xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอยเขาพระวิหาร “ใครทำไทยเสียแผ่นดิน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วันนี้คดี “เขาพระวิหาร” ได้ถูกตัดสินโดยศาลโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น หลายคนอาจสงสัยว่าใครบ้างที่ทำให้ไทยเสียดินแดนจากกรณีเขาพระวิหาร

ทั้งนี้ ใครที่ติดตามสถานการณ์ปัญหาชายไทยระหว่างไทย-กัมพูชามาอย่างต่อเนื่องก็จะพบความจริงประการหนึ่งว่า ก่อนที่เหตุการณ์กำลังจะเดินทางมาถึงบทสุดท้าย คือ การรอฟังคำพิพากษาของศาลโลกด้วยความระทึกใจ รัฐบาลของนายฮุน เซน วางแผนและดำเนินการที่จะยึดครองพื้นที่ของประเทศไทยมาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง

ไม่ใช่แค่ 1 ปีหรือ 2 ปี แต่มีการวางยุทธศาสตร์นับเป็นสิบๆ ปีเลยทีเดียว

ขณะที่รัฐบาลไทยไล่มาตั้งแต่รัฐบาลนายชวน หลีกภัย รัฐบาล นช.ทักษิณ ชินวัตร รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มิได้สนใจใยดี มิหนำซ้ำยังมีพฤติกรรมที่เอนเอียงและเอื้อประโยชน์ต่อฝั่งกัมพูชาอีก ต่างหาก

ในปี 2541 ชุมชนกัมพูชาเริ่มเข้ามาตั้งร้านค้าและแผงลอยบริเวณทางขึ้นปราสาทพระวิหารในเขตไทยเพื่อขายสินค้าให้แก่นักท่องเที่ยว ซึ่งว่ากันว่าผู้ที่ยินยอมพร้อมใจให้ชุมชนกัมพูชาเข้ามาได้ก็คือ บิ๊กทหารที่ทำมาหากินอยู่ตามแนวบริเวณชายแดน

จากนั้นในช่วงปีเดียวกันต่อเนื่องมาจนถึงปี 2542 ก็ได้มีการสร้างวัดแก้วสิขาคีรีสวาระขึ้นที่บริเวณฝั่งตะวันตกของประสาทพระวิหารนอกเขตที่กั้นรั้วลวดหนามตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2505 หรือล้ำเข้ามาในอาณาเขต ของประเทศไทยนั่นเอง

และถัดมาอีกไม่นานนัก การรุกคืบของกัมพูชาก็ประสบความสำเร็จชนิดที่ไม่มีคาดคิด เมื่อรัฐบาลในขณะนั้นได้จัดทำ “บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก พ.ศ. 2543” หรือ MOU43 ร่วมกับกัมพูชา ซึ่งลงนามโดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้นกับนายวาร์ คิมฮง ที่ปรึกษารัฐบาลผู้รับผิดชอบกิจการชายแดนของกัมพูชาในขณะนั้นโดยสาระที่สำคัญยิ่งของบันทึกฉบับนี้ก็คือ การยอมรับแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000

ทันทีที่ MOU43 เกิดขึ้น รัฐบาลของนายฮุน เซน ก็เริ่มปฏิบัติการต่อทันทีด้วยความกระหยิ่มยิ้มย่องเพราะนับจากนั้นเป็นต้นมา รัฐบาลไทยเซ็นยกอธิปไตยให้กับกัมพูชาด้วยความยินยอมพร้อมใจอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ “บันทึกความเจ้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาเกี่ยวกับพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลของไหล่ทวีป พ.ศ. 2544” หรือ MOU44 ซึ่งลงนามโดย ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยในขณะนั้นกับนายสก อาน รัฐมนตรีอาวุโสของกัมพูชา

ขณะนั้น นช.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

พล.อ.เตีย บัญ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม กัมพูชา ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนไทยว่า นช.ทักษิณจะลงทุนในธุรกิจพลังงานและก๊าซฯในกัมพูชา ขณะที่ ฮุน เซน ก็ฝันถึงความโชติช่วงชัชวาลย์ที่ยังไม่มีวันมาถึงในอนาคตอันใกล้

และนั่นคือคำตอบว่า ทำไมถึงต้องมี MOU44

ต่อมาในช่วงปี 2547-2548 มีการขยายตัวของชุมชนกัมพูชา มีการก่อสร้างอาคารถาวรเพื่อเป็นที่ทำการเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นกัมพูชาและมีการสร้างถนนจากบ้านโกมุยของกัมพูชาขึ้นมายังเขาพระวิหาร โดยบริษัทที่เป็นของลูกสาวซึ่งถือเป็นการละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพทางดินแดนของไทยอย่างชัดเจน ซึ่งในขณะนั้นกระทรวงการต่างประเทศของไทยได้ทำหนังสือประท้วงต่อกัมพูชาหลายฉบับ แต่กัมพูชานิ่งเฉยโดยอ้างว่าบริเวณพื้นที่ดังกล่าวเป็นของกัมพูชา

นอกจากนี้ ชุมชนกัมพูชาดังกล่าวยังได้สร้างปัญหามลภาวะด้วยการปล่อยน้ำเสียทิ้งลงมาและไหลลงสู่สระตราว ซึ่งชาวบ้านของไทยจำนวน 5 หมู่บ้านในพื้นที่ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ได้มีการประท้วงต่อจังหวัดศรีสะเกษเกี่ยวกับผลกระทบจากน้ำเสีย แต่ก็เช่นทุกครั้งที่ผ่านมาที่การประท้วงทุกครั้ง มิได้ดำเนินการอย่างจริงจัง ซึ่งชาวบ้านของไทยจำนวน 5 หมู่บ้าน

เหล่านี้คือการวางแผนที่มีการกำหนดยุทธศาสตร์ที่ต้องบอกว่า เป็นการทำงานอย่างเป็นระบบและทำงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอนด้วยความอดทน โดยที่ MOU 43 มิได้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ แถมยังถูกใช้เป็นอาวุธอันทรงอานุภาพในการกล่าวหาว่าไทยเป็นฝ่ายเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมตามแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 ตาม MOU43 ขณะที่ฝ่ายไทยเองไม่สามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในดินแดนไทยได้เพราะมี MOU43 ปิดปากเอาไว้

กรณีที่ชัดเจนยิ่งก็คือ วัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ ที่กัมพูชาสร้างขึ้นในดินแดนไทยที่สามารถดำรงอยู่ต่อไปด้วยการรับรองของ MOU43

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จสูงสุดของกัมพูชาและนายฮุนเซนก็คือ การวางแผนขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียวต่อยูเนสโก (UNESCO) เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2550 ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ 31 ณ เมืองไครส์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ จากนั้นในปี 2549 กัมพูชาได้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่อนุรักษ์ปราสาทพระวิหารพร้อมแผนที่ประกอบ ซึ่งบางส่วนของพื้นที่อนุรักษ์ดังกล่าวได้ก้าวล้ำเข้ามาในดินแดน ไทย

และเหยื่อล่อที่สำคัญยิ่งต่อนักการเมืองไทยก็คือ ทรัพยากรพลังงานจำนวนมหาศาลที่อยู่ในทะเลมูลค่ากว่า 5 ล้านล้านบาท อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงเส้นเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชา

ในที่สุดรัฐบาลหุ่นเชิดของนายสมัคร สุนทรเวช โดย “นายนพดล ปัทมะ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้นไปเซ็นลงนามในแถลงการณ์ร่วม(Joint communiqu?) พ.ศ. 2551 และเอกสารฉบับดังกล่าวก็เป็นเอกสารสำคัญที่ทำให้กัมพูชาสามารถขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียวได้เป็นผลสำเร็จ โดยมียูเนสโกร่วมสมคบคิดเพื่อมุ่งหวังผลประโยชน์จากเม็ดเงินที่จะเกิดขึ้นจากการบูรณะปราสาทและการท่องเที่ยว

และเมื่อสามารถขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกได้ กัมพูชาก็รุกคืบด้วยการผลักดันแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารเพื่อหวังยึดดินแดนของไทย จากนั้นก็นำมาซึ่งอีกสารพัดการสร้างสถานการณ์เพื่อเรียกคะแนน ไม่ว่าจะเป็นการเปิดฉากสงครามที่แนวรบปราสาทพระวิหาร ภูมะเขือ เพื่อวางแผนนำเรื่องเข้าสูการพิจารณาของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ก่อนที่ UNSC จะโยนเรื่องให้อาเซียนเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท หรือการเปิดฉากสงครามที่ปราสาทตาควาย ตาเมือนธม

ก่อนที่จะจบลงในวันที่ 28 เมษายน 2544 ซึ่งเป็นวันที่ประเทศไทยได้รู้เช่นเห็นชาติและไส้ในทุกขดของกัมพูชากันอีกครั้งหลังจากรัฐบาลนายฮุนเซนยื่นเรื่องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเพื่อขอให้ตีความคดีปราสาทพระวิหาร และในที่สุดความพ่ายแพ้ก็มาเยือนไทยเป็นคำรบแรก หลังจากที่ “นายฮิซาชิ โอวาดะ” ประธานศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ(International Court of Justice-ICJ)” อ่านคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลโลกจบลง

ทั้งนี้ เนื่องเพราะถ้าหากนำมติของศาลโลกมาไล่เรียงทีละข้อก็จะยิ่งเห็นได้ชัดเจนว่า ไม่มีข้อใดเลยที่ประเทศไทยจะได้เปรียบประเทศกัมพูชา

มติข้อที่หนึ่ง ศาลโลกมีมติ 11 ต่อ 5 เสียงให้ทั้งสองฝ่ายถอนทหารทั้งหมดออกจากพื้นที่ ซึ่งกำหนดให้เป็นเขตปลอดทหาร (Previsional Demilitarized Zone) ตามมาตรการชั่วคราวและให้ทั้งสองฝ่ายหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมทางทหารใดๆ ภายในพื้นที่นี้ พร้อมทั้งกำหนดพิกัดที่จะต้องถอนทหารเอาไว้อย่างเสร็จสรรพ

มติข้อที่สอง ศาลโลกมีมติ 15 ต่อ 1 เสียงว่าไทยจะต้องไม่ขัดขวางการเข้า-ออกพื้นที่ปราสาทพระวิหารของฝ่ายกัมพูชาที่ไม่ใช่กิจกรรมทางทหาร ไทยกับกัมพูชาต้องร่วมมือกันต่อไปภายใต้กรอบของอาเซียน โดยอนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์ภายใต้อาเซียนสามารถเข้าไปในพื้นที่เขตปลอดทหารภายใต้มาตรการชั่วคราวได้ และให้ทั้งสองฝ่ายหลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ ที่เป็นการกระตุ้นความขัดแย้งหรือทำให้ความขัดแย้งระหว่างกันขยายบานปลายหรือทำให้ยากลำบากแก่การแก้ไขมากยิ่งขึ้นไปอีก

และมติข้อสาม ศาลโลกมีมติ 15 ต่อ 1 เสียง ให้ทั้งสองฝ่ายต้องรายงานการปฏิบัติตามมาตรการชั่วคราวที่ได้สั่งไว้ข้างต้นจนกว่าศาลจะมีคำตัดสินเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษาเดิม

มติที่เป็นเอกฉันท์ดังกล่าวแสดงให้เห็นชัดเจนว่า กระทรวงการต่างประเทศของไทยภายใต้การนำของนายกษิต ภิรมย์ รมว.กระทรวงการต่างประเทศขณะนั้น ประสบความล้มเหลวในการปฏิบัติราชการแผ่นดิน เพราะคะแนนที่ออกมาแสดงให้เห็นว่าเสียงส่วนใหญ่เข้าข้างกัมพูชามากกว่าประเทศไทย

ที่สำคัญคือ แม้มติของศาลโลกจะทำให้ไทยเสียเปรียบ แต่ดูเหมือนว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศชื่อนายกษิตจะพร้อมที่จะปฏิบัติตามอย่างยินยอมพร้อมใจโดยมิได้มีข้อกังขา แถมยังให้สัมภาษณ์ในเชิงบีบบังคับให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายทหารจะต้องปฏิบัติตาม โดยอ้างว่าเป็นมติของศาลโลก

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วประเทศไทยสามารถปฏิเสธคำสั่งของศาลโลกได้ เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติตรงไหนบอกว่าจะต้องทำอย่างไรและคำสั่งไม่มีสภาพบังคับ ไม่เหมือนกับคำพิพากษา

ดังนั้น การที่นายอภิสิทธิ์ และนายกษิต ประกาศเจตจำนงชัดเจนที่จะยอมรับมติของศาลโลก นั่นก็เท่ากับว่า เป็น “ประเทศแรก” ในโลกที่ทำตามมตินี้ และกลายเป็นตัวตลกในสายตาของชาวโลก

ที่สำคัญคือ หากไทยยอมปฏิบัติตามมติศาลโลก อาจถูกตีความได้ว่า “ไทยรับอำนาจศาลโลก” ยอมรับว่า พื้นที่ที่มีมติให้ถอนทหารออกไปนั้นไม่ใช่อธิปไตยของไทย และจะยินยอมให้มีการตัดสินตามที่กัมพูชาอ้างว่าเป็นการตีความคำพิพากษาศาลโลก พ.ศ. 2505

ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าจะว่าไปแล้วความสำเร็จของกัมพูชาเป็นผลมาจากการทำงานที่เป็นเอกภาพ วางยุทธศาสตร์และยุทธวิถีที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ขณะที่ในทางตรงกันข้ามความล้มเหลวของประเทศไทยเป็นผลมาจากความอ่อนแอของผู้นำรัฐบาลที่มิเคยกำหนดยุทธศาสตร์ในการต่อสู้ที่เป็นเรื่องเป็นราวแม้แต่น้อย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำที่ชื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น

หลายครั้งที่มีคำท้วงติง หลายครั้งที่มีการเตือน รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ซึ่งมีโอกาสแก้ไขในสิ่งที่ผิดพลาดในอดีตกลับมิเคยสนใจและยังคง “ดื้อตาใส” โดยมิเคยยอมรับและแก้ไขความผิดพลาดที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการยกเลิก MOU 43 ชนวนเหตุสำคัญที่จะนำไปสู่การเสียดินแดน เนื่องจากเป็น MOU ที่ให้การยอมรับ “แผนที่ตอนเขาดงรัก” ที่รู้จักกันในชื่อว่า “ระวางดงรัก” หรือ ANNEX1 ซึ่งเป็นแผนที่ที่ถูกจัดทำและพิมพ์ขึ้นเผยแพร่ในนามของคณะกรรมการปักปันเขตแดนผสมที่ตั้งขึ้นโดยสนธิสัญญาลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1905 โดยเป็นแผนที่ที่ใช้มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000

ย้ำกันอีกครั้ง MOU43 จัดทำขึ้นในสมัยที่นายชวน หลีกภัยเป็นนายกรัฐมนตรี และร่วมเซ็นลงนามโดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการะทรวงต่างประเทศ และนายวาร์ คิมฮง ที่ปรึกษารัฐบาลที่รับผิดชอบกิจการชายแดนของกัมพูชา

เป็น MOU 43 ฉบับเดียวกับที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีของไทยพร่ำพรรณนาถึงคุณอันวิเศษในทุกลมหายใจเข้าออก

อย่างไรก็ตาม เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าคำถามถัดมาที่คนไทยทุกคนต้องการคำตอบก็คือ ใครคือต้นเหตุแห่งโอกาสของความพ่ายแพ้ในครั้งนี้

แน่นอน คำตอบในเรื่องนี้มีความชัดเจนว่า จำเลยแรกแห่งคดีย่อมหนีไม่พ้นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีแห่งพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนจำเลยที่สองและจำเลยที่สามย่อมหนีไม่พ้นกระทรวงการต่างประเทศ และบิ๊กข้าราชการทหารบางคนที่มีผลประโยชน์อยู่ตลอดแนวชายแดนบูรพา

และในส่วนของนักการเมือง ถ้าจะว่าไปแล้ว ต้องบอกว่าไม่ใช่แค่เพียงนายอภิสิทธิ์เท่านั้น หากแต่ต้องไล่ย้อนหลังกลับไปถึงต้นกำเนิดของเรื่องคือการทำเอ็มโอยู 43 ในสมัยนายชวน หลีกภัย การทำเอ็มโอยู 44 ในสมัย นช.ทักษิณ ชินวัตร การทำ Joint Communique ในยุคนายสมัคร สุนทรเวช

“ในทางการเมืองปัญหาปราสาทพระวิหาร เริ่มต้นมีปัญหาสมัยพรรคเพื่อไทย ในสมัยนั้น คุณสุรเกียรติ์ (เสถียรไทย) เป็น รมต.ต่างประเทศ โดยยอมให้กระทรวงศึกษายุติการซ่อมแซมปราสาทตาเมือนธม เพราะเขมรบอกว่า อันนี้น่าจะอยู่ในดินแดนเขมร อันนี้เป็นไปตามเอ็มโอยู 43 แล้วก็ต่อมาที่พักพิงของนักท่องเที่ยว ซึ่ง ฝ่ายไทยสร้างขึ้นมา และเราก็ว่าอยู่ในเขตไทย เขมรก็บอกให้ยกเลิกไป อันนี้ปัญหามันมาจากอันนั้นก่อน เพราะ ฉะนั้นอาจจะเป็นไปได้เป็นเอ็มโอยู 43 มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้น ในสมัยพรรคประชาธิปัตย์ แต่ผลปฏิบัติพรรคเพื่อไทย เป็นคนทำขึ้นมา” นายอัษฎา ชัยนาม อดีตอธิบดีกรมการระหว่างประเทศแจกแจงข้อมูล

…ถึงตรงนี้ ประชาชนคนไทยคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่า สุดท้ายแล้วราชอาณาจักรไทยจะเสียดินแดนครั้งที่ 15 หรือไม่ และถ้าแพ้แล้ว รัฐบาลยิ่งลักษณ์ยอมรับคำตัดสินอย่างหน้าชื่นตาบาน “ทหาร” ในฐานะผู้ปกป้องอธิปไตยของชาติจะทำเช่นไร
กำลังโหลดความคิดเห็น