พุดซ้อน ดอกไม้มงคลที่มาพร้อมสรรพคุณอันหลากหลาย

พุดซ้อน (Cape Jasmine) พุดซ้อนเป็นพันธุ์ไม้วงศ์ตระกูลเดียวกับต้นเข็มพวงขาว กระทุ่มและกาแฟ รวมไปถึงพุดชนิดอื่น ๆ โดยถิ่นกำเนิดเดิมของพุดซ้อนเข้าใจว่าอยู่ทางตอนใต้ของจีน แต่สามารถแพร่พันธุ์ขยายวงกว้างไปยังแถบบังกลาเทศ อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี พม่าและเวียดนามมาจนถึงประเทศไทย ซึ่งจะมีชื่อเรียกตามพื้นถิ่นแตกต่างกันไป อาทิ เก็ดถะหวา (ภาคเหนือ) และอินถะหวา (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)

พุดซ้อน

ข้อมูลทั่วไปของพุดซ้อน

ชื่อสามัญ: พุดซ้อน 

ชื่อภาษาอังกฤษ: Cape Jasmine, Gardenia jasmine 

ชื่อวิทยาศาสตร์: Gardenia jasminoides J.Ellis

วงศ์: RUBIACEAE

ความเชื่อ

พุดซ้อน ถือเป็นไม้ดอกที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน มักมีการนำมาใช้ในการร้อยพวงมาลัยถวายพระ ใช้เป็นเครื่องประกอบพิธีทางศาสนาหรือพิธีมงคลต่าง ๆ ดังนั้น จึงมีความเชื่อมาช้านานว่า พุดซ้อน เป็นต้นไม้มงคลที่หากใครปลูกไว้ในบ้านจะทำให้มีแต่ความความเจริญรุ่งเรือง อุดมสมบูรณ์ สุขภาพแข็งแรง ร่มเย็นเป็นสุข ไม่มีความเดือดเนื้อร้อนใจ คนในบ้านจะอยู่ในศีลธรรมอันดี เพราะคำว่า “พุด” มีความหมายว่า มั่นคง แข็งแรง สมบูรณ์ อีกทั้งต้น พุดซ้อน ยังเป็นไม้ประจำวันของผู้ที่เกิดวันพฤหัสบดีและสีขาวของดอกพุดยังเป็นสีที่จะช่วยเสริมดวงและนำโชคให้กับคนเกิดวันพฤหัสบดีด้วย

เคล็ดลับสำหรับผู้ที่สนใจอยากปลูกพุดซ้อนในบ้าน แนะนำว่าควรปลูกในทิศตะวันออกเฉียงเหนือและโบราณเชื่อว่าหากต้องการเสริมดวงเรื่องสุขภาพเป็นพิเศษควรให้ผู้ชายเป็นคนปลูกจะดีมาก

พุดซ้อน

ลักษณะทั่วไปของพุดซ้อน

โดยทั่วไปแล้วพุดซ้อนจะมีลักษณะทั่วไปคล้ายต้นพุดจีบและพุดกุหลาบในบางส่วน แต่จะแตกต่างกันที่ว่าพุดซ้อนจะไม่มีสีขาวอยู่ในต้นและใบเหมือนพุดจีบ ลำต้นแตกกิ่งก้านมาก ลำต้นและกิ่งก้านเป็นสีเขียว ใบขึ้นดกหนาทึบ ส่วนรากใต้ดินเป็นสีเหลืองอ่อน ซึ่งจากการศึกษาในเว็บไซต์ Wikipedia ก็ได้กล่าวถึงลักษณะของต้นพุดซ้อนอย่างละเอียดไว้ ดังต่อไปนี้

ต้นพุดซ้อน: มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน บ้างก็ว่าจัดเป็นพรรณไม้ดั้งเดิมของบ้านเรานี่เอง โดยจัดเป็นไม้พุ่มเตี้ยหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงได้ประมาณ 1-2 เมตร มีลักษณะทั่วไปคล้ายต้นพุดจีบ แต่จะแตกต่างกันที่ว่าพุดซ้อนจะไม่มีสีขาวอยู่ในต้นและใบเหมือนพุดจีบ ลำต้นแตกกิ่งก้านมาก ลำต้นและกิ่งก้านเป็นสีเขียว ใบขึ้นดกหนาทึบ ส่วนรากใต้ดินเป็นสีเหลืองอ่อน นิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตอนกิ่ง เนื่องจากเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด ต้องการแสงแดดจัดและความชื้นสูง หากปลูกในที่มีแสงแดดไม่เพียงพอจะทำให้ไม่ค่อยออกดอก และการตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่งจะช่วยทำให้ดอกมีขนาดใหญ่ขึ้นได้ โดยมักพบขึ้นในป่าดงดิบทางภาคเหนือ 

ใบพุด: พุดซ้อนเป็นไม้ที่ออกใบหนาแน่น ทำให้ดูทึบ โดยใบจะเป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามหรือประกอบเป็นใบ 3 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปมนรีหรือรูปหอก ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ เป็นขอบสีขาว ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 7-14 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบมันเป็นสีเขียวเข้ม เนื้อใบหนา ก้านใบสั้น มีหูใบ 2 อันอยู่ระหว่างก้านใบด้านละอัน ลักษณะของใบทั่วไปคล้ายใบพุดจีบ แต่จะแตกต่างกันตรงที่ไม่มียางสีขาวเท่านั้น 

ดอกพุดซ้อน: โดยมากแล้วจะออกดอกเป็นดอกเดี่ยว โดยจะออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ดอกมีขนาดใหญ่ ลักษณะของดอกคล้ายกับดอกพุดจีบ ดอกของพุดซ้อนจะเป็นสีขาวและมีกลีบดอกซ้อนกันหลายชั้น โคนกลีบแหลม ปลายกลีบมนรี มีกลีบดอกประมาณ 5-7 กลีบ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 7 เซนติเมตร เนื้อนุ่มและมีกลิ่นหอมแบบอ่อน ๆ ดอกมีเกสรเพศผู้ 6 ก้านรูปแถบ ติดที่ปลายหลอดกลีบดอก เกสรเพศเมีย ก้านเกสรยาว ยอดเกสรเป็นกระจุกแน่น รังไข่จะอยู่ใต้ฐานรองดอก ส่วนกลีบเลี้ยงมีประมาณ 5-8 แฉก ก้านดอกสั้นหรือไม่มีก้านดอก

ผลพุดซ้อน: ผลมีลักษณะกลมเป็นรูปไข่ ออกแบบหัวทิ่มลง ผลอ่อนเมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทองหรือเป็นสีส้มถึงแดง ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-1.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 3-7 เซนติเมตร เปลือกผลมีเหลี่ยมตามยาว ประมาณ 5-7 เหลี่ยม ภายในมีเมล็ดอยู่ประมาณ 3-6 เมล็ด เมล็ดจะมีเนื้อเยื่อหุ้มเป็นสีแดง 

การขยายพันธุ์พุดซ้อน

นิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตอนกิ่งหรือการปักชำ แต่โดยส่วนใหญ่จะใช้การปักชำเนื่องจากเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด ใช้เวลาไม่นานก็แตกรากใหม่ ซึ่งวิธีที่คนส่วนใหญ่สามารถทำตามได้ง่าย ๆ มีดังต่อไปนี้

วิธีการปักชำ

  1. สิ่งที่ต้องเตรียมจะมี ขวดน้ำอัดลมเปล่าที่ล้างสะอาดแล้ว สก๊อตเทปใส ฟองน้ำ หรือจะใช้โฟมแทนก็ได้ จากนั้นปาดขวดน้ำอัดลมเหมือนในภาพ แต่อย่าตัดจนขาดออกจากกัน
  2. เลือกกิ่งต้นพุดซ้อนที่เพิ่งงอกในปีนี้ จากนั้นใช้มีดหรือกรรไกรตัดปลายกิ่งเป็นแนวเฉียง เหลือใบไม้บนแต่ละกิ่งประมาณ 3-4 ใบ 
  3. ตัดโฟม หรือ ฟองน้ำให้เป็นวงกลมที่สามารถใส่เข้าไปในขวดน้ำอัดลมได้ จากนั้นเสียบกิ่งต้นพุดซ้อนเข้าไปบนโฟม ตามภาพ เติมน้ำลงไปในขวดน้ำอัดลมประมาณ ⅓  นำโฟมที่มีกิ่งเสียบเรียบร้อยแล้วลงไปในขวดน้ำอัดลม โดยปลายกิ่งที่ตัดเฉียงจะมิดน้ำในขวด
  4. วางขวดน้ำไว้ในที่มีแสงแดดส่องถึง วางทิ้งไว้ประมาณ 1 อาทิตย์ แค่นี้ก็จะเห็นรากงอกออกมาจากกิ่ง 
  5. เมื่อรากงอกออกมายาวมากพอแล้ว เหมือนในภาพ ก็สามารถนำไปปลูกในกระถางได้แล้ว

การปลูกและดูแลต้นพุดซ้อน

พุดซ้อน

แสงแดด

พุดซ้อนเป็นไม้กลางแจ้ง ดังนั้น เราจึงควรจะมองหาพื้นที่ที่ให้ต้นไม้ได้รับแสงแดดเต็มที่ ต้นนี้สามารถโดนแสงแดดจัดได้ตลอดทั้งวัน

ดิน

ชอบดินร่วนซุยที่มีความอุดมสมบูรณ์เพียงพอ ดินที่ปลูกต้องมีความชื้นที่พอประมาณไม่แห้งกรังจนเกินไป ยิ่งถ้าเริ่มเพาะต้นกล้าพุดจากเมล็ดและตอนกิ่ง จะนิยมปลูกในแปลงปลูก เพื่อประดับบริเวณบ้านและสวนขนาดหลุมปลูก 50 x 50 x 50 เซนติเมตร ควรปลูกในระยะห่างที่เหมาะสม 

น้ำ

พุดเป็นไม้ที่มีทรงพุ่มใหญ่ ต้องการปริมาณน้ำปานกลาง ควรให้น้ำ 5-7 วันต่อครั้ง รักษาสภาพดินให้มีความชุ่มชื้นตลอดแต่ไม่ให้น้ำท่วมขังเพราะรากจะเน่า

ปุ๋ย

ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 2 -.3 กิโลกรัมต่อต้น ควรใส่อย่างน้อยปีละ 2 – 3 ครั้งหรือใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 200-300 กรัมต่อต้น ควรใส่ปีละ 3-4 ครั้ง

โรคและแมลงศัตรูพืช

เพลี้ยอ่อน เพลี้ยหอยและเพลี้ยแป้ง เป็นศัตรูพืชที่มักจะลุกลามต้นพุดซ้อนอยู่บ่อย ๆ เพราะพวกเพลี้ยก็จะดูดน้ำเลี้ยงพืชเป็นอาหาร อันส่งผลให้ต้นไม้ไม่สวยและบางกิ่งดำและแห้งไป วิธีไล่นั้น อันดับแรกคือ ใช้สารเคมีทีค่อนข้างมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้สูง มีชื่อทางการค้าว่า Sedvin และ S85 วีธีที่สองก็คือ ใช้สารน้ำมันที่มีชื่อว่าไวท์ออยล์ หรือปิโตเลียมออยล์ ซึ่งสารน้ำมันนี้เมื่อฉีดพ่นไปจะเคลือบอยู่บนตัวเพลี้ย ซึ่งเพลี้ยพวกนี้หายใจทางผิวหนังก็จะหายใจไม่ออกก็จะหนีไปและวิธีที่สาม คือ ใช้น้ำยาล้างจานผสมกับน้ำในอัตราส่วนน้ำยาล้างจานครึ่งช้อนต่อน้ำหนึ่งลิตร แล้วใส่ฟอ็กกี้ฉีดพ่นไปเลย พวกมดจะระคายผิวแล้วคาบพวกเพลี้ยหนีไป

พุดซ้อน
www.dmc.tv.html

ประโยชน์ของต้นพุดซ้อน

1. ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับสวนบริเวณบ้านทั่วไป ตัดแต่งทรงพุ่มและปลูกเป็นแนวรั้วได้ดี สามารถควบคุมการออกดอกได้ด้วยการควบคุมการให้น้ำและการใส่ปุ๋ยที่เหมาะสม อีกทั้งดอกพุดซ้อนยังมีความหมายที่เป็นมงคลอีกด้วย โดยตามความหมายของไทยจะหมายถึงความแข็งแรง สมบูรณ์ ความเจริญมั่นคง ส่วนตามความหมายของฝรั่งจะหมายถึงรักแท้

2. นำดอกมาปักแจกันไหว้พระหรือนำไปร้อยเป็นพวงมาลัยสำหรับบูชาพระ ส่วนในประเทศจีนจะใช้ดอกพุดมาอบใบชาให้มีกลิ่นหอม

3. ดอกสามารถนำมาสกัดทำเป็นน้ำมันหอมระเหย ใช้แต่งกลิ่นเครื่องสำอางได้

4. ผลและเมล็ดเมื่อนำมาบดจะให้สารสีเหลืองทองชื่อ Gardenia ใช้เป็นสีสำหรับแต่งสีอาหารให้เป็นสีเหลือง (เช่น การใช้ย้อมสีด้านนอกของเต้าหู้แข็ง แต่งสีน้ำเก๊กฮวย ส่วนในประเทศจีนใช้เป็นสีย้อมผ้า) และยังให้สารสีน้ำตาลแดงชื่อ Corcin ใช้สำหรับแต่งอาหารให้มีสีน้ำตาลแดง

5. เนื้อไม้สามารถนำมาใช้ทำธูป ทำกรอบรูป และทำหัวน้ำหอมได้

สรรพคุณทางยาของพุดซ้อน

  1. ผลจากต้นมีรสขม สามารถใช้เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อหัวใจและตับ ใช้เป็นยาดับพิษร้อนถอนพิษไข้ ช่วยแก้อาการร้อนใน ช่วยกระจายเลือดที่อุดตัน ช่วยแก้อาการกระสับกระส่ายนอนไม่หลับ
  2. เนื้อไม้ช่วยลดพิษไข้ แก้ตัวร้อนมื่อมีไข้สูง
  3. เปลือกต้นและรากเป็นยาแก้ไข้ ใช้เป็นยาแก้บิด แก้ปวดท้อง
  4. ใบใช้ตำพอกแก้อาการปวดศีรษะได้ 
  5. รากช่วยแก้ผื่นคันตามผิวหนัง ช่วยแก้ฝีหนองอักเสบ ช่วยแก้อาการปวดบวม ใช้ตำพอกแผลสด ห้ามเลือด ช่วยสมานบาดแผล
  6. น้ำคั้นจากดอกนำมาผสมกับน้ำมันใช้เป็นยาทารักษาโรคผิวหนัง หรือจะใช้เฉพาะน้ำคั้นจากดอกเพียงอย่างเดียวก็ได้

แหล่งอ้างอิง

Gardenia jasminoides, Wikipedia
Gardenia jasminoides (Cape Jasmine)

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้