กล้วยไม้สกุลแวนด้า Vanda


แวนด้าเป็นกล้วยไม้ประเภทโมโนโพเดี้ยล ไม่แตกกอ เจริญเติบโตไปทางยอด รากเป็นรากอากาศ ใบมีลักษณะกลม แบนหรือร่อง ใบซ้อนสลับกัน ช่อดอกจะออกด้านข้างของลำต้นสลับกับใบ ช่อดอกยาวและแข็ง กลีบนอกและกลีบในมีรูปร่างคล้ายคลึงกัน โคนกลีบแคบ และไปรวมกันที่โคนเส้าเกสร กลีบดอกในล่างด้านใต้มีเดือยแหลมยื่นออกมาเป็นส่วนท้ายของปากกระเป๋า ปากกระเป๋าของแวนด้าเป็นแบบธรรมดาแบนเป็นแผ่นหนาแข็ง และพุ่งออกด้านหน้า รูปลักษณะคล้ายช้อน หูกระเป๋าทั้งสองข้างแข็งและตั้งขึ้น สีดอกมีมากมายแตกต่างกันตามแต่ละชนิด

กล้วยไม้สกุลแวนด้าพบในป่าตามธรรมชาติประมาณ 40 ชนิด มีกระจายพันธุ์อยู่ในทวีปเอเชีย ตั้งแต่อินเดีย ศรีลังกา พม่า ไทย อินโดนีเซีย จนถึงฟิลิปปินส์ แวนด้าได้รับการปรับปรุงสายพันธุ์ขึ้นอีกหลายพันธุ์ ปัจจุบันได้มีการจำแนกประเภทของแวนด้า โดยอาศัยรูปร่างลักษณะของใบออกเป็น 4 ประเภท คือ
1.แวนด้าใบกลม มีลักษณะของใบกลมยาวทรงกระบอก ต้นสูง ข้อห่าง สังเกตได้ที่ใบติดอยู่ห่างๆ กัน มีดอกช่อละหลายดอก แต่ดอกจะบานติดต้นอยู่คราวละ 2–3 ดอกเท่านั้น เมื่อดอกข้างบนบานเพิ่มขึ้น ดอกข้างล่างจะโรยไล่กันขึ้นไปเรื่อยๆ การปลูกใช้ดอกจึงนิยมปลิดดอกมากกว่าตัดดอกทั้งช่อ
2.แวนด้าใบแบน ลักษณะใบแผ่แบนออก ถ้าตัดมาดูหน้าตัดจะเป็นรูปตัววี มีข้อถี่ปล้องสั้น ใบซ้อนชิดกัน ปลายใบโค้งลงและจักเป็นแฉก

3.แวนด้าใบร่อง มีรูปทรงของใบและลำต้นคล้ายใบแบนมากกว่าใบกลม แวนด้าประเภทนี้ไม่พบในป่าธรรมชาติ การนำมาปลูกเลี้ยงเป็นพันธุ์ลูกผสมทั้งสิ้น โดยนำแวนด้าใบกลมมาผสมกับแวนด้าใบแบน
4.แวนด้าก้างปลา มีรูปทรงของใบและลำต้น กิ่งใบกลมกับใบแบน พบตามป่าธรรมชาติน้อยมาก เพราะกล้วยไม้พันธุ์นี้เป็นหมันทั้งสิ้น

ในบรรดาแวนด้าทั้ง 4 ประเภทนี้ แวนด้าใบกลมเป็นแวนด้าที่เลี้ยงง่ายที่สุด สามารถปลูกลงแปลงกลางแจ้งได้โดยไม่ต้องมีโรงเรือน แต่ดอกมักจะบานไม่ทน ส่วนที่เลี้ยงยากที่สุดคือ แวนด้าใบแบน มีหลายพันธุ์ ทั้งดอกใหญ่และดอกเล็ก แต่ที่ได้รับความนิยมได้แก่ ฟ้ามุ่ย เพราะดอกใหญ่ สีสวย การเลี้ยงแวนด้าใบแบนจำเป็นต้องมีโรงเรือนเพราะต้องการแสงที่พอเหมาะ สำหรับแวนด้าใบร่องเป็นลูกผสมระหว่างใบกลมและใบแบน ถูกผสมขึ้นเพื่อให้ปลูกเลี้ยงง่ายขึ้น แต่ดอกมักจะสีไม่สวยและปากหักง่าย

ชื่อไทย : เอื้องโมก เอื้องโมกกุหลาบ เอื้องฝักโมก เอื้องเทียน พึง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Papilionanthe teres ( Roxb.) Schitr.
ลักษณะทั่วไป : เป็นกล้วยไม้ป่าพื้นเมืองของไทย พบเกาะอาศัยเลื้อยอยู่ตามต้นไม้สูง มีลำต้นกลมขนาดเท่าดินสอ จัดเป็นแวนด้าใบกลมพันธุ์แท้ ใบกลมยาวประมาณ 10 เซนติเมตร ก้านช่อดอกยาว มีดอกน้อย กลีบนอกสีขาวหรือชมพูม่วง กลีบในใหญ่กว่ากลีบนอก มีรูปเกือบเป็นวงกลม ขอบหยิกเป็นคลื่น ปากมีสามแฉกสีเหลืองมีสีแดงด้านในหูปากม้วนหุ้มเส้าเกสร ปลายปากสีม่วงชมพูเหลือง ขนาดของดอกแตกต่างกันตามชนิดพันธุ์ โดยเฉลี่ยประมาณ 7–10 เซนติเมตร
ช่วงออกดอก : เกือบตลอดปี
แหล่งที่พบในประเทศไทย : พบตามป่าเบญจพรรณเกือบทุกภาค ยกเว้นภาคตะวันออก
เขตการกระจายพันธุ์ : อินเดียตอนบน เนปาล สิกขิม ภูฏาน พม่า จีน และเวียดนาม
สถานภาพ : ไม่มีข้อมูล

ชื่อ : แวนด้าฮุกเคอเรียน่า
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Vanda hookerriana
ลักษณะทั่วไป :  จัดเป็นแวนด้าใบกลมพันธุ์แท้ ลักษณะลำต้นกลม ใบกลมคล้ายแวนด้าเอื้องโมกข์ แต่ใบเล็กแหลมปลายตัดขนาดลำต้นสูงตั้งแต่ 1 เมตรขึ้นไป ช่อดอกออกใกล้ยอด ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร ออกดอกตั้งแต่ 3–5 ดอกต่อช่อ กลีบนอกบนสีขาวอมม่วงเป็นรูปไข่กลับ กลีบดอกคู่ล่างสีขาวล้วน กลีบในรูปไข่ขอบหยักสีขาวเหลือบม่วงประจุดสีม่วงแก่ ปาก 3 แฉกสีม่วงมีเส้นสีอ่อน เส้าเกสรกลมสีม่วง ดอกใหญ่ขนาดประมาณ 7 เซนติเมตร
ช่วงออกดอก : ไม่มีข้อมูล
แหล่งที่พบและการกระจายพันธุ์ : เป็นกล้วยไม้ที่มีถิ่นกำเนิดทางภาคใต้ของประเทศไทย
สถานภาพ : ไม่มีข้อมูล

ชื่อไทย : ฟ้ามุ่ย
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Vanda coerulea Griff
ลักษณะทั่วไป : เป็นกล้วยไม้แวนด้าใบแบนที่มีถิ่นกำเนิดทางภาคเหนือของไทย ลักษณะของใบค่อนข้างกว้างกว่าใบของแวนด้าชนิดอื่น ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร กว้าง 2.5 เซนติเมตร ใบซ้อนเรียงสลับกัน ช่อดอกตั้งตรงยาวประมาณ 20–50 เซนติเมตร ออกดอก 5–15 ดอก ดอกสีฟ้าอ่อนจึงถึงฟ้าแก่ มีลายเป็นตารางสีฟ้าแก่กว่าสีพื้น ปากเล็กหูปากแคบโค้ง ปลายมนที่ปลายมี 2 ติ่ง เส้าเกสรเบื้องบนสีขาว ขนาดดอกใหญ่ประมาณ 7–10 เซนติเมตร ดอกขนาดใหญ่และบานทนนาน ออกดอกเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม
ช่วงออกดอก : กรกฎาคม – ธันวาคม
แหล่งที่พบในประเทศไทย : ป่าดิบเขาทางภาคเหนือ
เขตการกระจายพันธุ์ : อินเดีย พม่า และจีน
สถานภาพ : ไม่มีข้อมูล

ชื่อไทย : เอื้องสามปอยแพะ สามปอยชมพู เอื้องนกน้อย
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Vanda bensonii Bateman
ลักษณะทั่วไป :    เป็นกล้วยไม้แวนด้าใบแบน มีลักษณะใบซ้อนเรียงสลับกัน ช่อดอกตั้งและยาวประมาณ 50 เซนติเมตร ช่อหนึ่งมี13–15 ดอก ดอกสีน้ำตาล มีลายสมุกคล้ายฟ้ามุ่ย กลีบดอกหนาขอบกลีบเป็นคลื่น ด้านหลังกลีบและกระเป๋าเป็นสีชมพู ดอกห่าง รูปดอกโปร่ง ขนาด 4.4 เซนติเมตร
ช่วงออกดอก : เมษายน – พฤษภาคม
แหล่งที่พบในประเทศไทย : ตามป่าดิบเขาทางภาคเหนือ
การกระจายพันธุ์ : เมียนมาร์และไทย
สถานภาพ : ไม่มีข้อมูล
ชื่อไทย : สามปอยขุนตาน สามปอยหลวง สามปอยขวา
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Vanda denisoniana Bens.Rchb.f.
ลักษณะทั่วไป :      เป็นกล้วยไม้แวนด้าใบแบน มีถิ่นกำเนิดทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ช่อดอกออกด้านข้างไม่ตั้งตรง ช่อดอกสั้น มีดอกประมาณ 5–7 ดอกต่อช่อ รูปดอกโปร่ง กลีบดอกหนาแข็ง ไม่ค่อยซ้อน ดอกมีสีเหลือง บางต้นสีเหลืองเข้ม บางชนิดมีประจุดสีน้ำตาลอยู่ที่โคนกลีบ กลีบหนาแข็งคล้ายดอกไม้เทียน ดอกขนาด 6-7 เซนติเมตร มีกลิ่นหอมอ่อนๆ
ช่วงออกดอก : มีนาคม – พฤษภาคม
แหล่งที่พบในประเทศไทย : พบตามป่าดิบหรือป่าเบญจพรรณในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
การกระจายพันธุ์ : พม่า จีน และเวียดนาม
สถานภาพ : ไม่มีข้อมูล

ชื่อไทย : กล้วยไม้หางปลา เข็มขาว
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Vanda lilacina Teijsm.& Binn
ลักษณะทั่วไป :  เป็นกล้วยไม้แวนด้าใบแบน มีถิ่นกำเนิดทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ภาคกลางตอนบน ใบรูปแถบเรียงสลับ ปลายใบหยักเป็นฟัน ออกดอกที่ข้างลำต้น มีหลายช่อ ยาว 12-15 ซม. ช่อดอกค่อนข้างโปร่ง ดอกขนาด 1.5-2 ซม. กลีบดอกสีขาวรูปแถบแกมรูปไข่กลับ กลีบปากมีลักษณะเป็นถุงขนาดเล็ก ปลายแผ่เป็นแผ่นสั้นผายออก มีจุดขนาดเล็กสีม่วงหนาแน่น ปลายเส้าเกสรสีเหลือง
ช่วงออกดอก : มกราคม- มีนาคม
แหล่งที่พบในประเทศไทย :  ไม่มีข้อมูล
การกระจายพันธุ์ : เมียนม่าร์
สถานภาพ : ไม่มีข้อมูล

ชื่อไทย : แวนด้าไตรคัลเลอร์
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Vanda tricolor
ลักษณะทั่วไป :  ใบมีลักษณะยาวเป็นคลื่นกว้าง 4 เซนติเมตร ยาวประมาณ 40 เซนติเมตร ช่อดอกโค้งยาวประมาณ 25 เซนติเมตร มีดอกประมาณ 5–10 ดอกต่อช่อ กลีบนอกและกลีบในสีเหลืองอมขาว มีจุดสีน้ำตาลอมแดง ปากเป็นแฉก หูปากเล็กแผ่นปากสีม่วง
ช่วงออกดอก : ไม่มีข้อมูล
แหล่งที่พบและการกระจายพันธุ์ : เป็นกล้วยไม้แวนด้าพื้นเมืองของชวา
สถานภาพ : ไม่มีข้อมูล

ชื่อไทย : แวนด้าเดียรีอิ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Vanda dearei
ลักษณะทั่วไป :  จัดเป็นแวนด้าประเภทใบแบน มีลักษณะของลำต้นอ้วนใหญ่ ใบกว้างและบิดเล็กน้อย ช่อดอกสั้นมีดอกน้อย กลีบนอกและกลีบในกว้าง แข็งหนา เนื้อละเอียด ดอกสีเหลืองนวลสะอาด หูปากสองข้างเล็กขาว โคนแผ่นปากสีขาว ปลายสีเหลือง ดอกมีกลิ่นหอม แวนด้าชนิดนี้มีบทบาทสำคัญในการผสมปรับปรุงพันธุ์ที่ให้ลูกผสมไปทางสีเหลือง โดยใช้ผสมพันธุ์ควบคู่กับแวนด้าแซนเดอเรียน่า
ช่วงออกดอก :ไม่มีข้อมูล
แหล่งที่พบและการกระจายพันธุ์ : เป็นกล้ายไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในหมู่เกาะบอเนียว
สถานภาพ : ไม่มีข้อมูล


ชื่อไทย : แวนด้าอินซิกนิส
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Vanda insignis
ลักษณะทั่วไป :  จัดเป็นแวนด้าประเภทใบแบน ใบยาวประมาณ 15–20 เซนติเมตร ช่อดอกไม่ยาว มีดอกประมาณ 4–7 ดอก มีกลีบนอกและกลีบในห่างสีเหลืองอมเขียว มีจุดสีช๊อกโกแลต หูปากเล็กสีขาว แผ่นปากกว้างสีม่วงกุหลาบขนาดโตประมาณ 6 เซนติเมตร
ช่วงออกดอก : ไม่มีข้อมูล
แหล่งที่พบและการกระจายพันธุ์ : เป็นกล้วยไม้พื้นเมืองของเกาะโมลูกัส
สถานภาพ : ไม่มีข้อมูล

Leave a comment