xs
xsm
sm
md
lg

ไหว้สาเสาหลักเมืองน่าน ชมความวิจิตร “วัดมิ่งเมือง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศาลหลักเมืองน่านและอุโบสถของวัดมิ่งเมืองอันงดงามวิจิตร
เมื่อเดินทางไปเยือนจังหวัดใด หากได้มีโอกาสไปสักการะเสาหลักเมืองของจังหวัดนั้นก็ถือได้ว่าเป็นสิริมงคลสำหรับตนเองและครอบครัว เพราะเสาหลักเมืองถือเป็น “ใจเมือง” เป็นศูนย์รวมจิตใจและเป็นที่เคารพสักการะของคนทั้งเมือง

ในวันนี้ที่ได้ไปเยือนเมืองน่าน เสาหลักเมืองของจังหวัดน่าน ตั้งอยู่ภายใน “วัดมิ่งเมือง” อำเภอเมือง จังหวัดน่าน โดยชาวพื้นเมืองจะเรียกเสาหลักเมืองว่า เสามิ่ง หรือเสามิ่งเมือง เป็นที่มาของชื่อวัดมิ่งเมืองนั่นเอง

เสามิ่งเมืองของจังหวัดน่าน สร้างขึ้นโดยสมเด็จเจ้าฟ้าอัตถะวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 57 โปรดให้ฝังเสาพระหลักเมืองน่านต้นปัจจุบันนี้เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2331 ณ สถานที่ที่ทรงเสี่ยงทาย คือที่ข้างวัดร้างเก่าซึ่งตั้งอยู่ห่างจากหอคำ (ปัจจุบันคือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน) ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 350 เมตร โดยผู้รู้สันนิษฐานว่าวัดร้างนี้คือวัดห้วยไคร้ อันมีมาแต่ครั้งสมัยสุโขทัย

แต่เดิมเสามิ่งเมืองมีลักษณะเป็นไม้สักทองขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 60 ซ.ม. สูงประมาณ 3 ม. หัวเสาเกลาเป็นรูปดอกบัวตูม ตัวเสาฝังลงกับพื้นโดยตรงไม่มีศาลครอบ จนกระทั่งในปี 2506 เมืองน่านได้เกิดน้ำท่วมใหญ่ แม่น้ำน่านไหลเข้าท่วมถึงเสามิ่งเมือง ตัวเสาอายุร้อยกว่าปีที่เริ่มผุกร่อนจึงโค่นล้มลง

ต่อมาทางวัดมิ่งเมืองพร้อมด้วยพ่อค้าประชาชนชาวน่านจึงได้ร่วมกันนำเสามิ่งเมืองน่านต้นเดิมที่โค่นล้มลงนั้นมาเกลาแต่งใหม่ และสลักหัวเสาเป็นพระพรหมสี่หน้า รวมทั้งสร้างศาลทรงไทยจตุรมุขครอบเสามิ่งเมืองขึ้นเป็นครั้งแรก ในครั้งนั้นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงเป็นองค์ประธานประกอบพิธีตั้งเสาหลักเมืองน่าน เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2516
เสาหลักเมืองน่าน
ส่วนศาลหลักเมืองน่านหลังที่เห็นในปัจจุบันนี้ได้สร้างขึ้นในปี 2548 หลังจากที่ศาลหลังเก่าชำรุดทรุดโทรมลงมาก ทางราชการรวมทั้งประชาชนชาวน่านจึงได้ร่วมใจกันสร้างศาลหลักเมืองหลังใหม่นี้ขึ้น โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงยกยอดพุทธประทุมสวมเศียรท้าวมหาพรหมยอดศาลหลักเมืองน่าน เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2551

สำหรับอุโบสถวัดมิ่งเมืองที่ตั้งอยู่ด้านหลังศาลหลักเมืองนั้นก็มีความเป็นมาที่เก่าแก่ไม่แพ้กัน แต่เดิมบริเวณนี้เป็นวัดร้าง ต่อมาเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนครน่านในขณะนั้นได้สถาปนาวัดร้างแห่งนี้ขึ้นใหม่ในราวปี 2400 และตั้งชื่อวัดใหม่นี้ว่า "วัดมิ่งเมือง" ด้วยเหตุที่มีเสามิ่งเมืองตั้งอยู่ในวัด

ระยะเวลาที่ยาวนานทำให้อุโบสถชำรุดทรุดโทรมลง ดังนั้นในปี 2527 พระครูสิริธรรมภาณี (เสน่ห์ ฐานสิริ) เจ้าอาวาสวัดมิ่งเมืองร่วมกับชาวบ้านคุ้มวัดมิ่งเมืองได้รื้อถอนอุโบสถหลังเดิมลงและสร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้น พร้อมทั้งอัญเชิญพระประธานองค์เดิมมาประดิษฐานไว้ สำหรับตัวอุโบสถหลังใหม่นี้พระครูสิริธรรมภาณีเป็นผู้ออกแบบตามจินตนาการ เป็นอุโบสถล้านนาร่วมสมัย ก่อสร้างตัวอาคารด้วยฝีมือสล่าพื้นบ้านเมืองน่าน ลวดลายปูนปั้นอันวิจิตรอลังการเป็นฝีมือของสล่าเสาร์แก้ว เลาดี สกุลช่างเชียงแสนโบราณ ส่วนภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถเป็นภาพตำนานประวัติเมืองน่าน โดยคุณสุรเดช กาละเสน จิตรกรพื้นบ้านเมืองน่าน เฉพาะงานประติมากรรมปูนปั้นใช้เวลาประมาณ 5 ปี และสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2540 ใช้เวลาสร้างรวม 12 ปี

วัดมิ่งเมืองนับเป็นอีกหนึ่งวัดงามแห่งเมืองน่าน ที่หากใครได้มีโอกาสมาเยือนรับรองว่าต้องประทับใจในความวิจิตรงดงามและทึ่งกับความปราณีตของสล่าเมืองน่านที่ฝากฝีมือไว้ในศาลหลักเมืองและอุโบสถวัดมิ่งเมืองอย่างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น