xs
xsm
sm
md
lg

“อุทัยธานี”บนวิถีสโลว์ไลฟ์ เติมสุขกาย-ใจ...ล่องสะแกกรัง ท่องสวรรค์วัดท่าซุง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

มหาวิหารแก้ว 100 เมตร วัดท่าซุง กับความงดงามระยิบระยับที่หลายๆคนยกเปรียบให้เป็นดังสรวงสวรรค์
“เมืองพระชนกจักรี ปลาแรดรสดี ประเพณีเทโว ส้มโอบ้านน้ำตก มรดกโลกห้วยขาแข้ง แหล่งต้นน้ำสะแกกรัง ตลาดนัดดังโคกระบือ”

นี่คือคำขวัญของจังหวัด“อุทัยธานี” เมืองที่มีความเงียบสงบผู้คนดำรงวิถีเรียบง่ายแต่งดงาม และมีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจอันหลากหลาย ทั้งมรดกโลก ธรรมชาติ ป่าไม้ ขุนเขาสายน้ำ ศิลปวัฒนธรรม วัดวาอาราม วิถีชีวิตอันทรงเสน่ห์ รวมถึงมีอาหารท้องถิ่นอร่อยเด็ดราคาย่อมเยาให้เลือกลองลิ้มชิมรสกันเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้อุทัยธานียังได้ชื่อว่าเป็นเมืองจักรยาน โดยมีสโลแกนประจำจังหวัดว่า “อุทัยเมืองน่าใช้จักรยาน” เนื่องจากเป็นเมืองที่มีการจราจรไม่พลุกพล่าน ภายในจังหวัดมีการส่งเสริมการปั่นจักรยานกันอย่างจริงจัง พร้อมทั้งมีเส้นทางจักรยานน่าสนใจในหลากหลายเส้นทางให้เลือกปั่นกัน
อุทัยเมืองน่าใช้จักรยาน(ภาพ : กิจกรรมการปั่นจักรยานที่เกาะเทโพ)
องค์ประกอบเหล่านี้ หนุนส่งให้จังหวัดอุทัยธานีเป็นอีกหนึ่งเมืองน่าเที่ยว ในรูปแบบ Slow Life & Slow Travel สัมผัสกับวิถีไทยอันเก๋ไก๋ไม่เหมือนใคร โดยเฉพาะกับนักท่องเที่ยว“กลุ่มผู้หญิง” ที่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวศักยภาพและมาแรงแห่งยุค

ด้วยเหตุนี้ทาง“การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ภูมิภาค ภาคเหนือ และ ททท.สำนักงานอุทัยธานี” จึงได้จัดทริป “เติมสุขกาย & ใจ Slow Life อุทัยธานี”ขึ้น เพื่อเชิญชวนเหล่านักท่องเที่ยวสุภาพสตรีและกลุ่มบุคคลอื่นๆทั่วไป ให้มาสัมผัสกับเสน่ห์แห่งอุทัยธานีที่เปี่ยมไปด้วยมนต์ขลัง อันน่าประทับใจและชวนค้นหาเป็นอย่างยิ่ง

วัดท่าซุง
มหาวิหารแก้ว 100 เมตร วัดท่าซุง ภายในประดับด้วยกระจกและโมเสคแก้วใสแวววับ
หลังใช้เวลาไม่นานเดินทางจากกรุงเทพฯมาถึงยังอุทัยธานี เราเปิดประเดิมทริปด้วยการไปไหว้พระเอาฤกษ์เอาชัยกันที่ “วัดท่าซุง”(ต.น้ำซึม อ.เมือง) ที่ขึ้นชื่อลือชาในเรื่องของความงดงาม

วัดท่าซุง หรือ วัดจันทาราม เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เคยถูกปล่อยทิ้งรกร้างไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง กระทั่งในปี พ.ศ. 2332 หลวงพ่อใหญ่ได้เข้ามาบูรณปฏิสังขรณ์วัดขึ้นมาใหม่ หลังจากนั้นวัดท่าซุงก็ได้รับการบูรณะก่อสร้างสิ่งต่างๆขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสมัย“พระราชพรหมยาน”(วีระ ถาวโร) (พ.ศ. 2460-2535)หรือที่รู้จักกันดีในนาม“หลวงพ่อฤาษีลิงดำ” ได้มีการพัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรืองมีการก่อสร้างอาคารสิ่งต่างๆมากมาย
บรรยากาศภายนอกของมหาวิหารแก้ว 100 เมตร
ปัจจุบันวัดท่าซุงถือเป็นหนึ่งในสถานที่ปฏิบัติธรรมและสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในอันดับต้นๆของจังหวัดอุทัยธานี แต่ละวันมีพุทธศาสนิกชนเดินทางมาทำบุญ ไหว้พระ และเที่ยวชมความงามของวัดแห่งนี้กันไม่ได้ขาด โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดจะมีคนมากันอย่างเนืองแน่น

สำหรับจุดที่เป็นไฮไลท์สำคัญของวัดท่าซุงก็คือ “มหาวิหารแก้ว 100 เมตร” วิหารสำคัญที่หลวงพ่อฤๅษีลิงดำสร้างไว้ก่อนมรณภาพ ภายในประดับด้วยกระจกและโมเสคแก้วใสแวววับ บนเพดานประดับโคมไฟคริสตัล มีเสาเรียงรายนำสวยงามนำสายตาไปสู่องค์พระประธานคือ “พระพุทธชินราช”(จำลอง)ที่ประดิษฐานอยู่ทางผนังฟากหนึ่ง ส่วนผนังอีกฟากหนึ่ง(ฝั่งตรงข้าม)ประดิษฐานสรีระของหลวงพ่อฤาษีลิงดำที่ไม่เน่าเปื่อยไว้ในโลงแก้วให้สักการะบูชา
พระพุทธชินราช(จำลอง) องค์พระประธานในมหาวิหารแก้ว 100 เมตร
ยามเมื่อเปิดไฟภายในวิหาร กระจกและโมเสคแก้วใสจะสะท้อนประกายเจิดจ้าระยิบระยับดูงดงามปานเนรมิต จนหลายๆคนยกให้ที่นี่เป็นดังสรวงสวรรค์จำลองอันสุดวิจิตรเพริศแพร้ว ซึ่งเมื่อเข้ามาอยู่ภายในจะให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในโลกอีกโลกหนึ่ง เป็นโลกแห่งธรรมที่คอยเตือนใจให้เราสลัดหลุดจากกิเลสทั้งปวง

แต่ละวันวิหารแก้วจะเปิดให้เข้าชมความงามใน 2 ช่วงเวลาด้วยกัน คือ ช่วงเช้าเปิด 09.00-11.45 น. ก่อนปิดเพื่อเจริญพระกรรมฐาน ส่วนช่วงบ่ายเปิด 14.00-16.00 น. ก่อนปิดเพื่อทำวัตรเย็นและเจริญพระกรรมฐาน ทั้งนี้ผู้ที่จะเข้าเยี่ยมชมภายในวิหารแก้วต้องแต่งกายด้วยความสุภาพเรียบร้อย สำรวม กาย วาจาใจ และเคารพกฎระเบียบของสถานที่โดยเคร่งครัดด้วย
ลวดลายลงรักปิดทองภายในปราสาททองคำ วัดท่าซุง
ภายในวัดท่าซุงยังมี “ปราสาททองคำ” หรือ “ปราสาททองกาญจนาภิเษก” ที่สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวาระที่ ทรงเสวยราชย์เป็นปีที่ 50 เป็นอีกหนึ่งจุดท่องเที่ยวสำคัญ

ปราสาททองคำ เป็นอาคารทรงปราสาท 4 ชั้น ชั้นบนสุดเป็นทรงบุษบกประดิษฐานพระพุทธรูปางลีลา ภายในปราสาททั้ง ผนัง เพดาน เสา บานประตูและหน้าต่าง ตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นลงรักปิดทองอันประณีตงดงาม โดยเฉพาะกับงานปูนปั้นเทวดาถือพระขรรค์ที่ประดับอยู่ที่บานประตูนั้นถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งไฮไลท์ที่นักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายรูป เซลฟี่ คู่กับบานประตูอยู่ไม่ได้ขาด
พิพิธภัณฑ์สมบัติพ่อให้ ที่กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการก่อสร้าง
ขณะที่ฝั่งตรงข้ามของปราสาททองคำ วันนี้กำลังดำเนินการก่อสร้าง “พิพิธภัณฑ์สมบัติพ่อให้” ที่ตัวอาคารดูโดดเด่นไปด้วยงานสถาปัตยกรรมในสมัยสุโขทัย ด้านหน้าตกแต่งภูมิทัศน์ด้วยสวนหย่อมสวยงาม ซึ่งเมื่อพิพิธภัณฑ์แห่งนี้สร้างแล้วเสร็จ(ในอีกไม่นาน) จะถือเป็นอีกหนึ่งจุดดึงดูดแห่งใหม่ของวัดท่าซุงที่น่าสนใจยิ่ง

วัดท่าซุงนอกจากจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเลื่องชื่อในอันดับต้นๆของอุทัยธานีแล้ว วัดแห่งนี้ยังเป็นสถานปฏิบัติธรรมชื่อดัง มีพุทธศาสนิกชนเดินทางมาปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ เจริญภาวนากันไม่ได้ขาด โดยเฉพาะในช่วงวันพระใหญ่และช่วงเทศกาลสำคัญของทางวัด ที่มีผู้คนเดินทางมาปฏิบัติธรรมกันอย่างเนืองแน่น และปักหลักพักค้างที่วัดท่าซุงกันเป็นจำนวนมาก
อาคารพระพินิจอักษรกับห้องพักสะดวกสบาย
นั่นจึงทำให้ทางวัดท่าซุงได้ดำเนินการ จัดสร้าง “อาคารพระพินิจอักษร”ขึ้น ด้วยการปรับปรุงอาคารเก่าที่ถูกทิ้งร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์ ให้เป็นที่พักอันสวยงาม มีความสะดวกสบาย สงบ สะอาด และปลอดภัย เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้มาปฏิบัติธรรมที่ไม่สะดวกในการพักค้างที่วัดท่าซุง

อย่างไรก็ดีอาคารพระพินิจอักษรได้เปิดโอกาสให้คนทั่วไปที่สนใจเข้าพัก แต่ว่าต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ ข้อบังคับที่กำหนดไว้ โดยสถานที่แห่งนี้เน้นย้ำว่า “อย่าเห็นที่พักปฏิบัติธรรมเป็นโรงแรม

พัดสาน บ้านโรงน้ำแข็ง
เกาะเทโพ ในช่วงเดือนเม.ย.ที่คูนออกออกดอกบานสะพรั่ง
หลังอิ่มบุญอิ่มใจไปกับการไหว้พระและชื่นชมความงามที่วัดท่าซุงแล้ว จุดต่อไป“ตะลอนเที่ยว” เดินทางมายัง “เกาะเทโพ” เกาะน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

เดิมเกาะเทโพเคยเป็นแหลมที่ยื่นออกมาคั่นแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำสะแกกรัง แต่ต่อมาเมื่อมีการขุดคลองเชื่อมลำน้ำ ทำให้ส่วนที่เป็นแหลมขาดออกจากแผ่นดินใหญ่กลายเป็นเกาะน้ำจืด ขนาบด้วยแม่น้ำ 2 สายเหนือใต้ คือแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศเหนือ และแม่น้ำสะแกกรังทางทิศใต้
การแปรรูปปลาย่างของชาวบ้านบนเกาะเทโพ
เกาะเทโพได้ชื่อว่าเป็นเกาะแห่งวิถีชีวิต ชาวบ้านที่นี่ดำรงวิถีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่ายแต่ว่ามากมายเสน่ห์ บนเกาะเทโพวันนี้ยังคงมีการประกอบอาชีพดั้งเดิมของชาวอุทัยธานี ให้ได้สัมผัสเรียนรู้ และช่วยอุดหนุนกันตามความพึงพอใจ ไม่วาจะเป็น การทำสวนผัก-ผลไม้ การเลี้ยงปลาแรดในกระชัง การแปรรูปปลาย่างที่บ้านน้ำตก การทำเสื่อลำแพนที่บ้านท่าดินแดง

รวมถึง“การทำหัตถกรรมจักสานที่บ้านโรงน้ำแข็ง”(ต.ท่าซุง เกาะเทโพ อ.เมือง) ซึ่ง“ตะลอนเที่ยว”กับสาวๆชาวคณะ ได้มาเรียนรู้และทดลองทำการ“สานพัด”จากฝีมือภูมิปัญญาพื้นบ้านกันที่นี่
คุณป้าสังเวียน กำลังสาธิตการสานพัดให้ชม
ที่บ้านโรงน้ำแข็งเราได้พบกับคุณป้า 2 พี่น้อง คือคุณป้า“สังเวียน ทรัพย์ผล”(พี่) และคุณป้า“สงบ นิลเกษม”(น้อง) ที่ถือเป็นยอดฝีมือของงานจักสานบนเกาะเทโพ ซึ่งในทริปนี้คุณป้าทั้งสองได้มาโชว์ฝีมือการสานพัดอันประณีตสวยงามให้ชม เริ่มตั้งแต่การนำไม้ไผ่มาจักตอกเป็นเส้นบางๆก่อนจะนำมาเรียงร้อยสอดสานเป็นพัดขนาดต่างๆอันสวยงาม

งานนี้นอกจากจะมาโชว์ฝีมือการสานพัดสวยๆให้ชมกันแล้ว คุณป้าทั้งสองยังเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวผู้สนใจได้ร่วมทดลองสานพัด เรียนรู้ภูมิปัญญาพื้นบ้านด้วยการทำเวิร์คชอปอารมณ์บ้านทุ่งที่ใต้ถุนบ้านมีลมโกรกเย็นสบาย พร้อมทบทวนความทรงจำจากเมื่อครั้งสมัยวัยเยาว์ที่เราได้ฝึกเรียนงานฝีมือสานกระดาษจากคุณครูกันด้วย
นักท่องเที่ยวทดลองสานพัดโดยมี 2 คุณป้าผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด
สำหรับการทำพัดสานจากการติวเข้มของคุณป้าสังเวียนและคุณป้าสงบ นอกจากเราจะได้สร้างสรรค์ผลงานจากฝีมือของตัวเอง ที่เป็นมาสเตอร์พีชมีชิ้นเดียวในโลกแล้ว นี่ยังเป็นการฝึกสมาธิชั้นดีที่ทำให้ใจของเราจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำ อีกทั้งยังสามารถนำสิ่งที่ได้จากการเรียนรู้มาต่อยอด สร้างสรรค์ให้เกิดผลงานหรือไอเดียใหม่ๆในชีวิตประจำวันได้

ล่องแม่น้ำสะแกกรัง
ยามเช้าแห่งลุ่มน้ำสะแกกรัง
อุทัยธานีมีอีกหนึ่งสถานที่สำคัญนั่นก็คือ“แม่น้ำสะแกกรัง” แม่น้ำที่เป็นดังเส้นเลือดสำคัญหล่อเลี้ยงชีวิตของชาวอุทัยธานีมาช้านาน

ในอดีตแม่น้ำสะแกกรังเคยเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญยิ่ง โดยเป็นทั้งเส้นทางสัญจรของชาวบ้าน และเป็นเส้นทางขนส่งสินค้านานาชนิด รวมถึงเป็นแหล่งทำการค้าขายที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของภาคกลาง อันก่อให้เกิดเป็นชุมชน “เรือนแพ” สุขจริงอิงกระแสธาราขึ้นในลำน้ำแห่งนี้

วันนี้แม้การสัญจรทางน้ำจะลดบทบาทลงไปมาก แต่มรดกแห่งเรือนแพที่ตกทอดจากอดีตสู่ปัจจุบันในแม่น้ำสะแกกรังยังดำรงคงอยู่ ในฐานะชุมชนเรือนแพขนาดใหญ่ที่ยังหลงเหลืออยู่ในบ้านเรา
“เรือนแพ”สุขจริงอิงกระแสธารา กับวิถีอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวแพสะแกกรัง
เรือนแพสะแกกรังเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของจังหวัดอุทัยธานี ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 200 หลัง ส่วนใหญ่มีขนาดกะทัดรัดและมีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแพหลังคาจั่ว หลังคาปั้นหยา เรือนแพสีสันสดใส รวมไปถึงเรือนแพแฝดสามหลัง(อยู่บริเวณหน้าวัดโบสถ์) ที่เป็นเรือนแพของผู้มีฐานะดีมีอันจะกินในอดีต ซึ่งเป็นที่นิยมกันในสมัย รัชกาลที่ 5

เรือนแพสะแกกรังต่างมีบ้านเลขที่ มีทะเบียนบ้าน ซื้อ-ขายได้ แต่ไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้ ซึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้วิถีชาวแพแห่งสะแกกรังยังคงอยู่(แม้ว่าลูกบวบในวันนี้จะมีราคาสูงมาก)นั่นก็คือความสะอาดและความอุดมสมบูรณ์ของลำน้ำสะแกกรัง
วันนี้มรดกแห่งเรือนแพที่ตกทอดจากอดีตสู่ปัจจุบันในแม่น้ำสะแกกรังยังดำรงคงอยู่
ชุมชนชาวเรือนแพสะแกกรังวันนี้ยังคงมีวิถีความเป็นอยู่ที่น่าสนใจและน่าเรียนรู้ พวกเขาอาศัยกินอยู่หลับนอนอยู่บนแพ บางแพประดับตกแต่งที่อยู่อาศัยของตัวเองด้วยการปลูกดอกไม้ กล้วยไม้ ปลูกพุทธรักษา บางแพปลูกต้นเตยขาย ปลูกผักบุ้งไว้กินและเก็บขาย บางแพเลี้ยงปลาในกระชัง บางแพดำรงอาชีพประมง มีการทำปลาแห้งรมควันส่งขายตลาด

ด้วยมนต์เสน่ห์ของลำน้ำที่ร่มรื่นสวยงาม สงบ สะอาด และวิถีชาวแพสะแกกรังอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ทำให้วันนี้แม่น้ำสะแกกรังถือเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวอันโดดเด่นแห่งอุทัยธานี ที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากนิยมมาถ่ายรูปพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้า บรรยากาศยามเย็น ภาพวิถีเรือนแพ และวัดวาอารามริม 2 ฟากฝั่ง
วิถีชาวแพสะแกกรัง เรียบง่ายแต่ทรงเสน่ห์
รวมถึงนิยมมาล่องเรือชมสัมผัสภาพวิถีชีวิตชาวแพอันทรงเสน่ห์ ชมความงามและสิ่งที่น่าสนใจ 2 ฟากฝั่งของแม่น้ำสะแกกรังกันอย่างใกล้ชิด ซึ่งถือเป็นกิจกรรมในลำดับถัดมาของ“ตะลอนเที่ยว”กับคณะ
“สะแกกรัง ริเวอร์ ครุยส์” นำเรือบรรทุกข้าวในอดีต มาดัดแปลงเป็นเรือท่องเที่ยว
สำหรับเรือท่องเที่ยวสะแกกรัง มีทั้งเรือท่องเที่ยวที่ท่าวัดท่าซุง ที่จะพาล่องเรือชมลำน้ำไปจนถึงจุดบรรจบของแม่น้ำ 2 สาย คือ แม่น้ำสะแกกรังกับแม่น้ำเจ้าพระยา เรือนำเที่ยวที่ตามรีสอร์ทต่างๆมีไว้ให้เช่าบริการ และเรือนำเที่ยว “สะแกกรัง ริเวอร์ ครุยส์” ที่เป็นการนำเรือบรรทุกข้าวในอดีต มาดัดแปลงเป็นเรือท่องเที่ยวให้บริการเช่าเหมาลำล่องเรือชมแม่น้ำสะแกกรังกันแบบเป็นส่วนตัว พร้อมมีอาหารเครื่องให้บริการ นับว่าเอ็กซ์คลูซีฟไม่น้อยเลย

ร้านกาแฟ บ้านจงรัก
ร้านกาแฟ บ้านจงรัก
หลังล่องเรือดื่มด่ำกับวิถีชาวแพในลำน้ำสะแกกรังแล้ว เราเปลี่ยนมาดื่มด่ำกับรสชาติของกาแฟและเครื่องดื่มเย็นๆกันที่ “บ้านจงรัก” (ถ.ศรีอุทัย ต.อุทัยใหม่ อ.เมือง) ร้านกาแฟที่เพิ่งเปิดให้บริการในอุทัยธานีได้ไม่นาน แต่ว่ามาแรงน่าดู

บ้านจงรักเป็นร้านกาแฟ-เครื่องดื่ม ในบรรยากาศที่ไม่ธรรมดา กับการจำลองแบบบ้านโบราณมาสร้าง(ใหม่)มี 2 ชั้นด้วยกัน
บ้านจงรัก ชั้นล่าง กับการตกแต่งด้วยของสะสมย้อนยุค
ชั้นล่างเป็นส่วนของร้านกาแฟ-เครื่องดื่ม กับบรรยากาศการตกแต่งอันน่ารักกิ๊บเก๋ ประดับตกแต่งไปด้วยของเก่าย้อนยุค โดยเฉพาะของเล่นในยุคแฟนฉันไม่ว่าจะเป็นตุ๊กตุ่น ตุ๊กตา รถสังกะสี ของเล่นสังกะสี ที่ทางร้านนำมาตกแต่งไว้ตามผนังและมุมต่างๆภายในร้านได้อย่างคลาสสิกลงตัว

ส่วนชั้น 2 จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์เปิดให้ชมเฉพาะวันเสาร์ ซึ่งทางเจ้าของผู้ก่อตั้งต้องการจัดทำที่นี่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของจังหวัดอุทัย การจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้และของสะสมต่างๆ มากมายมาให้ชมกัน ไม่ว่าจะเป็น เฟอร์นิเจอร์เก่า โต๊ะตู้เครื่องแป้งเก่า เครื่องถ้วยโถโอชาม กล้องยาฝิ่น หมอนนอนสูบฝิ่น และอีกสารพัดสารพัน รวมถึงมีการจำลองห้องหอสมัยคุณปู่คุณย่ามาจัดแสดง(แบบเหมือนจริง) ให้ชมกันอีกด้วย
ร้านกาแฟ บ้านจงรัก จัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์ เปิดให้เที่ยวชมทุกๆวันเสาร์
นอกจากนี้หากใครได้มีโอกาสขึ้นชั้น 2 ไปเที่ยวชมส่วนพิพิธภัณฑ์ในวันที่คุณลุงเจ้าของอยู่ ก็จะยิ่งน่าสนใจมากขึ้นไปอีก เพราะคุณลุงจะมานำชมและคอยอธิบายให้ความรู้ ประวัติความเป็นมา เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยต่างๆ อย่างสนุกเพลิดเพลิน

นับว่าบ้านจงรักเป็นร้านกาแฟที่ไม่ธรรมดาเอาเสียเลย เพราะนอกจากจะมีกาแฟ-เครื่องดื่ม โปสการ์ด และของที่ระลึกไว้บริการแล้ว ก็ยังมีอาหารสมองคอยเสิร์ฟให้ความรู้กับผู้ที่สนใจด้วย

ถนนคนเดินตรอกโรงยา
ถนนคนเดินตรอกโรงยา เปิดเฉพาะวันเสาร์ ช่วงเย็น-ถึงค่ำ
เป้าหมายถัดไปต่อจากร้านบ้านจงรักก็คือ การไปเดินสัมผัสกับอีกหนึ่งเสน่ห์ของเมืองอุทัยธานีที่ “ถนนคนเดินตรอกโรงยา เซ็กเกี๋ยกั้ง”(ตลาดเก่าบ้านสะแกกรัง)ที่เปิดเฉพาะวันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 15.30-20.00 น.
มีสินค้า-อาหาร มากหลาย ในถนนคนเดินตรอกโรงยา
ตรอกโรงยา เซ็กเกี๋ยกั้ง เป็นชุมชนเก่าแก่ที่ก่อตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ถือกำเนิดจากชาวจีนที่ล่องเรือมาค้าขายทางแม่น้ำสะแกกรัง แล้วได้ร่วมกันก่อตั้งเป็นชุมชนไทย-จีนขึ้น ก่อนจะมีการเติบโตพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ

ในช่วงสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่นี่มีการตั้งโรงยาฝิ่นขึ้น ชาวบ้านสามารถสูบฝิ่นกันได้อย่างเปิดเผยถูกกฎหมาย ก่อนจะกลายเป็นชื่อ“ตรอกโรงยา เซ็กเกี๋ยกั้ง” เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ขณะที่คำว่าเซ็กเกี๋ยกั้งนั้นเป็นภาษาจีนที่เพี้ยนมาจากคำว่า“สะแกกรัง” อันหมายถึงแม่น้ำสะแกกรังเส้นเลือดหลักของชาวอุทัยธานี
อาคารบ้านเรือนหลายๆหลังบนถนนคนเดินตรอกโรงยา ต่างพร้อมใจกันตกแต่งด้วยบรรยากาศย้อนยุค
ต่อมาในช่วงราวปี พ.ศ. 2500 ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โรงยาฝิ่นต้องปิดตัวลงตามคำสั่งของทางการ อันถือเป็นยุคเปลี่ยนผ่านของตรอกโรงยาจากแหล่งสูบฝิ่นมาเป็นแหล่งค้าขาย โดยเฉพาะด้านอาหารการกิน ที่เคยมีของกินอร่อยๆในระดับตำนานหลากหลาย

ครั้นเมื่อเวลาผ่านพ้นไปย่านการค้าแห่งนี้ได้ซบเซาลงไป แต่ทว่ารอยอดีตอันรุ่งโรจน์ของอดีตยังคงอยู่กับบรรดาอาคารเรือนแถวไม้เก่าแก่อายุยาวยานกว่า 100 ปี ที่ยังคงหลงเหลืออยู่และถือว่ามีสภาพสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในตัวเมืองอุทัย
บ้านปลาแดงอีกหนึ่งแห่งที่ตกตแ่งแบบย้อนยุคบนถนนคนเดิน ตรอกโรงยา
มาถึงในยุคปัจจุบัน ชาวเมืองอุทัยธานีที่เกิดจากการรวมกลุ่มกันของชุมชนต่างๆ ได้จับมือกับมหาวิทยาลัยนเรศวร ก่อตั้ง“คณะกรรมการพัฒนาเมืองอุทัย”ขึ้น พร้อมกับผลักดันให้เกิดเป็นถนนคนเดินขึ้นในปี พ.ศ. 2553 ภายในแนวคิด “ถนนสั้น ตำนานยาว

ถนนคนเดินตรอกโรงยา มีเป้าประสงค์เพื่อต้องการจุดประกายปลุกชาวบ้านให้“ตื่น” และหันมามองรากเหง้าเข้าใจพื้นฐานชุมชนของตัวเอง สร้างความร่วมมือในชุมชน สร้างแหล่งเชื่อมโยงอดีตจากคนรุ่นเก่าสู่คนรุ่นใหม่ สร้างสถานที่พบปะแลกเปลี่ยนในช่วงวันหยุดของชาวอุทัย ควบคู่ไปกับการสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่จะก่อให้เกิดมีรายได้ในพื้นที่ตามมา โดยมีข้อกำหนดว่า “ผู้ที่จะมาเปิดร้านค้าขายบนถนนคนเดินต้องเป็นชาวอุทัยเท่านั้น
หมูสะเต๊ะปิ้งกันแบบสดใหม่ ควันขโมงบนถนนคนเดิน ตรอกโรงยา
จากวันนั้นมาถึงวันนี้ถนนคนเดินตรอกโรงยาถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง จนต้องมีการขยายพื้นที่การค้าขายออกไปในอีกตรอกข้างๆ

ส่วนคนที่มาเดินที่ถนนคนเดินตรอกโรงยา จากแรกๆที่ส่วนใหญ่จะเป็นคนอุทัยธานี แต่มาวันนี้ที่นี่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากพากันมาเดินเล่นในยามเย็นวันเสาร์ สัมผัสวิถีที่อวลไปด้วยบรรยากาศแห่งความมีชีวิตชีวา ให้ทั้งนักท่องเที่ยวและคนในพื้นที่ได้ ชม ช้อป ชิม แชะ และเซลฟี่กันเป็นที่เพลิดเพลินตามมุมโดนๆ ที่มีให้เลือกกันหลากหลาย โดยเฉพาะในบ้านเรือน ร้านรวง หลายๆร้านที่พร้อมใจตกแต่งในบรรยากาศย้อนยุค พร้อมกับเปิดให้นักท่องเที่ยวเดินเข้าไปถ่ายรูปได้อย่างเต็มที่ในบรรยากาศพิพิธภัณฑ์ชุมชนอันทรงคุณค่า ไม่ว่าจะเป็น “บ้านนกเขา”, “ร้านปุ๋มกาแฟสด”,“ร้านรักษ์อุทัย”, “บ้านปลาแดง” เป็นต้น
ถนนคนเดินเป็นการพลิกฟื้นตรอกโรงยาจากเดิมที่เคยซบเซาให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
ขณะที่สินค้าที่วางขายในถนนคนเดินนั้นก็มีทั้งแบบ แบกะดิน รถเข็น แผงลอย และที่วางจำหน่ายกันในร้านในบ้านของชาวชุมชนที่นั่น โดยสินค้าที่นำมาจำหน่ายก็มีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้า ของที่ระลึก งานฝีมือ งานศิลปะ พืชผักผลไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาอาหารการกิน ขนมของกินเล่น ที่มีขายกันเป็นจำนวนมากให้เดินอิ่มอร่อยกันตั้งแต่หัวซอยยันท้ายซอย
กิจกรรมสอนเด็กๆวาดรูป ระบายสี
นอกจากนี้ก็ยังมีกิจกรรม การสอนเด็กระบายสี ดนตรีไทยจากฝีมือของเยาวชน ถ่ายรูปกับสตรีทอาร์ทตรงผนังหัวมุมถนนฝั่งธนาคาร รวมถึงมีคุณลุงโฆษกที่นอกจากจะทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์แล้ว ยังมานั่งบรรยายบอกเล่าเรื่องราว ประวัติศาสตร์ เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย พร้อมทั้งแอบปล่อยมุขเด็ดๆแฝงแทรกเข้าในด้วยสำเนียงเสียงหล่อย้อนยุคที่ “ตะลอนเที่ยว” ฟังแล้วอดอมยิ้มตามไม่ได้

วิถียามเช้าที่ตลาดลานสะแกกรัง
ตลาดเช้าลานสะแกกรัง อีกหนึ่งเสน่ห์ยามเช้าอันโดดเด่นแห่งตัวเมืองอุทัยธานี
จากถนนคนเดินแหล่งซื้อขายร่วมสมัย(ในบรรยากาศอวลไออดีต)ในอุทัยธานียังมี “ตลาดลานสะแกกรัง” ที่เป็นจุดหมายที่เราปักหมุดไว้ในเช้าตรู่ของวันถัดไป

ตลาดลานสะแกกรังเป็นหนึ่งในวิถีตลาดเช้าอันทรงเสน่ห์ เปี่ยมไปด้วยบรรยากาศแห่งการซื้อ-ขายริมฝั่งยามเช้าน้ำอันคึกคักมีชีวิตชีวา ซึ่งบรรดาพ่อค้า-แม่ค้า จะพากันนำสินค้ามาวางขายกันตั้งแต่เช้ามืดไปถึงสาย

สำหรับสินค้าที่นี่ส่วนใหญ่จะเป็น สินค้าพื้นบ้านผลผลิตแห่งลำน้ำแกกรังอย่าง ปลาสด ปลาย่าง ปลาแห้ง ปลาทอด รวมไปถึงพืชผักผลไม้ตามฤดูกาล อาหารการกิน ขนมพื้นบ้าน อาหารพื้นบ้าน ฯลฯ ที่ถูกนำมาวางขายกันอย่างละลานตาพร้อมกับสนนราคาอันย่อมเยา
พระอาทิตย์ขึ้นเหนือลำน้ำสะแกกรัง
ตลาดลานสะแกกรัง ตั้งอยู่ที่ลานสะแกกรัง ริมแม่น้ำสะแกกรัง ในช่วงเช้ามืดบริเวณลานสะแกกรังนับเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นชั้นดีของตัวเมืองอุทัยธานี โดยเฉพาะในวันที่ฟ้าเป็นใจ จากจุดนี้เราจะได้เห็นพระอาทิตย์ดวงกลมโตลอยเด่นขึ้น(จากทางฝั่งเกาะเทโพ)เหนือลำน้ำสะแกกรังอย่างสวยงาม

จากบริเวณลานสะแกกรังมีสะพานปูนเล็กๆทอดตัวข้ามลำน้ำสะแกกรังไปยังฝั่งตรงข้ามคือเกาะเทโพ ที่เมื่อมองจากบริเวณตลาดหรือลานสะแกกรังไป จะเห็น “วัดโบสถ์” ตั้งเด่นเป็นสง่าสวยงามอยู่ริมน้ำกับรูปแบบงานสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
วัดโบสถ์ สัญลักษณ์คู่ลำน้ำสะแกกรัง
วัดโบสถ์”หรือชื่อเต็ม“วัดอุโปสถาราม” เป็นวัดเก่าแก่ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ภายในวัดโดดเด่นไปด้วย“มณฑปแปดเหลี่ยม” ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ในรูปทรงแบบตะวันตกอันสวยงามสมส่วนและสุดคลาสสิก

นอกจากนี้ก็ยังมีเจดีย์ 3 องค์ 3 สมัยที่สร้างอยู่ในบริเวณเดียวกัน คือ ทรงลอมฟางในสมัยสุโขทัย(ทิศใต้), ทรงหกเหลี่ยมสมัยอยุธยา(ทิศเหนือ) และเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองสมัยรัตนโกสินทร์(องค์กลาง) รวมถึงมีภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือวิจิตรทั้งภายในโบสถ์และภายนอกฝั่งประตูทางเข้าโบสถ์
บ้านเรือนในตัวเมืองอุทัยธานีวันนี้ส่วนใหญ่ทาสีม่วง เพื่อร่วมเฉลิมฉลองสมเด็จพระเทพฯเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ
ถัดจากตลาดลานสะแกกรังริมฝั่งน้ำกลางเมืองขยับเข้ามาอีกราว 1-2 ช่วงถนนสู่ชุมชนตัวเมืองอุทัยธานี ที่วันนี้ตึกรามบ้านเรือนหลายๆหลังต่างพร้อมใจกันทาสีม่วงสดใส เพื่อร่วมเฉลิมฉลองปีมหามงคล (พ.ศ.2558) เนื่องในโอกาสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ 60 พรรษา ที่แลดูสวยงามพร้อมเพรียงและเปี่ยมไปด้วยความจงรักภักดี

ผ้าทอโบราณบ้านโคกหม้อ
กลุ่มสตรีทอผ้าไหมลายโบราณบ้านโคกหม้อ
หลังทัวร์ในตัวเมืองอุทัยธานีกันเป็นที่เพลิดเพลินจุใจแล้ว จุดหมายต่อไปเรามุ่งหน้าสู่ อ.ทัพทัน เพื่อไปสัมผัสกับงานผ้าทอลวดลายวิจิตร ซึ่งถือเป็นหนึ่งในภูมิปัญญาอันเลื่องชื่อของอุทัยธานีที่สืบต่อกันมาช้านาน

ผ้าทออุทัยธานีที่โดดเด่นที่สุดก็เห็นจะเป็นผ้าทอของชาว“ลาวครั่ง”(กลุ่มชาติพันธุ์ที่ใช้ครั่งในการย้อมผ้า) โดยเฉพาะผ้าทอลายโบราณที่วันนี้ยังคงสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมมายาวนานกว่า 200 ปี นับตั้งแต่การอพยพจากสปป.ลาว เข้ามาอยู่ในอุทัยธานี
ผ้าทอลายโบราณของชาวลาวครั่ง ที่จัดแสดงให้ชมที่บ้านโคกหม้อ
ผ้าทอลายโบราณของชาวลาวครั่ง ถือว่ามีความโดดเด่นทั้งในเรื่องของกระบวนการผลิต ความละเอียดประณีตของลวดลาย และสีสันจากวัสดุธรรมชาติที่ทอสร้างสรรค์ออกมาได้อย่างวิจิตรสวยงาม อีกทั้งยังมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอันโดดเด่นไม่เหมือนใคร นั่นก็คือ 1 ผืน มี 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนหัวซิ่น ส่วนตัวซิ่น และส่วนตีนซิ่น(เชิงซิ่น) ส่วนหัวซิ่นจะมีสีอะไรก็ได้ แต่ส่วนตีนซิ่นจะต้องมีสีแดง อย่างไรก็ดีในปัจจุบันได้มีการปรับเปลี่ยนไปบ้างตามยุคสมัย

สำหรับหนึ่งในจุดท่องเที่ยว-เรียนรู้ เกี่ยวกับงานหัตถศิลป์ผ้าทออันขึ้นชื่อของชาวลาวครั่งในจังหวัดอุทัยธานีก็คือ ที่ “ศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาหม่อนไหม บ้านโคกหม้อ” ต.โคกหม้อ อ.ทัพทัน ที่ทาง “กลุ่มสตรีทอผ้าไหมลายโบราณบ้านโคกหม้อ” ได้สืบทอดและอนุรักษ์ภูมิปัญญาการทอผ้าแบบลาวครั่งโบราณที่มีอายุยาวนานกว่า 200 ปีเอาไว้
มัดแต้มเทคนิคอันเป็นเอกลักษณ์ของผ้าทอบ้านโคกหม้อ
ผ้าทอบ้านโคกหม้อโดดเด่นไปด้วย การทอแบบยกดอก การจก และการมัดหมี่ โดยเฉพาะการมัดหมี่ของที่นี่ถือว่ามีจุดเด่นเป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากทั่วไป เพราะมีการใช้เทคนิคการ “มัดแต้ม”หรือ“แจะหมี่”(ภาษาลาว) ซึ่งเป็นการแต้มสีลงบน (เส้นไหม) ลายมัดหมี่ ก่อนนำไปทอเป็นผืนผ้าอันสวยงามต่อไป

ผ้าทอบ้านโคกหม้อที่เด่นๆ ก็มีทั้ง ผ้าไหมมัดหมี่ลายโบราณ ผ้าตีนจกไหมลายโบราณ ผ้าซิ่นมัดหมี่ตีนจกลายโบราณ ฯลฯ ขณะที่ลวดลายผ้า นอกจากลวดลายโบราณแล้วก็ยังมีลวดลายประยุกต์ที่พัฒนามาจากภูมิปัญญาดั้งเดิม อาทิ ผ้าจกปทมพล ผ้าจกมัทนา ผ้าจกปทมนาคา ผ้าซิ่นหมี่ลวง(ใหม่) เป็นต้น
ผ้าทอบ้านโคกหม้อวันนี้มีทัั้งการทอลวดลายโบราณและลวดลายประยุกต์
นอกจากนี้ กลุ่มสตรีทอผ้าไหมลายโบราณบ้านโคกหม้อ ยังมีการนำกระบวนการผลิตแบบโบราณมาผสมผสานกับลวดลายและแนวทางร่วมสมัย เกิดเป็นการสร้างสรรค์งานหัตถศิลป์บนผืนผ้าทอในรูปแบบใหม่ๆ ที่น่าสนใจยิ่ง พร้อมกันนี้ทางกลุ่มยังมีการทำตลาดในแบรนด์ “แต้มตะกอ” กับแนวคิด “จากผ้าโบราณ สู่งานนวัตศิลป์ ถิ่นอุทัย” ที่เป็นอีกหนึ่งการสืบสานภูมิปัญญาและพัฒนายกระดับให้ก้าวไกลยิ่งขึ้น

สปาเกลือ อวตาร
โรงแรมอวตาร สปาเมาท์เท่นสวีท
จุดสุดท้ายก่อนอำลาจังหวัดอุทัยธานี “ตะลอนเที่ยว” กับสาวๆชาวคณะเดินทางไปยัง “โรงแรมอวตาร สปาเมาท์เท่นสวีท” (Avatar Spa Mountain Suite) ที่ตั้งอยู่ที่ อ.บ้านไร่ ในบรรยากาศสงบเป็นส่วนตัว ท่ามกลางแวดล้อมของขุนเขา

โรงแรมอวตารฯ สร้างด้วยรูปแบบงานสถาปัตยกรรมร่วมสมัย กับแนวคิดจำลองบรรยากาศของ“ถ้ำ” มาไว้ในห้องพักอาศัยกับห้องพักอันกว้างขวาง ในบรรยากาศหรูหราชวนพักผ่อน และเพียบพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ มีห้องพักทั้งหมด 44 ห้อง ได้แก่ “Deluxe Suite”(70 ตร.ม.) 20 ห้อง, “Executive Suite”(90 ตร.ม.) 18 ห้อง, “Honeymoon Suite”(150 ตร.ม.) 3 ห้อง และ “Presidential Suite”(190 ตร.ม.) 3 ห้อง
ห้องพักที่จำลองบรรยากาศของ“ถ้ำ”
โรงแรมอวตารฯ ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่มาท่องเที่ยวในบริเวณ อ.บ้านไร่ และใน จ.อุทัยธานี หรือผู้ที่ต้องการหลีกหนีความวุ่นวายมาใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติที่สงบและเป็นส่วนตัว

อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ที่ไม่ได้มาพักค้างที่โรงแรมอวตารฯ ก็สามารถแวะเวียนมาใช้บริการ “สปาเกลือ” อันขึ้นชื่อและมีเพียงแห่งเดียวของ จ.อุทัยธานีได้
ฟินสบายไปกับการทำสปาเกลือที่โรงแรมอวตารฯ
สปาเกลือโรงแรมอวตารฯ เป็นการนำเกลือสินเธาว์คุณภาพดี มีสรรพคุณช่วยขจัดสารพิษกำจัดของเสียออกจากร่างกายได้เป็นอย่างดี ช่วยให้เกิดการไหลเวียนโลหิต กระตุ้นภูมิต้านทาน และช่วยขจัดอนุมูลอิสระ

โดยการทำสปาเกลือ เราจะต้องเข้าไปนอนหมกเกลือในห้องบ่อเกลือที่ทางโรงแรมจัดทำขึ้นเป็นพิเศษ มีการคุมอุณหภูมิให้ร้อนประมาณ 40 องศาเซลเซียส แต่ว่าเมื่อลงไปนอนหมกเกลือแล้วกลับรู้สึกฟิน เย็นสบาย เพราะเป็นเกลือเย็น ซึ่งเราจะใช้เวลาทำสปาเกลือกันประมาณ 15-30 นาที
แม่น้ำสะแกกรังกับเสน่ห์วิถีเรือนแพอันเรียบง่ายแต่มากมายไปด้วยเสน่ห์แห่ง จ.อุทัยธานี
จากนั้นเมื่อขึ้นมาจะรู้สึกสดชื่นผ่อนคลายสบายกาย เลือดลมไหลเวียนดี นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการดูแลสุขภาพที่น่าสนใจไม่น้อย และเป็นการส่งความสุขกายสบายใจก่อนล่ำลาจังหวัดอุทัยธานี จังหวัดที่อยู่ไม่ไกลจากรุงเทพฯ สามารถใช้เวลาวันหยุดสุดสัปดาห์เดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อน 2 วัน 1 คืน ได้อย่างสบายๆ หรือหากใครจะเลือกเที่ยวในอุทัยธานีให้ยาวนานกว่านั้นก็สามารถเลือกพักค้างได้ตามความชื่นชอบของแต่ละคน

เพราะอุทัยธานีคืออีกหนึ่งจังหวัดที่มีสิ่งน่าสนใจและของดีมากมายซึ่งถือเป็นแม่เหล็กชั้นดี ดึงดูดให้เราไปท่องเที่ยวผ่อนคลาย ใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์ เติมความสุขให้กับกาย-ใจ และสัมผัสกับมนต์เสน่ห์ของดินแดนแห่งนี้ ที่ชวนให้หลงรัก หลงใหล และน่าประทับใจไม่รู้ลืม
มหาวิหารแก้ว 100 เมตร ความงดงามดุจดังสรวงสวรรค์แห่งวัดท่าซุง
*****************************************

ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร และการเดินทางในจังหวัดนครสวรรค์และอุทัยธานีเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานอุทัยธานี โทร. 0-5651-4651-2

*****************************************

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น