xs
xsm
sm
md
lg

"หาดทรายทอง ริมฝั่งปิง"ต้องไม่รื้อ!? สส.ตาก เปิดประเด็น-ชี้ถมปี 47 หนุนเศรษฐกิจเมืองตากต่อเนื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตาก – สส.เขต 1 เมืองตาก โพสต์เปิดประเด็น.. “หาดทรายทอง ริมฝั่งปิง” ต้องไม่รื้อ ระบุใช้อำนาจ-งบผู้ว่าฯCEO และหน่วยงานเกี่ยวข้อง ถมตั้งแต่ปี 47 คนแห่เที่ยวหน้าร้อน-กระตุ้นเศรษฐกิจมาต่อเนื่อง แนะเร่งหาเจ้าภาพพัฒนาต่อ


นายคริษฐ์ ปานเนียม สส.เขต 1 จังหวัดตาก พรรคก้าวไกล ได้เขียนเรื่องราวการจัดการงบผู้ว่าฯCEO ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ “คริษฐ์ ปานเนียม” ระบุว่า พ.ศ.2547 ประเทศไทย กำหนดบทบาทผู้ว่าราชการจังหวัดใหม่ เป็น ผู้ว่า CEO ที่มีอำนาจหลายมิติ มีงบในมือ 10 ล้านบาท และมีงบบูรณาการ 19 กลุ่มจังหวัด 2,250 ล้านบาท

ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก CEO ในยุคนั้น คือ "นายสวัสดิ์ ศรีสุวรรณดี" กำหนดยุทธศาสตร์จังหวัดขับเคลื่อนโครงการ "ทะเลน้ำจืดหาดทรายเทียม" กำหนดพื้นที่จากเชิงสะพานตากสิน ถึงเชิงสะพานแขวน จากตลิ่ง 79 เมตร ยาว 1,500 เมตร แล้วเสร็จเมื่อ 20 กันยายน 2547 ดำเนินงานโดย โครงการชลประทานตาก กรมชลประทาน งบประมาณ 5 ล้านบาท

เป้าหมายเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจ กระตุ้นเศรษฐกิจจังหวัด และได้ผลดีเกินคาด โดยเฉพาะช่วงฤดูร้อน มีนาคม - พฤษภาคม ของทุกปี ประชาชนและนักท่องเที่ยวใช้บริการหาดทรายทองเกิน 1,000 คนต่อวัน

อำนาจของการบริหารราชการแผ่นดินแบบ ผู้ว่าฯ CEO จึงมีคำสั่งกรมขนส่งทางน้ำพานิชยนาวีที่ 291/2547 เรื่อง "มอบอำนาจ "เจ้าท่า" ตาม พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแบบบูรณาการ กล่าวคือ "อำนาจเจ้าท่า...เป็นดุลยพินิจของผู้ว่า CEO" การสร้างหาดทรายเทียม และเปลี่ยนชื่อเป็นหาดทรายทองภายหลัง จึงชอบด้วยกฎหมายทุกประการ และใช้งบประมาณของรัฐในขณะนั้นก่อสร้างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และอำนาจผู้ว่า CEO สิ้นสุดลงหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

พ.ศ.2554 เหตุน้ำท่วมใหญ่ทั่วประเทศ และท่วมบริเวณหาดทรายทองด้วยเช่นกัน หลังน้ำลด พื้นที่อันเป็นดินสันดอนเดิมยังคงอยู่ จังหวัดมีการเติมทรายลงไป และจัดทำบล็อกเกเบรียน เพื่อป้องกันน้ำกัดเซาะตลิ่งอีกด้วย (จำไม่ได้ว่าบูรณะซ่อมแซมในช่วงใด)


แต่การบำรุง ดูแล รักษาหาดทรายทอง ทั้งความสะอาด ความปลอดภัย และกำหนดให้เป็นที่สาธารณะประโยชน์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามเจตนารมณ์ของยุทธศาสตร์เดิม กลับหาเจ้าภาพรับผิดชอบไม่ได้ จังหวัด มอบหมายหรือขอความอนุเคราะห์จาก อบจ.ตาก หลายครั้งเพื่อคงสภาพหาดและซ่อมแซมบางส่วน แต่ย่อมหนีไม่พ้นเขตความรับผิดชอบของ อบต.ป่ามะม่วง เป็นหลัก

พ.ศ. 2557 จังหวัดตาก โดยนายสมชัยฐ์ หทยะตันติย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ประกาศเชิญชวนหน่วยงานรัฐ เอกชน ปกครองท้องที่ ท้องถิ่น ร่วมกันคืนความสุขให้คนตาก "เน้นคืนธรรมชาติ คืนวัฒนธรรม คืนคนตาก" แบ่งล็อกกันทำ ร่วมมือกันทั่วทั้งจังหวัดจนเกิด "ริมปิงมิติใหม่" สวยงาม

ตลอดจน อบต.ป่ามะม่วงร่วมกับจังหวัด มีมติเห็บชอบในการสร้างพื้นที่เฉลิมพระเกียรติประบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระชนมพรรษา ๘๗ พรรษาในปีดังกล่าว จึงออกแบบเวทีโดยโยธาธิการและผังเมือง และทางจังหวัดได้มีหนังสือขออนุญาตต่อสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคพิษณุโลก หนังสือลงวันที่ 26 พ.ย. 2557 แจ้งว่าไม่ขัดข้อง (ปรากฏตามสำนวนเอกสารคำสั่งอัยการสั่งไม่ฟ้อง)

ต่อมามีผู้ร้องเรียนช่วงเดือน เมษายน-พฤษภาคม 2559 ว่ามีการปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำบริเวณหาดทรายทอง และแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน


คำวินิจฉัยของอัยการสั่งไม่ฟ้อง โดยวินิจฉัยสรุปความว่า "จังหวัดดูดทรายทำหาดทรายทองเมื่อปี 2547 และใช้กิจกรรมหลายครั้ง พื้นที่ดังกล่าวจึงไม่มีสภาพทางน้ำไม่อยู่ในความดูแลของสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาพิษณุโลกอีกต่อไป ผู้กล่าวหาไม่มีอำนาจร้องทุกข์ในคดีนี้ และพื้นที่ดังกล่าวยังเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ประเภทสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งได้มีการออกหนังสือสำคัญที่หลวงแล้ว การกระทำของ อบต.ป่ามะม่วง และผู้บริหารในสมัยนั้น จึงยังไม่เป็นความผิด

ซึ่งสอดคล้องกับบทสัมภาษณ์ ผู้ว่าฯเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ทางช่องไทย พี.บี.เอส. เมื่อปี 2557 ที่ต้องการออกหนังสือสำคัญที่หลวงให้กับหาดทรายทอง และยืนยันว่า "หาดทรายทองนั้นใช้และเป็นประโยชน์ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม ที่มีบทบาทสำคัญในฐานะทะเลน้ำจืดจังหวัดตาก"

ท้ายที่สุด..เราต้องมีเอกสารใบสำคัญที่หลวงมายืนยัน ว่าพื้นที่ดังกล่าวพ้นสภาพทางน้ำไม่อยู่ในความดูแลของกรมเจ้าท่าแล้ว..การสร้างหาดทรายทองใช้งบประมาณของรัฐตามยุทธศาสตร์จังหวัด..อบต.ป่ามะม่วง ควรเป็นเจ้าภาพหลักในการดูแลและทำนุบำรุงสาธารณประโยชน์ตรงนี้ต่อไป..คนตาก ควรได้ใช้ประโยชน์จากสาธารณสมบัติของแผ่นดินให้คุ้มค่ากับงบประมาณของรัฐที่สร้างมา











กำลังโหลดความคิดเห็น