xs
xsm
sm
md
lg

สมุนไพรไม้เป็นยา : หญ้าหนวดแมวยาขับปัสสาวะ สลายนิ่ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หญ้าหนวดแมว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Orthosiphon aristatus (Blume) Miq. เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก กิ่งและก้านเป็นสี่เหลี่ยม สีม่วงแดง ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่แกมสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ดอกออกเป็นช่อที่ปลายยอด กลีบดอกสีขาว เกสรตัวผู้ปลายยื่นพ้นกลีบดอกออกมาคล้ายหนวดแมว ผลเป็นรูปรี ขนาดเล็ก มี 2 พันธุ์ คือพันธุ์ดอกสีขาวอมม่วงอ่อน และพันธุ์ดอกสีฟ้า

สรรพคุณของหญ้าหนวดแมวนั้นมีมากมาย คือ ราก : ใช้ขับปัสสาวะ ใบ : รักษาโรคปวดข้อ ปวดหลัง ไขข้ออักเสบ ลดความดันโลหิต รักษาโรคเบาหวาน ขับกรดยูริคเอซิคจากไต ทั้งต้น : ใช้รักษาโรคกระษัย โรคปวดหลัง และบั้นเอว โรคนิ่ว และเยื่อจมูกอักเสบ

หญ้าหนวดแมวมิใช่สมุนไพรที่ใช้กันเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังใช้กันทั่วไปในหลายประเทศ จึงมีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษ หลายชื่อ ได้แก่ Cat's whisker, Indian kidney tea, Java tea และKidney tea

ในอินโดนีเซียใช้ใบสำหรับชงชาดื่มรักษาโรคไตและกระเพาะปัสสาวะ ส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียใช้รักษาการอักเสบของไต และนิ่วในไต ขณะที่ในฮอลแลนด์และฝรั่งเศสมีรายงานการใช้หญ้าหนวดแมวในการรักษาโรคทางเดินปัสสาวะ สำหรับในประเทศมาเลเซียใช้รักษาโรคเกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะ, เบาหวาน, โรคไต, ความดันโลหิตสูง และเป็นยาขับปัสสาวะ

ทั้งนี้ ในต่างประเทศมีงานวิจัยมากมายเกี่ยวกับสรรพคุณของหญ้าหนวดแมวในการรักษาโรคทางเดินปัสสาวะ

ส่วนในประเทศไทยนั้น ก็มีรายงานการค้นคว้าวิจัยในเรื่องนี้เช่นกัน อาทิ

นพ.พิชัย ตั้งสิน และ ภญ.ปริศนา แสงเจษฎา ได้ศึกษาฤทธิ์ของยาชงหญ้าหนวดแมว ในผู้ป่วยในทางเดินปัสสาวะส่วนบน เทียบกับไฮโดรคลอไรไธอาไซด์ และโซเดียมไบคาร์บอเนต โดยแบ่งกลุ่มผู้ป่วย 9 คน พบว่ากลุ่มที่ ได้รับยาหญ้าหนวดแมวมีการเคลื่อนตัวของนิ่วบริเวณกระดูกกระเบนเหน็บ (นิ่วชนิดทึบแสงในทางเดินปัสสาวะ เส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 1 ซม.) และใช้ยาแก้ปวดไม่ต่างจากกลุ่มที่ใช้ยามาตรฐาน ยาชงนี้มีผลทำให้ความดันโลหิตลดลงเล็กน้อย ชีพจรเต้นเร็วในระยะแรก(วันที่ 3) ไม่มีผลต่อปริมาณโปตัสเซียมในเลือด ไม่ทำให้คุณภาพน้ำปัสสาวะเปลี่ยนแปลง

รศ.นพ.วีรสิงห์ เมืองมั่น ภาควิชาศัลยกรรม คณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาในผู้ป่วยนิ่วในท่อไต ขนาดเท่าเม็ดมะละกอ หรือประมาณ 0.5 ซม. จำนวน 23 คน ดื่มยาชงหญ้าหนวดแมว ขนาด 4 กรัม ในน้ำเดือด 750 ซีซี ต่อวัน เป็นเวลา 2-6 เดือน พบว่า 9 คน (40 %) มีนิ่วหลุดออกมา (ส่วนใหญ่ที่นิ่วหลุดจะหลุดภายใน 3 เดือน) 13 คน (60 %) หายปวด แต่นิ่วไม่หลุด

รศ.นพ.อมร เปรมกมล ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ทำการศึกษาผลของหญ้าหนวดแมวในการลดขนาดของนิ่วไต เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ใช้ยา Na-K-Citrate โดยผู้ป่วยนิ่วที่เข้าร่วมจำนวน 48 คนมีนิ่วในไตขนาดตั้งแต่ 9 มม.ขึ้นไป

โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้ดื่มน้ำชงหญ้าหนวดแมว 2.5 กรัม เช้า - เย็น ส่วนกลุ่มที่สอง ได้ยา Na-K-Citrate วันละ 3 ครั้ง (6-10 กรัม) ใช้เวลาในการทดลอง 18 เดือน ผลการศึกษาพบว่า กลุ่ม 1 และ กลุ่ม 2 สามารถลดขนาดนิ่วได้ร้อยละ 28.6 สรุปคือ หญ้าหนวดแมวมีคุณสมบัติในการลดขนาดนิ่วได้ต่ำกว่าการใช้ยา Na-K-Citrate เล็กน้อย แต่ไม่พบผลข้างเคียงและราคาถูกกว่า

ข้อควรระวัง!!

คนที่เป็นโรคหัวใจ ไต ห้ามรับประทาน เพราะมีสารโปตัสเซียมสูงมาก ถ้าไตไม่ปกติ จะไม่สามารถขับโปตัสเซียมออกมาได้ ซึ่งทำให้เกิดโทษต่อร่างกายอย่างร้ายแรง

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 144 ธันวาคม 2555 โดย เก้า มกรา)


กำลังโหลดความคิดเห็น