xs
xsm
sm
md
lg

อุทยานฯ ขุนน่านแจงหลังล่องแก่งน้ำว้ามีผู้เสียชีวิต พบผู้ประกอบการไม่แจ้งก่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อุทยานแห่งชาติขุนน่านชี้แจงพร้อมขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ล่องแก่งน้ำว้ามีผู้เสียชีวิต และขออภัยที่มีส่วนทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวในจังหวัดน่านได้รับผลกระทบ เผยพบผู้ประกอบการไม่แจ้งอุทยานฯ ให้รับทราบก่อน

วันนี้ (22 ส.ค.) เพจ "อุทยานแห่งชาติขุนน่าน - Khun Nan National Park" ได้ออกมาโพสต์ระบุข้อความว่า “ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีนักท่องเที่ยวเสียชีวิตจากกิจกรรมล่องแก่ง จากเหตุการณ์เมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 สิงหาคม 2566 มีนักท่องเที่ยวพลัดตกเรือยาง จมน้ำเสียชีวิต 1 ราย จากทำกิจกรรมล่องแก่งน้ำว้า โดยใช้บริการจากผู้ประกอบการในท้องที่อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน

อุทยานแห่งชาติขุนน่านขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และขออภัยที่มีส่วนทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวในจังหวัดน่านได้รับผลกระทบ เวลา 16.57 น. วันอาทิตย์ที่ 13 สิงหาคม 2566 หัวหน้าอุทยานแห่งชาติขุนน่านได้รับแจ้งเหตุทางโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ว่ามีเหตุนักท่องเที่ยวพลัดตกเรือยาง จึงได้สั่งการให้จัดเจ้าหน้าที่ร่วมค้นหานักท่องเที่ยวรายดังกล่าวทันที

วันจันทร์ที่ 14 สิงหาคม 2566 ประสานงานส่วนราชการในพื้นที่ จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ ณ ที่ทำการเทศบาลตำบลบ่อเกลือใต้ โดยมีนายกเทศมนตรี เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ และออกปฏิบัติการค้นหาทางน้ำ ยุติการค้นหาเวลาประมาณ 19.30 น.

ได้ร่วมกันประชุมวางแผนการปฏิบัติงานในวันที่ 15 สิงหาคม 2566 โดยจะระดมกำลังค้นหา นัดหมายพร้อมกัน ณ เทศบาล เวลา 07.30 น.

วันอังคารที่ 15 สิงหาคม 2566 ศูนย์ฯ ได้รับแจ้งจากผู้ใหญ่บ้านห้วยล้อม หมู่ที่ 5 ตำบลภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ว่าพบร่างผู้เสียชีวิตแล้ว จึงร่วมกันเดินทางเข้าพื้นที่เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

ก่อนเปิดการท่องเที่ยวตามปกติ ในวันที่ 1 สิงหาคม 2566 (อุทยานแห่งชาติขุนน่าน ปิดประจำปี 1 มิถุนายน-31 กรกฎาคม) ได้มีการกำหนดมาตรการด้านความปลอดภัย ดังนี้

1. วันที่ 25 กรกฎาคม 2566 จัดประชุมผู้ประกอบการ ทั้ง 6 ราย โดยมีเจ้าหน้าที่จากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมอุทยานฯ เพื่อนัดหมายการตรวจสถานประกอบการ ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 และร่วมวางมาตรการ ทบทวนมาตรการด้านความปลอดภัย เช่น การประเมินระดับน้ำก่อนการล่องแก่งเป็นครั้งๆ ไป หากปริมาณน้ำมากกว่าปกติ มีความเสี่ยง ให้งดการทำกิจกรรม การแจ้งข้อปฏิบัติแก่นักท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวที่มีโรคประจำตัวหรือมีอาการป่วยต้องแจ้งให้ผู้ประกอบการทราบ การรายงานให้อุทยานแห่งชาติได้รับทราบถึงจำนวนเรือยาง จำนวนสตาฟ จำนวนนักท่องเที่ยว ตั้งแต่จุดเริ่มล่อง จนถึงปลายทาง ว่าจบการล่องแก่งด้วยความปลอดภัย โดยลงในไลน์กลุ่ม หากอุทยานฯ ทราบว่ามีการล่องแก่ง จะได้จัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก ร่วมประเมินระดับน้ำก่อนการล่อง และเพื่อแจ้งเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนบริเวณจุดสกัดน้ำว้าได้ทราบเพื่ออำนวยความสะดวก อำนวยความปลอดภัยหากมีเหตุฉุกเฉิน เป็นต้น

(กิจกรรมล่องแก่งน้ำว้าตอนบนมีระยะทางทั้งสิ้น 30.23 กิโลเมตร จุดเริ่มต้นลงเรือยาง อยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติขุนน่าน บริเวณบ้านสะปัน หมู่ที่ 1 ตำบลดงพญา อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน มีระยะทางล่องแก่ง ก่อนเข้าสู่เขตอุทยานแห่งชาติ ระยะทาง 6.27 กิโลเมตร ล่องผ่านท้องที่ตำบลบ่อเกลือใต้ และตำบลภูฟ้า ส่วนที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติขุนน่าน 23.30 กิโลเมตร และล่องพ้นเขตอุทยานแห่งชาติขุนน่าน ระยะทาง 0.66 กิโลเมตร ถึงจุดสิ้นสุด ท้องที่บ้านผาสุข หมู่ที่ 5 ตำบลภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ตลอดเส้นทางการล่องแก่ง ไม่มีถนนเลียบสองข้างลำน้ำว้า มีเพียงเส้นทางเดินเท้าในป่าของพนักงานลาดตระเวนของอุทยานแห่งชาติ)

2. วันที่ 26 กรกฎาคม 2566 จัดประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติขุนน่าน (PAC) โดยมีนายอำเภอบ่อเกลือ เป็นประธาน มีข้อเสนอมาตรการด้านความปลอดภัย และมาตรการอื่นๆ

โดยการล่องแก่งในครั้งนี้คาดว่าเริ่มล่องประมาณเวลา 09.30 น. วันที่ 13 สิงหาคม 2566 ผู้ประกอบการไม่ได้แจ้งให้อุทยานแห่งชาติได้รับทราบ เพื่อจัดเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบ กำกับดูแล ประเมินความพร้อม ก่อนออกล่องแก่ง ไม่มีการแจ้งจำนวนเรือยาง จำนวนนักท่องเที่ยว ในไลน์กลุ่มก่อนทำการล่องแต่อย่างใด มีเพียงภาพการสาธิตแก่นักท่องเที่ยวก่อนล่องแก่ง จำนวน 2 ภาพพร้อมข้อความ เมื่อเวลา 14.56 น. ซึ่งเป็นเวลาหลังจากเกิดเหตุการณ์นักท่องเที่ยวตกเรือยางไปแล้ว

ในห้วงเวลานี้ ได้ร่วมกันทบทวนมาตรการที่มีอยู่ รวมถึงเพิ่มมาตรการให้นักท่องเที่ยวเกิดความปลอดภัยสูงสุด ร่วมประชุมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และผู้ประกอบการ หาแนวทางบูรณาการส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้บริหารท้องถิ่น ผู้นำชุมชน เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการที่อุทยานแห่งชาติขุนน่านประกาศปิดการทำกิจกรรมล่องแก่ง ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2566 และแสวงหาข้อมูล ข้อเท็จจริงของเรื่องราวที่เกิดขึ้น เพื่อประกอบการพิจารณานำเสนอผู้บังคับบัญชา และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือกันสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยว เพื่อให้บรรยากาศการท่องเที่ยวได้เข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ขอบคุณครับ อุทยานแห่งชาติขุนน่าน
21 สิงหาคม 2566”

คลิกโพสต์ต้นฉบับ


กำลังโหลดความคิดเห็น