xs
xsm
sm
md
lg

ปลุกชีวิต ให้พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเมืองพะเยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระพุทธรูปหินทรายที่จัดเก็บในพิพิธภัณฑ์เวียงพยาว
เมืองไทยเป็นดินแดนเก่าแก่มาแต่โบราณ มีการค้นพบ ศิลาจารึก ถ้วยโถโอชามมากมาย ทั้งโบราณสถานและโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก กลาดเกลื่อนทั่วแผ่นดิน แม้จะมีพิพิธภัณฑ์ทั้งของภาครัฐและเอกชนหลายแห่ง ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดเก็บสมบัติชาติเหล่านี้ไว้มิให้สูญหายและรอดพ้นจากการโจรกรรมจากนักค้าโบราณวัตถุ

แต่แม้ว่าจะมีพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติหลายแห่งไว้รองรับ ทว่าก็ยังคงไม่เพียงพอ ต่อการจัดเก็บรักษาโบราณวัตถุที่มีมากมาย
จากศาลาการเปรียญ สู่พิพิธภัณฑ์เวียงพยาว
ฉะนั้นการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ให้คนในท้องถิ่นเป็นคนเก็บรักษาสมบัติประจำถิ่นฐานของพวกเขาไว้ ดูจะเป็นทางเลือกที่ลงตัวที่สุด เพราะนากจากจะเป็นการเก็บรักษาสมบัติชาติแล้ว ยังเป็นการปลูกฝังในคนในท้องถิ่นรู้จักรักและหวงแหน ในสมบัติของถิ่นกำเนิด อันเป็นรากเหง้าของตัวเอง

กว่าจะเป็น พิพิธภัณฑ์เวียงพยาว วัดลี

จังหวัดพะเยา เมืองเก่าแก่แห่งหนึ่งของล้านนาไทย เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่เล็งเห็นความสำคัญของประวัติศาสตร์ท้องถิ่น จึงริเริ่มให้มีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขึ้นหลายแห่งภายในจังหวัด
พระพุทธรูปเก่าแก่ที่รอการจัดเก็บที่พิพิธภัณฑ์เวียงพยาว
สำหรับพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่เป็นต้นแบบอันโดดเด่น สะท้อนให้เห็นแรงพลังของชุมชนในการอนุรักษ์ คงต้องยกให้ "พิพิธภัณฑ์เวียงพยาว(วัดลี)" ที่ตั้งอยู่ ณ บ้านหล่ายอิง ใกล้กับ โรงเรียนเทศบาล 3 ต.เวียง อ.เมือง

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันนี้ 5 มี.ค.52 มีการจัดแสดงเกี่ยวกับโบราณวัตถุกว่า 10,000 ชิ้น ในวัดลี ซึ่งถ้าจะย้อนกลับไปถึงจุดกำเนิดของพิพิธภัณฑ์ คงต้องยกให้แรงบันดาลใจและความสำนึกรักถิ่นเกิดของ พระครูอนุรักษ์บุรานันท์ เจ้าคณะอำเภอเมืองพะเยา เจ้าอาวาสวัดลี ที่เล็งเห็นถึงคุณค่าโบราณวัตถุที่เดิมนั้นถูกทอดทิ้งอยู่ตามวัดร้างต่างๆในเมืองพะเยา ท่านจึงนำมาเก็บรักษาไว้ที่วัดลี เพื่อมิให้สูญหาย

ด้วยระยะเวลากว่า 50 ปี ของการอนุรักษ์สะสม ทำให้มีโบราณวัตถุเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆจนไม่มีสถานที่เก็บเพียงพอ ดังนั้นท่านจึงคิดที่จะจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขึ้นมา เพื่อให้เป็นแหล่งรวบรวมโบราณวัตถุและแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์โบราณคดี ศิลปวัฒนธรรม ของเมืองพะเยาอีกแห่งหนึ่ง
ศิลาจารึก เมืองพะเยาอักษรแทนคำบอกเล่าบรรพบุรุษ
"แต่ก่อนหลวงพ่อเคยน้อยใจ ว่าของบจากภาครัฐไปทีไรก็เงียบหาย เขาก็บอกว่าไม่มีงบประมาณ เหมือนปล่อยให้พระทำอยู่ลำพัง กรมศิลปากรก็ร้องขอ ให้พระช่วยอนุรักษ์โบราณวัตถุ ของมันเยอะมีเป็น 10,000 ชิ้น จะเก็บอย่างไรหมด" พระครูอนุรักษ์บุรานันท์เล่าความหลัง

ทำให้การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ในช่วงแรกเป็นเพียงแนวคิด จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.2549 ทางจังหวัดพะเยา ได้เห็นความสำคัญ จึงผลักดันโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ฯวัดลีอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม โดยความร่วมมือของกรมศิลปากรกับคนในชุมชนวัดลี ที่เริ่มเล็งเห็นความสำคัญของโบราณวัตถุเล่านี้ จึงได้ร่วมมือร่วมใจกับสนับสนุน จนในที่สุด ทำให้การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ประสบผลสำเร็จในปีพ.ศ.2550

โดยได้ใช้พื้นที่ของอาคารศาลาการเปรียญวัดลี ปรับปรุงให้เป็นอาคารจัดแสดงพิพิธภัณฑ์เวียงพยาว(วัดลี) และเป็นคลังเก็บโบราณวัตถุ มีทั้งหมด 2 ชั้นด้วยกัน ชั้นล่างเก็บพระพุทธรูปหินทราย และศิลาจารึก ส่วนชั้นที่ 2 เก็บเครื่องถ้วยโบราณ งานไม้แกะสลัก และพระพุทธรูปด้วยเช่นกัน
ของเก่าที่รอการจัดหมวดหมู่ ในพิพิธภัณฑ์เวียงพยาว
ภายในจัดเก็บศิลปะยุคทองของพะเยา ไว้มากมาย อาทิ เครื่องถ้วยเวียงบัว ที่มีการค้นพบแหล่งเตาเผาโบราณ หลักศิลาจารึกต่างๆที่เป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาในอดีต พระพุทธรูปหินทรายและพระพิมพ์ยอดขุนพล ประติมากรรมหินทราย ศิลปะสกุลช่างพะเยา เป็นที่ยอมรับกันในแวดวงศิลปะและโบราณคดีว่าประติมากรรมหินทรายศิลปะพะเยา มีความโดดเด่นงดงาม

"หลวงพ่อเป็นคนเสียดายของ เห็นอะไรจึงเก็บหมด ไม้แกะสลักโบราณอายุเป็นร้อยๆปี ชาวบ้านเขาสร้างบ้านใหม่ของเก่าเขาไม่รู้จะเอาไปทำอะไรก็จะเผาทิ้งทำฟืน หลวงพ่อก็ไปขอมา" พระครูอนุรักษ์บุรานันท์ เล่าถึงที่มาของสิ่งของบางชิ้น

ปัจจุบันเมื่อมีพิพิธภัณฑ์ขึ้นมา ชาวบ้านเองก็ให้ความสนใจ มีการจัดเวรยามเข้ามาช่วยดูแล ถ้ามีใครสนใจมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์กลุ่มแม่บ้าน ก็จะมีบริการอาหารกลางวันราคาย่อมเยาไว้บริการ มีกลุ่มยุวมัคคุเทศก์เข้ามาให้ความรู้กับนักท่องเที่ยว เมื่อแนวคิดเป็นรูปธรรมหลวงพ่อก็กล่าวว่า รู้สึกยินดี และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะมีผู้สนใจเข้ามาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเล็กๆของท่านบ้าง
พระพุทธรูปหินทรายของเมืองพะเยา
หอวัฒนธรรมนิทัศน์ วัดศรีโคมคำ

จาก "พิพิธภัณฑ์เวียงพยาว วัดลี" พามาดูพิพิธภัณฑ์อีกแห่งในเมืองพะเยา ที่ได้รวบรวมจัดเก็บโบราณวัตถุของเมืองพะเยาไว้เช่นกัน

"หอวัฒนธรรมนิทัศน์" วัดศรีโคมคำ ตั้งอยู่ติกกกับบริเวณวัดศรีโคมคำ วัดประจำเมืองพะเยา ที่มีพระเจ้าตนหลวง พระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุดของล้านนา ประดิษฐานอยู่

หอวัฒนธรรมนิทัศน์ ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ.2537 เสร็จเมื่อปี พ.ศ.2539 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเมื่อวันที่ 18 ม.ค. 39 เป็นอาคารศิลปะล้านนาประยุกต์
หลวงพ่อพุทธเศียร ที่มักมีผู้นิยมอธิษฐานด้วยการตั้งเหรียญเสี่ยงทาย
ภายในจัดแสดงวัตถุโบราณ เอกสารข้อมูลสำคัญทางประวัติศาสตร์ เรื่องราวความเป็นมาทั้งด้านวรรณกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรมประเพณี และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวพะเยา ซึ่งเก็บรวบรวมโดย หลวงพ่อพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ เจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำ

เป็นเวลา 40 กว่าปี ที่ หลวงพ่อพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ หรือ หลวงพ่อใหญ่ ของชาวพะเยา เจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำ ได้พบซากปรักหักพังและประติมากรรมในยุคหินทรายของเมืองพะเยา (พุทธศตวรรษที่ 20-21) อันเป็นที่มา ที่ทำให้หลวงพ่อได้เริ่มเก็บรักษาสมบัติของชาติเหล่านี้ไว้ ณ วัดศรีอุโมงค์คำ จนย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำ ในปีพ.ศ.2512 จึงย้ายโบราณวัตถุทั้งหมดมาเก็บรักษาต่อ ณ วัดแห่งนี้
เครื่องพุทธบูชา ปอดและหัวใจพระประธาน ในหอวัฒนธรรมนิทัศน์
นับตั้งแต่การเริ่มต้นเก็บรวบรวมวัตถุโบราณ ตลอดจนการกลั่นกรองจนกลายเป็นหอวัฒนธรรมนิทัศน์วัดศรีโคมคำ ต้องใช้ระยะเวลากว่า 32 ปี จึงแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2539 หอวัฒนธรรมนิทัศน์วัดศรีโคมคำได้รับการออกแบบด้วยศิลปะล้านนาประยุกต์ ด้านหลังตัวอาคารติดกับกว๊านพะเยาจึงมีภูมิทัศน์ที่สวยงาม

ภายในอาคาร 2 ชั้น ประกอบด้วยห้องจัดแสดง 5 ห้อง แต่ละห้องแบ่งเป็นส่วนๆ รวมทั้งหมดเป็น 13 ส่วน อาทิ

ส่วนที่ 1 "กว๊านพะเยา" จัดแสดงประวัติ เริ่มตั้งแต่เป็นนิทานปรัมปรา กว๊านพะเยาในอดีต รวมถึงวิถีชีวิตการประมงในเมืองพะเยา
ของเก่าที่รอการจัดหมวดหมู่ ในพิพิธภัณฑ์เวียงพยาว
ส่วนที่ 2 "ลานศิลาจารึก" จุดเด่นของห้องนี้คือ หลวงพ่อพุทธเศียร เศียรพระพุทธรูปหินทรายขนาดใหญ่ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 20-21 ถือได้ว่าเป็นพระพุทธรูปหินทรายที่มีพุทธลักษณะสวยงามที่สุด ตามแบบศิลปะหินทรายสกุลช่างพะเยาในยุคต้นที่ได้รับอิทธิพลจากทางสุโขทัย นอกจากนี้ยังมีหลักศิลาจารึก ส่วนใหญ่เป็นหินทรายอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 20-22

ส่วนที่ 3 "พะเยาก่อนประวัติศาสตร์" ตั้งอยู่บริเวณชั้นสองของอาคาร จัดแสดงวัตถุโบราณในยุคหินของคนในพื้นที่จังหวัด ห้องจัดแสดงจำลองบรรยากาศคล้ายเมืองโบราณ เป็นต้น

โดยแต่ละส่วนจะเล่าเรื่องเรียงลำดับมาจนถึง ส่วนที่ 13 "คลังวัตถุโบราณ" ห้องเก็บวัตถุโบราณที่ยังไม่ได้จัดเป็นหมวดหมู่ และประดิษฐาน "หลวงพ่อพระเจ้าองค์ดำ" พระพุทธรูปเนื้อสัมฤทธิ์แก่ทองคำ ซึ่งการแบ่งย่อยแบบนี้ทำให้ผู้เข้ามาเยี่ยมชมได้ซึมซับวิถีเมืองพะเยาจากพิพิธภัณฑ์ได้ง่ายมากขึ้น

หลวงพ่อพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ในวัย 93 ปี แต่ยังคงแข็งแรง กล่าวอย่างยิ้มแย้มว่า ทำพิพิธภัณฑ์ไว้ก็เพื่อไว้ให้ลูกหลานคนพะเยา ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของตัวเอง
เครื่องถ้วยชามภายในหอวัฒนธรรมนิทัศน์
"ตอนนี้มีพระพุทธรูปจำนวนไม่น้อย ที่ยังรอการบูรณะซ่อมแซมอยู่ การเป็นโบราณวัตถุ มันยาก ใช่ว่าเราอยากจะเก็บไว้ที่ไหนก็เก็บ เก็บไว้ข้างกำแพงวัดยังดูรก ไม่งามตา ฉะนั้นต้องหาที่เก็บที่เหมาะสม คนเดินชมก็ว่างาม ที่ที่เหมาะที่สุดก็คือเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์" หลวงพ่อใหญ่กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับพระสงฆ์ของเมืองพะเยาดูจะมีส่วนสำคัญไม่น้อย ที่เข้ามามีบทบาท ต่องานด้านการอนุรักษ์โบราณวัตถุของเมืองพะเยา ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะพระสงฆ์เป็นศูนย์รวมใจของประชาชนในท้องถิ่นอยู่แล้ว จึงสามารถดึงกำลังแรงศรัทธา ปลุกให้ชาวบ้านสำนึกรักในท้องถิ่นได้ไม่ยากนัก จากความสำเร็จของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเมืองพะเยา จึงไม่ใช่เรื่องเกินจริงหากคิดจะทำ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

"พิพิธภัณฑ์เวียงพยาว" (วัดลี) ตั้งอยู่ที่ ต.เวียง อ.เมือง จ.พะเยา เปิดทำการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-15.00น. สามารถติดต่อเยี่ยมชมได้ที่ โทร.0-5443-1835 หรือที่ คุณเกรียงศักดิ์ แรกข้าว โทร.08-9636-7194,0-5441-2318

"หอวัฒนธรรมนิทัศน์ วัดศรีโคมคำ" ถ.พหลโยธิน ต.เวียง อ.เมือง จ.พะเยา เปิดทำการทุกวัน 08.30-16.30 น. ค่าเข้าชมผู้ใหญ่คนไทย 20 บาท เด็ก/พระ/เณร 10 บาท ชาวต่างชาติ 40 บาท โทร.0-5441-0058, 0-5441-1496

กำลังโหลดความคิดเห็น