xs
xsm
sm
md
lg

มิติลี้ลับในตำนาน! ปาฏิหาริย์พระบรมสารีริกธาตุ กำเนิดพระธาตุดอยตุง!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค


พระธาตุดอยตุง (ภาพจากเชียงรายที่รัก)
พระบรมสารีริกธาตุ หรือพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มีความเชื่อกันมาแต่โบราณกาลว่า ไม่ว่าจะบรรจุอยู่ในพระสถูปเจดีย์หรือในผอบบนหิ้งบูชาใดๆ สามารถที่จะเสด็จออกไปจากที่นั้น หรืออาจจะเสด็จมาเพิ่มจำนวนให้มากขึ้นได้

การเสด็จไป-มานั้น โดยปกติจะเสด็จอันตรธานหายไป หรือเสด็จมาเองโดยไม่ปรากฏให้เห็นด้วยสายตา แต่บางครั้งก็เสด็จโดยสำแดงปาฏิหาริย์โดยปรากฏเป็นแสงสีเขียวปนเหลืองนวล เป็นลูกกลมลอยไปลอยมาให้ผู้บุญวาสนาได้เห็น ขนาดเล็กเท่ากับผลสมเกลี้ยงก็มี หรือขนาดใหญ่ขนาดผลมะพร้าวก็มี
ตามตำนานหรือพงศาวดาร ได้กล่าวถึงการแสดงปาฏิหาริย์ของพระบรมสารีริกธาตุไว้หลายครั้งในหลายยุคสมัย

ในสมัยโยนกนครหรือเชียงแสน “ตำนานสิงหนวติกุมาร” ได้กล่าวไว้ว่า เมื่อ มหากัสสปเถระ มีอายุได้ ๑๒๐ บริบูรณ์ เห็นควรจะเข้าสู่นิพพานแล้ว

“...พระมหาเถรเจ้าก็เอาธาตดูกด้ามมีด (กระดูกไหปลาร้า) ก้ำซ้ายแห่งองค์พระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง กับธาตุเจ้าทั้งหลายสามสถาน คือมหันตามัชฌิมาทุททกาทั้งปวง ๕๐๐ พระองค์ ใส่ลงในพระโกศแก้วพระธรรมราชแล้ว ก็มาสู่เมืองโยนกนครช้างแสน...”

พระมหาเถรเจ้าก็นำพระโกศพระมหาธาตุขึ้นไปสู่จอมดอยดินแดง ซึ่งตำนานได้บันทึกต่อไปว่า

“...มหากัสสปเถระเจ้าก็ยกเอาพระโกศพระธาตุขึ้นตั้งเหนือหินก้อนหนึ่ง อันพระพุทธะเจ้านั่งเมื่อครั้งก่อนนั้น มหากัสสปเถระเจ้าก็อธิษฐานให้มหาธาตุเจ้ามุดจมลงในหินก้อนนั้น ครั้งนั้น มหาขันธาตุเจ้าก็แผ่ปาฏิหาริย์แจ้งทั่วเมืองทั้งมวลนาน ๗ วัน ๗ คืน แล้วก็พาพระโกศจมลงไปในก้อนหินลึกประมาณ ๘ ศอกนั้นแล กาลนั้นพระมหาเถระเจ้าก็อธิษฐานคันธงบูชาพระมหาธาตุเจ้าไว้หนขวา เมื่อขึ้นนั้นกางสูงประมาณ ๘,๐๐๐ วา ธงห่างประมาณ ๗,๐๐๐ วา กว้าง ๕๐๐ วา แต่นั้นมาคนทั้งหลายเห็นแล้วจึงจักเรียกว่าดอนธงแต่นั้นมาแล”

นี่ก็เป็นตำนาน “พระธาตุดอยตุง” ที่อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นราว พ.ศ.๕๖๑

ต่อมาใน พ.ศ.๖๖๐ รัชสมัยพระมังรายนราช ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุอีก ๑๕๐ องค์ บรรจุเพิ่มเติมลงที่พระธาตุดอยตุงอีก ซึ่งตำนานสิงหนวติกุมารได้กล่าวว่า

“ในกาลนั้น พระธาตุเจ้าก็ทำปาฏิหาริย์รุ่งเรืองส่องรัศมีทั่วทิศานุทิศแคว้นเมืองโยนกนครทั้งมวล แล้วก็จมลงไปในก้อนหินที่นั้นลึกประมาณ ๗ ศอก บนพระบรมธาตุเจ้าก้อนนั้นศอกหนึ่ง”

พระมังรายนราชได้โปรดให้ก่อพระเจดีย์สูง ๗ ศอกครอบพระบรมสารีริกธาตุนั้นไว้ แล้วทำบุญฉลองพระมหาธาตุนั้นยาวนานถึง ๓ เดือน งานได้ยุติลงในวันพุธ ขึ้น ๑๕ ต่ำ เดือน ๔ ปีมะเส็ง พ.ศ.๖๖๐

ต่อมาในสมัยกรุงสุโขทัย ศิลาจารึกหลักที่ ๒ ที่เรียกกันว่า “จารึกวัดศรีชุม” ได้กล่าวถึงปาฏิหาริย์ของพระบรมสารีริกธาตุไว้ละเอียดยาว เกี่ยวกับ สมเด็จมหาเถรศรีศรัทธารัตนมณีลังกาทวีป ซึ่งเป็นโอรสของ พญาคำแหงพระราม อนุชาของพ่อขุนผาเมือง เจ้าศรีศรัทธาฯจึงเป็นหลานปู่ของพ่อขุนศรีเนานำถม และเป็นหลานลุงของพ่อขุนผาเมือง แต่เมื่อโอรสซึ่งมีอยู่เพียงองค์เดียวสิ้นพระชนม์แต่ยังเล็ก เจ้าศรีศรัทธาฯจึงเหนื่อยหน่ายต่อวัฏฏสงสาร ทรงออกผนวชและธุดงค์ไปถึงอินเดียและลังกา ทรงผนวชอีกครั้งเมื่อถึงลังกา ได้รับความเคารพนับถือจากชาวสิงหลเหมือนเป็นเทพเจ้า เมื่อเข้าวัยชราแล้วได้เสด็จกลับมากรุงสุโขทัย ทรงนำพรบรมสารีริกธาตุและกิ่งศรีมหาโพธิ์กลับมาด้วย ได้รับโปรดเกล้าฯเป็นสังฆราชในสมัยพญาเลอไท ซึ่งพระพุทธศาสนารุ่งเรืองในกรุงสุโขทัย ก็เพราะพระมหาเถรศรีศรัทธาฯองค์นี้

หลักศิลาจารึกวัดศรีชุมซึ่งชำรุดอยู่หลายตอน กล่าวถึงปาฏิหาริย์พระบรมสารีริกธาตุได้เกิดกับมหาเถรศรีศรัทธาฯขณะสร้างพระเจดีย์ที่ลังกา มีความตอนหนึ่งว่า

“...กูมีศรัทธาพยายาม...อิฐประกิดเข้าจทายปูนมีถ่องถ้วน เมื่อทาปูนแต่ยอดแก่กม (แก่กม = ที่สุด) ถึงดินใหญ่ ขาวงาม ดังเขาไกรลาส ทาต่อตีนต่อมือต่อทั้งตนพระพุทธรูปหินงามแก่กม กูหากใช้ตนกูกระทำการบุญสมภารวันเดียวยี่สิบแปดการ พระมหาธาตุเป็นเจ้าจึงเสด็จปาฏิหาริยฺหนักหนาดังน้ำมหาสมุทร ระลอกดังฝนตกห่าใหญ่ รัศมีลางอันดังพันสะจรวจสวาย (ฝนชะมะม่วง) สูภาลูกาบุสปธารา (ธารน้ำมีสีสะอาดประหนึ่งดอกไม้) รัศมีลางอันเลื่อมดังดวงดาว ค่ำเลื่อมดังน้ำทองไหลจรัสไปทุกแห่ง รัศมีลางอันขาวดัง...รัตนดังดอกซ่อนดอกพุดเห็นแก่ตาดาษทั่วจักรวาล พระเกศธาตุเสด็จปาฏิหาริย์...ดังสายฟ้าแลบ ดังแพวน้ำแล่นในกลางหาว อัศจรรย์สิ่งหนึ่งเห็นตะวัน...ออกเขียวดังสุงเผาหม้อไฟ พระคีวาธาตุ (กระดูกคอ) เสด็จจากเจดีย์ทองพุ่งขึ้นไปยัง...เห็นดังตะวันสองอันเรืองใสงามหนักหนาแพ้พระอาทิตย์ (แพ้ = ชนะ) ...ดูพระคีวาธาตุ...เป็นกองเงินอันใหญ่รอบนั้นด้วยดว้าง แสงจรัสโอภานล...ควรแลว่ามีฉัพพรรณรังสีเหลือง แดง ดำเขียว ขาว ภาว (ภาว = ผ่องแผ้ว) จรัสส่องในโลกธาตุทุกแห่ง ปาฏิหาริย์แต่แดดอุ่นถึงสองชั้น ฉายจักใกล้เที่ยง ชาวสิงหลห้าบ้าน (ห้าหมู่บ้าน) ข้ามน้ำคงคาพายมาสาธุการ เสียงร้องที่โกลาหลหนักหนา เขาอาราธนาพระบมีเสด็จลงมา เขาให้กูอาราธนาพระจึงลงมา ประทักษิณรอบพระเจดีย์ทองแล้วผยองขึ้นเมื่อเลา (ขึ้นเมื่อเลา = ขึ้นไป) กูมีศรัทธาหนักหนา กูจึงทอดตน กูโอยทานให้ชีวิตขาดว่าจักทำศาสนาในลังกาทวีป จักฟังคำพระเป็นเจ้าทุกอันแล พระเป็นเจ้าจึงลงมากวัดรอบสุวรรณเจดีย์ รัศมีกระเลียก (กระเลียก = ดูแล) งามหนักหนา...ดังกงเกวียนแก้ว แล้วพระคีวาธาตุเจ้าจึงเสด็จเข้าไปในโกศทอง ฝูงพระธาตุ...จึงเข้ามาสู่พระเจดีย์ ดังผึ้งพาเข้ามาสู่รังนั้นแล กูจึงลุกขึ้นอัญชลี...ลองมา...มาพระศรีรัตนมหาธาตุเจ้ากู ลูกหนึ่งมีพรรณงามดังทองรัศมีเท่าลูกหมาก เสด็จมาแต่กลางหาว ลงมาฉวัดรอบตนท่านแลจึงเสด็จขึ้นอยู่เหนือหัว และพระรัตนธาตุจึงเสด็จมาที่หน้าผาก พระศรีศรัทธาราชจุลามุนีศรีลังกาทวีปจึงยอสองมือรับเอาและไหว้พระเกศาธาตุเส้นหนึ่งเลื่อมงาม คว้างมาแต่บนสะพัดเหนือหัว พระศรีศรัทธาราชจุลามุนีญีนศรัทธาน้ำตาถั่ง (ญีน = รู้สึก) ตกหนักหนาบูชาทั้งตน อกเข่าซองทั้งหลายบมีว่าถีเลย ชาวสิงหลทั้งหลายเห็นอัศจรรย์ดังอัน เขาจึงชันทอดตนไหว้ สนนทพัต เบญจางค์นอนพกซังตีนพระศรีศรัทธาราชจุลามุนี คนทั้งหลายไหว้...เต็มแผ่นดิน อุปมาดังเรียงท่อนอ้อนไว้มากดามดาส เต็มที่สถานนั้นแล เขาจึงขึ้นบังคม ลางคนว่าเจ้าราชกุมารมหาสามีนี้หน่อพุทธางจริงแลนะ เขาจึงเอาน้ำมาล้างตีนพระมหาสามี สุมเอาน้ำกินขุดเอาดินที่มหาสามีศรีศรัทธาราชจุลามุนีเหยียบที่ใดย่อตีนที่นั้น ขุดเอาดินที่นั้นอันค้นเอาไปไหว้บูชา รุ่งนั้นพระมหาธาตุสองลูกเรือง...ดังดาวคอยเสด็จไปกลางหาวก่อน พระศรีศรัทธาราชจุลามุนีจึงข้ามน้ำคงคาไป...ชั่วคืนหนึ่ง พระเจ้าเสด็จเข้าในโกศ...ส่งแล้ว เมื่อรุ่งจึงเสด็จออกอยู่บัตแมง (บัตแมง = สักประเดี๋ยว) ให้คนทั้งหลายเห็นศรัทธาสาธุการจึงเสด็จคืน เรืองเท่ากงจักรกลิ้งไปกลางสู่หาว..เจดีย์ทองที่เก่ารัศมีถูกซ่านต้องพรายเรืองงาม ซึ่งแสงพระอาทิตย์เมื่อพุ่งขึ้น พระเป็นเจ้าที่นั้นปาฏิหาริย์ได้สามสิบเอ็ดวัน เหียมพระเป็นเจ้าปาฏิหาริย์ดังอัน เพื่อจัดให้สำแดงแก่คนทั้งหลายให้ไปช่วยธรรมในลังกาทวีป เป็นมหากุศลอันใหญ่ให้ปรากฏแก่พุทธศาส...”

ปาฏิหาริย์พระบรมสารีริกธาตุยังปรากฏอยู่ในพงศาวดารอีกหลายยุค และเป็นหนึ่งในตำนานสร้างพระธาตุดอยสุเทพ กับปรากฏในสมัยกรุงศรีอยุธยาในขณะที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงสร้างประวัติศาสตร์ที่สำคัญของชาติอีกหลายครั้ง จนถึสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
กำลังโหลดความคิดเห็น