xs
xsm
sm
md
lg

หยุดขายปลานกแก้ว-งดเมนูหูฉลาม พลังการรณรงค์-ฤทธิ์โซเชียลมีเดีย / ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา มีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับการรณรงค์ให้ห้างสรรพสินค้า และร้านค้าปลีกขนาดใหญ่หยุดขายปลานกแก้ว ซึ่งเป็นปลาที่มีคุณประโยชน์ต่อระบบนิเวศ ที่ช่วยให้มีการฟื้นฟูของแนวปะการังในทะเล

ปรากฏว่าปฏิกิริยาของสังคมขานรับและสนับสนุนการเรียกร้องอย่างกว้างขวางกดดันต่อการขายปลานกแก้วที่มีสีสันสวยงาม ไม่ใช่เพราะสงสารปลา แต่เพราะต้องการหยุดยั้งการทำลายสิ่งที่เป็นกลไกปกป้องธรรมชาติ
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ใช้เครือข่ายสื่อทางสังคมออนไลน์ รณรงค์ให้ผู้มีใจรักธรรมชาติร่วมลงชื่อ เรียกร้องให้หยุดขายปลานกแก้ว โดยระบุว่า ปัจจุบันแนวปะการังเป็นระบบนิเวศทางทะเลที่สำคัญประเภทหนึ่งทั้งในแง่ของ การท่องเที่ยวและการทำหน้าที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ กำลังอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากหลายปัจจัยทั้งการพัฒนาชายฝั่งที่ทำให้เกิดตะกอน การทำประมงเกินขนาด การท่องเที่ยวอย่างขาดความรับผิดชอบ และที่สำคัญคือปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวเนื่องจากอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นเกิน ระดับปกติ จนทำให้แนวปะการังของประเทศไทยในเวลานี้อยู่ในสภาวะที่อ่อนแอ เปราะบางและต้องการการอนุรักษ์อย่างยิ่ง
งานวิจัยระยะยาวทางวิทยาศาสตร์สำคัญหลายชิ้นทั้งในออสเตรเลีย คาริบเบียน และในประเทศไทยเอง บ่งชี้ตรงกันว่าวิธีที่ดีที่สุดในการช่วยอนุรักษ์ปะการังและฟื้นฟูแนวปะการังที่เสื่อมโทรม คือ การอนุรักษ์พันธุ์ปลาในแนวปะการัง ในจำนวนนี้ชนิดพันธุ์ที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการควบคุมสาหร่ายไม่ให้ขึ้น คลุมปะการังและคอยเปิดพื้นที่ให้ตัวอ่อนปะการังได้ลงเกาะ คือ ปลากินพืช โดยเฉพาะกลุ่มปลานกแก้ว (parrotfish)
“แต่ปัจจุบันเริ่มมีการนำปลานกแก้วมาจำหน่ายเชิงพาณิชย์มากขึ้นเรื่อยๆ ดังจะเห็นได้ว่ามีการพบปลานกแก้วมาวางขายเป็นประจำในห้างร้านขนาดใหญ่ที่มีสาขาเป็นจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นห้างแมคโคร ซุปเปอร์มาร์เก็ตในเดอะมอลล์ เซ็นทรัล วิลล่ามาร์เก็ต และเทสโก้โลตัส บางสาขา”
“ปลานกแก้วมีลักษณะทางนิเวศวิทยาที่จำเพาะเจาะจงต่อแหล่งอาศัยอย่างยิ่งคือจะพบปลานกแก้วได้ในแนวปะการังเป็นหลัก นอกจากนี้ ปลานกแก้วยังเป็นปลาที่ไม่สามารถทำการเพาะเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ได้ ดังนั้นการจับปลานกแก้ว จึงเป็นการจับมาจากแนวปะการัง ซึ่งแนวปะการังแทบทั้งหมดในประเทศมีกฎหมายคุ้มครอง นั่นหมายความว่าปลานกแก้วเกือบจะทุกตัวที่นำมาขายได้มาจากการประมงที่ผิดกฎหมาย”

ข้อมูลการรณรงค์ระบุว่าปลานกแก้วในวันนี้แม้อาจจะยังไม่ใช่ปลาหายาก แต่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการช่วยฟื้นฟูปะการัง หากปล่อยให้ปลานกแก้วกลายเป็นปลาที่นิยมในการบริโภค เชื่อได้เลยว่าอีกไม่นาน ปลานกแก้วจะลดจำนวนลงจนไม่อาจทำหน้าที่รักษาระบบนิเวศปะการังได้อีกต่อไป
จึงมีการเรียกร้องให้ผู้บริหารห้างร้านขนาดใหญ่ดังกล่าวยุติการจำหน่ายปลานกแก้วอย่างสิ้นเชิง เพื่อไม่เป็นการสร้างความต้องการของตลาด จนส่งผลกระทบต่อประชากรปลานกแก้วและระบบนิเวศปะการัง เพราะปลานกแก้วไม่ใช่ปลาที่เป็นที่นิยมนำมาบริโภคอยู่แล้วจึงไม่ควรนำมาจำหน่ายเพื่อเป็นการสร้างค่านิยมที่ไม่เหมาะสม และสร้างแรงจูงใจในการจับปลานกแก้วเป็นจำนวนมาก
“การนำปลานกแก้วมาจำหน่ายจึงเป็นการแสดงความไม่รับผิดชอบต่อสังคมและส่งเสริมให้มีการคุกคามทำลายธรรมชาติโดยตรง สวนทางกับความพยายามในการสร้างภาพลักษณ์ว่าสนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” คำทิ้งท้ายของการเรียกร้อง
นอกจากนี้ กลุ่มอนุรักษ์ ผู้พิทักษ์ปะการัง Reef Guardian Thailand ได้ร่วมรณรงค์ให้ซีอีโอห้างดังได้แก่ เทสโก้โลตัส, แมคโคร, เซ็นทรัล, เดอะมอลล์ และวิลล่ามาร์เก็ต แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ยุติการขายปลานกแก้วโดยสื่อสารการรณรงค์ผ่าน www.change.org/saveparrotfish ปรากฎว่ามีประชาชนร่วมลงชื่อกว่า 20,000 คน ภายในเวลาไม่ถึงสัปดาห์
กลุ่มอนุรักษ์ดังกล่าว ย้ำว่าการรณรงค์เรื่องนี้ไม่ใช่ทำแค่นึกสงสารปลานกแก้ว แต่ต้องการให้ความรู้ สังคมมีความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทและความสำคัญของปลานกแก้วต่อระบบนิเวศน์ของปะการัง ซึ่งทุกวันนี้ปะการังไทยมีปัญหารุมเร้ามากมาย และคาดการณ์ว่าปะการังอาจจะหมดไปเพราะภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก แต่มนุษย์สามารถช่วยแนวปะการังให้แข็งแรง และสามารถฟื้นฟูตัวเองดีขึ้นได้ด้วยการหยุดจับปลาตามแนวปะการัง หยุดการพัฒนาชายฝั่งที่ไม่เหมาะสม รวมถึงหยุดการท่องเที่ยวแบบไม่รับผิดชอบ

ผลปรากฏว่าด้านธุรกิจค้าปลีกชื่อดังทั้งหลายมีการตอบรับด้วยดี หลายแห่งมีการทำจดหมายแจ้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ยืนยันว่าได้เลิกขายปลานกแก้ว
วันที่ 21 ก.ค. เทสโก้ โลตัส มีจดหมายถึงมูลนิธิฯ แจ้งว่าปัจจุบันได้หยุดจำหน่ายปลานกแก้วแก่ผู้บริโภค และมีนโยบายจะไม่จำหน่ายปลาชนิดนี้อีกต่อไป
วันที่ 22 ก.ค. บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด ได้ส่งหนังสือชี้แจง “การยกเลิกจำหน่ายปลานกแก้ว” ระบุว่าด้วยนโยบายหลักของบริษัทฯ ผู้บริหารเซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์, ท็อปส์ มาร์เก็ต, ท็อปส์ ซูเปอร์, ท็อปส์ เดลี่, ท็อป ซูเปอร์คุ้ม และ ท็อป ซูเปอร์คุ้มขายส่ง เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืน
“เราได้ทำการยกเลิกจำหน่ายปลานกแก้วให้กับผู้บริโภคทันที หลังจากที่พบว่าการบริโภคปลานกแก้วมีผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล ตั้งแต่วันที่ 7 ก.ค.2557 ที่ผ่านมา ทั้ง 138 สาขาทั่วประเทศ บริษัทฯ ในฐานะองค์กรของคนไทยมีความมุ่งมั่นในการทำงานโดยเน้นคุณภาพของสินค้าและความปลอดภัยของผู้บริโภคควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืน เพื่อตอบแทนสังคม ท็อปส์ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมรณรงค์ไม่บริโภคปลานกแก้วเพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติให้อยู่อย่างยั่งยืน”
ขณะที่ บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด มีหนังสือแจงเมื่อ 22 ก.ค.ถึงมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ว่ามีนโยบายการสรรหาสินค้าที่ดีที่สุดมาจำหน่ายให้กับผู้บริโภคไปพร้อมๆ กับการคำนึกถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ทรัพยากรธรรมชาติยังคงอยู่คู่สังคมไทยต่อไป จึงยุติการจำหน่ายปลานกแก้วให้กับผู้บริโภคทันที หลังจากที่ทราบข่าวว่าปลานกแก้วมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการฟื้นฟูปะการัง และระบบนิเวศทางทะเล
วันที่ 24 ก.ค. ห้างแมคโคร ก็ได้ประกาศยุติการจำหน่ายปลานกแก้วแล้วทุกสาขาทั่วประเทศ เพื่อร่วมอนุรักษ์และส่งเสริมสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ
นับเป็นความสำเร็จอีกครั้งหนึ่งของปฏิกิริยาจากสังคมผู้ใฝ่ดี มีจิตสาธารณะ ห่วงใยสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่ได้แสดงพลังรณรงค์ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวอย่างทันท่วงที

ข้อคิด...
ปรากฏการณ์นี้ให้ข้อคิดอย่างน้อย 2 ประการ คือ
1.การดำเนินธุรกิจจากนี้ไปต้องคำนึงถึงกระบวนการของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ที่ส่งต่อผลผลิตจากต้นน้ำ ถึงแม้กลไกธุรกิจค้าปลีกที่ปลายน้ำสู่ผู้บริโภคจะแสดงตัวว่าตระหนักเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมดังที่เป็นกระแสโลกในยุคปัจจุบัน
แต่เมื่อการเลือกที่จะจัดหาทรัพยากร หรือวัตถุดิบที่จัดส่งมาเสนอขายต่อผู้บริโภคได้สร้างผลกระทบต่อชุมชน หรือภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติที่จำเป็นต้องปกป้องรักษาไม่ให้ถูกทำลายการแสดงจุดยืนด้าน CSR จึงต้องครอบคลุมถึงกระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้องย้อนหลังขึ้นไป
2.เราได้เห็นบทบาทของภาคประชาสังคมและผู้คนในสังคมที่ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารยุคใหม่ในสังคมแบบ Social Media ซึ่งส่งต่อข่าวสารข้อมูล ความรู้ด้วยความห่วงใยเรื่องที่มีผลกระทบต่อสังคม และความคิดเห็นเพื่อสาธารณประโยชน์ให้ได้ตื่นตัว และร่วมแสดงออกเป็นพลังสังคมที่องค์กรยุคใหม่ต้องติดตามและปรับตัวให้ทัน
ตัวอย่างที่ชัดเจนเรื่องผลสำเร็จในการรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ อย่างกรณีที่กลุ่มอนุรักษ์เคลื่อนไหวเรียกร้องให้ยุติการเสิร์ฟด้วยซุปหูฉลาม เพราะเป็นการล่าชีวิตฉลามเพียงเพื่อเอาครีบมาเป็นวัตถุดิบ เป็นอาหารเลิศหรูจนเกรงกันว่าจะสูญพันธุ์
ผลปรากฏว่า ขณะนี้ในระดับสากล โรงแรมชั้นนำ เช่น เครือเพนเนนซูล่า เครือแชงกรีล่าทั่วโลก และโรงแรมชั้นนำในประเทศไทยหลายสิบแห่งก็ร่วมประกาศตัวงดเมนูหูฉลามแล้ว
เมื่อปลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลฮ่องกงก็ได้ประกาศยุติการเสิร์ฟซุปหูฉลามในงานเลี้ยงอย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นตัวอย่างการอนุรักษ์ธรรมชาติ เช่นเดียวกับรัฐบาลจีนก็ได้ประกาศห้ามเสิร์ฟหูฉลาม รังนก รวมทั้งอาหารทำจากวัตถุดิบสัตว์ป่าในงานเลี้ยงรับรองของทางการ
นี่เป็นแนวโน้มที่ดีของการตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมของสังคมโลกในระดับผู้นำ
suwatmgr@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น