xs
xsm
sm
md
lg

‘บ้านดอนหลวง’ ไปแล้วจะหลง (รัก) ที่สุดเมืองผ้าฝ้าย จ.ลำพูน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หากจะเดินทางไปเที่ยวภาคเหนือ คนส่วนใหญ่มักมุ่งตรงไปเชียงใหม่ ทำให้จังหวัดที่อยู่ติดกันอย่าง “ลำพูน” ไม่ค่อยได้รับความสนใจมากนัก ทั้งที่จริง ดินแดนแห่งนี้ มีเสน่ห์น่าสนใจหลายประการ โดยเฉพาะ “บ้านดอนหลวง” ต.แม่แรง อ.ป่าซาง เป็นแหล่งผลิตผ้าฝ้ายทอมือใหญ่ที่สุดของประเทศ รวมถึงเป็นชุมชนที่งดงามทั้งธรรมชาติ และวัฒนธรรม


ความรู้สึกแรกเมื่อสัมผัสเข้าบ้านดอนหลวง อดแปลกใจไม่ได้กับความสวยงามของบ้านเรือนในชุมชน แทบทุกหลังมีลักษณะบ้านทรงโบราณ ผสมผสานกับการตกแต่งสมัยใหม่ บรรยากาศเรียบสะอาด แทบจะไม่พบขยะสักชิ้นตกตามเส้นทางเดิน

และเมื่อเดินต่อเข้าไป สองข้างทางขนาบด้วยร้านขายผ้าฝ้ายทอมือเรียงรายต่อๆ กัน มีทั้งร้านหรู และเล็ก สลับกับวิถีชีวิตชาวบ้าน กำลังทอผ้าฝ้ายด้วยกี่โบราณอยู่ภายในครัวเรือน หากมีโอกาสเข้ามาซื้อถึงที่นี่จะได้ของราคาถูกกว่าครึ่งจากท้องตลาดทั่วไป

บ้านดอนหลวงเป็นแหล่งผลิตผ้าฝ้ายทอมือใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ชาวบ้านในชุมชนกว่า 250 หลังคาเรือน จำนวนประมาณ 800 คน จะประกอบอาชีพเกษตรกรรม คู่กับทอผ้าฝ้ายเป็นหลัก น้อยคนจะรู้ว่า สินค้าผ้าฝ้ายที่วางขายตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ ทั่วประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นที่เชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา กทม. ฯลฯ ส่วนใหญ่จะรับจากชุมชนแห่งนี้ทั้งสิ้น


ที่มาของการเป็นแหล่งผ้าฝ้ายทอมือรายใหญ่ของประเทศ ต้องย้อนกลับไปกว่า 200 ปีที่แล้ว เดิมชาวบ้านดอนหลวงเป็นหมู่บ้านชาวยอง ซึ่งถูกกวาดต้อนจากเมืองยอง ประเทศพม่า โดยชาวยองมีวัฒนธรรมการทอผ้าสืบทอดกันรุ่นต่อรุ่น เพื่อใช้ในชีวิตประจำวันภายในครอบครัว ต่อมาเริ่มมีคนภายนอกมาสั่งซื้อ จนพัฒนาเป็นหมู่บ้านหัตถกรรมผลิตและขายผ้าฝ้ายให้คนภายนอกเรื่อยมาถึงปัจจุบัน

บุญเมือง คำปัน” เจ้าของร้าน “บุญเมืองผ้าฝ้าย” หนึ่งในคนท้องถิ่น ยึดอาชีพมานี้มายาวนาน เล่าว่า จุดเด่นผ้าฝ้ายบ้านดอนหลวง จะทอมือแบบโบราณ เน้นลาย 4 และ 6 ตะกอ ช่วยให้เนื้อผ้านุ่มและเหนียว อีกทั้ง ชาวบ้านได้พัฒนารูปแบบให้หลากหลาย ทั้งเป็นเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ กระเป๋า ปลอกหมอน ผ้าคลุมเตียง ฯลฯ มีช่องทางตลาด โดยเปิดขายปลีกหน้าบ้านตัวเอง กับขายส่ง ผ่านพ่อค้าคนกลางที่จะเข้ามารับซื้อสินค้าถึงหมู่บ้าน รายได้ชาวบ้านจะแตกต่างกันไป ตามสัดส่วนการผลิต ตั้งแต่ 3,000 บาท จนไปถึงเดือนละหลักแสน

อย่างไรก็ตาม ด้วยช่องทางตลาดส่วนใหญ่ ขายส่งผ่านพ่อค้าคนกลาง นำไปขายต่อตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ คนทั่วไปจึงไม่รู้จักบ้านดอนหลวงมากนัก ทำให้ยอดปลีกขายหน้าร้านในชุมชนน้อยมาก บางวันขายไม่ได้สักบาท ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ชาวบ้าน และส่วนราชการท้องถิ่น ร่วมกันพัฒนาให้ชุมชนกลายเป็นหมู่บ้านโอทอป สำหรับเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ดึงลูกค้าภายนอกเข้ามาซื้อสินค้าถึงแหล่งผลิต ช่วยเสริมตลาดภายใน ควบคู่กับการขายส่ง


การท่องเที่ยวบ้านดอนหลวงเป็นรูปแบบโฮมสเตย์ คิดค่าบริการคืนละ 250 บาท/ คน มีบ้านพักเตรียมไว้ประมาณ 20 หลัง รองรับนักท่องเที่ยวได้กว่า 200-300 คน กิจกรรมที่เตรียมไว้รอรับ เน้นให้สัมผัสวิถีชีวิตการเป็นที่สุดของแหล่งผลิตผ้าฝ้ายทอมือ ผู้มาเยือนสามารถลงมือทอผ้าด้วยตัวเอง นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมอื่นๆ เช่น ปั่นจักรยานไปกราบไหว้ วัดดอนหลวง วัดประจำท้องถิ่น และพาไปชิมอาหารพื้นเมือง เสิร์ฟด้วยขันโตก เป็นต้น

หรือถ้ามาเป็นหมู่คณะ ทางชาวบ้านจะนัดกันแต่งกายด้วยผ้าฝ้าย และเตรียมกิจกรรมชุดใหญ่รอรับ เช่น การผูกข้อมือทำพิธีเรียกขวัญ การตีกลองหลวง การฟ้อนเล็บ และยิ่งมาช่วงสิ้นปีถึงต้นปี ถือเป็นเวลาเหมาะสมอย่างยิ่ง อุณหภูมิจะลดต่ำเหลือประมาณ 10 องศา ช่วยเพิ่มความสดชื่นให้กับผู้มาเยือนอย่างดี

นอกจากนั้น กิจกรรมกระตุ้นตลาดอีกด้าน คือ งาน “แต่งสีอวดลาย ผ้าฝ้ายดอนหลวง” ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นประจำ โดยปีนี้ เป็นครั้งที่ 5 มีขึ้นระหว่างวันที่ 6 ถึง 10 เมษายน 2550 ภายในงานชาวบ้านจะเนรมิตชุมชนเป็นบรรยากาศล้านนา ทุกบ้านจะออกร้านขายผ้าฝ้ายในราคาถูกกว่าท้องตลาดกว่าครึ่ง รวมถึง มีกิจกรรมการแสดงต่างๆ ตั้งแต่เช้ายันค่ำ โดยงานนี้ ถือเป็นโอกาสทำเงินของชาวบ้าน ซึ่งจะทอผ้าเตรียมเก็บไว้ตลอดทั้งปี สำหรับขายในงานนี้โดยเฉพาะ

อย่างไรก็ตาม “บุญเมือง” สะท้อนปัญหาของหัตถกรรมชุมชนประเภทนี้ว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่เน้นทำตามคำสั่งซื้อลูกค้า น้อยรายจะมีแบรนด์เป็นของตัวเอง อีกทั้ง คนรุ่นใหม่ไม่สนใจสานต่อภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ช่างทอส่วนใหญ่ล้วนเป็นคนแก่เฒ่า ส่วนคนรุ่นใหม่เลือกไปทำงานในตัวเมือง หรือ กทม. แทน หากเป็นเช่นนี้ต่อไป อีกประมาณ 20 ปี อาจไม่เหลือช่างทอผ้าฝ้ายท้องถิ่นอยู่เลย
ทอผ้าแบบโบราณ

* * * * * * * * * * * * * *

053-557-181 , 053-520-518 หรือ www.mearang.org
กำลังโหลดความคิดเห็น