xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนครไทยเมืองสองแควแห่ร่วมปักธงชัย-บวงสรวง “พ่อขุนบางกลางท่าว”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พิษณุโลก - ชาวนครไทย เมืองสองแคว แห่ร่วมงาน “ปักธงชัย” บวงสรวงพ่อขุนบางกลางท่าว ที่ยอดดอยเขาช้างล้วง ร่วม รำลึกชัยชนะการต่อสู้สถาปนาราชอาณาจักรสุโขทัย นายกเทศมนตรีตำบลนครไทย สานฝัน ปั้นให้เป็นงานระดับชาติ

วันนี้ (1 พ.ย.) นายปรีชา เรืองจันทร์ ผู้ว่าราชการ จ.พิษณุโลก ได้เป็นประธานพิธีบวงสรวงอนุสาวรีย์พ่อขุนบางกลางท่าว หรือ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เจ้าเมืองบางยาง โดยมีนายพันธ์พนา ศิระวงษ์ นายอำเภอนครไทย พร้อมชาวนนครไทย เข้าร่วมพิธีบวงสรวง วางพานพุ่มสักการะ และนำผ้าคาดเอวที่พระบรมรูปพ่อขุนบางกลางท่าว และคล้องพวงมาลัยที่พระแสงดาบ จากนั้นนำผ้าแพรคาดที่โคนต้นจำปาขาว ที่มีเรื่องเล่าต่อๆกันมาว่า พ่อขุนบางกลางท่าว ทรงปลูกเอาไว้มีอายุกว่า 700 ปี

โดย นายพันธ์พนา ศิระวงษ์ นายอำเภอนครไทย บอกถึงความเป็นมาของเมืองบางยาง หรือ อ.นครไทยในปัจจุบัน ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ที่เดินทางมาเป็นประธานเปิดงานปักธงชัย บริเวณที่หน้าว่าการอำเภอนครไทย ตั้งแต่เมื่อคืนวันที่ 31 ต.ค.52 โดยการตีฆ้อง ส่งสัญญาณการเปิดงานปักธงชัยอย่างเป็นทางการ ก่อนจะนำเอาผ้าขาวม้าที่คาดเอว ไปปักเป็นธงบนเขาช้างล้วงในวันพรุ่งนี้ (2 พ.ย.) ว่า ประเพณีปักธงชัย ได้ปฏิบัติสืบมาถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพ่อขุนบางกลางท่าว ประฐมบรมกษัตริย์ไทยก่อตั้งอาณาจักรไทย ท่ามกลางริ้วขบวนแห่จากตำบลต่างๆกว่า 10 ตำบล โดยมี นายจุติ ไกรฤกษ์ และ นายนคร มาฉิม สส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ร่วมงานครั้งนี้ ด้วย

นายภิชาติ อมรรุ่งรัศมี นายกเทศมนตรีตำบลนครไทย เปิดเผยว่า งานประเพณีปักธงชัย อำเภอนครไทย กราบไหว้พ่อขุนบางกลางท่าว ปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม-2 พฤศจิกายน 2552 ณ ที่ว่าการอำเภอนครไทย, โรงเรียนนครไทยวิทยาคม,วัดกลาง และเขาช้างล้วง เป็นงานที่เทศบาลตำบลนครไทย ร่วมกับเทศบาลตำบลบ้านแยง, อบต., ส่วนราชการ, รัฐวิสาหกิจและพ่อค้าประชาชนร่วมกันจัดประเพณีปักธงชัยขึ้น 5 วัน 5 คืน เป็นงานประเพณีปักธงชัยของท้องถิ่นคนนครไทย พิษณุโลก จัดต่อมาทุกปี ในอนาคตต้องการปั้นให้เป็นงานระดับชาติ ซึ่งได้ประสานทุกหน่วยงานถึงการร่วมมือร่วมแรงในเบื้องต้นแล้ว

นายกเทศมนตรีตำบลนครไทย เผยอีกว่า งานประเพณีปักธงชัย นักท่องเที่ยวจะต่างถิ่นจะน้อยไปหน่อย เพราะตรงกับช่วงประเพณีลอยกระทงพร้อมกับจังหวัดอื่น แต่สำหรับคนนครไทยจะคึกคักเป็นพิเศษ ลูกหลานคนนครไทยที่ไปทำงานต่างถิ่นจะเดินกลับมาเยี่ยมบ้านในวันเดือนเพ็ญ 14 ค่ำ เดือน 12 และเป็นประจำทุกปีที่มีขบวนแห่จากภูมิปัญญาท้องถิ่น เอกลักษณ์ของแต่ละตำบล อาทิ เนินเพิ่ม, นาบัว, ยางโกลน, บ่อโพธิ์, นครชุม, บ้านแยง, ตำบลห้วยเฮี้ย, ตำบลหนองกะท้าว, ตำบลนครไทย และตำบลบ้านพร้าวและน้ำกุ่ม เคลื่อนขบวนไปยังบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอนครไทย เรียกว่า เต็มถนนทั่วเมืองนครไทย เศรษฐกิจ เงินทองก็สะพัดไปทั้งอำเภอ จนทำให้งานลอยกระทงของอำเภอนครไทยดูด้อยลงไป

สำหรับงานประเพณีปักธงชัย คือ การนำธงชัยไปปักบนช้างล้วง ที่สืบทอดกันมาร้อยปี เพื่อเป็นการรำลึกถึงชัยชนะการต่อสู้ สถาปนาราชอาณาจักรสุโขทัย สมัยพ่อขุนบางกลางท่าวจุดเริ่มต้นของปฐมกษัตริย์ของประเทศไทย โดยนำธงชัยที่ทอจากผ้าฝ้าย บวงสรวงดวงพระวิญญาณพ่อขุนบางกลางท่าว ณ วัดกลาง ใต้ร่มจำปาขาว 719 ปี ก่อนนำธงชัยขึ้นไปปักบนเขาช้างล้วง พร้อมจัดพิธีณ บริเวณเชิงเขา กล่าวคำ อศิรวาทสดุดีแด่พ่อขุนบางกลางท่าว รำบวงสรวง ตีฆ้องร้องป่าว จุดพลุ แล้วนำธงผ้าขาว (ธงชัย) ไปปักบนยอดเขา จำนวน 3 ลูก ได้แก่ เขาฉันเพล, เขาย่านไฮ และเขาช้างล้วง เพื่อรำลึกถึงปฐมกษัตริย์ของประเทศไทย ถือได้ว่า มีเพียงแห่งเดียวที่อำเภอนครไทย นอกจากนี้ยังได้สัมผัสดินแดนภูเขาสูง ที่เคยดินแดนการต่อสู้รบทางความคิดของลัทธิคอมมิวนิสต์ ที่ภูหินร่องกล้า ณ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า

กำลังโหลดความคิดเห็น