xs
xsm
sm
md
lg

สพฐ.เตรียมจับมือ อบต.รับอนุบาล 3 ขวบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“กษมา” เผยเด็ก 3 ขวบ เข้าเรียนอนุบาลเพียงร้อยละ 20 ต่างจากเด็ก 4-5 ขวบ เข้าเรียนสูงร้อยละ 90 เร่งจับมือกับ อบต.ขยายรับอนุบาล 3 ขวบ โดยให้ใช้โรงเรียน อุปกรณ์ของโรงเรียน สพฐ.พร้อมสนับสนุนการสอน 2 ภาษา ทั้งไทย-มลายู ใน 3 จชต.เพื่อ นร.เคยชินกับภาษาไทย


วานนี้ (18 มิ.ย.) บริษัท รักลูก จำกัด คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “อนาคต การจัดการศึกษาเด็กไทย เพื่อศตวรรษ ที่ 21” ในงานรักลูก คิดส์ เลิร์นนิง คุณหญิงกษมา กล่าวว่า รัฐบาลให้เงินอุดหนุนของเด็กปฐมวัยเพิ่มมากขึ้น และแม้ว่าจะเพิ่มขึ้นยังไม่พอ แต่ต้องถือว่ารัฐให้ความสำคัญด้านการศึกษา นอกจากนี้ยังพบว่ามีการขยายตัวของระดับอนุบาลในช่วงอายุ 4-5 ปี ร้อยละ 90 ส่วนช่วงอายุ 3 ปี พบว่ามีเด็กเข้าเรียน ร้อยละ 20 ซึ่งถือว่ามีจำนวนน้อย

คุณหญิงกษมา กล่าวด้วยว่า เมื่อก่อนเราพบว่าเด็กใน 3 จังหวัดชายแดนใต้มีจำนวนลดลงอย่างมาก เมื่อปรับหลักสูตรให้สอนภาษามาลายูท้องถิ่นและภาษาไทยควบคู่กัน ส่งผลให้เด็กกลับเข้ามาเรียนเพิ่มมากขึ้น ถ้าหากมีการสนับสนุนให้มีการเรียนการสอน 2 ภาษา ภาษาไทย ภาษามลายู ในพื้นที่ที่ใช้ภาษาท้องถิ่นในการสื่อสารเพื่อให้เด็กได้เกิดความเคยชินกับการใช้ภาษาไทยมากขึ้น ส่วนพื้นที่ใกล้ตัวเมืองอาจสอนเฉพาะภาษาไทยอย่างเดียว

“ตนห่วงการศึกษาของเด็กระดับก่อนประถมวัย ในช่วงอายุ 3 ขวบ เพราะไม่ใช่แค่พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น พื้นที่อื่นๆ มีเด็กเข้าเรียนน้อยเช่นเดียวกัน จึงมีข้อเสนอมาว่าอยากจะเปิดการเรียนการสอนระดับอนุบาลให้กับเด็ก 3 ขวบ ซึ่งติดขัดที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น รับผิดชอบ แต่ตนจะนำเรื่องนี้หารือในที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานสัปดาห์หน้า เพื่อหารือในเรื่องงบประมาณ และจำนวนครู จากนั้นจะเสนอให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พิจารณา”

คุณหญิงกษมา กล่าวด้วยว่า โดยหลักการ สพฐ.จะไม่เปิดการสอนระดับอนุบาล 3 ขวบ แต่ปัจจุบันพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้มีปัญหาเรื่องการสื่อสารภาษาไทย ซึ่งความจริงไม่ได้เกิดกับภาคใต้เท่านั้น ภาคเหนือ ภาคอีสาน ดังนั้น สพฐ.มีแนวคิดว่าจะหารือกับกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่ง สพฐ.จะให้ใช้สถานที่เรียนหรืออุปกรณ์ร่วมกับโรงเรียนในสังกัด สพฐ.

นอกจากนี้ กล่าวถึงผลการประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) และพบว่า มีเด็ก ป.3 ได้คะแนนวิชาคณิตศาสตร์และภาษาไทย ได้ 0 คะแนน หากยังให้เด็กเรียนต่อโดยไม่ปรับปรุงแก้ไขแล้วละก็ เด็กเหล่านี้จะต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน หากโรงเรียนแห่งไหนเกิดลักษณะดังกล่าว ขอให้ สมศ. ส่งรายชื่อโรงเรียนมายังสพฐ. เพื่อ สพฐ.จะให้เงินช่วยเหลือเพื่อนำไปพัฒนาเด็กให้อ่านออกเขียนได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด

ด้าน รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า วิธีการที่จะทำให้อนาคตทางการศึกษาไทยไปรอดในระยะยาวต้องกลับมาดูที่ความเข้มแข็งของตัวเอง ทั้งเรื่องการอ่าน เขียน ความใฝ่รู้ ใฝ่เรียน ที่สำคัญตนมีความห่วงใยโรงเรียนนานาชาติ ที่มีการเรียนการสอนภาษาไทยน้อยจนน่ากลัว ทำให้เด็กที่เรียนในระบบ English Program (EP) กลายเป็นคน 2 วัฒนธรรม ใช้ภาษาไทยได้ครึ่งๆ กลางๆ ส่งผลถึงกระบวนการทางความคิดเพราะคลังภาษาในสมองมีน้อยทำให้เด็กคิดไม่แตกฉาน ตนมองว่าทักษะสำคัญที่จะแก้ปัญหาได้ ควรส่งเสริมเรื่องการอ่าน โดยเฉพาะเด็กในระดับประถม 3 ควรอ่านได้แตกฉาน

“การพัฒนาเด็กนั้น โรงเรียน พ่อแม่ ผู้ปกครอง สังคม ต้องเข้ามามีส่วนร่วม พร้อมกันนี้ควรสร้างเข็มทิศศีลธรรมให้ถูกทาง อย่าเพิกเฉยเมื่อมีการโกงข้อสอบ แล้วบอกว่าไม่เป็นไร ถ้าไม่สอนให้เด็กว่าสิ่งที่ทำนั้นผิด พอเขาโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่อาจจะใช้วิธีการเดียวกันนี้ได้”
กำลังโหลดความคิดเห็น