xs
xsm
sm
md
lg

“ท้าวคูลูกับนางอั้ว” โศกนาฏกรรม โรเมโอ-จูเลียตอีสาน! ดอกนางอั้วขึ้นที่ไหน ดอกคูลูขึ้นที่นั่น!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



“ท้าวคูลูกับนางอั้ว” เป็นโศกนาฏกรรมของอีสานซึ่งจบลงด้วยความตายของคู่รัก เนื้อเรื่องทำนองเดียวกับ “โรเมโอและจูเลียต” และดูเหมือนว่าจะเก่ากว่าโรเมโอและจูเลียตเสียอีก แต่ไม่ได้เคลมนะว่าวิลเลียม เชกสเปียร์ลอกไปจากท้าวคูลูกับนางอั้ว

เรื่องราวของหนุ่มสาวคู่นี้ นอกจากจะเป็นวรรณกรรมท้องถิ่นไม่มีหลักฐานว่าใครเป็นคนแต่งที่เล่ากันมาช้านานแล้ว ยังปรากฏต้นฉบับจารึกในใบลานอยู่ที่วัดน้ำแดง ตำบลเตย อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งอ้างว่าเป็นชาดกใช้ในการเทศน์

 เนื้อเรื่องมีความว่า
ท้าวคูลู เป็นโอรสของ ท้าวพรมสี กับ พระนางพิมพากาสี เจ้าเมืองนครกาสี ส่วน นางอั้ว หรือ อั้วเคี่ยม เป็นธิดาของ ท้าวปุดตาลาด และ พระนางจันทรา เจ้าเมืองกายนคร ทั้งสองเมืองมีความสนิทสนมรักใคร่กันไปมาหากันเป็นประจำ และสัญญากันว่าถ้ามีลูกชายเหมือนกันก็จะให้เป็นเพื่อนกัน แต่ถ้าเพศต่างกันก็จะให้แต่งงานกัน
ต่อมาขณะที่พระนางจันทรากำลังทรงครรภ์อ่อนๆได้เสด็จไปเยี่ยมพระนางพิมพากาสีขณะทรงครรภ์อ่อนๆเช่นกัน

 เมื่อสองพระนางเสด็จลงอุทยาน พระนางจันทราเห็นส้มต้นหนึ่งดกเต็มต้นอยากเสวยจึงขอต่อพระนางพิมพากาสี แต่พระนางพิมพากาสีบอกว่าส้มนั้นยังไม่แก่ไม่ยอมให้เด็ด พระนางจันทราเห็นว่าส้มนั้นสุกเต็มต้นแล้วจึงโกรธมาก ถึงขั้นตัดญาติขาดมิตรกันไปเลย

จากนั้นพระนางพิมพากาสีได้คลอดโอรส ให้ชื่อว่า คูลู ในเวลาใกล้ๆกันพระนางจันทราก็คลอดพระธิดาให้ชื่อว่า อั้วเคี่ยม นางอั้วเคี่ยมหรืออั้วเมื่อโตเป็นสาวมีความงดงามเป็นที่ร่ำลือ ส่วนท้าวคูลูเมื่อเป็นหนุ่มอายุ ๑๕ ปีก็รู้ตัวดีว่าจะต้องแต่งงานกับนางอั้วตามที่พระบิดาทำสัญญากันไว้ จึงเดินทางไปเมืองกายนครเพื่อพบสาวที่เป็นคู่หมั้นหมาย และเมื่อพบนางอั้วก็เกิดจิตปฏิพัทธ์ ทั้งสองได้เกิดความรักต่อ ท้าวคูลูจึงเดินทางกลับเมืองเพื่อให้พระบิดามาทำพิธีสู่ขอตามประเพนี
ฝ่าย ขุนลาง เจ้าเมืองขอมภูเขาก่ำ หรือเขมรป่าดง ได้ทราบข่าวความงามของนางอั้วเช่นกันก็ส่งเครื่องราชบรรณาการมาให้พระนางจันทราบ่อยๆ ทั้งยังใช้เวทย์มนต์คาถาเข้าช่วยด้วย และเมื่อขุนลางส่งผู้ใหญ่นำสินสอดมาสู่ขอนางอั้ว พระนางจันทราจึงตกปากรับคำยกลูกสาวให้ขุนลาง ฉนั้นเมื่อขบวนสินสอดของนครกาสีมาถึง พระนางจันทราจึงปฏิเสธไม่รับสินสอด ทำให้นางอั้วเสียใจเป็นอย่างมาก

ท้าวคูลูได้มาสู่ขออีกครั้งและทวงสัญญาที่พระบิดาทั้งสองฝ่ายตกลงกันไว้ พระมารดานางอั้วก็อ้างว่าได้คืนสัญญาไปตั้งแต่ครั้งบาดหมางจากส้มลูกเดียว ท้าวคูลูจึงอ้อนวอนขอทำ “พิธีเสี่ยงสายแนน” ซึ่งเป็นพิธีโบราณที่เชื่อกันว่าทุกคนที่เกิดมาเป็นเนื้อคู่กันจะมีสายรกเกี่ยวพันกัน ผลของการเสี่ยงทายปรากฏว่าสายแนนของหนุ่มสาวคู่นี้เกี่ยวพันกันดีในตอนต้น แต่ตอนปลายยอดด้วนจะต้องแยกจากกันและต้องตายจากกัน ท้าวคูลูจึงยกขบวนกลับนครด้วยความเสียใจอย่างหนัก

ขุนลางได้ส่งคนมาเพื่อกำหนดวันอภิเษก นางอั้วจึงส่งนางทาสาให้ไปนัดท้าวคูลูมาพบที่อุทยาน เมื่อพระมารดาทราบเรื่องจึงตามมาด่าว่านางอั้วว่าแอบมาเล่นชู้และดึงตัวกลับขึ้นตำหนัก ทำให้นางเสียใจหนักผูกคอตายในห้องบรรทม เมื่อท้าวคูลูทราบเรื่องขณะเดินทางกลับว่าคนรักผูกคอตายจากเหตุแอบมาพบตัว จึงใช้พระขรรค์แทงคอตัวตายตามเพื่อไปพบคนรักในสรวงสวรรค์
 
ฝ่ายขุนลางผู้ก่อปัญหาเรื่องนี้เมื่อยกขันหมากมาสู่เมืองกายนคร ทันทีที่ลงจากหลังช้างเหยียบแผ่นดิน ธรณีก็สูบร่างขุนลางลงสู่อเวจีตามกรรมที่ก่อไว้

ตำนานความรักของหนุ่มสาวคูนี้ยังเป็นตำนานของไม้ดอก ๒ ชนิดด้วย โดยกล่าวว่าเถ้าอัฐิของท้าวคูลูได้เกิดเป็นดอกไม้ดินในชื่อ “ดอกคูลู” มีสีม่วงเหมือนดอกอัญชัญ ส่วนอัฐินางอั้วเกิดเป็นไม้ดอกตระกูลว่าน มีสีขาวคล้ายดอกมหาหงส์ ในชื่อ “ดอกนางอั้ว” ที่น่าแปลกใจก็คือ ที่ใดมีดอกนางอั้วขึ้น ก็จะมีดอกคูลูเกิดขึ้นในบริเวณเดียวกันเสมอ หรือไม้ดอกคู่นี้อาจจะเป็นต้นเหตุให้เกิดตำนาน “ท้าวคูลูกับนางอั้ว” ก็เป็นได้

ดอกคูลูกับดอกนางอั้ว ยังเป็นโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริในสมเด็จพระขนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ของมหาวิทยาลัยมหิดลด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น