xs
xsm
sm
md
lg

35 วันหลังน้ำท่วม-โคลนถล่มเหนือ เหลือบวิ่งพล่าน-ชาวบ้านไร้ที่ซุกหัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เศษซากไม้ซุงที่ไหลมากับน้ำป่า-โคลนถล่ม ทะลักเข้าสู่บ้านเรือนของชาวบ้านในหลายจังหวัดภาคเหนือเมื่อ 22-23 พ.ค.49 ที่ผ่านมา ที่วันนี้ยังรอให้ทางการเข้าไปช่วยเหลืออยู่
แพร่/ตาก - รายงาน

อุบัติภัยน้ำป่า – โคลนถล่มหลายจังหวัดในภาคเหนือเมื่อคืนวันที่ 22 – 23 พ.ค.49 จนถึงวันนี้( 29 มิ.ย.) นานถึง 35 วันเต็ม ๆ แล้ว แต่ปรากฏว่า หลายพื้นที่ประสบภัย ยังเต็มไปด้วยเสียงคร่ำครวญจากผู้สูญเสีย ว่า ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเพียงพอ หรือล่าช้า – เงินบริจาคหาย –งบฯช่วยเหลือจากรัฐถูกเจ้าหน้าที่บางคนนำไปจัดสรรปันส่วนกัน จนเหลือมาถึงมือชาวบ้านผู้ประสบภัยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

นี่ยังไม่ต้องพูดถึงฤดูฝนของจริงที่กำลังย่างกรายเข้ามา ที่ยังไม่รู้ว่า จะมีเหยื่อน้ำป่า-โคลนถล่มเกิดขึ้นอีกมากน้อยแค่ไหน

35 วัน ผู้ประสบภัยได้แค่ถุงยังชีพ

ในพื้นที่จังหวัดแพร่ ที่ถือเป็น 1 ในจังหวัดภาคเหนือ ที่ประสบภัยอย่างหนักเช่นกัน จากการสำรวจความเสียหายที่มีผลสรุปอย่างเป็นทางการ พบว่า ค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท มีผู้เสียชีวิต 6 คน บาดเจ็บถูกส่งโรงพยาบาล 27 คน บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 135 คน เสียหายบางส่วน 345 หลัง ถนนเสียหาย 142 สาย สะพาน 31 แห่ง อ่างเก็บน้ำ/ฝาย 28 แห่ง โรงเรียน-สถานีอนามัย 27 แห่ง พื้นที่เกษตรนาข้าว พืชไร่ สวนผัก ไม้ยืนต้น 10,165 ไร่ ด้านปศุสัตว์เสียหาย เป็นโคจำนวน 104 ตัว กระบือ 19 ตัว สุกร 11 ตัว บ่อปลาเสียหาย 360 บ่อ

ขณะที่ อยู่ 5 หมู่บ้านในเขตหุบเขาผาด่าน – ผาแดง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ดอยช้างมูบ” ที่เป็นเทือกเขาด้านใต้ของตัวเมือง หรือทิศใต้ของทางหลวงหมายเลข 101 คือ บ้านน้ำกลาย หมู่ 5 บ้านปากกลาย หมู่ 7 บ้านห้วยหยวก ผาตึม หมู่ 8 ต.ป่าแดง และบ้านนาตอง หมู่ 9 บ้านน้ำจ้อม หมู่ 8 ต.ช่อแฮ อ.เมืองแพร่ ถูกตัดขาดจากโลกภายนอกทันทีหลังกระแสน้ำป่า – ดินโคลนจากภูเขาพัดถล่มเข้ามา โดยหมู่บ้านสุดท้ายที่ทางการสามารถซ่อมแซมเส้นทางเข้าไปถึงตัวหมู่บ้านได้คือ บ้านน้ำกลาย หมู่ 5 ต.ป่าแดง แต่นั่นก็เป็นเวลาที่ล่วงเลยมาถึง 25-26 วันนับจากวันเกิดเหตุ

ตลอด 2 สัปดาห์แรกหลังเกิดเหตุ พื้นที่ประสบภัยพิบัติเหล่านี้ อยู่ในพื้นที่เป้าหมายแรก ๆ ของผู้นำระดับสูงจากหน่วยงานต่าง ๆ ไล่ลงมาตั้งแต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รักษาการรองนายกฯรวมถึงรักษาการรัฐมนตรีทั้งว่าการ และรัฐมนตรีช่วยว่าการจากกระทรวงต่าง ๆ ในการลงพื้นที่ประสบภัยบางจุด

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ช่วยเหลือฟื้นฟูการยังชีพเฉพาะหน้าโดยเร่งด่วน ก่อนที่จะเร่งเรื่องที่อยู่อาศัยให้ชาวบ้านโดยเร็ว

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รักษาการรองนายกฯ ก็ยืนยันกับชาวบ้านในพื้นที่ถึงการสร้างบ้านน็อกดาวน์ ที่ได้รับบริจาคจากมูลนิธิไทยคม รวมทั้งเครื่องเตือนภัย ที่จะต้องนำมาติดในจุดเสี่ยงภัยโดยเร็วที่สุด โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามารับผิดชอบ

จนถึงวันนี้ (29 มิ.ย.49) หรือ 35 วันหลังเกิดเหตุ ทุกอย่างดูเหมือนจะหยุดนิ่ง เหมือนกับเพิ่งผ่านอุบัติภัยมาได้ไม่กี่วัน

ซากไม้ใหญ่ที่มากกับกระแสน้ำป่าเข้าทำลายหลายหมู่บ้านในพื้นที่จังหวัดแพร่ วันนี้ (29 มิ.ย.49) ยังไม่ได้รับการเคลื่อนย้าย เพื่อเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านแต่อย่างใด
นายแก้ว สังข์ชู คณะกรรมการจัดทำแผนชุมชน 4 ภาค สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กล่าวว่า เขาได้มาดูพื้นที่ประสบภัยในจังหวัดแพร่ 2 ครั้ง พบว่า การช่วยเหลือยังไม่คืบหน้า โดยเฉพาะด้านที่อยู่อาศัย ขณะที่ชาวบ้านเอาเศษไม้มาปักทำเป็นป้ายให้รู้ว่า บ้านของพวกเขาอยู่ที่ไหน ส่วนตัวของพวกเขาและครอบครัว ยังต้องไปอาศัยบ้านเพื่อนบ้าน / โรงเรียน / สถานีอนามัย เป็นที่พักอาศัยชั่วคราว เมื่อไปถามชาวบ้าน ส่วนใหญ่ก็ได้รับคำตอบตรงกันว่า “ยังไม่มีการช่วยเหลือใด ๆ นอกจากถุงยังชีพ” ซึ่งสะท้อนให้เห็นมาตรฐานการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีเงินเดือนกิน ต่อความเดือดร้อนของประชาชนได้ดี

นางนิภาพรรณ พรมตา อายุ 55 ปี อยู่บ้านเลขที่ 26 หมู่ 5 บ้านน้ำกลาย ต.ป่าแดง ที่เจ้าหน้ารัฐเพิ่งทำสะพานแบริ่ง เปิดเส้นทางเข้าถึงหมู่บ้านได้เมื่อ 19 มิ.ย.49 กล่าวว่า บ้านของเธอเหลือแค่เสาต้นเดียว ส่วนตัวบ้าน – ทรัพย์สินที่เคยมีหายไปกับกระแสน้ำป่าเพียงชั่วข้ามคืน หลังจากนั้นก็ได้อาหารยังชีพที่ถูกส่งมาทางเฮลิคอปเตอร์มาตลอด ทุกคืนต้องอาศัยเพื่อนบ้านที่บ้านไม่เสียหาย

เธอบอกว่า ทางการเข้ามาสำรวจและบอกว่า จะเร่งนำบ้านน็อกดาวน์จากมูลนิธิไทยคมมาให้ แต่จนถึงวันนี้ยังไม่เห็น ซึ่งตอนนี้ต้องการให้ทางการจัดหาที่ดินปลูกบ้านให้ใหม่ ในที่ ที่ปลอดภัย ส่วนที่ดินเดิมที่อยู่ริมลำห้วยน้ำกลาย ไม่กล้าอยู่ แต่ก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้ที่อยู่ใหม่ เพราะถึงวันนี้เดือนกว่าแล้ว ที่ต้องอาศัยบ้านเพื่อนบ้าน ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร เพราะถ้าไม่รอให้ทางการช่วยเหลือ ก็ไม่มีเงินที่จะสร้างบ้านใหม่ ซึ่งหลายคนที่รอไม่ไหวก็เริ่มสร้างบ้านในจุดเสี่ยงภัยกันแล้ว เพราะถึงวันนี้รัฐเองยังหาที่ดินให้ผู้ประสบภัยไม่ได้เลย

นายวิทยา ส่วนบุญ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 บ้านน้ำกลาย ต.ป่าแดง อ.เมือง จ.แพร่ กล่าวว่า ที่บ้านน้ำกลาย , ปากกลาย และห้วยหยวกผาตึม อยู่ในเส้นทางเดียวกัน การช่วยเหลือมาถึงช้ามาก เพราะไม่มีสะพาน บ้านห้วยหยวก ผาตึม รถยนต์เพิ่งเข้าถึงได้เมื่อ 19 มิ.ย.49 ตลอด 1 เดือนกว่าที่ผ่านมาชาวบ้านไม่ได้นั่งงอมืองอเท้ารอรับการช่วยเหลือเท่านั้น แต่บางเรื่องพวกเขาช่วยตัวเองไม่ได้ เช่น การทำความสะอาดบริเวณบ้าน บางจุดก็ใช้แรงงานคนไม่ได้ เพราะไม่ได้มีแต่โคลนเท่านั้น แต่ยังมีเศษไม้ท่อนซุงถูกพัดเข้ามาอัดจนแน่น จำเป็นต้องรอเครื่องจักรของทางการเข้ามาช่วย

นอกจากนั้นการกันไม่ให้ประชาชนอยู่ในพื้นที่เดิม ทางการก็จะต้องเร่งหาพื้นที่ใหม่ให้แก่ประชาชน ถ้ามีพื้นที่ใหม่ทางการมาปรับที่ และเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปจับจองเป็นชุมชนใหม่ได้ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นชาวบ้านคงช่วยตัวเองได้
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ที่เดินทางไปดูพื้นที่น้ำท่วม ที่บ้านนาตอง หมู่ 9 ต.ช่อแฮ อ.เมือง จ.แพร่ เมื่อวันที่ 27 พ.ค.49 หรือหลังเกิดเหตุได้ 5 วัน แต่จนถึงวันนี้ชาวบ้านนาตอง บางส่วนยังไร้ที่อยู่อาศัย แม้ว่าจะผ่านเหตุการณ์มาแล้ว 35 วันเต็ม ๆ (จนถึงวันที่ 29 มิ.ย.49)
นางแสงเดือน สวนพืช อายุ 40 ปี เกษตรกรหมู่ที่ 8 ต.เด่นชัย อ.เด่นชัย จ.แพร่ กล่าวว่า บ้านของเธออยู่ติดกับลำห้วยแม่พวก ถูกกระแสน้ำพัดเอาทรัพย์สินที่อยู่ชั้นล่างไปหมด สวนไผ่ที่เคยทำรายได้ทุกวันสามารถเลี้ยงปากท้องได้ หมดไปในชั่วเวลาข้ามคืน

“จนถึงวันนี้ เพิ่งได้ถุงยังชีพ 1 ถุงเท่านั้น ส่วนการช่วยเหลืออื่น ๆ ไม่ได้รับ ไปทวงถามจากเจ้าหน้าที่ ก็บอกว่าไม่ได้อยู่ในเขตเทศบาล ไม่สามารถให้ได้ แล้วอย่างนี้ความเป็นธรรมอยู่ตรงไหน ทางการไม่ให้ความสนใจคนยากจนเลย วันนี้ไม่มีจะกินแล้ว หนี้สินก็ท่วมท้น ไม่เห็นมีใครมาช่วย ความจริง อยากให้ทางการเข้ามาสำรวจความเสียหายแล้วให้การช่วยเหลือหาพันธุ์พืชมาให้ปลูกใหม่ก็พอใจแล้ว แต่กลับไม่มี แม้แต่การไปเข้าเฝ้ารับเสด็จฯรับถุงยังชีพ พระราชทานจากพระบรมวงศานุวงศ์หลาย ๆ พระองค์ที่เสด็จมาก็ยังไม่ได้รับโอกาสเลย”

อย่างไรก็ตามในวันที่ 1 ก.ค.49 จะมีการสร้างบ้านน็อกดาวน์ช่วยผู้ประสบภัยหลังแรกของจังหวัดแพร่ โดยที่ที่บ้านน้ำพุใหม่ ต.บ้านกวาง เป็นพื้นที่สร้างชุมชนใหม่ของผู้ประสบภัยในบ้านกวาง อ.สูงเม่น จ.แพร่ 23 หลัง ส่วน 5 หมู่บ้านเขต อ.เมือง ยังต้องรอกันต่อไป

แฉเหลือบดูดเงิน-ของบริจาค

ไม่เพียงปัญหาความล่าช้าในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยเท่านั้น ในพื้นที่จังหวัดแพร่ ยังมีปัญหา “เหลือบ” คอยดูดเลือดจากผู้ประสบภัยเพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะขบวนการถ่ายเทสิ่งของรับบริจาค ก่อนที่จะถึงมือผู้ประสบภัย ทั้งข้าวสาร อาหารกระป๋อง เตาแก๊ส เครื่องใช้ในครัวเรือน ฯลฯ บางส่วนกลับถูกยักยอกระหว่างทาง ว่ากันว่า แม้แต่เตาแก๊ส จำนวน 80 เตา ที่ใช้รถยนต์ของฝ่ายปกครองจังหวัดแพร่ ไปบรรทุกมาจากอุตรดิตถ์ จนถึงวันนี้ยังไม่ถึงมือชาวบ้านที่ประสบภัยแม้แต่เตาเดียว จนมีคนทำเรื่องร้องไปยังศูนย์ดำรงธรรม หรือตู้ร้องเรียนนายกฯ มาแล้ว แต่การร้องเรียนดังกล่าวยังคงไร้ความหมาย

เงินบริจาคที่หลั่งไหลมาจากทั่วสารทิศ จนถึงวันนี้กลับอยู่ภายใต้การควบคุมของราชการทั้งหมด โดยส่วนหนึ่งอยู่ที่เทศบาลตำบลได้รับเงินบริจาคจำนวน 200,000 บาทเศษ ที่สำนักงานบรรเทาสาธารณะภัยจังหวัดแพร่ จำนวน 200,000บาทเศษ และที่จังหวัดแพร่ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ จำนวนกว่า 200,000 บาทเก็บรักษาไว้ที่เสมียนตราจังหวัดแพร่ ยังไม่มีการใช้เงินดังกล่าว และยังมีจากหน่วยงานอื่นๆ อีกมากที่ตั้งตัวเป็นผู้รับบริจาค

โดยมียอดบริจาคเข้ามาทุกหน่วยงานแต่เงินเหล่านี้ไม่มีการสรุปยอดชัดเจน และไม่สามารถนำไปใช้ผ่อนคลายความทุกข์ของประชาชนได้ ด้วยสาเหตุว่า ยอดการบริจาคยังไม่นิ่ง ยังคงเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

ว่ากันว่า แม้แต่เงินสด 100,000 บาท ที่พ.ต.ท.ทักษิณ มอบให้กับผู้ใหญ่บ้านนาตอง เพื่อให้นำไปช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ลูกบ้าน ทางการก็ให้นำไปเก็บไม่ให้เอาออกมาใช้
สภาพเส้นทางเชื่อมไปยังบ้านน้ำกลาย , ปากกลาย , ห้วยหยวก ผาตึม ต.ป่าแดง อ.เมือง จ.แพร่ ที่ถูกน้ำป่าพัดจนสะพานขาด และเพิ่งได้รับการแก้ไข (ชั่วคราว) เมื่อ 19 มิ.ย.49 หรือหลังวันเกิดเหตุ 28 วันเต็ม ๆ
ผู้ว่าฯชี้ชาวบ้านรอแต่ความช่วยเหลือจากรัฐ

นางเกสร ปลาลาศ นายกเทศมนตรีตำบลช่อแฮ กล่าวว่า เงินบริจาคเทศบาลฯได้เก็บไว้ทุกบาททุกสตางค์ไม่ให้ตกหล่น แต่มีกระแสออกมาจากชาวบ้านว่าการใช้เงินบริจาคไม่โปร่งใส ชาวบ้านผู้ประสบภัยไม่ได้รับเงินช่วยเหลือทั้ง ๆ ที่บางครอบครัวไม่เหลืออะไรเลย ความจริงแล้วเงินบริจาคทั้งหมดยังไม่ได้นำออกไปใช้ รอให้การช่วยเหลือจากทางการแล้วเสร็จก่อน จากนั้นจะนำเงินบริจาคทั้งหมด เข้าไปจัดสรรปันส่วนเติมเต็ม ให้แก่ทุกหลังคาเรือนที่ประสบภัยที่ยังขาดตกบกพร่องจากการช่วยเหลือของทางการ

ขณะที่นายอธิคม สุพรรณพงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวว่า การช่วยเหลือไม่มีปัญหาเกิดขึ้นอย่างที่เป็นข่าว ทุกอย่างทำไปตามขั้นตอนอย่างรวดเร็ว ชาวบ้านได้รับอย่างทั่วถึง แต่ชาวบ้านไม่พูดความจริงว่ารับเงินไปเท่าไหร่แล้ว ได้ซ้ำซ้อน และต่อเนื่องจากผู้บริจาคที่ไปมอบให้โดยตรง การช่วยเหลือที่หลั่งไหลเข้าไปอย่างไม่ขาดสาย อาจเป็นเหตุผลทำให้ชาวบ้านไม่ช่วยเหลือตนเอง แม้แต่โคลนในบ้านยังไม่คิดที่จะเอาออก รอหน่วยกู้ภัยเข้าไปช่วยทั้งหมด อย่างนี้ก็ไม่ไหว

ผู้ว่าฯแพร่ บอกว่า การช่วยเหลือในมุมมองของชาวบ้านไม่ได้มองอย่างเป็นระบบ เช่นเดียวกับที่หน่วยงานราชการมอง และตั้งเป้าไว้สูงจากทุกหน่วยงานที่เข้าไปช่วยเหลือ วาดฝันในอนาคตให้กับประชาชนผู้ประสบภัยไว้เป็นขั้นเป็นตอนชัดเจน

สำหรับประเด็นที่อยู่อาศัยใหม่ของชาวบ้าน ตัวแทนจากคณะกรรมการจัดทำแผนชุมชน 4 ภาค สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ระบุว่า ความจริงคณะทำงานจะทำแผนชุมชนที่เดินทางมาจากทุกภาคของประเทศรู้ และเห็นว่าจะต้องทำอะไรบ้างเป็นข้อ ๆ ไป และตรงกับความต้องการของชาวบ้าน แต่วันนี้ดูเหมือนว่า ทางการกำลังใช้โอกาสนี้ “ไล่” ชาวบ้านออกจากป่าอุทยานแห่งชาติ ภายใต้ข้อกำหนดว่าไม่ให้อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยอีกต่อไป แต่ก็ไม่ได้บอกว่า จะให้ชาวบ้านไปอยู่ที่ไหน รวมทั้งยังไม่ได้จัดที่อยู่ใหม่ให้

ทั้งที่ความจริงชาวบ้านอยู่อาศัยภายในหุบเขา “ดอยผามูบ” มาหลายชั่วอายุคน มีสิทธิในความเป็นเจ้าของ แม้ว่าจะไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดิน แต่ถือเป็นความชอบธรรมที่จะใช้เป็นที่ทำมาหากินต่อไป

นายแก้ว สังข์ชู คณะกรรมการจัดทำแผนชุมชน 4 ภาค สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน บอกว่า ตอนนี้ เราคงไม่ต้องพูดเรื่องกฎหมายอีกแล้ว เอาเรื่องสิทธิมนุษยชนมาคุยกันก่อนให้สิทธิแก่ชาวบ้าน และจัดหาที่อยู่ให้ชาวบ้านได้สร้างบ้านมีที่หลับนอนในพื้นที่ที่ปลอดภัย – ใกล้ที่ทำกินเดิม เพื่อผู้ประสบภัยจะได้เข้ามาทำกินใช้ประโยชน์ในที่ดินของตนเองได้

งบฯน้ำท่วมตากมีพิรุธ

ขณะที่การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่จังหวัดตาก ที่ได้ใช้เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) เพื่อจัดซื้อกระสอบทราย และถุงยังชีพ จำนวน 3 ครั้ง รวมวงเงิน 10,316,000 บาท โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตาก ที่มี ร.ท.กิตติรัตน์ สอนซื่อ เป็นหัวหน้าฯ แม้ว่าจะเป็นไปตามระเบียบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกข้อ

ล่าสุด กลับมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันว่า อาจจะมีเหลือบเกิดขึ้น ในกระบวนการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในจังหวัดตาก โดยเฉพาะกรณี “ถุงยังชีพ” ที่มีการจัดซื้อมาราคา 400 บาท/ถุง แต่มูลค่าสินค้าที่บรรจุภายในกลับมีมูลค่าไม่ตรงตามที่กำหนด

จากการตรวจสอบถุงยังชีพจากชาวบ้านที่ได้รับแจก ที่ ต.แม่สลิด อ.บ้านตาก จ.ตาก ซึ่งมีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก โดยมีชาวบ้านนำเครื่องอุปโภค-บริโภค มาเปิดให้ดูปรากฏว่า ในถุงยังชีพชุดที่ 1 ประกอบด้วย น้ำปลาตราหอยหลอด ขวดเล็ก ราคา 13 บาท น้ำมันพืชโอลีน ขนาด 500 มล.ราคา 20 บาท นมข้นหวาน ตราออร์คิด ขนาด 388 กรัม ราคา 18 บาท โอวัลติน ซองขนาด 75 กรัม ราคา 13 บาท ปลากระป๋อง ตรานกพิราบ ขนาด 155 กรัม จำนวน 3 กระป๋อง ราคา 30 บาท (กระป๋องละ 10 บาท) ผักกาดดองตรานกพิราบ 2 กระป๋อง (กระป๋องละ 12 บาท) ราคา 20 บาท บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไวไว 5 บาท 4 ซอง มูลค่า 20 บาท และข้าวสารประมาณ 2 กก.(กก.ละ 15 บาท) มูลค่า 30 บาท รวมมูลค่าทั้งสิ้น 168 บาท

ขณะที่ถุงยังชีพชุดที่ 2 ภายในประกอบด้วย น้ำปลาตราปลากะตัก ขนาด 750 กรัม ราคา 23 บาท น้ำมันพืช ทิพ ขนาด 1 ลิตร ราคา 37 บาท นมข้นหวาน ตราออร์คิด ขนาด 388 กรัม ราคา 18 บาท โอวัลตินซองขนาด 75 กรัม 13 บาท ปลากระป๋องตรานกพิราบ ขนาด 155 กรัม จำนวน 3 กระป๋อง คิดเป็นมูลค่า 30 บาท ผักกาดดอง ตรานกพิราบ 2 กระป๋อง (กระป๋องละ 12 บาท) รวม 24 บาท และข้าวสาร 2 กก. ราคา 30 บาท รวมมูลค่าทั้งสิ้น 172 บาท

หากคำนวณตามราคาที่ได้มีการทำเรื่องขอเบิกเงินทดรองราชการครั้งแรกจำนวน 5,750,000 บาท นำไปจัดซื้อกระสอบทรายใช้แล้วในราคา 7 บาท/ใบ จำนวน 250,000 ใบ ใช้เงินไป 1,750,000 บาท เหลือเงินอีก 4 ล้านบาทถ้วน นำไปซื้อเครื่องอุปโภคบริโภค เพื่อทำถุงยังชีพได้ 10,000 ถุง แสดงว่า ถุงยังชีพที่นำมาแจกจ่ายให้แก่ราษฎรล็อตแรก ราคา 400 บาทถ้วน ซึ่งถือว่ามีราคาสูงกว่าราคาสินค้าที่บรรจุในถุงยังชีพล็อตแรกถึง 232 บาท/ถุง (ราคาสินค้าในถุงยังชีพล็อตแรกรวมแล้วคิดเป็นมูลค่า 168 บาท)

กรณีดังกล่าว ได้มีความพยายามสอบถามข้อเท็จจริงจากนายอมรพันธุ์ นิมานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่า ถุงยังชีพมีราคาสูงกว่าท้องตลาดกว่าครึ่ง ต่อมามีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริงของจังหวัดตาก รวมทั้งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ส่งผู้ตรวจการมาตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย แต่คำตอบที่ได้มีเพียง

“พวกคุณถามได้ทุกวัน ลงข่าวได้ทุกวัน จนกรรมการไม่เป็นอันสอบสวนแล้ว”
กำลังโหลดความคิดเห็น