xs
xsm
sm
md
lg

“แซนโฏนตา”ประเพณีเมืองศรีสะเกษ สารทแห่งความกตัญญู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวไทยเชื้อสายเขมรร่วมประกอบพิธีไหว้บรรพบุรุษในประเพณีแซนโฎนตา
“วันสารท” เป็นวันที่เชื่อกันว่าญาติที่ล่วงลับไปแล้วจะมีโอกาสได้กลับมารับส่วนบุญจากญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ จึงมีการทำบุญใหญ่เพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติที่ล่วงลับเหล่านั้น ชาวไทยก็มีวันสารทไทย ชาวจีนก็มีวันสารทจีน อีกทั้งยังมีคติความเชื่อที่คล้ายคลึงกัน ต่างกันแต่เพียงกำหนดวันทำบุญเท่านั้น

สำหรับชาวไทยเชื้อสายเขมรในถิ่นอีสานใต้นั้น พวกเขาก็มีการจัดงานเนื่องในวันสารทด้วยเช่นกัน โดยจะร่วมกันจัด “ประเพณีแซนโฎนตา” หรืองานสารทเขมรขึ้นเพื่อทำบุญใหญ่ให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับ
บายตะเบิ๊ดตะโบร บายเบ็ญ และเครื่องเซ่นไหว้ที่ใช้ประกอบพิธี
คำว่า “แซนโฎนตา” หากแปลเป็นภาษาไทยก็คือประเพณีเซ่นไหว้ตายาย โดยคำว่า แซน = เซ่นไหว้ โฎน = ยาย (บรรพบุรุษฝ่ายหญิง) ตา = ตา (บรรพบุรุษฝ่ายชาย) หรือเรียกรวมว่าเป็นการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งเป็นประเพณีที่ชาวไทยเชื้อสายเขมรยังคงอนุรักษ์สืบสานกันมาโดยตลอด โดยเฉพาะที่อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ที่มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่เมื่อวันที่ 22-23 กันยายน ที่ผ่านมา

ประเพณีแซนโฎนตาเป็นพิธีกรรมความเชื่อทางพุทธศาสนาของคนไทยเชื้อสายเขมรที่ปฏิบัติกันมาช้านาน กล่าวกันว่า ในรอบ 1 ปีนักษัตรของโลกมนุษย์ พระยายมราชจะอนุญาตให้ผู้ที่รับกรรมอยู่ในนรกทั้งหลายได้ขึ้นไปรับบุญกุศลจากลูกหลานญาติมิตรได้หนึ่งครั้ง ในเดือน 10 โดยนับตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 10 ไปจนถึงวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 แล้วจึงกลับไปรับโทษทัณฑ์ในนรกภูมิต่อไปจนสิ้นกรรม
แซนโฎนตา ประเพณีที่แสดงออกถึงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ
ด้วยความเชื่อว่า เหล่ามนุษย์ที่รับกรรมอันแสนทรมานและยาวนานอยู่ในนรก เมื่อขึ้นมาเห็นข้าวปลาอาหาร ขนมนมเนยและผลไม้อันอุดมสมบูรณ์ที่ลูกหลานจัดเตรียมไว้ให้ ก็จะเกิดความปลื้มอกปลื้มใจ เมื่อถึงกำหนดที่ต้องกลับไปรับโทษในนรกก็จะอำนวยอวยพรให้ลูกหลานประสบแต่สิ่งที่ดีงาม ส่วนพวกที่ขึ้นมาแล้วได้เที่ยวเดินตามหาบ้านเรือนลูกหลานทุกคนแต่ไม่เห็นมีใครตั้งสำรับคับค้อนเตรียมไว้ให้ ก็จะเกิดความเศร้าโศกผิดหวัง จนพาลโกรธเคืองลูกหลานที่จะคิดเลี้ยงดูปู่ย่าตาทวดเพียงปีละครั้งก็ทำไม่ได้ จึงกล่าววาจาสาปแช่งให้ได้รับความเดือดร้อน ชาวบ้านจึงยังยึดถือปฏิบัติตามประเพณีนี้ แต่ก็มีการเซ่นไหว้เฉพาะแต่ละครอบครัว ญาติมิตรในชุมชนหรือหมู่บ้าน

ปัจจุบันเมื่อเวลาผ่านไป บางครอบครัวที่เป็นคนรุ่นใหม่เริ่มขาดความรู้ความเข้าใจในพิธีกรรม ดังนั้นทางอำเภอขุขันธ์ ประชาชน และหน่วยงานต่างๆ จึงได้ร่วมกันจัดงานประเพณีแซนโฎนตาให้เป็นงานใหญ่ของอำเภอ และเพื่อให้การประกอบพิธีมีความสมบูรณ์ถูกต้อง ทั้งยังเป็นการเปิดให้สาธารณชนทั่วไปได้เข้ามาสัมผัสวิถีวัฒนธรรมอันน่าสนใจ
ชาวอำเภอขุขันธ์ที่มาร่วมในขบวนแห่
สำหรับการประกอบพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ หรือแซนโฎนตานั้น จะเริ่มตั้งแต่วันแรม 13 ค่ำ ชาวบ้านจะทำความสะอาดบ้านเรือนของตนเป็นพิเศษ และเตรียมเครื่องสักการะเซ่นไหว้ ประกอบด้วยเครื่องสักการบูชา อาทิ ธูปเทียน ข้าวตอกดอกไม้ น้ำอบ เสื้อ ซิ่น สไบ ผ้าขาวม้า ฯลฯ และเครื่องเซ่นไหว้หรือเครื่องกระยาสังเวย ทั้งอาหารคาวหวาน ไก่ย่าง ปลาย่าง ผัด แกง และอาหารประเภทข้าวต้ม เช่น ข้าวต้มหมู ข้าวต้มด่าง ข้าวต้มมะพร้าว รวมถึงขนม เช่น ขนมเทียน ข้าวเม่า กระยาสารท ผลไม้และกล้วยสุกชนิดต่างๆ เครื่องดื่มทั้งเหล้า น้ำอัดลม น้ำสะอาด เครื่องเซ่นเหล่านี้แต่ละบ้านจะช่วยกันจัดหาจัดทำขึ้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นอาหารคาวหวานและผลไม้ที่ปู่ย่าตายายญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วเคยชอบ รวมทั้งเตรียมเสื่อสาดปูทับด้วยผ้าขาวเตรียมไว้
ชาวอำเภอขุขันธ์ที่มาร่วมงานต่างสวมเสื้อ “อาวเก๊บ”
จากนั้นในวันแรม 14 ค่ำ ซึ่งเป็นวันประกอบพิธี ลูกหลานที่อยู่ต่างถิ่นต่างแดนต่างก็เดินทางกลับมาบ้านเพื่อมาร่วมพิธีและเป็นโอกาสที่จะได้มาพบปะญาติพี่น้องพร้อมหน้าพร้อมตา เมื่อได้เวลาหัวหน้าครอบครัวจะเรียกลูกหลานและคนในบ้านมานั่งล้อมเครื่องสักการะ กล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย สวดชุมชุมนุมเทวดาให้ท่านลงมารับรู้รับทราบเป็นสักขีพยานในการพิธีแซนโฎนตาของลูกหลาน แล้วจึงกล่าวเชื้อเชิญดวงวิญญาณของเหล่าบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วโดยระบุชื่อและนามสกุล ที่จำชื่อไม่ได้ก็จะเรียกรวมว่า “โฎนตา” ญาติๆ ที่มาร่วมพิธีก็จะผลัดเปลี่ยนกันเข้าไปกรวดน้ำและกล่าวเชิญโฎนตาให้มารับเครื่องสักการะบูชา พร้อมทั้งจารนัยชื่อของขนมผลไม้ อาหารคาวหวานต่างๆ ที่ปู่ย่าตายายเคยชอบ ว่าลูกหลานได้ตระเตรียมไว้ให้แล้วอย่างครบถ้วนบริบูรณ์ เชิญโฎนตาทุกท่านได้รับรู้และรับเอาเป็นสมบัติทิพย์ให้อิ่มเอมเปรมปรีดิ์
การสาธิตการ “เทอแซว” หรือการเย็บหรือถักตะเข็บลายตีนตะขาบ
การกรวดน้ำหน้าเครื่องเซ่นไหว้นั้นจะทำ 2-3 ครั้ง เพราะบรรดาญาติต่างก็เดินทางมาจากคนละทิศ หรือคนละภพภูมิ ระยะทางใกล้ไกลไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นลูกหลานจึงจะต้องเรียกเชิญอีก 2-3 ครั้ง จากนั้นก็จะทิ้งช่วงระยะหนึ่ง กะว่าโฎนตาอิ่มหนำสำราญทั่วหน้ากันแล้วจึงกรวดน้ำอีกครั้ง เป็นการลาสำรับ บอกให้ปู่ย่าตายายล้างมือล้างปากเคี้ยวหมากสูบบุหรี่ให้สบายอกสบายใจ แล้วจึงค่อยตามลูกหลานไปวัดเพื่อรับศีลและฟังพระเจริญพระพุทธมนต์ จากนั้นลูกหลานก็จะถอยสำรับกับข้าวลงมาเลี้ยงดูกันเอง แล้วจึงพากันไปวัดเพื่อฟังพระเจริญพระพุทธมนต์ โดยไม่ลืมที่จะเชิญโฎนตาไปด้วย
การแสดงบริเวณหน้าอนุสาวรีย์พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน
ส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งของประเพณีแซนโฎนตาก็คือการเตรียม “บายตะเบิ๊ดตะโบร” และ “บายเบ็ญ” เพื่อใช้ประกอบพิธีในวันแรม 15 ค่ำ สำหรับบายตะเบิ๊ดตะโบรนั้น คือของถวายพระที่จัดใส่ภาชนะ เช่น กาละมังใบเล็กๆ หรือกระบุง กระเฌอ โดยจัดให้มีถ้วยใบหนึ่งใส่ไว้ตรงกลางเย็บกรวยด้วยใบตองครอบไว้ ข้างในกรวยใส่ข้าวเหนียวนึ่งแล้วปิดปากกรวยด้วยเงินเหรียญ แล้วนำกรวยวางลงในถ้วย คล้องด้วยฝ้าย 1 ไจ รอบกรวยจะจัดวางกล้วยน้ำว้าสุก 1 หวี ข้าวต้มด่าง 1 พวง ข้าวต้มผัดหรือข้าวต้มอื่นๆ รวมถึงอาหารแห้ง เช่น ไก่ย่าง ปลาหรือหมูย่าง

ส่วนบายเบ็ญนั้น คืออาหารที่เตรียมไว้ในกระทงเล็กๆ 20-30 กระทง และกระทงใบใหญ่สัก 2 ใบ บรรจุขนม ผลไม้ หมากพลู บุหรี่ และภาชนะใส่น้ำไปตั้งไว้นอกรั้วบ้าน สำหรับผีที่ไม่มีญาติจัดเครื่องเซ่นไหว้ให้ ส่วนสิ่งของที่อยู่ในกระทงเล็กๆ นั้น เมื่อพระสวดมาติกาบังสุกุลและอนุโมทนาให้แล้ว ก็จะนำไปวางไว้ตามทางสามแพร่ง โคนต้นไม้ หัวไร่ปลายนา เพื่ออุทิศให้สัมภเวสีผีเร่ร่อนต่อไป
การร่ายรำที่สวยงามในขบวนแห่
เพื่อให้พิธีแซนโฎนตาสมบูรณ์ จึงต้องมีการส่งโฎนตากลับบ้าน โดยการจัดกับข้าวเซ่นบอกปู่ย่าตายายกลับสู่ภพภูมิเดิมโดยให้นำเอาโรคาพยาธิต่างๆ ไปด้วย ทิ้งไว้แต่ความเป็นสิริมงคลแก่ลูกหลาน แล้วนำเอาเสบียงอาหารส่วนหนึ่งใส่ลงในเรือที่ทำจากกาบกล้วยให้ปู่ย่าตายายนำติดตัวไป ในเรือทำหุ่นจำลองแทนตัวโฎนตา แล้วจึงนำเรือกาบกล้วยไปลอยในแม่น้ำลำคลอง ให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ แล้วกลับมาพบลูกหลานใหม่ในปีต่อๆ ไป เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีการโดยสมบูรณ์

สำหรับในอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ได้จัดงาน “ย้อนรำลึกพระยาไกรภักดี ประเพณีแซนโฎนตา บูชาหลักเมือง ลือเลื่องกล้วยแสนหวี” ขึ้นก่อนวันประกอบพิธีในชุมชนหรือหมู่บ้าน 2-3 วัน เพื่อให้ประชาชนชาวขุขันธ์ได้มีโอกาสออกมาร่วมงานกันอย่างทั่วถึง และเป็นโอกาสดีที่ชาวเมืองจะได้ร่วมกันเซ่นไหว้บวงสรวงดวงวิญญาณของพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (ตากะจะ) เจ้าเมืองขุขันธ์คนแรก และเจ้าเมืองขุขันธ์คนต่อๆมารวม 9 ท่าน
กล้วยนับแสนหวีที่มีขายภายในงาน
และที่น่าสนใจก็คือ ภายในงานครั้งนี้จะมีพ่อค้าแม่ค้านำกล้วยทุกชนิดขนขึ้นคันรถมามาวางขายภายในงาน เพราะกล้วยถือเป็นส่วนสำคัญในการประกอบพิธีแซนโฎนตา โดยจะนำเอาไปแปรรูปเป็นข้าวต้ม ขนมชนิดต่างๆ และยังใช้เป็นผลไม้ประกอบพิธีเซ่นไหว้ ดังนั้นเมื่อถึงเทศกาลแซนโฎนตาก็จะมีรถขนกล้วยจำนวนนับแสนหวีมาวางขายให้ชาวบ้านได้เลือกซื้อไปประกอบพิธีและนำไปกินที่บ้าน นักท่องเที่ยวที่มาในงานก็จะได้เลือกซื้อกล้วยสารพัดชนิดที่นี่ อีกทั้งยังจะได้เห็นการแต่งกายของชาวเมืองที่ใส่เสื้อ “อาวเก๊บ” หรือเสื้อผ้าไหมย้อมมะเกลือให้เป็นสีดำ แล้วทอลายเรียกว่าลายลูกแก้ว และมีการ “เทอแซว” หรือการเย็บหรือถักตะเข็บลายตีนตะขาบอย่างประณีตสวยงามทั้งหญิงและชายอีกด้วย

และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งประเพณีดีๆที่ชาวไทยเชื้อสายเขมรยังคงมีศรัทธาเหนียวแน่น และแสดงถึงความกตัญญูที่ถูกปลูกฝังและสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น จนกลายเป็นประเพณีแห่งความกตัญญูที่งดงามและแฝงไปด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนาอีกด้วย
เด็กออสซีทึ่งใช้กาบกล้วยแยก “น้ำมัน” จาก “น้ำแดง” ได้
เด็กออสซีทึ่งใช้กาบกล้วยแยก “น้ำมัน” จาก “น้ำแดง” ได้
จริงหรือหิ่งห้อยเรืองแสงตอนกลางวัน? การเรืองแสงของหิ่งห้อยนำไปใช้ตรวจคราบเลือดได้อย่างไร? ส่วนประกอบจากต้นกล้วยใช้แยกน้ำกับน้ำมันได้จริงหรือไม่? สุดเจ๋ง!ใช้ปลาเป็นต้นแบบสร้างหุ่นยนต์สอดแนม?...ทั้งหมดนี้คือบางส่วนของกิจกรรมที่นักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์และคณะครูกว่า 600 ชีวิต จาก 15 เขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และ 1 เขตเศรษฐกิจรับเชิญได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันใน “เทศกาลวิทยาศาสตร์เยาวชนเอเปค ครั้งที่ 4 หรือ The 4th APEC Youth Science Festival: 4th AYSF 2011” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 20-26 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยครั้งนี้ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพการจัดงาน ภายใต้การดำเนินงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และมีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นหนึ่งในหน่วยงานร่วมการจัดงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น