xs
xsm
sm
md
lg

SuperSci: สาระน่ารู้ของ "ผีเสื้อ"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผีเสื้อหนอนใบรักฟ้าเข้ม
หากให้จัดอันดับแมลงสวยงาม "ผีเสื้อ" น่าจะเป็นแมลงชนิดแรกๆ ที่คนนึกถึง ด้วยสีสันอันสดใสและลวดลายของปีกอันตระการตา ประกอบกับลีลาการบินเล่นลมอันพริ้วไหวสวยงาม จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ใครหลายคนจะหลงรักเจ้าแมลงชนิดนี้

SuperSci สัปดาห์นี้จะพาทุกคนมารู้จักกับผีเสื้อให้มากขึ้นกันไกลถึง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมภู่ จ.ชลบุรี กับ รศ.ดร.นันทศักดิ์ ปิ่นแก้ว นักกีฏวิทยาชำนาญการ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่จะมาบอกเล่านานาสาระของผีเสื้อให้ทุกคนได้เข้าใจ

รศ.ดร.นันทศักดิ์ ปิ่นแก้ว อาจารย์ประจำภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตรกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ผีเสื้อเป็นแมลงชนิดหนึ่ง ถูกจัดอยู่ในอันดับ เลพิดอปเทอรา (Order Lepidoptera) มีขา 6 ขาและประกอบด้วย 3 ส่วนคือ หัว อก ท้องเหมือนแมลงทั่วไป แต่ส่วนท้องของผีเสื้อจะยาวกว่าแมลงในกลุ่มอื่น

ความโดดเด่นของผีเสื้ออยู่ที่หนวด ปีกและปาก โดยหนวดของผีเสื้อมีรูปแบบมากมายตามแต่ชนิดพันธุ์ อาทิ หนวดแบบเส้น หนวดแบบกระบอง และหนวดแบบซี่หวี ส่วนปีกของผีเสื้อจะมีลักษณะเป็นแผ่นบาง มีเกล็ดเล็กๆ เรียกว่า สเกล (scale) ปิดอยู่เหมือนแผ่นกระเบื้องมุงหลังคาซ้อนทับกัน ทำให้เกิดลวดลายสวยงามแตกต่างกันออกไป และในส่วนของปากจะมีลักษณะพิเศษที่เป็นท่อยาวคล้ายหลอดดูดน้ำแต่ขดม้วนกลับได้เรียกว่า โพรบอสซิส (Proboscis) ใช้สำหรับสอดเข้าสู่เกสรดอกไม้เพื่อดูดกินน้ำหวาน

รศ.ดร.นันทศักดิ์ อธิบายว่า ผีเสื้อในประเทศไทยมี 2 กลุ่ม คือ ผีเสื้อกลางวันและผีเสื้อกลางคืน ซึ่งแบ่งได้โดยง่ายจากพฤติกรรมการออกหากิน ที่ผีเสื้อกลางวันจะออกหากินในเวลากลางวัน และส่วนมากมักมีสีสันสดใส เช่น สีเหลือง สีส้ม สีฟ้า ในขณะที่ผีเสื้อกลางคืนจะออกหากินในเวลากลางคืนและมีสีสันที่ไม่โดดเด่น โดยมักจะมีสีน้ำตาล สีเทา และสีดำ โดยผีเสื้อกลางวันในประเทศไทยที่ค้นพบแล้วมีมากกว่า 1,300 ชนิด ส่วนผีเสื้อกลางคืนซึ่งไม่เป็นที่นิยมศึกษา นักกีฏวิทยาคาดว่าน่าจะมีมากกว่าผีเสื้อกลางวันราว 10 เท่า

สำหรับวงจรชีวิตของผีเสื้อ รศ.ดร.นันทศักดิ์ ระบุว่าแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะหลัก คือ ไข่ (egg), หนอน (larvar), ดักแด้ (pupa) และผีเสื้อตัวเต็มวัย (adult) โดยขณะที่เป็นตัวหนอนจะอาศัยการกัดกินใบไม้เป็นอาหาร จนเมื่อถึงเวลาเหมาะสมจะหยุดกินแล้วเข้าสู่ภาวะดักแด้ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเป็นผีเสื้อ ซึ่งระยะเวลาการเจริญของผีเสื้อตั้งแต่ไข่จนถึงตัวเต็มวัยจะแตกต่างกันไปตามชนิดพันธุ์

รศ.ดร.นันทศักดิ์ กล่าวว่า ผีเสื้อมีความสำคัญมากในระบบนิเวศวิทยา เนื่องจากเป็นสัตว์ที่กินน้ำหวานจากดอกไม้เป็นอาหาร มีการบินโฉบเกาะต้นไม้ต่างๆ ผีเสื้อจึงเป็นตัวช่วยสำคัญในการผสมเกสรผ่านการแพร่กระจายของละอองเรณูที่ติดมากับขาหรือส่วนต่างๆ ของตัวผีเสื้อ ซึ่งเท่ากับเป็นการขยายพันธุ์การแพร่พันธุ์ของพืช

ด้านการศึกษา รศ.ดร.นันทศักดิ์ เผยว่า นักกีฏวิทยาส่วนใหญ่จะจับผีเสื้อกลางวันด้วยสวิง (aerial net) ผ่านการโฉบไปในอากาศเพื่อให้ผีเสื้อติดกับ แล้วค่อยจับมาใส่ในถุงพลาสติกหรือซองกระดาษสามเหลี่ยมอย่างระมัดระวัง เพราะส่วนสำคัญของการศึกษาผีเสื้ออยู่ที่สเกล หรือเกล็ดปกคลุมปีกด้านบนซึ่งบอบบางมาก ดังนั้นการจับผีเสื้อที่ถูกต้องจึงควรสัมผัสแค่บริเวณด้านใต้ของปีกอย่างเบามือ

"แต่ถ้าเป็นผีเสื้อกลางคืนหรือเป็นผีเสื้อที่ต้องการเก็บเข้ากล่องแมลงเพื่อศึกษาในระยะยาว นักกีฏวิทยาจะเก็บผีเสื้อใส่ในขวดฆ่าแมลง (killing jar) ที่ภายในบรรจุสำลีชุบเอทิลอะซิเตท (ethyl acetate) เพื่อให้ผีเสื้อตายแบบทรมานน้อยที่สุด จากนั้นจะนำไปเซ็ตปีก เซ็ตขาให้อยู่ในท่าทางที่สวยงามเหมือนขณะมีชีวิตด้วยเข็มพินแมลง และนำเข้าอบเพื่อทำให้แห้ง แล้วเก็บในกล่องบรรจุแมลงเพื่อใช้ในการศึกษา แต่ถ้าอยากดูแบบเป็นๆ นักดูแลผีเสื้อมักเดินทางไปที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และอุทยานแห่งชาติปางสีดา ที่ครอบคลุมพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี และ จ.สระแก้ว" รศ.ดร.นันทศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย แก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
หนอนผีเสื้อถุงทอง
กล่องเก็บตัวอย่างแมลง ( เครดิตภาพ นายวรพงศ์ อัศวศิระมณี และ นางสาวศรวณีย์ สระเพ็ชร)
รศ.ดร.นันทศักดิ์ ปิ่นแก้ว อาจารย์ประจำภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตรกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์









กำลังโหลดความคิดเห็น