนือ ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง เที่ยวชมสิ่งน่าสนใจ

พร้อมทั้งไม่พลาดการพาไปลิ้มรสเมนูเด็ด ของอร่อยประจำถิ่น เพื่อให้ครบเครื่องเรื่องเที่ยวเหนือ ทั้งชม ชิม ช้อป แชะ กันเป็นที่เพลิดเพลินอุรา

เชียงใหม่
พระธาตุดอยสุเทพ พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่และพระธาตุประจำประจำปีคนเกิดปีมะแม(แพะ)
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในบรรดาผ้าทอมือสวยๆงามๆที่มีอยู่มากมายในจังหวัดเชียงใหม่นั้น “ผ้าตีนจกแม่แจ่ม”(ผ้าจกแม่แจ่ม)หรือ“ผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่ม” ถือเป็นหนึ่งในสุดยอดงานหัตถศิลป์ผ้าทอมืออัน-ขึ้นชื่อ ซึ่งผู้นิยมผ้าไทยจำนวนมากต่างมุ่งหน้าสู่“อ.แม่แจ่ม”เพื่อไปเลือกซื้อเลือกหาผ้าตีนจกผืนงามมาสวมใส่ไว้ในครอบครอง

เส้นทางตามรอยผ้าตีนจกแม่แจ่ม เริ่มต้นด้วยการไปไหว้“พระธาตุดอยสุเทพ” พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่และพระธาตุประจำประจำปีคนเกิดปีมะแม(แพะ) เอาฤกษ์เอาชัย
เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา
ต่อจากนั้นเป็นการเดินทางสู่ อ.แม่แจ่ม ระหว่างทางก่อนขึ้นสู่ดอยอินทนนท์ จะมี“พระธาตุศรีจอมทอง”(อ.จอมทอง) พระธาตุประจำคนเกิดปีชวด(ปีหนู)ให้แวะสักการะ ก่อนจะขึ้นไปเที่ยวชมความงามของสิ่งน่าสนใจต่างๆบนดอยอินทนนท์ ไม่ว่าจะเป็น “พระมหาธาตุนภเมทนีดล-พระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ” “เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา” และจุด“สูงสุดแดนสยาม” 2,565.3341 เมตร จากระดับน้ำทะเล นอกจากนี้บนดอยอินทนนท์ยังมี “สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์”(โครงการหลวงอินทนนท์) เป็นอีกหนึ่งจุดน่าสนใจ

สถานีฯอินทนนท์ มีความโดดเด่นในเรื่องของการทำประมงบนที่สูง สามารถเพาะเลี้ยง ปลาเรนโบว์เทราต์ ปลาสเตอร์เจี้ยน กุ้งก้ามแดง และปูขน ได้สำเร็จ พร้อมกันนี้ทางสถานีฯได้นำผลผลิตต่างๆ มาจัดทำเป็นเมนูแนะนำอันหลากหลายให้ผู้ไปเยือนได้ลิ้มลอง อาทิ สเตอร์เจี้ยนผัดพริกไทดำ สเตอร์เจี้ยนนึ่งซีอิ๊ว ราดหน้าปลา(เรนโบว์)เทราต์เส้นกรอบ พล่ากุ้งก้ามแดง ผัดไทยพาสต้ากุ้งก้ามแดง ซึ่งเหมาะสำหรับสาวๆนักชิมเป็นอย่างยิ่ง
อ.แม่แจ่ม มีผ้าตีนจกแม่แจ่ม สวยๆงามๆมากมายให้เลือกซื้อ
จากดอยอินทนนท์เดินทางต่อไปยัง อ.แม่แจ่ม เพื่อไปยลความงามและเลือกซื้อเลือกหาผ้าตีนจกแม่แจ่มผืนสวยๆงามๆกัน โดย ใน อ.แม่แจ่ม มีศูนย์ทอผ้าและร้านจำหน่ายผ้าทออยู่หลากหลาย รวมถึงตามใต้ถุนบ้านเรือนหลายๆหลังก็ยังคงมีการทอผ้ากันอยู่เป็นกิจวัตร ซึ่งเราสามารถขอเข้าชมไปพูดคุยกับช่างทอกันได้

ผ้าตีนจกแม่แจ่ม มีเอกลักษณ์ด้วยเทคนิคการทอหรือจกด้วยการคว่ำลายลงกับกี่ทอผ้าแล้วจกทางด้านหลัง เมื่อทอเสร็จแล้วสามารถสวมนุ่งได้ทั้ง 2 ด้าน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแห่งงานผ้าไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications: GI ) การันตีในคุณภาพ
ปิ่นปักผมแบบโบราณ ที่“บ้านปิ่นปักผมแก้วจันทร์”
นอกจากผ้าซิ่นตีนจกผืนงามแล้ว ใน อ.แม่แจ่มยังมี ปิ่นปักผมทำมือที่“บ้านปิ่นปักผมแก้วจันทร์” ซึ่งต้นตำรับนั้นเป็นฝีมือของ คุณตา“กอนแก้ว อินต๊ะก๋อน” ก่อนจะที่ส่งต่องานฝีมือขั้นเทพมายังรุ่นลูก ให้สืบสานการทำปิ่นปักผมแบบโบราณอันงดงามและเป็นเอกลักษณ์ ที่หาได้ยากยิ่งในเมืองไทย
หากไปในช่วงฤดูทำนา(ประมาณเดือน ส.ค.-กลาง พ.ย.) เราจะได้สัมผัสกับทุ่งนาขั้นบันไดอันสวยงามกันในหลากหลายจุดของ อ.แม่แจ่ม
ด้านสถานที่ท่องเที่ยวเด่นๆไม่ควรพลาดใน อ.แม่แจ่ม หากไปในช่วงฤดูทำนา(ประมาณเดือน ส.ค.-กลาง พ.ย.) เราจะได้สัมผัสกับทุ่งนาขั้นบันไดอันสวยงามกันในหลากหลายจุดของอำเภอ ส่วนถ้าหากไปเที่ยวในช่วงเวลาปกติทั่วๆไป เมืองแม่แจ่มก็มีวัดสวยๆงามๆอันเป็นเอกลักษณ์ให้เลือกเที่ยวชมกัน อาทิ “วัดยางหลวง” “วัดป่าแดด” “วัดพุทธเอ้น” “วัดกองแขก” และ “วัดกองกาน” เป็นต้น
ตำข้าวโพดไข่เค็ม ร้านเฮือนแม่อุ๊ย
สำหรับสาวๆนักชิมที่ตลาดใจกลางเมืองแม่แจ่มมีอาหารเมืองสดๆใหม่ๆ ทั้ง ไส้อั่ว แอ๊บ จิ้นย่าง(เนื้อย่าง)ปลาย่าง ให้เลือกอิ่มอร่อย ส่วนที่“ร้านเฮือนแม่อุ๊ย” ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางแมกไม้อันร่มรื่นนั้น ถือเป็นอีกหนึ่งร้านเด็ดของชาวแม่แจ่ม ซึ่งมีเมนูเด็ดๆ อย่าง ลวกจิ้มหมูหมัก ยำหมูหมักเส้นบุก และโดยเฉพาะ“ตำข้าวโพดไข่เค็ม” เมนูหน้าตาดี รสอร่อยกลมกล่อมเป็นตัวชูโรง

และนี่ก็คือมนต์เสน่ห์ของเมืองแม่แจ่ม เมืองเล็กน่ารักในหุบเขาที่จัดอยู่ในประเภท “Small is Beautiful”

ลำพูน
“พระธาตุหริภุญชัย” พระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองและเป็นพระธาตุประจำปีคนเกิดปีระกา(ไก่)
แม้จะเป็นจังหวัดที่เล็กที่สุดในภาคเหนือ แต่ลำพูนกลับมีแหล่งผลิตผ้าฝ้ายทอมือที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทยอยู่ที่นี่ รวมถึงยังเป็นแหล่งสร้างสรรค์งานทอผ้าไหมยกดอกลำพูนอันขึ้นชื่อลือชา

สำหรับเส้นทางตามรอยผ้างามในลำพูน เริ่มต้นด้วยการไปไหว้ “พระธาตุหริภุญชัย” พระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองและเป็นพระธาตุประจำปีคนเกิดปีระกา(ไก่) ที่“วัดพระธาตุหริภุญชัย”(ถ.อินทยงยศ ต.ในเมือง อ.เมือง) ก่อนที่จะไปสนุกกับการช้อปปิ้งที่ “กาดขัวมุงท่าสิงห์”(ตั้งอยู่ตรงข้ามกับวัดพระธาตุหริภุญชัย) ซึ่งมากไปด้วยสินค้าหลากหลาย โดยเฉพาะผ้าทอทั้งผ้าไหมและผ้าฝ้ายที่ขายกันในราคาไม่แพง ชวนให้ช้อปกระจาย
“ก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋นลำไย” ร้าน “ก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋นลำไย”(เวียงยอง)
จากกาดขัวมุงท่าสิงห์เมื่อเดินต่อไปอีกไม่กี่สิบเมตร จะมี“ก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋นลำไย” ที่ร้าน “ก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋นลำไย”(เวียงยอง) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในอาหารเอกลักษณ์ของเมืองลำพูนให้เลือกลองลิ้มชิมรสสัมผัสในความแตกต่าง

หลังอิ่มอร่อยแล้ว จุดต่อไปเป็น“สถาบันผ้าทอมือหริภุญชัย” ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้เกี่ยวกับผ้าเมืองลำพูน โดยเฉพาะ“ผ้าไหมยกดอกลำพูน”อันเลื่องชื่อ และได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)
ผ้าไหมยกดอกลำพูน
ผ้าไหมยกดอกลำพูนเป็นการทอผ้าด้วยการยกลวดลายให้สูงกว่าผืนผ้า โดยส่วนใหญ่นำลวดลายมาจากธรรมชาติ โดยเฉพาะ“ลายดอกพิกุล” ที่ถือเป็นลวดลายเอกลักษณ์ของผ้าทอยกดอกลำพูน ซึ่งที่สถาบันผ้าทอมือลำพูน ในส่วน“โรงทอผ้า” จะมีผู้เชี่ยวชาญมานั่งทอผ้าให้ชมกัน ทั้งผ้าไหม ผ้าฝ้าย ทั้งลวดลายโบราณ และลวดลายประยุกต์ ที่ดูแล้วมีชีวิตชีวาไม่น้อย
โรงทอผ้า สถาบันผ้าทอมือหริภุญชัย จะมีผู้เชี่ยวชาญด้านการทอผ้า มานั่งทอผ้าอยู่เป็นกิจวัตร
ภายในสถาบันผ้าทอมือลำพูนยังมีอีกหนึ่งส่วนสำคัญคือ ส่วน“พิพิธภัณฑ์” ที่นอกจากจะมีการแสดงเกี่ยวกับงานผ้าและชุดแต่งกายชนเผ่าต่างๆแล้ว ก็ยังมีการจัดจำหน่ายงานผ้าทอมือลำพูนทั้งผ้าไหมยกดอก ผ้าไหมทั่วไป และผ้าฝ้ายเกรดพรีเมียมคุณภาพดี รวมไปถึงของที่ระลึกอีกหลากหลาย

จากตัวเมืองลำพูนเรามุ่งหน้าลงทางใต้ สู่ อ.ลี้ ดินแดนบ้านเกิดของ“ครูบาศรีวิชัย” นักบุญแห่งล้านนา ซึ่งมี “วัดบ้านปาง” ที่ได้ชื่อว่าเป็นวัดบ้านเกิดของครูบาศรีวิชัย ซึ่งท่านได้มาบวชเรียนที่นี่เป็นอีกหนึ่งจุดสนใจให้เที่ยวชม โดยภายในวัดมีรูปเคารพของครูบาศรีวิชัยองค์โตให้ได้สักการบูชา และมี“พิพิธภัณฑ์เครื่องอัฐบริขารของครูบาศรีวิชัย” ให้เราได้ศึกษาเรื่องราวของท่าน

อ.ลี้ ยังมีอีกหนึ่งวัดสำคัญนั่นก็คือ “วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม” ที่เป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดใน อ.ลี้ ภายในวัดมีสิ่งน่าสนใจหลากหลายให้เที่ยวชม เช่น วิหารพระเมืองแก้ว สรีระสังขารของครูบาวงศ์ในโลงแก้ว เจดีย์ 84,000 พระธรรมขันธ์
พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย
นอกจากนี้ก็ยังมีไฮไลท์ของ อ.ลี้ คือ “พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย”สีทองอร่าม เป็นเจดีย์ศิลปะล้านนา(อิทธิพลจากมหาเจดีย์ชเวดากองของพม่า)ฐานกว้าง 40x40 สูง 64.39 สร้างด้วยศิลาแลงทั้งองค์ ซึ่งเป็นเจดีย์ศิลาแลงที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองไทย

จาก อ.ลี้ เดินทางย้อนขึ้นมาทางเหนือ สู่ “บ้านดอนหลวง” อ.ป่าซาง แหล่งผลิตผ้าฝ้ายทอมือที่ได้ชื่อว่าใหญที่สุดในเมืองไทย(ในอ.ป่าซางยังมีบ้านหนองเงือกเป็นอีกหนึ่งแหล่งหัตถกรรมผ้าทอที่สำคัญของลำพูน)
บ้านดอนหลวง จ.ลำพูน แหล่งผลิตผ้าฝ้ายทอมือที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย
บ้านดอนหลวงเป็นชุมชนชาวยองเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี ซึ่งได้สืบสานฝีมือการทอผ้ามาจากบรรพบุรุษ ที่นี่เราจะได้พบเห็นชาวบ้านนั่งผ้ากันอยู่ตามใต้ถุนบ้านหลายๆหลัง พร้อมทั้งผู้ที่นิยมในผ้าฝ้ายก็จะได้ตื่นตาตื่นใจในผลิตภัณฑ์สินค้าผ้าฝ้ายอันหลากหลาย ที่มีวางขายกันอยู่ทั่วไปตามร้านในหมู่บ้าน โดยมีทั้งแบบดั้งเดิมและแบบร่วมสมัย ไม่ว่าจะเป็น ผ้าผืน ผ้าที่ตัดเป็นชุดสำเร็จ กระเป๋า ผ้าพันคอ ของที่ระลึกต่างๆ ฯลฯ

ที่สำคัญคืองานฝีมือที่บ้านดอนหลวงนั้นราคาย่อมเยามาก หลายๆคนเมื่อมาที่นี่จึงมักจะไม่พลาดการช้อปกระจาย เพราะผ้าถูกและดีนั้นมีให้เลือกซื้อเลือกหากันเป็นจำนวนมากที่บ้านดอนหลวง

น่าน
พระประธานจตุรทิศ วัดภูมินทร์
น่านเมืองงามแห่งล้านนาตะวันออกเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ขึ้นชื่อในเลื่องของงานทอผ้า โดยเฉพาะ “ผ้าทอลายน้ำไหล”นั้น ถือเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของเมืองน่าน

ทั้งนี้เส้นทางตามรอยผ้างามเมืองน่าน เราเริ่มต้นด้วยการไปไหว้ “พระประธานจตุรทิศ” และชมภาพจิตรกรรมฝาผนังอันสุดคลาสสิก นำโดยภาพ“ปู่ม่าน ย่าม่าน” หรือภาพ“กระซิบรักบันลือโลก” กันที่“วัดภูมินทร์” หนึ่งในวัดสำคัญต้องห้ามพลาดของเมืองน่าน
“พระธาตุแช่แห้ง” พระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองน่าน และพระธาตุประจำปีเกิดของคนที่เกิดปีเถาะ(กระต่าย)
จากวัดภูมินทร์ต่อไปเป็น “วัดพระธาตุแช่แห้ง” (อ.ภูเพียง) ซึ่งเป็นที่ประดิษฐาน“พระธาตุแช่แห้ง” พระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองน่าน และพระธาตุประจำปีเกิดของคนที่เกิดปีเถาะ(กระต่าย) ก่อนจะไปชมศิลปะการทอผ้าของชาวน่านกันที่ “โฮงเจ้าฟองคำ” เรือนล้านนาอันทรงเสน่ห์ที่ชั้นบนจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้หายาก ส่วนชั้นล่างจัดเป็นจุดให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับผ้าทอเมืองน่าน พร้อมทั้งมีการทอผ้า การสาธิตปั่นฝ้าย รวมถึงมีผ้าทอสวยๆงามๆจำหน่าย ให้ผู้สนใจซื้อเป็นที่ระลึกติดไม้ติดมือกลับบ้าน

หลังอุ่นเครื่องเรื่องผ้าทอเมืองน่านที่โฮงเจ้าฟองคำกันไปแล้ว เราเดินทางออกนอกตัวเมืองสู่ “บ้านหนองบัว” อ.ท่าวังผา ที่ถือเป็นต้นตำรับของผ้าทอลายน้ำไหลอันเลื่องชื่อของเมืองน่าน
ผลิตภัณฑ์ผ้าทออันหลากหลายที่บ้านหนองบัว
บ้านหนองบัวเป็นชุมชนชาวไทลื้อที่บรรพบุรุษอพยพมาจากสิบสองปันนา ประเทศจีน ซึ่งได้นำภูมิปัญญาฝีมือการทอผ้าติดตัวมา แล้วได้คิดค้นสร้างสรรค์ผ้าทอลายน้ำไหลขึ้นมา
 
ปัจจุบันผ้าทอลายน้ำไหลได้รับการต่อยอด พลิกแพลง สร้างสรรค์ ให้เกิดเป็นลวดลายใหม่ภายใต้คอนเซ็ปต์ลายน้ำไหลอีกมากมาย

หลังได้สัมผัสในมนต์เสน่ห์ของผ้าทอลายน้ำไหลแล้ว เราไปปิดท้ายล่ำลาบ้านหนองบัวด้วยการไหว้พระที่ “วัดหนองบัว” พร้อมทั้งไม่พลาดการชมความงามของภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนประดับอยู่ภายในวิหารวัดแห่งนี้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งผลงานมาสเตอร์พีชอันสุดคลาสสิค โดยเฉพาะภาพเรื่องราว “คันธชาดก” ที่มุ่งสอนให้ทำความดีละเว้นความชั่ว อันเป็นนิทานธรรมเก่าแก่ปรากฏที่วัดนี้เพียงแห่งเดียว
วัดหนองบัว ที่มีงานจิตรกรรมฝาผนังอันงดงาม คลาสสิก
สำหรับผู้มาแอ่วเมืองน่านหากท้องหิวขึ้นมา วันนี้ตัวเมืองน่านมีร้านอาหารและร้านกาแพเครื่องดื่มอันหลากหลายให้เลือกอร่อย ไม่ว่าจะเป็น ร้านข้าวแกงวันดา ร้านเฮือนฮอม ร้านข้าวซอยต้นน้ำ ร้านเฮือนเจ้านาง อยู่ดีกินดีคาเฟ่ คาเฟ่สุดกองดี รวมถึง“ร้านขนมหวานป้านิ่ม” ที่มีขนมหวานอันหลากหลายให้เลือกกิน โดยเฉพาะ“บัวลอยป้านิ่ม”อันโด่งดัง

ส่วนผู้ที่นิยมในอาหารพื้นเมือง น่านก็มีมะไฟจีนผลไม้เฉพาะถิ่นเป็นของกินของฝากขึ้นชื่อ มีส้มสีทองให้ได้อร่อยกันตามฤดูกาล(ราวเดือน พ.ย.-ก.พ.) มีข้าวหลามเมืองน่านหอมหวานอร่อยซึ่งสามารถหาซื้อได้ง่ายๆที่บริเวณข้างวัดภูมินทร์
“ไก่ทอดมะแขว่น” อาหารขึ้นชื่อประจำถิ่นของ จ.น่าน
นอกจากนี้ก็ยังมี“ไก่ทอดมะแขว่น” อาหารอร่อยประจำถิ่นกับไก่ทอดใส่มะแขว่น เครื่องเทศรสเผ็ดซ่ากับรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ รวมไปถึงสาหร่ายน้ำจืด “ไก”หรือ“ไค”ที่เป็นอีกหนึ่งของดีเมืองน่าน(มีตามฤดูกาลราวเดือน พ.ย.-พ.ค.)ให้เลือกลิ้มลองพิสูจน์ในรสชาติความแปลกใหม่สำหรับผู้มาเยือนเมืองน่าน

แพร่

แพร่มีผ้า“หม้อห้อม”(ม่อห้อม,ม่อฮ่อม)เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของจังหวัด สำหรับเส้นทางตามรอยหม้อห้อมเมืองแพร่นั้น เริ่มจากการไหว้ “พระธาตุช่อแฮ” พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองแพร่ และเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีขาล(เสือ)เอาฤกษ์เอาชัย
บ้านวงศ์บุรี
ต่อจากนั้นไปชมความงามของ“บ้านวงศ์บุรี”บ้านสีชมพูแสนสวย ที่สร้างในทรงยุโรปประยุกต์อันงดงามสมส่วน ด้านนอกดูโดดเด่นไปด้วยลวดลายฉลุที่ประดับอยู่ตามจุดต่างๆ ส่วนภายในบ้านจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้หายากในลักษณะพิพิธภัณฑ์ พร้อมกับตกแต่งด้วยข้าวของเครื่องใช้ต่างๆอย่างสวยงาม
ข้าวซอย ร้านข้าวซอย เจ๊เล็ก
หลังเพลิดเพลินกับบ้านวงศ์บุรีสีชมพูแล้ว เราไปเติมพลังความอิ่มอร่อยกันที่ “ร้านข้าวซอย เจ๊เล็ก” (ถ.น้ำคือ ต.ในเวียง อ.เมือง) ร้านข้าวซอยชื่อดังในระดับตำนานคู่เมืองแพร่ ที่เปิดขายมาร่วม 30 ปี มีทั้งข้าวซอยเนื้อ ไก่ หมู เครื่องในหมู กุ้ง และ“ข้าวซอยทอดกรอบ” ให้เลือกลิ้มลอง

เมื่ออิ่มหนำจากข้าวซอยแล้ว จุดต่อไปคือ “บ้านทุ่งโฮ้ง” (ต.ทุ่งโฮ้ง อ.เมือง) แหล่งผลิตผ้าหม้อห้อมชื่อดังของเมืองไทย
ผลิตภัณฑ์จากผ้าหม้อห้อมที่บ้านทุ่งโฮ้ง จ.แพร่
หม้อห้อมที่บ้านทุ่งโฮ้ง เป็นการสืบทอดภูมิปัญญาการย้อมผ้าหม้อห้อมของชาวไทยพวนที่อพยพมาจากเมืองพวน แขวงเชียงขวาง สปป.ลาว มาสร้างสรรค์เป็นผ้าหม้อห้อมผืนงามทั้งตามแบบกรรมวิธีดั้งเดิมและแบบประยุกต์

เดิมชาวแพร่จะนำผ้าหม้อห้อมมาตัดเย็บเป็นเสื้อหรือกางเกงเท่านั้น แต่ว่าในปัจจุบันได้มีการนำผ้าหม้อห้อมมาประยุกต์ทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ทั้ง กระเป๋า ผ้าเช็ดหน้า ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน พวงกุญแจ ของที่ระลึก และของตกแต่งบ้านสารพัด รวมถึงได้พัฒนาในเรื่องของการดีไซน์ออกแบบให้มีความร่วมสมัย กลายเป็นแฟชั่นที่สวมใส่แล้วดูสวยเก๋และแฝงไปด้วยมนต์เสน่ห์แห่งวิถีไทย
“ศูนย์เรียนรู้ย้อมผ้าหม้อห้อม”ที่“บ้านป้าเหงี่ยม” เป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้เกี่ยวกับหม้อห้อม ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดกระบวนการ
นอกจากนี้ที่บ้านทุ่งโฮ้งยังมี“ศูนย์เรียนรู้ย้อมผ้าหม้อห้อม”ที่“บ้านป้าเหงี่ยม” เป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้เกี่ยวกับหม้อห้อม ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดกระบวนการ พร้อมทั้งยังเปิดโอกาสให้แต่ละคนสร้างสรรค์ผลงานผ้าหม้อห้อมของตัวเอง ทั้งแบบเขียนลาย หรือแบบพิมพ์ ซึ่งผ้าแต่ละผืนที่ทำออกมานั้นมีหนึ่งเดียวในโลกอันเกิดจากผลงานการสร้างสรรค์ของเรานั่นเอง

จากผ้าหม้อห้อมเราไปดูงาน“ผ้าจกเมืองลอง” ที่ อ.ลอง ซึ่งในอดีตเมืองลองเคยเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชาวไทยวนหรือไทยโยนกมาก่อน

ผ้าทอตีนจกเมืองลองหรือซิ่นตีนจกเมืองลอง มีลักษณะพิเศษอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือ ในผืนผ้าจะจบลงด้วย “หมายซิ่น” ซึ่งเป็นลวดลายพิเศษอันเป็นเครื่องหมายเฉพาะของผู้ทอที่ได้สร้างสรรค์เอาไว้
“ศูนย์การเรียนรู้ผ้าจกเมืองลอง” ของ แม่ครู“ประนอม ทาแปง”
สำหรับแหล่งชมผ้าทอเมืองลองที่สำคัญนั้นอยู่ที่ “ศูนย์การเรียนรู้ผ้าจกเมืองลอง” ซึ่งเป็นการเปิดบ้านของ แม่ครู“ประนอม ทาแปง” ศิลปินผู้เป็นเอกอุด้านการทอผ้า จนได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์ - ศิลปะผ้าทอ) ในปี พ.ศ. 2553

ศูนย์การเรียนรู้ผ้าจกเมืองลอง แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ “โรงย้อมผ้าสีครามธรรมชาติ” “สวนเก๊าหมื่น-แหล่งเรียนรู้พันธุ์ไม้ย้อมสีธรรมชาติและ“ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์และพิพิธภัณฑ์ผ้าจกเมืองลอง” ที่จัดแสดงผลงานของแม่ครูประนอม จัดแสดงผ้าจกเมืองลอง และผ้าไทยอันทรงคุณค่าจากท้องถิ่นต่างๆ
“พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นโกมลผ้าโบราณ” จัดแสดงผ้าไทยอันทรงคุณค่าต่างๆมากมาย
ใน อ.ลอง ยังมี“พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นโกมลผ้าโบราณ” ของ อ.โกมล พานิชพันธ์ เป็นอีกหนึ่งจุดเที่ยวชมและศึกษาเรื่องผ้าไทยที่น่าสนใจ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จัดแสดงผ้าไทยอันทรงคุณค่าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ผ้าโบราณของเมืองลอง ผ้าตีนจกของชาวไทยโยนกเมืองลอง ผ้าตีนจกแม่แจ่ม ผ้าตีนจกหาดเสี้ยว ผ้าตีนจกไหล่หิน ผ้าตีนจกนาน้อย และผ้าโบราณของล้านนาอีกหลากหลายให้ได้ชื่นชมกัน

และไม่ไกลจากพิพิธภัณฑ์ฯผ้าโบราณเท่าไหร่ เป็นที่ตั้งของ “สถานีรถไฟบ้านปิน” ที่สร้างในสไตล์ “เฟรมเฮาส์” แบบบาวาเรียนผสมผสานกับเรือนปั้นหยาแบบไทยๆ ที่ดูทรงเสน่ห์สวยงามคลาสสิกหนึ่งเดียวของไทย
“สถานีรถไฟบ้านปิน” ที่สร้างในสไตล์ “เฟรมเฮาส์”  ดูทรงเสน่ห์สวยงามคลาสสิกหนึ่งเดียวของไทย
สุโขทัย

สุโขทัยเมืองมรดกโลก อดีตราชธานีแรกแห่งสยามประเทศ นอกจากจะมี“เครื่องสังคโลก”เป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกที่สำคัญแล้ว ยังเป็นแหล่งผ้างามและแหล่งทำเงิน-ทองโบราณอันเลื่องชื่อ

สำหรับเส้นทางตามรอยผ้างามแห่งสุโขทัย เริ่มต้นด้วยการไปไหว้ “พระอจนะ”แห่ง “วัดศรีชุม” ก่อนไปสัมผัสกับมนต์เสน่ห์แห่งมรดกโลกกันที่“อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย”ในเขตกำแพงเมืองเก่า ที่มีวัดเด่นๆ อาทิ “วัดศรีสวาย” “วัดสระศรี” และ“วัดมหาธาตุ” ซึ่งมีไฮไลท์คือเจดีย์ทรง“ดอกบัวตูม” หรือ“ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์” อันสวยงามคลาสสิก แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์แห่งงานสถาปัตยกรรมสุโขทัยอย่างเด่นชัด
ไหว้พระอจนะ วัดศรีชุม จ.สุโขทัย
จากนั้นเราไปสำราญรสกับ“ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย” หนึ่งในเมนูต้องห้ามพลาดของผู้มาเยือนสุโขทัย ก่อนจะ มุ่งหน้าสู่ อ.ศรีสัชนาลัย เพื่อไปสัมผัสกับมนต์เสน่ห์แห่งมรดกโลกกันที่ “อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย” ซึ่งมีจุดน่าสนใจหลักๆได้แก่ “วัดนางพญา” ที่มีลวดลายปูนปั้นอันงดงามคลาสสิก “วัดเจดีย์เจ็ดแถว” ที่มีเจดีย์มากถึง 33 องค์ โดยมีเจดีย์ประธานทรงดอกบัวตูม(พุ่มข้าวบิณฑ์)เป็นไฮไลท์สำคัญของวัด

จากอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยย้อนกลับมายังถนนหลัก(สาย 101) แล้วผ่านไปยัง ต.ท่าชัย ที่นี่จะเป็นแหล่งทำ“เงิน-ทองโบราณ” ที่มีการสืบต่อภูมิปัญญามาช้านานกว่า 700 ปี อันเป็นอีกหนึ่งมรดกอันทรงคุณค่ายิ่งของสุโขทัย
งานประณีตศิลป์เงินโบราณที่ร้านไหมเงิน
เงิน-ทองโบราณ เกิดจากการประดิดประดอยของช่างท้องถิ่น ซึ่งลวดลายส่วนหนึ่งจะนำมาจากลวดลายปูนปั้นที่วัดนางพญา(อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย) และมาสร้างสรรค์เป็นงานวิจิตรศิลป์อันประณีต งดงาม โดยใน ต.ท่าชัย มีแหล่งผลิตและร้านขายเงิน-ทองโบราณอยู่หลากหลายให้เลือกซื้อเลือกหากันตามความชอบ

จุดต่อไปเราไปชมความของ“ผ้าทอหาดเสี้ยว”(ต.หาดเสี้ยว) ที่ได้สืบสานวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่นสืบต่อกันมาร่วม 200 ปี ของชาวไทยพวนที่อพยพมาจากเมืองพวน(ทางตอนใต้หลวงพระบาง สปป.ลาว) ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านหาดเสี้ยวได้มีการผลิตงานผ้าทอมือที่หลากหลายให้เลือกซื้อเลือกหา ไม่ว่าจะเป็น ผ้าซิ่นตีนจก ผ้าซิ่นธรรมดา ผ้าขาวม้า ผ้าพันคอ ย่าม ผ้าห่ม เป็นต้น
“สาธรพิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำ” จัดแสดงงานหัตถศิลป์ผ้าทอมือชั้นเลิศมากมาย
นอกจากผ้าทอตามบ้านเรือนตามแหล่งต่างๆที่บ้านหาดเสี้ยว ใน ต.หาดเสี้ยว ยังมีแหล่งรวมสุดยอดผ้าไทยให้เที่ยวชมกันนั่นก็คือ ที่ “สาธรพิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำ” ของ “อ.สาธร โสรัจประสพสันติ” หรือ “ลุงสาธร” ผู้มีใจรักในงานศิลปวัฒนธรรมโดยเฉพาะงานด้านผ้าทอโบราณ

สาธรพิพิธภัณฑ์ฯ จัดแสดงงานหัตถศิลป์ผ้าทอมือชั้นเลิศ ทั้งผ้าลายโบราณ ผ้าเก่าแก่ ผ้าทอชิ้นเยี่ยม ผ้าซิ่นตีนจกที่เด่นๆของแหล่งต่างๆ รวมไปถึง “ผ้าซิ่นทองคำ”(ซิ่นไหมคำ) 2 ผืน ใหม่-เก่า กับลวดลายอันวิจิตรจากฝีมือเชิงช่างอันสุดยอด โดยผืนใหม่นั้นทอขึ้นเพื่อใช้ในพิธีแต่งงานของลูกสาวลุงสาธร ส่วนผืนเก่าเป็นซิ่นเจ้านายเชียงตุงอายุเก่าแก่กว่า 100 ปี
ปั่นจักรยานสัมผัสวิถีชุมชนที่บ้านนาต้นจั่น
หลังตื่นตาตื่นใจไปกับสุดยอดงานผ้าทอที่สาธรพิพิธภัณฑ์ฯแล้ว สถานที่ต่อไปเป็น “บ้านนาต้นจั่น” (ต.บ้านตึก อ.ศรีสัชนาลัย) อีกหนึ่งชุมชนท่องเที่ยวอันโดดเด่นในอันดับต้นๆของเมืองไทย

บ้านนาต้นจั่น เป็นชุมชนน่าอยู่ ผู้คนน่ารัก ชาวบ้านดำรงวิถีกันอย่างเรียบง่ายแต่ทรงเสน่ห์ ภายในบ้านนาต้นจั่นมีกิจกรรมและสิ่งน่าสนใจหลากหลายให้สัมผัส อาทิ โฮมสเตย์ ปั่นจักรยานสัมผัสวิถีชาวบ้าน เที่ยวไร่เที่ยวสวน เยี่ยมบ้านทำตุ๊กตาบาร์โหน(บ้านคุณ“ตาวงษ์ เสาฟั่น”)
ผลิตภัณฑ์จากผ้าหมักโคลนที่บ้านนาต้นจั่น จ.สุโขทัย
นอกจากนี้ที่บ้านนาต้นจั่นยังมีงานทอผ้าเป็นอีกหนึ่งวิถีของชาวบ้านที่นี่ โดยผ้าส่วนใหญ่เมื่อทอเสร็จแล้วจะนำไปสู่กรรมวิธีทำ “ผ้าหมักโคลน” ซึ่งต้นกำเนิดของผ้าหมักโคลนบ้านนาต้นจั่น มาจากความบังเอิญในอดีต เมื่อมีผู้สังเกตว่าเสื้อผ้าที่ชาวบ้านสวมใส่ไปทำไร่ทำนาแล้วเลอะเทอะเปรอะโคลนนั้น กลับมีเนื้อผ้าที่นิ่ม ใส่สบาย เกิดเป็นภูมิปัญญาการผลิตผ้าหมักโคลนบ้านนาต้นจั่นขึ้น ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องของเนื้อผ้าที่มีความนุ่มละมุน สวมใส่สบาย

ทั้งนี้นักท่องเที่ยวสามารถเลือกซื้อเลือกหาผ้าหมักโคลนที่มีให้เลือกหลากหลายทั้งเสื้อ กระโปรง กางเกง ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าซิ่น กระเป๋า ฯลฯ กันได้ที่ “ศูนย์เรียนรู้บ้านนาต้นจั่น” รวมถึงสามารถเรียนรู้ และชมกระบวนการ(สาธิต)การผลิตผ้าหมักโคลนที่ศูนย์แห่งนี้ได้อีกด้วย
“ข้าวเปิ๊บ” เมนูเด็ดที่ผู้มาเยือนบ้านนาต้นจั่นไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง
สำหรับอีกหนึ่งสิ่งชูโรงของที่นี่ก็คืออาหารการกินประจำถิ่นเป็น ไม่ว่าจะเป็น ข้าวพันต่างๆ แกงแค น้ำพริกซอกไข่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ข้าวเปิ๊บ”ที่มีลักษณะคล้ายข้าวเกรียบปากหม้อ กับ “ก๋วยเตี๋ยวแบ” ก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็กหน้าตาคล้ายผัดไทยนั้น เป็น 2 เมนูเด็ดที่ผู้มาเยือนบ้านนาต้นจั่นไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

อุทัยธานี
แม่น้ำสะแกรกรังกับวิถีเรือนแพอันเป็นเอกลักษณ์ของอุทัยธานี
อุทัยธานีนอกจากจะเป็นเมืองที่มีความเงียบสงบผู้คนดำรงวิถีเรียบง่ายแต่งดงามทรงเสน่ห์ เหมาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบท่องเที่ยวในรูปแบบสโลว์ไลฟ์แล้ว อุทัยธานียังเป็นเมืองแห่งผ้างามอันเลื่องชื่ออีกแห่งหนึ่งของเมืองไทย

ผ้าทออุทัยธานีที่โดดเด่นที่สุดก็เห็นจะเป็นผ้าทอของชาว“ลาวครั่ง”(กลุ่มชาติพันธุ์ที่ใช้ครั่งในการย้อมผ้า) ที่มีความโดดเด่นทั้งในเรื่องของกระบวนการผลิต ความละเอียดประณีตของลวดลาย และสีสันจากวัสดุธรรมชาติที่ทอสร้างสรรค์ออกมาได้อย่างวิจิตรสวยงาม
ผ้าทอลายโบราณของชาวลาวครั่ง ที่จัดแสดงให้ชมที่บ้านโคกหม้อ
ทั้งนี้แหล่งผ้าทอสวยๆงามๆในจังหวัดอุทัยธานีมีอยู่ในหลายจุดด้วยกัน โดยเฉพาะในหลายชุมชนของ อ.บ้านไร่ นั้นถือว่าต่างก็มีเอกลักษณ์และความโดดเด่นแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็น ที่บ้านนาตาโพ บ้านผาทั่ง บ้านทัพหลวง บ้านทัพคล้าย เป็นต้น

ส่วนที่“ศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาหม่อนไหม บ้านโคกหม้อ” ต.โคกหม้อ อ.ทัพทัน ซึ่งทาง “กลุ่มสตรีทอผ้าไหมลายโบราณบ้านโคกหม้อ” ได้สืบทอดและอนุรักษ์ภูมิปัญญาการทอผ้าแบบลาวครั่งโบราณเอาไว้ ก็เป็นอีกหนึ่งจุดอันโดดเด่นของการท่องเที่ยว-เรียนรู้เกี่ยวกับงานหัตถศิลป์ผ้าทออันขึ้นชื่อของอุทัยธานี
“กลุ่มสตรีทอผ้าไหมลายโบราณบ้านโคกหม้อ” ได้สืบทอดและอนุรักษ์ภูมิปัญญาการทอผ้าแบบลาวครั่งโบราณเอาไว้
ผ้าทอบ้านโคกหม้อมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวกับเทคนิคการ “มัดแต้ม”หรือ“แจะหมี่”(ภาษาลาว) ซึ่งเป็นการแต้มสีลงบน (เส้นไหม) ลายมัดหมี่ ก่อนนำไปทอเป็นผืนผ้าอันสวยงามต่อไป

สำหรับใครที่มาสัมผัสกับความงามของผืนผ้าชาวลาวครั่งแล้ว ในตัวเมืองอุทัยธานียังมีสิ่งน่าสนใจเด่นๆให้เที่ยวชม(จะเที่ยวก่อนหรือหลังการชมผ้าก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม) เริ่มต้นกันที่“วัดท่าซุง”หรือ“วัดจันทาราม” ที่มี“มหาวิหารแก้ว 100 เมตร”เป็นไฮไลท์ กับบรรยากาศงดงามปานเนรมิต จากการประดับด้วยกระจกและโมเสคแก้วใส (วิหารแก้วจะเปิดให้เข้าชมวันละ 2 ช่วง คือ 09.00-11.45 น. และ 14.00-16.00 น.)
มหาวิหารแก้ว 100 เมตร วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี
ต่อจากนั้นก็เป็นการมาเที่ยวในตัวเมืองอุทัยธานี ชม“วิถีเรือนแพ” แห่งแม่น้ำสะแกกรังอันเป็นเอกลักษณ์ที่บริเวณลานสะแกกรัง แล้วข้ามสะพานเล็กๆไปยังฝั่งเกาะเทโพ เที่ยวชมความงามของ “วัดโบสถ์”หรือ“วัดอุโปสถาราม” ที่โดดเด่นไปด้วย“มณฑปแปดเหลี่ยม”ในรูปทรงแบบตะวันตก

ด้านสาวๆคนไหนที่ชอบเรื่องอาหารการกิน ตัวเมืองอุทัยธานีถือว่าตอบโจทย์สิ่งนี้ได้เป็นอย่างดี โดยแหล่งรวมของอร่อยในตัวเมืองอุทัยธานีนั้นอยู่ที่“ตรอกโรงยา”กับบริเวณใกล้เคียง ซึ่งมีของกินท้องถิ่นรสเด็ดให้เลือกอยู่หลายร้านด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น โกตี๋ ข้าวมันไก่,เจ๊ดาปลาลวก,ก๋วยเตี๋ยวไก่เจ๊โหนก,ข้าวหมูแดงเจ๊หน่อย,ก๋วยเตี๋ยวไก่เจ๊โหนก,เม้ง เป็ดพะโล้
ร้านกาแฟบ้านจงรัก
ขณะที่ร้านกาแฟก็มี ร้านบ้านอาม่า ร้านกาแฟอู่ไท ร้านปุ๋มกาแฟโบราณ ร้านป้าทองกาแฟโบราณ และร้านกาแฟบ้านจงรักที่ด้านบนยังเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงข้าวของเก่าแก่น่าสนใจหลากหลายให้ได้ชมกัน(พิพิธภัณฑ์เปิดเฉพาะวันเสาร์)

ส่วนของหวานก็มี ร้านป้านึกขนมหวาน ไอศกรีมป้าแจว(รถเข็น) และขนมปังสังขยาไส้เยิ้มอันเป็นอีกหนึ่งของดีขึ้นชื่อของจังหวัด นำโดยขนมปังสังขยา“ร้านไพพรรณ” ที่ทำขนมปังสังขยาสดใหม่มาให้เลือกซื้อไปกินอิ่มอร่อยกัน
“ปลาแรด” เป็นอีกหนึ่งเมนูต้องห้ามพลาดสำหรับผู้มาเยือนอุทัยธานี
นอกจากนี้ที่อุทัยธานียังมีปลาขึ้นชื่ออย่าง“ปลาแรด” ที่เลี้ยงในน้ำไหลใสสะอาดจึงได้ปลาแรดรสดีเนื้อแน่นหวาน เป็นอีกหนึ่งเมนูต้องห้ามพลาดสำหรับผู้มาเยือนอุทัยธานี เมืองเล็กๆที่มีสิ่งน่าสนใจและของดีมากมายให้ไปสัมผัส และชวนหลงรักในเสน่ห์อันน่าประทับใจของเมืองนี้

..................
วิถีเรือนแพแห่งแม่น้ำสะแกกรัง
และนั่นก็คือมนต์เสน่ห์ของเส้นทาง“ไหว้พระ ชมผ้า พาชิมของอร่อยเด็ด” ที่มีธีมหลักอยู่ที่การตามรอยผ้าไทยอันขึ้นชื่อเป็นเอกลักษณ์ใน 6 จังหวัดภาคเหนือของนักท่องเที่ยวกลุ่มผู้หญิง ซึ่งนอกจากจะมีผ้าๆสวยๆงามๆให้ชม ให้ช้อป กันอย่างจุใจแล้ว เรายังได้เรียนรู้ในวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของท้องถิ่นนั้นๆ ผ่านผืนผ้าที่ช่างได้สร้างสรรค์ออกมาให้ชื่นชมกัน อันถือเป็นอีกหนึ่งการเปิดประสบการณ์ เปิดหน้าต่างของหัวใจให้ได้สัมผัสเรียนรู้กับสิ่งต่างๆที่ผ่านเข้ามา

เพื่อที่จะนำไปเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆต่อไป

***************************************
ผ้าตีนจกแม่แจ่ม หนึ่งในสุดยอดงานหัตถศิลป์ผ้าทอมืออันขึ้นชื่อ
สอบถามข้อมูลเส้นทางตามรอยผ้าตีนจกแม่แจ่ม และสถานที่ท่องเที่ยวเชื่อมโยงใน จ.เชียงใหม่ ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานเชียงใหม่ (รับผิดชอบพื้นที่ลำพูน ลำปาง เชียงใหม่) โทร. 0-5324-8604-5

สอบถามข้อมูลเส้นทางรอยผ้างามเมืองลำพูน(ผ้าไหมยกดอกลำพูน-ผ้าฝ้ายบ้านดอนหลวง) และสถานที่ท่องเที่ยวเชื่อมโยง ใน จ.ลำพูน ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานเชียงใหม่ (รับผิดชอบพื้นที่ลำพูน ลำปาง เชียงใหม่) โทร. 0-5324-8604-5

สอบถามข้อมูลเส้นทางตามรอยผ้าทอลายน้ำไหลไทลื้อ และสถานที่ท่องเที่ยวเชื่อมโยง ใน จ.น่าน ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแพร่ (ดูแลพื้นที่ แพร่ น่าน อุตรดิตถ์) โทร. 0-5452-1118-9, 0-5452-1127

สอบถามข้อมูลเส้นทางตามรอยหม้อห้อม ผ้าจกเมืองลอง และสถานที่ท่องเที่ยวเชื่อมโยงใน จ.แพร่ ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแพร่ (ดูแลพื้นที่ แพร่ น่าน อุตรดิตถ์) โทร. 0-5452-1118-9, 0-5452-1127

สอบถามข้อมูลเส้นทางตามรอยผ้าหมักโคลนบ้านนาต้นจั่น ผ้าทอบ้านหาดเสี้ยว และสถานที่ท่องเที่ยวเชื่อมโยงเชื่อมโยงใน จ.สุโขทัย ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุโขทัย (ดูแลพื้นที่สุโขทัย กำแพงเพชร) โทร.0-5561-6228-9

สอบถามข้อมูลเส้นทางตามผ้าทอลาวครั่งและผ้างามเมืองอุทัย และสถานที่ท่องเที่ยวเชื่อมโยง ใน จ.อุทัยธานี ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานอุทัยธานี โทร. 0-5651-4651-2

*****************************************

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น