กล้วยไม้สกุลกุหลาบ Aerides

กล้วยไม้สกุลกุหลาบ (Aerides) เป็นกล้วยไม้ที่พบตามธรรมชาติในป่าทั่วทุกภาคของประเทศไทยและประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเกาะอาศัยอยู่ตามต้นไม้ อาจขึ้นเป็นต้นเดียวโดดๆ หรือขึ้นเป็นกลุ่มใหญ่ มีการเจริญเติบโตแบบฐานเดี่ยว บางต้นมียอดเดียว บางต้นแตกเป็นกอ มีหลายยอด เมื่อต้นสูงหรือยาวขึ้นจะห้อยย้อยลงมา แต่ปลายยอดยังคงชี้ขึ้นข้างบน ช่อดอกส่วนใหญ่โค้งปลายช่อห้อยลงมา รากเป็นระบบรากอากาศ ดอกมีขนาดปานกลาง มักมีกลิ่นหอม มีเดือยดอกเรียวแหลมหรือปลายงอนออกมาทางด้านหน้าของดอก ซึ่งเป็นลักษณะที่แตกต่างกับกล้วยไม้ชนิดอื่นๆ กลีบดอกผึ่งผายสวยงามสะดุดตา เป็นกล้วยไม้ที่เลี้ยงง่าย มีบทบาทสำคัญในการผสมพันธุ์เพื่อการปรับปรุงพันธุ์ สามารถผสมในสกุลเดียวกัน และผสมข้ามสกุลต่างๆ เช่น ผสมกับสกุลแวนด้าเป็นสกุลแอริโดแวนด้า (Aeridovanda) ผสมกับสกุลช้างเป็นสกุลแอริโดสไตลิส (Aeridostylis) สำหรับกล้วยไม้สกุลกุหลาบที่พบตามธรรมชาติในประเทศไทยมีดังนี้

ชื่อ : กุหลาบกระเป๋าปิด, เอื้องกุหลาบพวง, เอื้องกุหลาบป่า, เอื้องคำสบนก, เอื้องด้ามขาว, เอื้องปากเป็ด
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aerides falcate lindl. & Paxton
ลักษณะทั่วไป : กุหลาบกระเป๋าเปิดเป็นกล้วยไม้ชนิดเดียวในสกุลกุหลาบที่ส่วนปลายปากแคบกว่าหู และทั้ง 2 ส่วนพับขึ้นมาปิดเส้าเกสรไว้ นอกจากนี้ยังพบในลาว กุหลาบกระเป๋าปิดมีลำต้นบิดเป็นเกลียวเล็กน้อย ต้นห้อยย้อยลง มักแตกแขนงเป็นหลายยอด ต้นอาจยาวถึง 1 เมตรครึ่ง ใบยาวประประมาณ 15-25 เซนติเมตร กว้าง 2-3 เซนติเมตร เรียงสลับซ้ายขวา ปลายใบหยักไม่เท่ากัน ใบค่อนข้างบางไม่แข็งทื่อ ขอบใบบิดเล็กน้อย โคนใบหุ้มต้นช่อดอกยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตรและห้อยลง แต่ละช่อมีประมาณ 30 ดอก แต่ละดอกกว้างประมาณ 3 เซนติเมตร กลีบดอกเป็นสีขาว ปลายกลีบเป็นสีม่วงอมแดงอ่อนๆ ส่วนปลายปากเป็นสีม่วง เดือยดอกโค้งงอนขึ้นคล้ายเขาดอกมีกลิ่นหอมเหมือนกลิ่นดอกกุหลาบและบานนานประมาณ 1-2 สัปดาห์ สำหรับกุหลาบกระเป๋าปิดที่พบทางภาคเหนือ จะมีลักษณะแตกต่างออกไปเล็กน้อย คือต้นจะตั้งตรงและบิดน้อยกว่า ใบสั้นกว่าและหนากว่า ก้านส่งช่อดอกแข็งทำให้ช่อดอกโค้งลงเพียงเล็กน้อย
ช่วงออกดอก : เมษายน – พฤษภาคม
แหล่งที่พบในประเทศไทย : พบทั่วทุกภาคของประเทศไทย
การกระจายพันธุ์ : กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซียฟิลิปปินส์ พม่า อินเดีย เนปาล และภูฎาน
สถานภาพ:

–                    พืชอนุรักษ์บัญชีที่ 2 ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พุทธศักราช 2518

–                    ของป่าหวงห้ามตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484

ชื่อ : กุหลาบเหลืองโคราช, เอื้องกุหลาบโคราช
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aerides houlettiana Rchb. f
ลักษณะทั่วไป :  กุหลาบเหลืองโคราชมีลักษณะดอกคล้ายกุหลาบกระเป๋าเปิด แต่มีพื้นกลีบเป็นสีเหลืองแทนที่จะเป็นสีขาว ดอกมีกลิ่นคล้ายกลิ่นตะไคร้ ความยาวของใบและของช่อดอกจะสั้นกว่ากุหลาบกระเป๋าเปิด จุดเด่นของกุหลาบเหลืองโคราชอยู่ตรงที่มีสีเหลือง ในแต่ละต้นจะมีความผิดเพี้ยนกันไป คือ อาจมีสีเหลืองเข้ม เหลืองอ่อน หรือบางต้นแทบไม่มีสีเหลืองเลย ในการคัดพันธุ์ควรเลือกสีเหลืองเข้มเป็นหลัก เพราะกล้วยไม้สกุลนี้ในประเทศไทยมีชนิดนี้เพียงชนิดเดียวที่ดอกมีสีเหลือง ยาว 12-30 ซม. ใบขนาด 12-16 x2.5-3 ซม. มีกลิ่นหอม คล้ายเอื้องกุหลาบกระเป๋าปิด แต่กลิ่นอ่อนกว่า กล้วยมไชนิดนี้ปลูกเลี่ยงง่าย และให้ดอกได้ดีเช่นกัน
ช่วงออกดอก : ประมาณเดือนเมษายน – พฤษภาคม
แหล่งที่พบในประเทศไทย : ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
เขตการกระจายพันธุ์ : อินโดจีน
สถานภาพ :

–                    พืชอนุรักษ์บัญชีที่ 2 ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พุทธศักราช 2518

–                    ของป่าหวงห้ามตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484

ชื่อ : เอื้องกุหลาบแดง, เอื้องกุหลาบ, ช้าง, เอื้องฟ้าห้ำ, กุหลาบแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aerides crassifolia C.S.P. Parish ex Burb.
ลักษณะทั่วไป :  กุหลาบแดงเป็นกุหลาบที่มีเดือยดอกยาวเห็นได้ชัดเจน เดือยงอนขึ้นและไม่ซ่อนตัวอยู่ใต้ปลายปาก ใบยาวประมาณ6-12 เซนติเมตร กว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร ต้นสูง 10-12 เซนติเมตร ใบหนา ผิวใบอาจย่นมากหรือน้อย โดยย่นตามขวางของใบ มีช่อดอกสั้น ช่อหนึ่งมีประมาณ 10 ดอกเท่านั้น ดอกมีสีม่วงแดง การจัดระเบียบดอกในช่อไม่งดงามเหมือนกล้วยไม้กุหลาบชนิดอื่น มีกลิ่นหอมอ่อนๆเป็นกล้วยไม้ที่มีลักษณะสวยงานและใหญ่กว่าเอื้องกุหลาบชนิดอื่นๆแต่ปลูกเลี่ยงค่อนค่างยากในภาคกลาง
ช่วงออกดอก : ประมาณเดือนเมษายน – มิถุนายน
แหล่งที่พบในประเทศไทย : ขึ้นตามไม้ใหญ่ในป่าดิบแล้ง หรือป่าผลัดใบในเกือบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้
เขตการกระจายพันธุ์ : พม่า ไทย เวียดนาม ลาว
สถานภาพ :

–                    พืชอนุรักษ์บัญชีที่ 2 ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พุทธศักราช 2518

–                    ของป่าหวงห้ามตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484

ชื่อ : กุหลาบอินทจักร  เอื้องสามปอยลิง(เชียงใหม่)  เอื้องนางเมขลา(นครสวรรค์) เอื้องนกพิหลาบ,เอื้องอัยราวัณ,เอื้องกุหลาบน่าน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aerides flabellata Rolfe ex Downie
ลักษณะทั่วไป :  กุหลาบอินทจักรเป็นกุหลาบเดือยยาวชนิดเดียวที่ฝาครอบอับเรณูกว้างและมนซึ่งชนิดอื่นจะแหลมเป็นปากกาเป็นกล้วยไม้อิงอาศัย กุหลาบอินทจักรมีก้านช่อดอกค่อนข้างแข็ง ช่อดอกตั้ง ออกดอก 5-10 ดอก กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีลักษณะคล้ายกัน สีเขียวอมเหลืองและมีแต้มสีน้ำตาลอมม่วง กลีบปากเป็น 3 หยัก สีขาวมีจุดสีชมพูอมม่วง ขอบจักเป็นฟันเลื่อย กลีบดอกหนาและแผ่บาน ปากดอกสีขาวมีแต้มสีม่วง ริมปากมียักเล็กน้อยและโค้งขึ้นมาด้านหน้า มีกลิ่นหอม มีเดือยดอกยามลงมาข้างล่างเล็กน้อย ดอกขนาด 2-3 เซนติเมตร    จุดเด่นของกุหลาบชนิดนี้อยู่ที่เดือยยาวและงอน จนปลายเดือยชี้กลับเข้าไปหาตัวดอก อาจเรียกว่า กล้วยไม้เดือยงาม ก็ได้
ช่วงออกดอกประมาณ : ประมาณเดือนเมษายน – พฤษภาคม
แหล่งที่พบเทศไทย: ในประเทศไทยพบเฉพาะทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
และการกระจายพันธุ์ : พม่า ลาว และมณฑลยูนานของจีน
สถานภาพ :

–                    พืชอนุรักษ์บัญชีที่ 2 ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พุทธศักราช 2518

–                    ของป่าหวงห้ามตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484

ชื่อ : เอื้องกุหลาบน่าน, เอื้องกุหลาบเอราวัณ, เอื้องกุหลาบไอยราวัณ, เอื้องกุหลาบไอราวัณ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aerides rosea Lodd. ex Lindl. & Paxton
ลักษณะทั่วไป :  กุหลาบน่านเป็นพวกที่มีเดือยดอกสั้นมาก เห็นเป็นตุ่มขนาดใหญ่ สูง 30-60 ซม. มีปลายปากเป็นรูปสามเหลี่ยมชัดเจน ปลายใบหยักกลางแต่หยักไม่เท่ากัน กว้าง 3-5 ซม. ยาว 15-20 ซม. กุหลาบน่านช่อดอกมีก้านส่งแข็ง ชี้เฉียงลง แต่ส่วนช่อที่ติดดอกจะโค้งห้อยลง ถ้าต้นสมบูรณ์ ช่อดอกจะแตกแขนง ดอกเบียดกันแน่นช่อ ดอกใหญ่ประมาณ 2-3 เซนติเมตร กลีบดอกสีขาว มีแต้มสีม่วงแดง ที่ปลายกลีบมีจุม่วงแดงประปราย ปากสีม่วงแดง มีกลิ่นหอมอ่อนๆดอกบานทนทานหลายวัน ลักษณะช่อดอกคล้ายมาลัยแดงมาก แต่กุหลาบน่านช่อดอกจะค่อนข้างโปร่งกว่า ดอกสีชมพู แต่ไม่เป็นสีชมพูอมแดงอย่างมาลัยแดง
ช่วงออกดอก : ประมาณเดือนเมษายน – พฤษภาคม
แหล่งที่พบในประเทศไทย : พบตามป่าดิบเขาทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
และการกระจายพันธุ์ : ไทย ภูฎาน อินเดีย พม่า ลาว เวียดนาม และมณฑลยูนานของจีน
สถานภาพ :

–                    พืชอนุรักษ์บัญชีที่ 2 ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พุทธศักราช 2518

–                    ของป่าหวงห้ามตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484

ชื่อ : มาลัยแดง, เอื้องพวงมาลัย ,พวงมาลัย, เอื้องอัยเรศ (กรุงเทพมหานคร), เอื้องนกน้อย, เอื้องเป็ดน้ำ(เชียงใหม่) , เอื้องพวงมาลัย, เอื้องหางจ้อน(แม่ฮ่องสอน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aerides multiflora Roxb.var multiflora
ลักษณะทั่วไป :  กุหลาบมาลัยแดงมีลักษณะดอกคล้ายกุหลาบน่าน แตกต่างกันที่ปลายปาก คือ ปากของกุหลาบน่านเป็นรูปสามเหลี่ยม แต่ปากของกุหลาบมาลัยแดงเป็นรูปหัวใจ ปลายสุดของปากป้านและหยักกลางกุหลาบมาลัยแดงมีลำต้นแข็งแรง ใบหนาโค้ง ซ้อนกันถี่ สูง 5-15 ซม. ใบกว้างประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร ยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร ช่อดอกโค้งห้อยยาวประมาณ 20-30เซนติเมตร ก้านช่อมักมีสีคล้ำเกือบดำ ออกดอกเบียดชิดกันแน่นช่อ โดยทั่วไปจะมีกลีบดอกสีม่วงแดง มักจะมีสีจางจนถึงขาวที่โคนกลีบ และสีจะเข้มขึ้นจนสุดที่ปลายกลีบช่อดอกจะแตกแขนงถ้าเลี้ยงให้สมบูรณ์และอากาศเย็น ก้านดิกสั้นกว่าเอื้องกุหลาบชนิดอื่นๆ กลิ่นหอมคล้ายกุหลาบกระเป๋าเปิด แต่กลิ่นไม่ฟุ้งกระจาย ต้นที่ดอกมีสีขาวล้วนเรียกว่า “มาลัยเผือก”
ช่วงออกดอก : ประมาณเดือนเมษายน – พฤษภาคม
แหล่งที่พบในประเทศไทย : ขึ้นตามป่าดิบแล้งและป่าผลัดใบในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
และการกระจายพันธุ์ : ประเทศเนปาล สิกขิม ภูฎาน อินเดีย พม่า ลาว กัมพูชา และอินโดจีน
สถานภาพ :

–                    พืชอนุรักษ์บัญชีที่ 2 ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พุทธศักราช 2518

–                    ของป่าหวงห้ามตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484

ชื่อ : กุหลาบกระบี่, เอื้องกุหลาบพวงชมพู, เอื้องกุหลาบกระบี่, กระบี่ธุช
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aerides krabiense Seidenf.
ลักษณะทั่วไป :  กุหลาบชมพูกระบี่มีขนาดเล็กมากเมื่อเปรียบเทียบกับกล้วยไม้ชนิดอื่นๆ ในสกุลกุหลาบที่พบในประเทศไทย เป็นกุหลาบที่ต้นมักแตกเป็นกอ ใบแคบหนา โค้งงอและห่อเป็นรูปตัววี ปลายใบแหลม กว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 6-12เซนติเมตร ผิวใบมีจุดประสีม่วงแดงอยู่ทั่วไปและปรากฏมากขึ้นเมื่อถูกแดดจัดหรืออากาศแห้งแล้งเช่นเดียวกับใบเข็มแดง  ช่อดอกยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร ช่อเอนขนานไปกับใบ ปลายช่อโค้งลง บางต้นพบช่อดอกแตกแขนงด้วย มีเดือยดอกสั้นมาก ปลายปากกว้างมน ดอกมีพื้นขาว มีจุดประสีม่วงแดง หรือชมพูเข้มกลางแผ่นปากมีสีแดงเข้ม ดอกคล้ายกุหลาบมาลัยแดง หรือกุหลาบน่าน จุดสังเกตที่เด่นชัดคือลักษณะของปลายปากที่แตกต่างกัน คือ กุหลาบน่านปลายปากเป็นรูปสามเหลี่ยมชัดเจน กุหลาบมาลัยแดงปลายปากป้านและหยักกลาง ส่วนกุหลาบชมพูกระบี่ปลายปากกว้างและมน
ช่วงออกดอก : ประมาณเดือนเมษายน –  พฤษภาคม
แหล่งที่พบในประเทศไทย: ขึ้นตามผาหินปูนทางภาคใต้ ปัจจุบันค่อนค้างน้อยมาก
และการกระจายพันธุ์ : มาเลเซีย
สถานภาพ :

–                    พืชอนุรักษ์บัญชีที่ 2 ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พุทธศักราช 2518

–                    ของป่าหวงห้ามตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484

Leave a comment