xs
xsm
sm
md
lg

เดี้ยงสนิท! พม่าปิดท่าฯ ริมโขง เรือจีน-ลาวจอดริมฝั่งระนาว กระทบค้าชายแดนไทยหมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงราย - พบเรือสินค้าทั้งจีน-ลาวหลายร้อยลำต้องจอดเรียงรายอยู่ริมฝั่งน้ำโขงแถบเชียงราย-แขวงบ่อแก้วยาวสุดลูกหูลูกตา หลังพม่าปิดท่าเรือสบหลวย ริมน้ำโขงเหนือสามเหลี่ยมทองคำ ช่องทางขนสินค้าขึ้นบกเข้าจีนในอดีต ส่อกระทบการค้าไทยผ่านชายแดนเชียงแสนที่มีมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาทต่อปี

วันนี้ (19 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง แถบสามเหลี่ยมทองคำ มีเรือสินค้าทั้งสัญชาติจีน ที่เคยเป็นเจ้าแห่งการเดินเรือสินค้าในแม่น้ำโขง และเรือลาว ที่เข้ามามีบทบาทในการขนส่งสินค้ามากขึ้น ต่างพากันจอดเรียงรายทั้งฝั่งเมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว-ท่าเรือแม่น้ำโขงเชียงแสนแห่งที่ 1 อ.เชียงแสน จ.เชียงราย รวมหลายร้อยลำ ขณะที่คนเดินเรือพากันออกมาทำความสะอาดหรือซ่อมแซมเรือเพื่อรอสินค้าเท่านั้น

ทั้งที่ห้วงหลายปีก่อนเรือสินค้าเหล่านี้จะลำเลียงสินค้าขึ้นล่องผ่านแม่น้ำโขงตอนบน (ไทย-พม่า-ลาว-จีน) กันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนที่ระดับน้ำในแม่น้ำโขงจะเพิ่มสูงขึ้น หรือแม้แต่ในช่วงหน้าแล้ง หากทางการจีนเปิดประตูเขื่อนกั้นน้ำโขงก็จะทำให้เรือสินค้าวิ่งบริการขนส่งสินค้าได้เช่นกัน

โดยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับการขนส่งสินค้าในแม่น้ำโขงดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากพม่า มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ได้ไม่นานนัก ทางการจีนได้แจ้งต่อผู้ประกอบการเดินเรือสินค้าจีนในแม่น้ำโขงให้ยกเลิกการขนส่งสินค้าเข้า-ออกผ่านท่าเรือสบหลวย ฝั่งพม่า เหนือสามเหลี่ยมทองคำขึ้นไป ที่ก่อนหน้านี้เคยเป็นเมืองท่าสำคัญอีกหนึ่งในการนำสินค้าขึ้นจากเรือผ่านพม่าเข้าสู่จีนตอนใต้ทางบก

เพราะท่าเรือสบหลวยเป็นท่าเรือที่อยู่นอกเหนือตามข้อตกลงการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ที่กำหนดให้มีเมืองท่า 14 แห่งเท่านั้น คือ ท่าเรือซือเหมา จิ่งหงหรือเชียงรุ้ง เมืองหัง กวนเหล่ย สป.จีน, ท่าเรือบ้านจิง บ้านโป่ง พม่า, ท่าเรือปางทราย ปางเซียงก่อ เมืองมอม บ้านป่าลุน ห้วยทราย และหลวงพระบาง สปป.ลาว, ท่าเรือ อ.เชียงแสน และ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ของไทย

ล่าสุดช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 59 ที่ผ่านมา ทางสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาเชียงรายแจ้งว่า คณะกรรมการประสานการดำเนินการตามข้อตกลงดังกล่าวของฝ่ายพม่าก็ได้แจ้งขอยกเลิกท่าเรือสบหลวยมายังกรรมการฝ่ายไทยด้วยตัวเองแล้ว

น.ส.ผกายมาศ เวียร์ร่า รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย เปิดเผยว่า ตอนนี้มีเรือสัญชาติลาวที่เห็นเป็นเรือสีเขียวเข้มของแขวงบ่อแก้ว-เรือสีฟ้าของแขวงหลวงพระบาง รวมกว่า 400 ลำ และเรือสินค้าจีนกว่า 100 ลำที่ต่างต้องจอดอยู่ริมฝั่งโดยไม่มีการขนส่งสินค้าเหมือนปกติ เพื่อนโยบายการเดินเรือในแม่น้ำโขงตอนบนเพื่อจะขนส่งสินค้าต่อไป

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้การค้าผ่านแม่น้ำโขงตอนบนชะงักลงกว่า 70-80% เหลือเพียงสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปที่ยังขนกันอยู่ ไม่มีการขนส่งคราวละมากๆ เหมือนเดิม โดยบางส่วนก็หันไปขนส่งผ่านถนนอาร์สามเอ ไทย-สปป.ลาว-จีนตอนใต้ และถนนอาร์สามบี ผ่านประเทศพม่าแทน

รองประธานหอการค้า จ.เชียงรายกล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นนี้คงเป็นเรื่องระดับรัฐบาลที่จะต้องนำไปเป็นประเด็นในการหารือกับหน่วยงาน หรือประเทศที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหา เช่น หากต้องใช้เมืองท่าสบหลวยของพม่าอีกครั้งต้องทำอย่างไร ใช้เอกสารแบบไหน ฯลฯ เพราะที่ผ่านมาสินค้าจากประเทศไทยใช้เมืองท่านี้ในการส่งออกสินค้าไปมาก และหากไม่มีการแก้ไขปัญหาการขนส่งสินค้าแม่น้ำโขงที่ อ.เชียงแสน ก็อาจถึงขั้นต้องชะงักกันยาวเลยทีเดียว

รายงานข่าวจากด่านศุลกากรเชียงแสนระบุว่า ในปี 2558 ที่ผ่านมามีการส่งออกสินค้าผ่านท่าเรือเชียงแสนรวมมูลค่า 15,814.42 ล้านบาท แยกเป็นการส่งออกไปยังจีนตอนใต้ 3,352.72 ล้านบาท สปป.ลาว 6,894.71 ล้านบาท และพม่า 3,285.99 ล้านบาท สินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค ชิ้นส่วนไก่แช่แข็ง เนื้อและชิ้นส่วนแช่แข็ง โคมีชีวิต สุกรมีชีวิต น้ำมันเชื้อเพลิง รถยนต์ ลำไยอบแห้ง ฯลฯ และยังมีการส่งออกผ่านแดนอีกเป็น 18,053.82 ล้านบาท ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 669.71 ล้านบาท แยกเป็นการนำเข้าจากจีนตอนใต้ 653.70 ล้านบาท สปป.ลาว 16.01 ล้านบาท สินค้านำเข้าส่วนใหญ่เป็นทับทิมสด กระเทียมสด เมล็ดทานตะวัน ฯลฯ

ส่วนในปี 2559 จนถึงเดือนมิถุนายน 59 มีการส่งออกแล้ว 12,799.96 ล้านบาท แยกเป็นการส่งออกไปจีนตอนใต้ 3,352.72 ล้านบาท สปป.ลาว 6,894.71 ล้านบาท พม่า 3,285.99 ล้านบาท และยังมีการส่งออกผ่านแดนอีก 4,973.84 ล้านบาท ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 513.87 ล้านบาท แยกเป็นการนำเข้าจากจีนตอนใต้ 507.50 ล้านบาท สปป.ลาว 6.37 ล้านบาท

อนึ่ง “ท่าเรือสบหลวย พม่า” ถือเป็นจุดนำเข้าสินค้าที่สำคัญของเขตปกครองพิเศษที่ 4 ประเทศพม่า ที่กลุ่มไทใหญ่มีอิทธิพล โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองลา ติดชายแดนจีน รวมทั้งสามารถเชื่อมไปถึงเมืองปางซางของเขตปกครองพิเศษที่ 2 ของชนกลุ่มน้อยว้าได้อีกด้วย นอกจากนี้ จากท่าเรือสบเหลยยังมีเส้นทางผ่านเนิน 240 ชายแดนพม่า-จีน ที่ใช้สำหรับขนส่งสินค้าระหว่างกัน และที่ผ่านมามีการขนสินค้าจากท่าเรือฯ ผ่านเข้าออกเนิน 240 เข้า สป.จีน ทางบกเป็นประจำ ขณะที่ในระยะหลังทางการจีนได้ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบการนำเข้าสินค้าผ่านเนิน 240 อย่างเข้มงวดด้วย








กำลังโหลดความคิดเห็น