xs
xsm
sm
md
lg

“บ้านอ้อย” กระเป๋าผักตบฯ ติดลมบน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ลำพังการนำผักตบชวามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จักสานต่างๆ ทุกวันนี้คงไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ ทว่า เหตุผลสำคัญที่ส่งให้ผลิตภัณฑ์จักสานผักตบชวาของ “บ้านอ้อย” จ.ชัยนาท ประสบความสำเร็จเป็นกลุ่มผู้ผลิตชั้นนำของประเทศ คือ ดีไซน์อันโดดเด่นเน้นแรงบันดาลใจจากธรรมชาติรอบตัว อีกทั้ง มีระบบบริหารภายในเข้มแข็ง เน้นพึ่งพาตัวเอง เติมเต็มให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่ต้องการของต่างประเทศในระดับผลิตไม่ทันขาย
จรวยพร เกิดเสม  ประธานกลุ่มหัตถกรรมผักตบชวาบ้านอ้อย จ.ชัยนาท
จรวยพร เกิดเสม วัย 48 ปี ประธานกลุ่มหัตถกรรมผักตบชวาบ้านอ้อย ต.สรรพยา จ.ชัยนาท เล่าว่า สินค้ามีจุดเด่นที่รูปทรงแปลกตา ใช้ธรรมชาติรอบตัวเป็นแรงบันดาลใจออกแบบ ให้สอดคล้องกับวัตถุดิบผักตบชวา ซึ่งหาง่ายตามธรรมชาติ และสร้างเรื่องราวที่มาที่ไปของสินค้า เช่น นำรูปร่างของผีเสื้อ ดอกไม้ และใบไม้ มาประยุกต์ทำเป็นรูปทรงกระเป๋า เป็นต้น โดยมีการผสมผสานการสานลวดลายไทยเข้าไว้ด้วย และนำเทคนิคการย้อมผ้ามัดหมี่มาใช้กับผักตบชวา
เน้นการไล่โทนสีสวยงาม
นอกจากนั้น เฝ้าติดตามรสนิยมลูกค้าจากสื่อรอบๆ ตัว เช่น นิตยสาร ละครโทรทัศน์ ทั้งไทยและเทศ รวมถึงนำข้อเสนอแนะจากลูกค้ามาประยุกต์ เพื่อผลิตสินค้าใหม่ได้ตรงใจ

จรวยพร ระบุว่า ตั้งแต่เริ่มตั้งกลุ่มฯ เมื่อปี 2530 ถึงปัจจุบันมีสินค้ามากกว่าพันแบบ ราคาตั้งแต่หลักสิบถึงหลักหมื่นบาท ตั้งแต่ที่รองแก้ว รองเท้าแตะ ตะกร้าใส่ของ หมวก ถาดผลไม้ ชุดเฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ แต่ที่ขายดีที่สุด คือ กระเป๋าถือและสะพานสตรี ตลาดกว่า 80% จะส่งออกต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง สิงคโปร์ อิตาลี เป็นต้น ทั้งภายใต้แบรนด์ตัวเอง ชื่อ “บ้านอ้อย”กับรับจ้างผลิต OEM ส่วนในประเทศจะส่งเข้าห้างสรรพสินค้าต่างๆ ลูกค้าส่วนใหญ่ คือ สุภาพสตรีฐานะค่อนข้างดี
กระเป๋าทรงผีเสื้อ
ข้อดีของผลิตภัณฑ์จากผักตบชวา คือ มีความเหนียวนุ่ม ทนทาน อายุใช้งานกว่า 3-5 ปี สามารถสานได้ทุกแบบ ขณะที่ข้อเสียหากเก็บไว้ในที่ชื้นอาจมีราขึ้นได้

แม้ปัจจุบันจะมีกลุ่มผลิตจักสานผักตบชวาจำนวนมากกว่า 40 กลุ่มทั่วประเทศ รวมถึงมีคู่แข่งจากจีน และเวียดนาม แต่สิ่งที่ทำให้ผลิตภัณฑ์จากกลุ่ม “บ้านอ้อย” ยังได้รับความนิยมจากลูกค้าต่างชาติมากที่สุด ประธานกลุ่ม ระบุว่า อยู่ที่การไม่หยุดนิ่งในการพัฒนารูปแบบ โดยจะออกสินค้าใหม่ๆ 1-4 รายการเป็นประจำทุกเดือน อีกทั้ง ชื่อเสียง และฝีมือประณีตที่สะสมมากว่า 20 ปี จนลูกค้าเชื่อใจ

ขณะนี้ กลุ่มหัตถกรรมผักตบชวาบ้านอ้อย มีสมาชิกประจำ กับสมาชิกเครือข่าย รวมแล้วกว่า 300 คน ถือเป็นกลุ่มใหญ่สุดของประเทศ มีรายได้เข้ากลุ่มเฉลี่ยประมาณเดือนละ 2 แสนบาท ซึ่งจะถูกจัดแบ่งอย่างเหมาะสม เป็นธรรม ตามฝีมือ และภาระหน้าที่ แล้วปันเงินส่วนหนึ่งเข้ากองกลาง ไว้ใช้สอยยามฉุกเฉิน ซึ่งมีเงินสะสมกว่า 2 ล้านบาทแล้ว

ด้วยวิธีบริหารดังกล่าว ทำให้ได้ทีมงานเข้มแข็ง ทุกคนรู้หน้าที่ตัวเอง และทุกคนมีรายได้น่าพอใจ ส่วนกลางมีทุนหมุนเวียนคล่องตัว ตั้งแต่เริ่มตั้งกลุ่มมา จึงไม่จำเป็นต้องกู้เงินจากสถาบันการเงินใดๆเลย

อย่างไรก็ตาม ปัญหา คือ ไม่สามารถผลิตสินค้าได้ทันต่อความต้องการของลูกค้า เนื่องจากเปลี่ยนแปลงรูปแบบสินค้าค่อนข้างบ่อย ซึ่งการเปลี่ยนแต่ละแบบกว่าจะทำได้จนชำนาญ ต้องใช้เวลานาน แต่เมื่อเริ่มจะชำนาญแล้ว ก็ต้องเปลี่ยนไปทำแบบใหม่ๆ อีก เพื่อหนีคู่แข่ง ดังนั้น ผลิตภัณฑ์กลุ่มฯ จึงออกได้ค่อนข้างช้า ต่อปีทำได้สูงสุดไม่เกิน 5,000 ชิ้นเท่านั้น ขณะที่ความต้องการของตลาดยังสูงกว่า 2-3 เท่าตัวทีเดียว
ชาวบ้านที่มาร่วมกันทำงาน
สำหรับ จรวยพร อีกบทบาทได้รับคัดเลือกเป็นบุคคลเกียรติยศผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่น (โอทอป) ประจำปี 2550 ได้แสดงทัศนะถึงสาเหตุความล้มเหลวของกลุ่มโอทอปต่างๆ ว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่มักจะรอให้หน่วยงานภาครัฐยืนมือมาช่วยเหลือทุกๆ ด้าน ขาดความกระตือรือร้นด้วยตัวเอง การผลิตสินค้าขาดความคิดสร้างสรรค์ เห็นใครทำสิ่งใดก็ตามแล้วประสบความสำเร็จ ก็จะแห่ทำตาม หรือลอกเลียนแบบกันจนสินค้าล้นตลาด ต้องยอมขายตัดราคา สุดท้ายก็ไปไม่รอด

ดังนั้น กลุ่มบ้านอ้อย จึงเน้นให้สมาชิกพึ่งพาตัวเองให้ได้ ไม่ว่าจะเปลี่ยนรัฐบาล หรือมีนโยบายสนับสนุนล่อใจหรือไม่ เพราะสินค้าของกลุ่มฯ ยังขายดี ซึ่งรายได้ที่กลับเข้ามา จะเป็นสร้างแรงจูงใจ ให้สมาชิกตั้งใจทำงาน รวมถึง ส่งเสริมให้ลูกหลานเข้ามาสานต่อสืบไป เป็นกระบวนแก้จนอย่างแท้จริง

สำหรับที่มาของกลุ่มนั้น จรวยพร เล่าว่า เดิมชาวบ้านอ้อย ทำนาเป็นอาชีพหลัก รายได้ไม่พอจะเลี้ยงชีพ หลังว่างจากเก็บเกี่ยวจึงตั้งกลุ่มอาชีพขึ้นเมื่อปี 2527 เพื่อแปรรูปอาหารขาย แต่ไม่ประสบความสำเร็จ กระทั่ง เกิดแนวคิด นำภูมิปัญญาดั้งเดิมของปู่ย่าตายายที่นำไม้ไผ่มาสานเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือน แต่ประยุกต์เปลี่ยนมาสานด้วยผักตบชวาแทน นอกจากจะไม่ต้องลงทุนซื้อวัตถุดิบแล้ว ยังช่วยแก้ปัญหาวัชพืชในแม่น้ำได้ด้วย

จรวยพร ระบุว่า ระยะแรกอุตสาหกรรมจังหวัดเป็นผู้สอนวิธีการแปรรูป การย้อมสี และการสานผักตบชวาเป็นตุ๊กตาไก่ตั้งโต๊ะ แต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เพราะรูปแบบไม่ถูกใจตลาด อีกทั้ง ช่วงแรก ต่างคนต่างทำ เมื่อส่งไปขาย ถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา ดังนั้น ชาวบ้านที่ทำงานจักสานผักตบชวา จึงหันมารวมกลุ่มกันเมื่อปี 2530 แล้วนำความชำนาญของแต่ละคนมาแลกเปลี่ยน จนได้สินค้าหลากหลาย มีคุณภาพดีขึ้น หลังไปออกบูทงานแสดงสินค้า ได้ออเดอร์จากต่างชาติ เป็นจุดเริ่มต้นให้กลุ่มเติบโตเรื่อยมาถึงปัจจุบัน

* * * * * * * * * * *

โทร.089-536-3839
กำลังโหลดความคิดเห็น