xs
xsm
sm
md
lg

จาก “เชียงใหม่” ถึง “ลำพูน” กับอดีตที่ยังไม่มี “ซูเปอร์ไฮเวย์”

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


ระหว่างที่เดินทางมาเยือนจังหวัดเชียงใหม่ ที่ตลาดวโรรส หรือเรียกว่ากาดหลวง จะมีรถตู้สายเชียงใหม่ – ลำพูน จอดอยู่ริมแม่น้ำปิง ด้วยความที่เราไม่เคยมาเยือนลำพูนเลยสักครั้งในชีวิต จึงลองออกเดินทางไปที่แปลกๆ ดูบ้าง

รถตู้สายเชียงใหม่ - ลำพูน ออกทุก 20 นาที ค่าโดยสาร 25 บาท ผ่านหนองผึ้ง สารภี ป่าเหว เหมืองง่า สิ้นสุดที่ตัวเมืองลำพูน เที่ยวสุดท้ายออกจากเชียงใหม่และลำพูน 17.30 น.

ออกจากกาดหลวง เราจะได้เห็นเส้นทางที่แตกต่างไปจากถนนซูเปอร์ไฮเวย์ เพราะเมื่อข้ามสะพานนวรัฐแล้ว ก็เลี้ยวขวาไปตามถนนสายเชียงใหม่ – ลำพูน เมื่อผ่านค่ายกาวิละไปแล้ว จะพบเห็นสองข้างทางมีแต่ต้นยางนาเต็มไปหมด

ต้นยางเหล่านี้ มีอายุกว่า 107 ปี ในอดีตทางราชการได้นำต้นยางนามาให้ช่วยกันปลูก เพื่อความร่มรื่น สวยงามตลอดสองข้างทางในเขตจังหวัดเชียงใหม่ กลายเป็นเอกลักษณ์ของถนนสายนี้มาถึงปัจจุบัน

แต่พอผ่านไปไม่ทันไร รถตู้ก็เลี้ยวซ้ายไปตามถนนมหิดล แล้วพอถึงทางรถไฟสายเหนือก็เลี้ยวขวาลอดใต้สะพาน ไปตามถนนเส้นใหม่เลียบทางรถไฟ เป็นถนนสองเลนที่กว้าง และโล่งกว่าถนนต้นยางที่ให้ความร่มรื่น

สืบค้นดูพบว่าถนนเลียบทางรถไฟ เชียงใหม่ - ลำพูน ก่อสร้างในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เปิดใช้เมื่อ 29 มิถุนายน 2547 เริ่มต้นจากสถานีรถไฟเชียงใหม่ ถึงแยกดอยติ จ.ลำพูน ระยะทาง 27.825 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 146.2 ล้านบาท

ถนนเส้นนี้ดูเหมือนว่ารถตู้จะทำความเร็วได้มากกว่าถนนต้นยาง แต่ไม่นานนักรถก็เลี้ยวขวาเข้าซอย ไปออกถนนต้นยางเหมือนเดิม ผ่าน อ.สารภี กระทั่งเข้าเขตจังหวัดลำพูน ถนนดูโล่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ปัจจุบัน ถนนสายต้นยาง ระยะทาง 11.564 กิโลเมตร อยู่ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ สมัยก่อนมีอยู่กว่า 2,000 ต้น แต่ล้มหายตายจากเพราะภัยธรรมชาติและฝีมือมนุษย์ เหลือเพียงแค่ 949 ต้นเท่านั้น

เราใช้เวลาประมาณ 40 นาที จากกาดหลวงถึงลำพูน สังเกตได้ถึงความแตกต่าง ระหว่างจังหวัดหัวเมืองภาคเหนือที่มีแต่ความคึกคักอย่างเชียงใหม่ กับจังหวัดเมืองรองอย่างลำพูน เงียบสงบอย่างเห็นได้ชัด

อาจเป็นเพราะเมืองลำพูน กำลังอนุรักษ์ความเป็น “เมืองเก่า” เอาไว้ ทำให้ความเจริญต่างๆ ไปอยู่บนถนนรอบนอก เช่น ถนนสายลำพูน - ดอยติ ที่จะไปออกถนนซูเปอร์ไฮเวย์ เราจะได้เห็นห้างโมเดิร์นเทรดไปอยู่ตรงนั้น แต่ไม่มากเท่าเชียงใหม่

วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวหลักของเมืองนี้ ละแวกนั้นจะมีถนนคนเดิน และ ขัวมุงท่าสิงห์ ซึ่งเป็นตลาดชุมชนบนสะพานข้ามแม่น้ำกวง ซึ่งไหลมาจากทางตะวันออกของเชียงใหม่ ไปบรรจบกับแม่น้ำปิงที่ อ.ป่าซาง

แม้จะได้เห็นความเงียบสงบของเมือง โดยเฉพาะช่วงวันหยุดราชการ แต่ร่องรอยของความเจริญในอดีต โดยเฉพาะร้านค้ายังคงมีอยู่ เพราะสมัยก่อน ลำพูนถือเป็นเมืองที่เปรียบเสมือน “ด่านหน้า” ก่อนเข้าสู่เมืองเชียงใหม่

คำถามที่เราคิดอยู่ในหัวก็คือ สมัยก่อนตอนที่เชียงใหม่ยังไม่มีซูเปอร์ไฮเวย์ เขาเดินทางกันไปมายังไง?

ถ้าเป็นเมื่อก่อน รถไฟถือเป็นระบบขนส่งมวลชนหลัก ที่นำประชาชนจากภาคเหนือลงมาสู่กรุงเทพฯ 1 มกราคม พ.ศ. 2469 หรือเมื่อ 92 ปีก่อน เริ่มทำการเดินรถจากกรุงเทพฯ มาถึงเชียงใหม่เป็นครั้งแรก

โดยมีอุโมงค์ขุนตาน เป็นอุโมงค์ทางรถไฟลอดผ่านที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 11 ปี แต่ขุดอุโมงค์เสร็จยังวางรางรถไฟจากลำปางมาไม่ได้ เพราะต้องผ่านเหวลึก 3 จุด จึงได้ก่อสร้างสะพานเพื่อเชื่อมต่ออีกที

แต่สำหรับทางรถยนต์ ในหนังสือ “เที่ยวทั่วไทย” ของ ปราโมทย์ ทัศนาสุวรรณ นักเขียนสารคดีท่องเที่ยว และผู้ช่วยบรรณาธิการ อนุสาร อสท. ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2519 กล่าวว่า การขับรถจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ ใช้เวลาถึง 3 วัน 2 คืน

เริ่มต้นจากกรุงเทพฯ ไปตามถนนลาดยาง ผ่านรังสิต วังน้อย สระบุรี ลพบุรี เมื่อถึงโคกสำโรง จะเป็นถนนลูกรังไปถึงตาคลี จากนั้นจะเป็นถนนลาดยาง ผ่านชัยนาท เลี้ยวขวา เมื่อถึง อ.มโนรมย์ กลายเป็นถนนลูกรัง ถึง จ.นครสวรรค์ ค้าง 1 คืน

วันที่สอง จากนครสวรรค์ ผ่านสลกบาตร กำแพงเพชร เป็นทางลูกรังที่สภาพทารุณที่สุด ถึง จ.ตาก ค้างต่ออีก 1 คืน

วันที่สาม ไปถึง อ.เถิน เลี้ยวซ้ายไปทางเส้น เถิน - ลี้ - บ้านโฮ่ง - ป่าซาง สภาพยิ่งกว่าทางเกวียน ถึงลำพูนเป็นถนนลาดยาง พอถึงเชียงใหม่ก็ต้องเข้าอู่ซ่อมกันเลยทีเดียว

หลังจากนั้น สภาพถนนดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็ยังไม่ราดยางตลอดสาย กระทั่งมาถึงปี พ.ศ. 2515 ถนนพหลโยธินได้เป็นทางลาดยางตลอดเส้นทางแล้ว ยังมีทางหลวงสายใหม่ ตัดแนวถนนใหม่ให้เป็นเส้นตรง ย่นระยะทางไปมากต่อมาก

เส้นทางแรก คือ ถนนสายเอเชีย บางปะอิน - นครสวรรค์ ยาว 188 กิโลเมตร ก่อสร้างและเปิดใช้เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2515 สมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ เพียงแค่ 3 ชั่วโมง

อีกเส้นทางหนึ่ง คือ ถนนซูเปอร์ไฮเวย์ ลำปาง - เชียงใหม่ กรมทางหลวงก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2512 จากตัวเมืองลำปาง ผ่านดอยติ (ทางไปตัวเมืองลำพูน) ไปสิ้นสุดที่ถนนนิมมานเหมินทร์ บริเวณแยกรินคำ จ.เชียงใหม่

นับจากนั้นเป็นต้นมา บทบาทของถนนสาย เถิน – ลี้ – บ้านโฮ่ง – ป่าซาง ก็ถูกลดบทบาทลง แทนที่ด้วยถนนซูเปอร์ไฮเวย์ และถนนสายเอเชีย ทำให้การเดินทางจากกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่ยุคนี้ ใช้เวลาเพียงแค่ 10 ชั่วโมงเท่านั้น

ในปัจจุบัน ผลของการแข่งขันสายการบินราคาประหยัด ทำให้การเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ ผู้คนนิยมนั่งเครื่องบินมากขึ้น ซึ่งใช้เวลาเพียงแค่ 55 นาที แต่บทบาทการคมนาคมทางถนน ยังจำเป็นสำหรับการขนส่งสินค้าต่างๆ

ย้อนกลับมาที่เมืองลำพูนในวันนี้ เราเดินเท้าไปรอบๆ เห็นอาคารบ้านเรือนที่เงียบเชียบ เห็นพิพิธภัณฑ์ปั้มน้ำมันสามทหารทรุดโทรม เห็นตลาดสดหนองดอกที่ซบเซา เห็นถนนลาดยางที่ยังชำรุด พร้อมกับร่องรอยความเจริญในอดีต

แม้อดีตที่เจริญรุ่งเรืองค่อยๆ เลือนหาย แต่ความเงียบสงบ ทำให้ฉุกคิดขึ้นมาอย่างหนึ่งว่า เราไม่ควรที่จะมองข้ามหรือละเลยอดีต แต่ควรที่จะเรียนรู้อดีตจากประวัติศาสตร์ที่มีอยู่ ไปจนถึงความเปลี่ยนแปลงที่จากเคยคึกคักกลับซบเซา




เราเดินออกจากความเงียบสงบของเมืองลำพูนในช่วงบ่าย กลับไปขึ้นรถตู้ที่หลังวัดวัดพระธาตุหริภุญชัยฯ เพื่อกลับเชียงใหม่ เฝ้ามองความเงียบสงบของเมือง สวนทางกับรถตู้ที่ขับออกจากตัวเมืองอย่างรวดเร็ว

คิดในใจว่า ขนาดเมืองที่เคยเจริญรุ่งเรืองยังเปลี่ยนกันได้ นับประสาอะไรกับชีวิตคน

มองหน้าต่างรถตู้ไปยังต้นยางในเขตอำเภอสารภี ก่อนที่จะเผลอหลับไปด้วยความเพลีย ตื่นมาอีกทีถึงสถานีรถไฟเชียงใหม่ กลับเข้าสู่ความวุ่นวายของหัวเมืองภาคเหนืออีกครั้ง ...


กำลังโหลดความคิดเห็น