Feature

แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด : จากอนาคตสดใสในซีซั่นแรกยุคเทน ฮาก สู่ช่วงเวลาไม่สบอารมณ์แฟนบอล | Main Stand

ถ้าให้เอ่ยถึงสโมสรชื่อดังในพรีเมียร์ลีกที่มักจะถูกสื่อน้อยใหญ่ไปจนถึงแฟนบอลหยิบยกประเด็นขึ้นมาเล่าได้แบบไม่เว้นแต่ละวันในช่วงต้นฤดูกาล 2023-24 มันยากจะปฏิเสธว่า “แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด” คือทีมใครหลายคนย่อมถึงเป็นชื่อแรก ๆ

 


หากไม่นับว่าปีศาจแดง คือทีมมหาชนของคอลูกหนังทั่วโลกเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เหตุผลสำคัญที่สุดที่ยูไนเต็ด ประสบพบเจอในฤดูกาลที่สองภายใต้กุนซือ เอริค เทน ฮาก คือการเผชิญเหตุการณ์ “ไม่สู้ดี” ซึ่งปรากฏออกมาให้เห็นทั้ง “ใน” และ “นอก” สนามอยู่บ่อยหน จนนานวันเข้าก็เริ่มถูกตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่าเกิดอะไรขึ้นกับสโมสรแห่งนี้กันแน่

จากทีมที่ดูเหมือนจะมีทิศทางที่สดใสดั่งผลงานโดยรวมในซีซั่นก่อนหน้า (2022-23) แต่ทำไมทุกวันนี้ สโมสรกลับเผชิญสถานการณ์ที่ต่างไปจากเดิมราวกับเป็นอีกทีม

Main Stand ขอชวนแฟนฟุตบอล โดยเฉพาะสาวก เร้ด เดวิลส์ มาร่วมวิเคราะห์ และไขคำตอบไปพร้อม ๆ กัน

 

2022-23 ยุคใหม่ปีศาจแดง กับกุนซือไฟแรง “เอริค เทน ฮาก”

นับแต่ที่ เอริค เทน ฮาก เข้ามาคุมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในซีซั่น 2022-23 ด้วยสัญญายาวไปถึงปี 2025 พ่วงออปชั่นขยายอีก 1 ปี เขาถือเป็นกุนซือแห่งอนาคตชนิดที่ใครหลายคนต่างก็ยกย่องว่าเทรนเนอร์ดัตช์ผู้นี้ มีดีพอที่จะนำพาพลพรรคปีศาจแดง ก้าวสู่ยุคใหม่อย่างแท้จริง

เหตุผลนั้นชัดเจนตั้งแต่การที่นายใหญ่วัย 53 ปี พายูไนเต็ดซิวโทรฟี่ลีก คัพ หรือคาราบาว คัพ นี่ถือเป็นความสำเร็จของสโมสรในรูปแบบของการคว้าถ้วยรางวัลแรกในรอบ 6 ปี เช่นเดียวกับความสำเร็จหลังพาทีมกลับสู่โควตายูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก รอบแบ่งกลุ่ม จากการจบฤดูกาลพรีเมียร์ลีก ด้วยอันดับที่สาม

ฤดูกาล 2022-23 เอริค เทน ฮาก ทำให้สาวกปีศาจแดงได้เห็นถึงปรัชญาการทำทีมในรูปแบบที่พัฒนาแนวคิดมาจากยอดกุนซือต่างยุคสมัยอย่าง โยฮัน ครัฟฟ์ และ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า กล่าวคือการนำพาให้แมนฯ ยูไนเต็ด เน้นสไตล์ฟุตบอลแบบสมัยใหม่ เน้นครองบอลเหนียวแน่น เสียบอลยาก พร้อมกับรักษาความยืดหยุ่นของทีมไปด้วย 

และเราอาจกล่าวได้ด้วยว่า แนวทางการทำทีมในลักษณะดังกล่าวของเทน ฮาก ถูกก่อร่างสร้างขึ้นผ่านทั้งการ “ให้ใจ” นักเตะชุดเดิมของสโมสร ที่หลาย ๆ คนถูกปรามาสมาโดยตลอด ซึ่งหลาย ๆ คนก็กลับมาทำผลงานได้ดี เช่น ลุค ชอว์, มาร์คัส แรชฟอร์ด ฯลฯ 

มากไปกว่านั้น เทรนเนอร์แดนกังหันลมยังได้วางกฎระเบียบอะไรหลาย ๆ อย่างเพื่อทำให้ทีมยึดปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน ยกตัวอย่างการออกกฏห้ามนักเตะมาสายยามที่ทีมมีประชุมหรือวางโปรแกรมซ้อม การให้นักเตะควบคุมเรื่องมวลร่างกายให้พร้อมและเหมาะสมกับการแข่งขัน

ตลอดจนการปรับวัฒนธรรมองค์ใหม่ เฉกเช่นกับสมัยที่เขาคุม อาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม อย่างการผลักดันให้ทีมปีศาจแดงสำรองอยู่ในสายตาของกุนซือทีมชุดใหญ่มากขึ้น เพราะลึก ๆ แล้วเทน ฮากเองก็เป็นคนที่เชื่อในเรื่องของการพัฒนาเยาวชนไม่แพ้กุนซือคนใด ฯลฯ

แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ปิดฉากฤดูกาล 2022-23 ชนิดที่ผลงานอยู่ในระดับชวนให้เป็นที่พอใจ มีแนวทางการเล่นที่ชัดเจน มีโทรฟี่ประทับสโมสร พร้อมทั้งกลับไปเล่นถ้วยใหญ่ในระดับสโมสรยุโรปอีกครั้ง 

เมื่อฤดูกาลแรกทำไว้ดี ทำไว้ได้น่าพอใจแล้ว การรักษามาตรฐานให้ได้ดั่งเดิม เพิ่มเติมคือการพาทีมบินให้สูงขึ้น นี่ถือเป็นโจทย์ชวนให้ท้าทายของกุนซือทุก ๆ คน ไม่เว้นแม้แต่ เอริค เทน ฮาก ภายใต้โรงละครแห่งความฝัน

 

ซีซั่นถัดมา “ดันไม่เหมือนเดิม”

หลังออกสตาร์ตฤดูกาลแรกของตัวเองที่แมนฯ ยูไนเต็ด ได้น่าประทับใจ เอริค เทน ฮาก มีแผนในการพัฒนาสโมสรเพื่อให้ก้าวไปสู่อีกระดับ แน่นอนว่าอดีตกุนซือจากเอเรดิวิซี่ลีกผู้นี้ยังคงเชื่อมั่นในแนวทางของตัวเอง บวกกับความเป็น DNA สโมสร ในฐานะทีมฟุตบอลแบรนด์ระดับโลก


 
“เมื่อเราพิจารณาถึงประวัติศาสตร์ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และดูคุณสมบัติของนักเตะเราเอง ก็ต้องดูว่าเราอยากเป็นแบบไหน” เทน ฮาก ให้สัมภาษณ์ระหว่างนำลูกทีมปีศาจแดง ทัวร์พรีซีซั่นที่สหรัฐอเมริกา

“เราต้องการเป็นทีมที่เล่นทรานซิชั่น (เล่นเปลี่ยนจังหวะจากรับเป็นรุกหรือจังหวะรุกเป็นรับ) ได้ดีที่สุดในโลก เราอยากจะสร้างเซอร์ไพรส์ เราต้องการเล่นแบบไดนามิก เล่นฟุตบอลโดยอาศัยความรวดเร็ว เล่นให้ดุดัน ด้วยสปิริตทีมที่มีอย่างสูงส่ง เพราะนี่คือยูไนเต็ด”

อย่างไรเสีย ทุกอย่างมันกลับไม่เป็นไปดังที่คาดหวังเอาไว้ เมื่อยูไนเต็ดออกสตาร์ตฤดูกาล 2023-24 ชนิดออกหน้ามือเป็นหลังมือ จากผลงานคุมทีมแพ้รวมทุกรายการไปถึง 9 จากการลงเล่นทั้งหมด 18 นัด (สถิติหลังเกมชนะ ลูตัน ทาวน์ 1-0)

และหากนับสถิติเฉพาะการคุมทีมในพรีเมียร์ลีก 10 นัดแรก ตัวเลขการที่เทน ฮากพาทีมแพ้ไปถึง 5 นัด ทำให้เจ้าตัวจารึกประวัติศาสตร์พาสโมสรแพ้มากเกมที่สุด นับแต่ปี 1986 ที่ รอน แอตกินสัน คุมปีศาจแดงแพ้ 6 จาก 10 นัด ก่อนถึงคราวสโมสรเปลี่ยนแปลงเก้าอี้เฮดโค้ชมาเป็น (เซอร์) อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน นั่นเอง

ส่วนผลงานในยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก รอบแบ่งกลุ่ม ที่ทีมกลับมาโลดแล่นอีกครั้งต่อจากซีซั่น 2021-22 ก็กลายเป็นผลงานที่ไม่ชวนสบอารมณ์แฟนคลับ เพราะถึงตอนนี้สโมสรลงเตะไป 4 นัด ชนะ 1 แพ้ 3 รั้งอันดับสุดท้ายของกลุ่ม A เรียกได้ว่าสองเกมที่เหลือ นอกจากจะต้องทำผลงานให้ดีที่สุดเพื่อสามคะแนนแล้ว ปีศาจแดงยังต้องดูผลการแข่งขันของคู่แข่งประกอบไปด้วย

ทั้ง ๆ ที่ เอริค เทน ฮาก มีธงในใจว่าจะพัฒนาและยกระดับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ให้ออกมาสู่ความเป็นทีมแห่งอนาคต แต่ทำไมสโมสรถึงเผชิญสถานการณ์ไม่สู้ดีเช่นนี้ได้ 

เหตุผลมากมายก็เพราะพวกเขาต้องรับมือกับเรื่องทั้งในและนอกสนาม ซึ่งถาโถมเข้ามาแบบพร้อม ๆ กันโดยมิได้นัดหมาย

 

สารพันปัญหาที่สอดรับกับผลงานในสนาม

ในระหว่างที่ฤดูกาล 2023-24 ดำเนินเรื่อยมา แมนฯ ยูไนเต็ด เจอเรื่องราวที่ทำให้ต้องชวนคำนึงไปด้วยขนาบข้าง ชนิดที่เรียกได้ว่ามันเกิดขึ้นก่อนที่ฤดูกาลใหม่จะเริ่มต้นขึ้นด้วยซ้ำ

ไล่มาตั้งแต่ช่วงตลาดซื้อขายนักเตะ สโมสรตัดสินใจไม่ต่อสัญญากับนายด่านคู่บุญที่อยู่กับทีมมาตั้งแต่ยุคเซอร์ อเล็กซ์ อย่าง ดาบิด เด เคอา โดยเทน ฮาก จิ้มเลือกเอา อองเดร โอนาน่า ผู้รักษาประตูชาวแคเมอรูน ที่ขึ้นชื่อในเรื่องการเล่นฟุตบอลด้วยเท้า เข้ามาเป็นมือหนึ่งทีม สอดรับกับแผนการแห่งอนาคต ด้วยค่าตัวราว ๆ 47.2 ล้านปอนด์

กระนั้น ขาออกไม่มีอะไรให้น่าตื่นเต้นเท่าขาเข้าที่รอผนึกกำลังกับขุมกำลังชุดเดิมที่ยังอยู่กับทีมแบบพร้อมหน้าพร้อมตา แข้งป้ายแดงน่าสนใจที่เหลือที่ทีมเซ็นเข้ามาประกอบไปด้วย เมสัน เมาท์ จากเชลซี ด้วยค่าตัว 55 ล้านปอนด์ บวกแอดออนอีก 5 ล้านปอนด์, ราสมุส ฮอยลุนด์ กองหน้าความหวังใหม่ชาวเดนมาร์ก ค่าตัว 72 ล้านปอนด์, ดึง จอนนี่ อีแวนส์ กลับมาร่วมชายคาในฐานะตัวเก๋าเกมรับแบบฟรี ๆ ขณะที่ โซฟียาน อัมราบัต และ เซร์คิโอ เรกีลอน ย้ายมาในรูปแบบสัญญายืมตัว

อย่างไรก็แล้วแต่ เอริค เทน ฮาก กลับยังไม่อาจใช้งานนักเตะใหม่ได้เต็มอัตราศึก โดยเฉพาะในรายของเมาท์, ฮอยลุนด์ และเรกีลอน ที่มีเรื่องอาการเจ็บและความฟิตมาคอยให้กังวลใจ ซึ่งสองรายแรกก็ยังเรียกฟอร์มให้ทีมได้ไม่เต็มที่ 

ในรายของเมาท์ ถูกตั้งคำถามถึงตำแหน่งการยืนในสนามซึ่งยังไม่กลมกล่อม ยกตัวอย่างการดันขึ้นไปช่วยเล่นเกมบุกร่วมกับกัปตันบรูโน่ แฟร์นันด์ส จนกลายเป็นพื้นที่ให้มิดฟิลด์ตัวรับที่ยืนด้านหลังเจองานหนักจนยากจะรับมือ แถมผลงานรวมทุกรายการร่วมกับทีมไปแล้ว 12 นัด (นับหลังเกมชนะลูตัน ทาวน์ 1-0) เมาท์ทำไปแค่ 1 แอสซิสต์เท่านั้น ส่วนฮอยลุนด์ แม้จะมีความครบเครื่อง จบสกอร์ไว้ใจได้ ดั่งผลงาน 5 ตุงในแชมเปี้ยนส์ ลีก ทว่าเมื่อมาดูผลงานในลีก ถึงตอนนี้เขาลงเล่นไป 9 นัด แต่ยังทำประตูไม่ได้เลย

ด้านอองเดร โอนาน่า ก็กลายเป็นเครื่องหมายคำถามในส่วนของผู้รักษาประตูมือหนึ่งสโมสร กับความผิดพลาดง่าย ๆ และเป็นความผิดพลาดส่วนตัว ซึ่งที่สุดแล้วมันเดือดร้อนถึงขั้นที่ทีมเสียประตู เรียกได้ว่าจังหวะเซฟสำคัญมีให้เห็นน้อยกว่าเรื่องข้างต้น และบ่อยครั้งที่เขามักจะตกเป็นเป้าสายตาบนสื่อสังคมออนไลน์ จนกลายเป็นหนึ่งใน “คอนเทนต์” ตลกโปกฮาอยู่มากโข

กระนั้น เราจะกล่าวหาว่าโอนาน่าเป็นคนที่ผิดพลาดอยู่คนเดียวก็คงไม่ถูกต้องเท่าไรนัก เพราะเรื่องนี้ก็สอดรับกับการที่กองหลังตัวหลักของทีมหลาย ๆ คนประสบปัญหาบาดเจ็บ จนเทน ฮาก ต้องหาทางเลือกอื่นมาทดแทน

ในฤดูกาล 2023-24 กุนซือดัตช์ชวดใช้งานลุค ชอว์ หนึ่งในกองหลังที่เล่นเข้าระบบเขามากที่สุด ไปตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม จากอาการเจ็บที่กล้ามเนื้อ ตามมาด้วย ลิซานโดร มาร์ติเนซ ในช่วงหนึ่งเดือนต่อจากนั้น จากการบาดเจ็บซ้ำแผลเก่าที่เท้า จนถึงตอนนี้ทั้งสองก็ยังไม่อาจลงเล่นให้ทีมได้ แน่นอนว่ามันส่งผลต่อแผนการเล่นหลัก ๆ ทีม ที่ตั้งใจจะเซ็ตบอลกันตั้งแต่หน้ากรอบประตูตัวเอง

จากความเสียหายตรงนี้ ทำให้เทน ฮาก หมุนเวียนตำแหน่งพื้นที่เกมรับ โดยเฉพาะทางด้านซ้ายเป็นว่าเล่น มันหนักหนาถึงขั้นดันกองกลางมาเล่นด้วยซ้ำไป

นอกจากนี้ เอริค เทน ฮาก ยังไม่อาจใช้งาน คาเซมิโร่ ตำแหน่งเบอร์ 6 แท้ ๆ ของทีมที่เจ็บแฮมสตริงถึงสองหนติด ๆ ซึ่งยังไม่มีกำหนดคืนสนาม รวมถึง อารอน วาน บิสซาก้า ซึ่งเจ็บที่เดียวกับกองกลางแซมบ้า และอาการเจ็บนี้ มันทำให้ยูไนเต็ด เหลือแบ็กขวาธรรมชาติในทีมรายเดียว คือ ดิโอโก้ ดาโลต์

ขณะเดียวกัน นักเตะที่เหลือของทีม โดยเฉพาะคนที่ทำผลงานโดดเด่นในฤดูกาลแรกที่เอริค เทน ฮาก เข้ามาคุมทีม ก็นัดกันฟอร์มตกแบบน่าใจหาย หรือบางคนเล่นผิดฟอร์มจากเดิมไปบ้าง

ในรายของ มาร์คัส แรชฟอร์ด เจ้าของผลงาน 30 ประตูในซีซั่น 2022-23 ที่ปีนี้ผลงานดร็อปลงอย่างน่าใจหาย การเล่นของเขากลายภาพว่าเป็นการเล่นเพื่อตัวเองมากกว่าทีม ถึงตอนนี้แรชฟอร์ดลงเล่นให้ทีมรวมทุกรายการไปแล้ว 15 นัด ยิงไปแค่ลูกเดียวเท่านั้น 

หรือนักเตะอย่างคาเซมิโร่เอง โดนวิจารณ์เรื่องฟอร์มที่ตกลงไปก่อนจะบาดเจ็บยาว เขาเริ่มคิดช้าทำช้า ผลงานไม่ออกเป็นชิ้นโบว์แดงเหมือนปีก่อน เช่นเดียวกับ ราฟาเอล วาราน ที่โดนวิจารณ์ว่าผลงานไม่อยู่กับร่องกับรอย 

นักเตะโดนวิจารณ์แล้ว กุนซือก็โดนวิจารณ์เช่นกัน โดยรวมแล้ว เอริค เทน ฮาก เริ่มถูกตั้งคำถามถึงแนวทางการคุมทีมของตัวเอง จากที่ใช้ปรัชญาส่วนผสมของครัฟฟ์และเป๊ป มาวันนี้เขากลับกลายเป็นคนที่เปลี่ยนแนวคิดของตัวเองไป

หลาย ๆ ครั้ง เทน ฮาก ไปคำนึงถึงผลการแข่งขันในสนามมากกว่าวิถีคิดเดิมของตัวเขาเอง เขาเริ่มทำให้ยูไนเต็ดซีซั่นสองเป็นทีมที่เน้นรัดกุม ยกตัวอย่างการที่ทีมยิงนำแล้วไปตั้งรับเอาเหนียว สุดท้ายก็มาโดนตีเจ๊า ดีไม่ดีถึงขั้นแพ้ไปเลยก็มี เช่น เกมออกไปเยือน อาร์เซนอล แม้จะนำไปก่อน ทว่าสุดท้ายโดนรัวแซง 1-3 หรือเกมที่เปิดบ้านแพ้ กาลาตาซาราย แม้ยูไนเต็ดจะออกนำถึงสองครั้งสองครา แต่เมื่อสิ้นเสียงนกหวีดยาว ทีมแพ้ไป 2-3

เช่นเดียวกับแผนการเล่นที่หลากหลาย แต่กลับอาศัยประโยชน์จากความยืดหยุ่นนี้ไม่ได้เท่าที่ควร นำมาซึ่งสถานการณ์ที่ดูสับสน ไม่แน่ไม่นอนจนกลายเป็นคำถามจากทั้งแฟนบอลรวมถึงเหล่ากูรู อย่างการดัน วิคตอร์ ลินเดอเลิฟ เล่นแบ็กซ้ายในวันที่ เซร์คิโอ เรกีลอน แบ็กซ้ายธรรมชาติสัญญายืม เจ้าของสัมปทานตำแหน่งนี้กลับมามีชื่อในทีมอีกครั้ง

หรือแม้แต่ในเกมเปิดบ้านแพ้อริร่วมเมืองอย่าง แมนเชสเตอร์ ซิตี้ 0-3 เทน ฮาก โดนวิจารณ์สนั่นตั้งแต่ 11 ตัวจริง ที่เอาคู่กองหลังเป็น แฮร์รี่ แม็คไกวร์ กับ จอนนี่ อีแวนส์ รอรับมือกับ เออร์ลิ่ง ฮาลันด์

กับสไตล์การเล่นและผลงานโดยรวมของยูไนเต็ด ที่ดูไม่เหมือนกับปีแรกที่เข้ามาคุม เช่นเดียวกับที่เขาเคยทำได้ดีกับอาแจ็กซ์ฯ เรื่องนี้ทำเอา เอริค เทน ฮาก โดนตั้งคำถามถึงเรื่องพวกนี้บ่อยครั้ง ซึ่งเจ้าตัวก็ยอมรับว่ามัน “ยาก” ที่จะนำเรื่องเหล่านี้มาเปรียบเทียบกัน 

โดยเฉพาะเรื่องของขุมกำลังที่มีสไตล์ที่แตกต่าง ดังส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์เรื่องแนวทางการทำทีมยูไนเต็ด ที่กุนซือดัตช์ กล่าวหลังเกมที่ทีมเปิด โอลด์ แทรฟฟอร์ด พ่ายแมนฯ ซิตี้

“ไม่มีทาง เราจะไม่เล่นฟุตบอลสไตล์นั้น (สไตล์อาแจ็กซ์) เพราะเรามีนักเตะที่แตกต่างออกไป เรากำลังเล่นฟุตบอลที่แตกต่างไปจากที่ผมเคยทำไว้ที่อาแจ็กซ์ เพราะเราเล่นแบบเดียวกันไม่ได้ นักเตะจะเป็นตัวกำหนดว่าคุณต้องเล่นอย่างไร”

 

รับมือกับศึกนอกสนาม

นอกจากที่แมนฯ ยูไนเต็ด จะเผชิญเรื่องราวในสนามอันส่งผลถึงสถานการณ์ไม่สู้ดีแล้ว สโมสรเผชิญเรื่องนอกสนามแบบไม่ได้น้อยหน้าเรื่องของผลงานและผลการแข่งขัน

นับแต่ตระกูลเกลเซอร์ประกาศเปิดรับ “ข้อเสนอการลงทุน” เมื่อปลายปี 2022 โดยมีสองแคนดิเดตอย่าง เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์ มหาเศรษฐีอังกฤษและ ชีค ยาสซิม บิน ฮาหมัด อัล ธานี มหาเศรษฐีกาตาร์ แต่เดิมมีการคาดเดาว่าดีลนี้อาจจะจบลงในช่วงตลาดซื้อขายนักเตะ เพื่อให้สอดรับกับงบประมาณเสริมทัพให้เอริค เทน ฮาก ที่มีข่าวพัวพันกับแข้งชื่อก้องมากมาย เช่น แฮร์รี่ เคน, ดีแคลน ไรซ์, จู๊ด เบลลิ่งแฮม ฯลฯ 

อย่างไรก็ดี ว่ากันว่าตระกูลเกลเซอร์ต้องการเงินมูลค่า 1 หมื่นล้านปอนด์ ที่สุดแล้วเรื่องราวการซื้อขายทีมยังคงไม่มีบทสรุปที่ลงตัว ที่สุดแล้วมันจึงกลายเป็นเหตุผลสอดรับไม่มากก็น้อยที่ว่ายูไนเต็ดชวดนักเตะเป้าหมายไปหลายคน เพราะแรงดึงดูดจากเจ้าของรายใหม่ไม่เกิดขึ้นในเวลานี้

ศึกนอกสนามของยูไนเต็ดยังไม่หมดลงแค่นี้ เสียงที่เข้ามารบกวนและสร้างความปั่นป่วนให้สโมสรยังคงระอุขึ้นแบบไม่ขาดสาย ซึ่งมีทั้งการจัดการกรณีของ เมสัน กรีดวู้ด อยู่พักใหญ่ ท้ายสุดแล้วทีมตัดสินใจปล่อยตัวดาวรุ่งลูกหม้อผู้นี้ ที่เคยเผชิญคดีฉาวโดนตำรวจจับกุมตัวในข้อหาข่มขืนและทำร้ายร่างกายแฟนสาว และโดนทีมตัดออกจากทีมไปก่อนหน้า

เช่นเดียวกับคดีความของ อันโตนี่ ที่ถูกตำรวจสอบสวนในคดีทำร้ายร่างกายแฟนเก่า เป็นเหตุให้เขาและสโมสรตัดสินใจร่วมกันถึงการพักงานแบบไม่มีกำหนด เพื่อให้นักเตะเคลียร์เรื่องของตัวเองไปก่อน (ปัจจุบันกลับมาสู่ทีมแล้ว) ซึ่งตรงนี้ก็ทำให้สโมสรขาดนักเตะตำแหน่งตัวรุกฝั่งขวาไปพักนึง 

เหตุผลที่ขาดไปพักใหญ่เพราะในเวลาเดียวกัน ดันเกิดเรื่องไม่ลงรอยกันระหว่าง เอริค เทน ฮาก กับ เจดอน ซานโช่ โดยเรื่องนี้มันแดงขึ้นนับตั้งแต่ที่ปีกชาวอังกฤษถูกเทน ฮาก ตัดชื่อออกจากเกมลีกนัดแพ้อาร์เซน่อล 1-3 ด้วยเหตุผลซ้อมได้ไม่น่าประทับใจ ขณะที่เจ้าตัวโพสต์ตอบโต้ว่าตกเป็นแพะรับบาป

ที่สุดแล้วเรื่องนี้ก็ยังไม่ได้รับการเคลียร์ใจกันเสียที เป็นเหตุให้ซานโช่หลุดออกจากสารบบของแมนฯ ยูไนเต็ด ชุดใหญ่ ไปโดยปริยาย และคาดว่าจะถูกปล่อยออกจากทีมในตลาดนักเตะรอบต่อ ๆ ไปที่ใกล้จะเข้ามา

แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เจอมรสุมระลอกใหญ่ซัดสาดเข้ามาจนกลายเป็นความท้าทายให้รอรับมือ แน่นอนว่าเรื่องนอกสนามมันอาจต้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับสโมสร ซึ่งรวมถึงบอร์ดบริหาร กับการรับมือและแก้ปัญหาให้ทีมก้าวไปข้างหน้า

แต่สำหรับเรื่องราวในสนาม เราปฏิเสธไม่ได้ว่าความรับผิดชอบหลักก็คือตัวเฮดโค้ชอย่างเทน ฮาก และในเมื่อที่กุนซือวัยเลขห้าผู้นี้ยังคงมีสัญญาการคุมทีมยูไนเต็ดอีกยาว เชื่อเหลือเกินว่าตัวของเขาเองก็อยากจะทำให้ทีมอยู่ในจุดที่ควรจะเป็น ดังส่วนหนึ่งบทสัมภาษณ์ล่าสุดหลังนำลูกทีมเฉือนลูตัน ทาวน์ 1-0

“ผมคิดว่าตำแหน่งของทีมเราไม่ได้แย่อะไนขนาดนั้น ต่อให้เราจะไม่ได้เล่นดีนับแต่เปิดฤดูกาลมาก็เถอะ แต่เมื่อเราเริ่มเล่นกันได้ดีเมื่อไร เดี๋ยวทุกอย่างมันก็จะเข้ามาเอง ผมคิดว่าเราจะยังคงต้องแย่งชิงพื้นที่ท็อปโฟร์กันต่อไป”

 

แหล่งอ้างอิง

https://theanalyst.com/eu/2023/10/five-things-turn-manchester-united-season/
https://www.theguardian.com/football/2023/nov/10/ten-hag-cant-tame-manchester-united-chaos-so-has-gambled-on-embracing-it 
https://theathletic.com/5023626/2023/11/02/manchester-united-football-analysis/
https://www.manchestereveningnews.co.uk/sport/football/football-news/erik-ten-hag-found-wildcard-28081956 
https://www.foxsports.com/stories/soccer/manchester-united-in-crisis-in-erik-ten-hags-second-season-in-charge 
https://www.manutd.com/en/news/detail/erik-ten-hag-reacts-to-man-utd-win-over-luton-town-11-nov 

Author

พชรพล เกตุจินากูล

แฟนคลับเชลซี ติดตามฟุตบอลเอเชีย ไก่ทอดและกิมจิเลิฟเวอร์

Graphic

ปริญญา คงปันนา

กราฟฟิคหน้าโหด ทำงานด้วย Passion ว่างๆ ชอบไปคาเฟ่ หลงไหลในศิลปะ, การเดินทางและกีฬา