สานต่อ..แผ่นดิน..ถิ่นผาตั้ง จ.เชียงราย

แวะเวียน….เที่ยวเชียงรายก็หลายครั้ง

แต่ครั้งนี้... โบว์ตั้งใจเป็นพิเศษที่จะออกเดินทางท่องเที่ยว และเรียนรู้ตามรอย “พ่อ” ที่ดอยผาตั้ง จ.เชียงราย กับเป้าหมายที่ตั้งใจ นั่นคือ

1. เก็บภาพพระอาทิตย์ขึ้น และทะเลหมอกสวยๆ บนดอยผาตั้ง

2. ชมวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวไทยเชื้อสายจีนยูนาน

3. เก็บเรื่องราวและโรงเรียน (โครงการหลวง) ของพ่อ ณ พื้นที่แห่งนี้

เมื่อใจพร้อมกายพร้อม ก็เก็บกระเป๋าเดินทางกันค่ะ

จากกรุงเทพฯ บินตรงมาเชียงราย ใช้เวลาชั่วโมงเศษๆ
แต่จากสนามบินเชียงรายไป – อ.เวียงแก่นนี่สิ่!!  ใช้เวลาเกือบ 3 ชั่วโมง ! ! !  
ก็เส้นทางที่คดเคี้ยว โค้ง เขาเล่นเอาใครไม่ชินทางก็อาจจะเมารถก็เป็นได้

การเดินทางไปดอยผาตั้ง เราใช้เส้นทาง เชียงราย – เวียงชัย – พญาเม็งราย – บ้านต้า – ก็จะถึงดอยผาตั้ง

หรือจะขยายกว้างๆ ก็ตามนี้เลยค่ะ จากจังหวัดเชียงราย ใช้เส้นทางเชียงราย-เวียงชัย –พญาเม็งราย –บ้านต้า (ทางหลวงหมายเลข 1233, 1173 และ 1152) ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร บ้านต้า – บ้านท่าเจริญ (ทางหลวง 1020 ) ระยะทางประมาณ 45 กิโลเมตร บ้านท่าเจริญ – เวียงแก่น – ปางหัด (ทางหลวงหมายเลข 1155 ) ระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร


และปางหัด – ดอยผาตั้ง ระยะทางอีกประมาณ 15 กิโลเมตร …. รวมระยะทางที่ขับอย่าง slow life แล้วก็ 3 ชั่วโมง กำลังดีค่ะ ....    

ดอยผาตั้งมีที่พักให้เลือกหลากหลายพอดูค่ะ ดูจากป้ายโฆษณาตลอดสองข้างทางเมื่อมาถึง ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีที่พักค่ะ แต่ถ้าช่วงเทศกาล ก็ควรจะจองที่พักแต่เนิ่นๆนะคะ

โบว์เลือกพักใกล้ๆ จุดชมวิว เพื่อให้ง่ายแก่การตื่นเช้าตรู่ในวันพรุ่งนี้ ก็ที่นี่เลยค่ะ ผาตั้งฮิลล์ รีสอร์ท  

คุณลุงมณฑล เจ้าของที่นี่ เขาใจดี ยินดีให้บริการ ที่สำคัญ คือ ใกล้ดอยผาตั้งเอามากๆ

เพียง 10 นาที เราก็ถึงจุดจอดรถที่ตีนดอยผาตั้งแล้วล่ะค่ะ 

สอบถามข้อเพิ่มเติมได้ที่  คุณลุงมณฑล ศิริพงศ์กุล หรือ ลุงตี๋ โทร. 08 1162 7450

ดอยผาตั้ง ผู้คนส่วนใหญ่จะถือสัญชาติไทย เชื้อสายจีนยูนาน กันเสียส่วนใหญ่ค่ะ
เพราะว่ากันว่าผู้คนที่นี่คือคนจีนเชื้อสายจีนยูนานที่แพ้ภัยสงครามในประเทศของตัวเองเมื่อ 40 ปีก่อน สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่2  ที่มีการสู้รบกันระหว่างรัฐบาลจีนกับพรรคคอมมิวนิสต์ ท้ายที่สุดกองกำลังทหารของรัฐบาลเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ต่อกำลังทหารของพรรคคอมมิวนิสต์ จึงอพยพมาอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 

ด้วยเพราะบริเวณนี้ เป็นเขตพื้นที่ตะเข็บชายแดน จึงมีผู้คนจำนวนไม่น้อยจากทั่วทุกสารทิศได้อพยพมาตั้งรกรากในประเทศไทยมากว่า 40 ปี ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารของพ่อของแผ่นดินค่ะ 

เพราะฉะนั้นอาหารที่ขึ้นชื่อของที่นี่ ก็ไม่พ้น อาหารจีนยูนานค่ะ

พระเอกของมื้อนี้เห็นจะเป็น ขาหมู หมั่นโถ   ส่วนนางเอก ก็จะเป็นบรรดาเมนูผักสดๆ จากศูนย์พัฒนาโครงการหลวงผาตั้ง  รสชาติจะอร่อยถูกปากขนาดไหน บอกได้เลยว่า ถ้าไปที่ดอยผาตั้งไม่ว่าจะไปนั่งร้านไหนเขาก็มีให้ลองชิมค่ะ

ทราบที่พัก รู้ที่กินกันแล้ว ก็ได้เวลาที่ทุกคนรอคอย… กับการขึ้นดอยผาตั้ง

และหากอยากมีไกด์แนะนำเส้นทางพร้อมบอกเล่าประวัติความเป็นมาของแต่ละจุด 
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว จะมีน้องมัคคุเทศก์ไว้คอยบริการ พร้อมเป็นเพื่อนเดินทางไปกับเราด้วยค่ะ
ติดต่อสอบถามได้ที่ คุณสุรชาติ คำแปง  นักวิชาการศึกษาองค์การบริหารส่วนตำบลปอ
โทร. 08 6184 8992  / 09 3131 4176

โบว์เองก็ได้เพื่อนร่วมเดินทางมา 1 คน
เธอชื่อน้องมายด์ เป็นลูกครึ่งเนปาลกับจีนยูนาน 
ระหว่างทางอยากจะรู้อะไรก็ถามน้องมายด์ได้ตลอดเส้นทางค่ะ

โบว์พร้อม เพื่อนพร้อม ข้อมูลพร้อม เริ่ม !!!

ช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการเก็บภาพประทับใจ สายหมอก และแสงแรกจากดวงอาทิตย์

แนะนำว่าควรตื่นแต่ตีสี่ ตีห้าออกเดินทางจากที่พัก เตรียมตัวขึ้นไปตั้งกล้องรอคอยกันเสียเนิ่นๆ ค่ะ

“จุดชมวิว 102” 

เป็นเนินดินสูงขึ้นไป ไต่ระดับขั้นบันไดเดินขึ้นไปไม่ลำบากมาก เหนื่อยกำลังพอดี
แต่เชื่อเถอะค่ะ พอขึ้นไปถึงเนิน 102  เราจะหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง

ด้วยความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,635 เมตร  มีลำน้ำโขงกั้นกลางระหว่างไทย-ลาว 

ทุกๆ เช้าจะมีสายหมอกฟูฟ่องล่องลอย สามารถดูวิวได้แบบพาโนราม่า บอกได้คำเดียวเลยว่าถ้าอยากเจอทะเลหมอก ขึ้นมาบนเนิน 102 แห่งนี้ไม่ผิดหวังแน่ๆ ค่ะ และที่สำคัญที่นี่ยังเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกได้ถึง 360 องศา เป็นอีกจุดท่องเที่ยวที่ห้ามพลาดจริงๆ ค่ะ 

เป้าหมายแรกของโบว์ที่ตั้งใจไว้ คือ การเก็บภาพพระอาทิตย์ขึ้น และทะเลหมอกสวยๆ บนดอยผาตั้ง ก็สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี เพียงแค่เราตื่นเช้าสักหน่อย ตั้งหลักให้พร้อม ประมาณไม่เกินหกโมงเช้า แสงพระอาทิตย์จะค่อยๆ โผล่ขึ้นจากเส้นขอบฟ้ากระทบเกลียวคลื่นสายหมอก บอกได้คำเดียวเลยว่า คุ้มค่ากับการเดินมาถึงจุดนี้ จุดที่เห็นพลังแห่งธรรมชาติแล้วหายเหนื่อยจริงๆ ค่ะ

อีกจุดหนึ่งที่สามารถชมวิวทะเลหมอกได้สวยไม่แพ้กัน คือ “จุดชมวิวช่องผาขาด” ซึ่งเดินจากจุดชมวิวเนิน 102 ไม่ไกลนักค่ะ 

ช่องผาขาด เป็นลักษณะเป็นผาหิน ที่ขาดแยกจากกัน
เมื่อเราอยู่ระหว่างช่องหินทั้งสอง แล้วมองลงไป จะเห็นทะเลหมอกขาวปุย ทิวทัศน์ประเทศลาว

และเส้นสายของแม่น้ำโขงได้ชัดเจน เป็นอีกจุดชมวิว และถ่ายภาพที่สวยอีกแห่งหนึ่งบนดอยผาตั้งค่ะ 

จากนั้นน้องมายด์พาโบว์ไปที่ “ประตูรักแห่งขุนเขา” หรือ “ประตูผาบ่อง” 

ที่เขาเล่าว่า…

รักแท้คือการเดินทางที่ต้องไปค้นพบ
ที่หินผาแข็งแกร่งที่นิ่งสงบนับล้านปี ถือเป็นแหล่งสะสมพลังงานบนโลกใบนี้
จะมีประตูรักแห่งขุนเขา ที่เต็มไปด้วยพลังรักอันบริสุทธิ์
ให้จับมือคนที่เรารักและก้าวข้ามไปด้วยกัน จะช่วยเสริมความรักให้แข็งแกร่งดั่งภูผา

รู้แบบนี้แล้วก็รีบจูงมือคนรู้ใจมาเที่ยวที่นี่กันนะจ๊ะ

ถัดจากช่องผาบ่องขึ้นไปอีกราว 15 เมตร จะเป็นเนินที่ประดิษฐานพระพุทธมังคลานุภาพลาภสุขสันติ และศาลาทรงเก๋งจีน  ซึ่งเป็น “อนุสรณ์สถานของนายพลหลี” ผู้นำทหารจีนคณะชาติในอดีต ภายในประดิษฐานบรมฉายาลักษณ์  พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อครั้งมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้นายพลหลี เหวินฮ้วนเข้าเฝ้า ณ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย 

ภายหลังจากที่นายพลหลีได้ร่วมส่งกำลังทหารยึดพื้นที่ดอยผาหม่น และดอยยาว คืนจากผู้ก่อการร้ายได้เป็นผลสำเร็จ ในโอกาสเดียวกันนายพลหลีได้ถวายหินที่ระลึกจากดอยผาหม่นแด่พระองค์ท่าน เพื่อแสดงว่า พื้นที่ดังกล่าวได้กลับคืนเป็นของคนไทยแล้วโดยสมบูรณ์

เชื่อว่าใครได้ไปยืน ณ จุดนี้ ต้องรู้สึกรักและหวงแหนบ้านของเรามากขึ้นแน่ๆ ค่ะ

จากเนินตรงนี้ เดินลงไปอีก 30 เมตร ก็จะพบทางขึ้นไปชม “ป่าหินยูนาน” ซึ่งเป็นหินรูปทรงลักษณะคล้ายภูเขาในประเทศจีนที่มีรูปทรงสูงๆ แปลกตาหลายแหลม ขึ้นสลับซับซ้อนสวยงามมากค่ะ 

เป้าหมายที่ 2 ของโบว์ที่มาเที่ยวครั้งนี้ คือ การเที่ยวชมวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวไทยเชื้อสายจีนยูนานอย่างลึกซึ้ง  โบว์เลยให้น้องมายด์พาไปเที่ยว ไปเดินถ่ายรูปเล่นกันในหมู่บ้านค่ะ 

ยังมีอีกหนึ่งเรื่องที่เจ้าบ้านเล่าให้โบว์ฟังอย่างภาคภูมิใจค่ะ
อย่างที่ได้บอกไป .. ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าต่างๆ แต่ก็ได้รับสัญชาติไทย และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานนามสกุลให้กับทุกคนในหมู่บ้าน โบว์รู้สึกประทับใจก็ตรงที่นามสกุลของพวกเขาจะคล้องจองกันหมดค่ะ เช่น ใจงามเลิศแท้ ใจมงคลเลิศดี ใจมีธรรมเลิศล้ำ ทุกคนในหมู่บ้านจึงมีหัวใจดวงเดียวกัน นั่นคือ หัวใจที่รักพ่อของแผ่นดิน และผืนแผ่นดินที่ให้พวกเขาได้อยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็น

และเป้าหมายอย่างสุดท้ายของการมาเยือนที่ผาตั้งแห่งนี้ คือ การตั้งใจมาเก็บเรื่องราวและโรงเรียนของพ่อ ณ พื้นที่แห่งนี้  ที่มีชื่อว่า “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงผาตั้ง”

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงผาตั้ง ทำหน้าที่พัฒนาอาชีพของเกษตรกร โดยการส่งเสริมและผลิตพืชผักเมืองหนาว
ไม้ผลเมืองหนาว และผลิตเมล็ดพันธุ์ผักอย่างจริงจัง เพื่อช่วยส่งเสริมและพัฒนาอาชีพแก่ชาวบ้าน 

ปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ และต้นน้ำให้คงสภาพสมบูรณ์

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงผาตั้ง โอบล้อมด้วยเทือกเขาดอยผาตั้งอันสูงใหญ่ และแปลงเกษตรที่ลดหลั่นเป็นขั้นบันได ถ้ามาในฤดูฝนได้สัมผัสบรรยากาศที่เขียวขจีและสายหมอกฝนลอย คลอเคลียตามไหล่เขา

หากมาเที่ยวในฤดูหนาวจะได้สัมผัสอากาศหนาวเย็น และได้ชมพืชพันธุ์และผักเมืองหนาวนานาชนิด ที่พลาดไม่ได้เห็นจะเป็นองุ่นพวงโตๆ ชวนให้ชิมค่ะ  

ถ้ามาในช่วงปลายเดือนธันวาคมก็จะพบ ดอกพญาเสือโคร่งบานสะพรั่งอีกด้วยค่ะ 

จากการที่ได้คุยกับหัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงผาตั้ง ทำให้นักท่องเที่ยวอย่างโบว์ได้รู้ว่า ที่นี่แห่งนี้เป็นดั่งโรงเรียนที่ทำให้เกษตรกรที่ได้เข้ามาเรียนรู้ สามารถทำการเกษตรอย่างถูกวิธี ทั้งความเหมาะสมกับสภาพอากาศ ดินที่ใช้ น้ำที่มี รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้ยังคงอยู่ควบคู่ไปกับการทำการเกษตร 

ทั้งการปลูกองุ่น ปลูกกาแฟ ปลูกอะโวคาโด ปลูกผักสลัด  

ชาวบ้านที่นี่ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นที่สำคัญ คือ ความยั่งยืนที่พ่อได้ให้กับพวกเขา และพวกเราค่ะ

ติดต่อสอบถามได้ที่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงผาตั้ง

หัวหน้าพันนุมาศ ทองกระจ่าง โทร. 08-6181-6675

 

การมาเที่ยวดอยผาตั้งในครั้งนี้ โบว์ได้ค้นพบว่า หมู่บ้านแห่งนี้เป็นมากกว่า จุดมองพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก  เพราะโบว์ได้สัมผัสและรับรู้ได้ว่า “พระอาทิตย์” ยังคงเฝ้ามองเราอยู่เสมอ   

หากมีเวลาหาวันหยุดมาพักผ่อน ลองมาสัมผัสดอยผาตั้ง  จังหวัดเชียงรายผืนแผ่นดินผืนนี้สักครั้งนะคะ  ผู้คนที่นี่ยินดีต้อนรับแขกที่มาเยือนเสมอค่ะ

 

ชมรายการเที่ยวไทยไม่ตกยุค ตอน สานต่อ..แผ่นดิน..ถิ่นผาตั้ง  จ.เชียงราย

ได้ที่นี่ค่ะ https://www.youtube.com/watch?v=0_hBU_5Mskw&t=1010s

 

ติดตามชมรายการเที่ยวไทยไม่ตกยุค

ทุกวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 15.30 – 16.00 น. ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส