เพราะคิดถึงจึงมา…ลำปาง

เพราะคิดถึงจึงกลับมา…ลำปาง

ธันวาคม 2566

ได้กลับมาลำปางอีกครั้งจากครั้งสุดท้ายมากกว่า 10 ปี คราวนี้ไม่ได้มีเวลาเที่ยวเล่นมากนัก เพราะมางานแต่งงานน้องที่ทำงานที่อำเภอแม่ทะ แต่ไหนๆมาลำปางแล้ว ก็ขอเข้าไปเที่ยวเล่นชมเมืองให้หายคิดถึงสักหน่อย

สิบกว่าปีที่แล้วลำปางยังไม่มีอะไรเก๋ๆแบบนี้ ตอนนี้ถนนเลาะเลียบแม่น้ำวังเต็มไปด้วยภาพวาดสวยๆเก๋ๆ บอกเล่าความเป็นลำปางไปตลอดทางยาวประมาณ 1 กม. กลายเป็นจุดเช็คอินใหม่ที่ใครมาเมืองลำปางก็ต้องขอเดินมาถ่ายรูปสักหน่อย แถมมันอยู่ใกล้กับกาดกองต้า ถนนคนเดินยอดนิยมด้วย

แนวสตรีทอาร์ตถนนเลียบแม่น้ำ และตามตรอก/ซอยบนถนนตลาดเก่า

จอดรถไว้แถวสะพานช้างเผือก แล้วเดินเลาะเลียบแม่น้ำไปเรื่อยๆมีสตรีทอาร์ตตลอดแนว

ฝั่งตรงข้ามก็มีสตรีทอาร์ตด้วยเหมือนกัน

เดินมาถึงแนวใต้สะพานรัษฎา ถ้าเป็นเสาร์อาทิตย์บ่ายๆจะเริ่มมีคนมาวางของขาย เพราะเป็นต้นทางถนนคนเดิน

สะพานรัษฎาภิเษก เหมือนเป็นสัญญลักษณ์อย่างหนึ่งของนครลำปาง

เดินลอดใต้สะพานรัษฎาฯมาอีกฝั่งก็ยังมีสตรีทอาร์ทอยู่

เข้ามาในถนนตลาดเก่า ก็มีภาพบนผนังเก๋ๆอยู่บ้างตามตรอกซอกซอย ถ้ามาวันเสาร์-อาทิตย์ตอนบ่ายๆจะมีตลาด ก็จะถ่ายรูปไม่ได้ อยากถ่ายรูปให้มาตอนกลางวัน หรือวันธรรมดาที่ไม่มีตลาด

เดินถ่ายรูป Street Art ริมแม่น้ำวัง มาถึงสะพานรัษฎาภิเศกแล้ว ให้เลี้ยวเข้าซอกข้างสะพาน จะมาเจอสี่แยกที่เป็นต้นทางถนนตลาดเก่า ย่านค้าขายเก่าแก่ของชาวไทยเชื้อสายจีนมาตั้งแต่สมัย ร.๕ เป็นชุมทางการค้าขายทางภาคเหนือ มีคนหลายชาติหลายภาษาเข้ามาค้าขาย

ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ตลอดถนนตลาดเก่าจะมีร้านมาเปิดขายของ ขายอาหาร ขายขนม ตลอดทางตั้งแต่สะพานรัษฎาฯยาวไปถึงถนนสวนดอก ระยะทางเกือบ 1 กม. เริ่มขายกันตั้งแต่ 4-5 โมงเย็น ไปจนถึงประมาณ 4 ทุ่ม ถ้ามาตรงวันก็น่ามาเดินเล่นสักหน่อย กินโน่น กินนี่ ตลอดทางอิ่มได้เลย

ตลอดถนนตลาดเก่ามีเรือนไม้เก่าแก่ และเรือนครึ่งไม้ครึ่งปูน ที่เป็นที่อยู่อาศัยบ้าง เป็นร้านค้าขายบ้าง กาดกองต้า แปลว่า ตลาดตรอกท่าน้ำ เพราะถนนตลาดเก่าเป็นถนนที่อยู่เลียบริมแม่น้ำวัง

อาคารเก่าในกาดกองต้า (รูปจาก หนังสือกาดกองต้าย่านเก่าเล่าเรื่องเมืองลำปาง โดย กิติศักดิ์ เฮงษฎีกุล)

“อาคารหม่องโง่ยซิน” เรือนขนมปังขิงสวยงามสุดบนถนนตลาดเก่า จากชื่อก็น่าจะรู้ว่าเป็นชาวพม่า ร่ำรวยจากการค้าไม้ในลำปาง ปัจจุบันเปิดเป็นร้าน Tea house ชื่อ “หม่องโง่ยซิ่น” ขายขนม เครื่องดื่ม เข้าไปด้านในได้ชมบ้านสวยๆ และมีประวัติของบ้านให้อ่านด้วย

“อาคารเยียนซีไท้ลีกี” อาคารปูนเก่าแก่อีกหลังบนถนนตลาดเก่า เป็นของนายห้างใหญ่ชาวจีน บนหน้าจั่วอาคารบอกปีที่สร้างคือ ๑๙๑๓ และปูนปั้นรูปหนูเป็นปีเกิดของเจ้าของอาคาร อาคารเยียนซีไท้ลีกีเคยเป็นห้างขายของใหญ่ที่สุดในย่านนี้ มีตู้นิรภัยฝังอยู่ในผนังที่ชาวบ้านมาอาศัยฝากทรัพย์สินมีค่ายามเกิดเหตุฉุกเฉินได้ ตอนนี้อาคาร 5 ห้อง แต่ละห้องก็เปลี่ยนไปทำธุจกิจต่างๆกัน มีร้านชาเจ้าสัวอยู่ห้องริมสุด ด้านหลังมีการทำห้องพักและห้องอาหารด้วย

“บ้านแม่แดง” เรือนแถวทรงปั้นหยาสองชั้น ครึ่งปูนครึ่งไม้ มีประตูบานเฟื้ยม ๓ ประตู เดิมเคยเปิดเป็นห้างขายของโด่งดังในย่านนี้ มีทั้งของจากเมืองนอก ของจากต่างเมือง อาคารดูค่อนข้างใหม่ ความจริงเก่าแก่ไม่แพ้อาคารสวยหลังอื่นๆ แต่เจ้าของปัจจุบันคอยดูแลซ่อมแซมและปรับปรุงทำให้อาคารดูสวยงามตลอดเวลา

“อาคารฟองหลี” อาคารปูนหลังคาจั่วตัดขวางแบบจีน ชั้นบนเป็นห้องนอนพร้อมกับมีระเบียงและชายคาด้านหน้าถูกแต่งเติมเพิ่มเสน่ห์ด้วยไม้สักฉลุลวดลายโปร่ง เจ้าของดั้งเดิมคือ “จีนฟอง” หรือเจ้าสัวฟอง ผู้ได้รับสัมปทานป่าไม้ ทั้งยังเป็นเจ้าภาษีนายอากรฝิ่นและสุราของเมืองลำปาง นับเป็นชาวจีนที่มีฐานะดีที่สุด เจ้าสัวฟองยังสนิทสนมกับเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าผู้คลองนครลำปางองค์สุดท้าย ซึ่งได้ตั้งนามสกุลให้เจ้าสัวฟองว่าฟองอาภา (ข้อมูล : หนังสือกาดกองต้าย่านเก่าเล่าเรื่องเมืองลำปาง โดย กิติศักดิ์ เฮงษฎีกุล)

“บ้านคมสัน” ผู้เป็นเจ้าของรุ่นแรกคนตลาดจีนรู้จักกันดีในชื่อป๋าน้อย-ย่าลางสาด คมสัน บ้านคมสันเป็นบ้านปูนหลังแรกในย่านนี้ สร้างขึ้นช่วงเวลาเดียวกับสะพานรัษฎาภิเศก คือในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ซึ่งป๋าน้อยได้เพื่อนฝรั่งจากบริษัททำไม้ช่วยออกแบบให้ แล้วใช้ช่างชาวเซี่ยงไฮ้ที่ขึ้นชื่อเรื่องฝีมือทางเชิงช่างมาก่อสร้าง ด้านวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างต่างๆ นำมาจากกรุงเทพฯ บรรทุกมากับรถไฟและเรือกลไฟ (ที่มาของข้อมูล : หนังสือกาดกองต้าย่านเก่าเล่าเรื่องเมืองลำปาง โดย กิติศักดิ์ เฮงษฎีกุล)

ถ้าอยากมาเดินดูสถาปัตยกรรมเรือนไม้ เรือนไม้ครึ่งปูน เรือนขนมปังขิง แบบไม่มีอะไรบังให้มาเดินช่วงเช้า หรือวันธรรมดาที่ไม่มีตลาดก็เดินได้ทั้งวัน

“อาคารกาญจนวงศ์” อาคารขนมปังขิงสองชั้นแบบวางเรือนขวาง เจ้าของเดิมเป็นพ่อค้าไม้ชาวพม่า เป็นอาคารปูนที่ประดับด้วยไม้ฉลุลวดลายสวยงามมาก

มาตอนกลางวันถ่ายรูปสบายมาก

ลำปางมีบ้านเก่า บ้านโบราณ ที่ยังรักษาสภาพไว้ดีเยอะแยะมากมาย มาคราวนี้มีเวลาน้อย ไปได้แค่ที่เดียว เลือกไปดู บ้านหลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ ที่ชุมชนท่ามะโอ ในตัวเมืองลำปาง

นายหลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ เป็นลูกชายของแหม่มแอนนาที่คนไทยน่าจะรู้จักดี (ถ้าไม่รู้จักก็ขอเล่าสั้นๆว่า แหม่มแอนนาคือครูสอนภาษาอังกฤษ ที่ในหลวง ร.๔ โปรดให้เข้ามาสอนภาษาในวัง) นายหลุยส์เข้ามาทำธุรกิจการค้าในประเทศไทยตอนเหนือ และเป็นตัวแทนของ บริษัทบริติชบอเนียวร์ ในการทำธุรกิจค้าไม้ เริ่มต้นได้รับสัมปทานค้าไม้ที่เมืองระแหง จังหวัดตาก ต่อมาย้ายมาอยู่ที่ลำปาง สร้างบ้านหลังนี้ขึ้น ใช้เป็นที่อยู่อาศัยและเป็นสำนักงาน

บ้านไม้เก่าแก่หลังนี้ อายุมากกว่า ๑๐๐ ปี เป็นบ้านสองชั้นครึ่งปูนครึ่งไม้ หลังคาทรงปั้นหยา ชั้นบนเป็นบ้านไม้ ด้านหน้ามีมุขเจ็ดเหลี่ยมกับระแนงไม้รับแสงและลม ชั้นล่างกั้นผนังด้วยการก่ออิฐถือปูน กรอบประตูหน้าต่างมีลวดลายฉลุสวยงาม เมื่อนายหลุยส์ตาย ตัวบ้านถูกส่งต่อให้หน่วยงานรัฐเข้ามาใช้งาน สุดท้ายถูกทิ้งร้างทรุดโทรม เพิ่งจะได้รับการบูรณะและเปิดให้คนทั่วไปเข้าชมเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา สวนทางกับข่าวดังเรื่องการรื้อเรือนไม้โบราณ บอมเบย์เบอร์ม่า ที่จังหวัดแพร่

ในพื้นที่เดียวกันมีอาคารปูนชั้นเดียวทาสีขาว เดิมเป็นอาคารสำนักงานของ บริษัท หลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ ด้านในมีตู้นิภัยขนาดยักษ์ จนน่าจะเรียกว่าห้องนิรภัย (Vault Room) อยู่ตรงกลาง มาตรฐานเทียบเท่าห้องนิรภัยสมัยปัจจุบันเลย

ตอนนี้ “บ้านหลุยส์” อยู่ในความดูแลขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ภาคเหนือตอนบน หวังว่าจะได้รับการดูแลรักษาและอนุรักษ์บ้านไม้สวยๆแบบนี้ไว้ให้คนรุ่นหลังได้เห็นไปอีกนานๆ

พระใหญ่ไดบุทซึองค์นี้สร้างเลียนแบบพระใหญ่ที่วัดโคโตะคุอิน | Kotokuin เมือง คามาคุระ | Kamakura มาแบบเป๊ะๆ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ สร้างจากสำริด (โลหะผสมทองแดง) ทำให้เกิดสนิมเขียว เหมือนที่ญี่ปุ่นด้วย

ถ้าใครเคยไปวัดโคโตะคุอินมาจะรู้ว่า ตำแหน่งการสร้างพระจะไม่เหมือนกัน เพราะที่ญี่ปุ่นไม่ได้สร้างอยู่บนยอดเขาเหมือนที่ลำปาง แต่ถ้ามองไปเฉพาะองค์พระก็คล้ายกันมากอยู่เหมือนกัน

วัดพระธาตุดอยพระฌานเป็นวัดเก่าแก่บนยอดเขาในตำบลป่าตัน อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ห่างจากอำเภอเมืองประมาณ 30 กม. เดิมเป็นยอดเขารกร้างพบร่องรอยของพระธาตุโบราณ มีการก่อสร้างวัด และต่อเติมเสริมแต่งมาหลายปีจนสวยงาม จากด้านล่างมีทางเดินขึ้นเขาผ่านป่าโปร่งไป เดินไม่ยาก และช่วงท้ายเป็นบันไดนาค

ขึ้นไปถึงจะเจอวิหารสมเด็จองค์ปฐมด้านในประดิษฐานพระพุทธรูป “สมเด็จพระพุทธสิกขีทศพลญาณ พิชิตมารวิกรม ปฐมสัมมาสัมโพธิญาณ ศรีพระฌานบรรพต” ด้านหลังวิหาร คือองค์พระธาตุดอยพระฌาน เจดีย์สีขาวยอดฉัตรสีทอง มองไปไกลๆที่เนินเขาอีกเนินก็จะเห็นพระใหญ่ไดบุทซี เดินเลยต่อไปจะผ่านลานใหญ่ที่มีร้านอาหารร้านกาแฟ แล้วเข้าสู่โซนญี่ปุ่น

ลานหน้าวิหาร เป็นลานชมวิวสวยงาม

พระพุทธรูป “สมเด็จพระพุทธสิกขีทศพลญาณ พิชิตมารวิกรม ปฐมสัมมาสัมโพธิญาณ ศรีพระฌานบรรพต”

(ซ้าย) ด้านหลังวิหารมีรูปต้นโพธิ์สีทองสวยงาม / (ขวา) องค์พระธาตุดอยพระฌาน

ศาลาพระ ๕ พระองค์

ส่วนโซนญี่ปุ่นก็สุดแสนจะญี่ปุ่น มีเสาโทริอิสีแดงเป็นแนวสั้นๆให้พอถ่ายรูปแล้วมโนว่าอยู่ ศาลเจ้า Fushimi Inari ได้นิดหน่อย องค์พระใหญ่ไดบุทซึสร้างอยู่บนเนินเขา มีบันไดทอดยาวขึ้นไปที่องค์พระ แถมด้วยการตกแต่งรอบๆด้วย โคมญี่ปุ่น กระถางธูปแบบวัดญี่ปุ่น มีสวนญี่ปุ่น ระฆัง ถ้าแค่อากาศจะหนาวยะเยือกสักหน่อยก็จะเหมือนญี่ปุ่นมากๆ

ข้ามจากฝั่งพระธาตุมาฝั่งญี่ปุ่นอะไรๆก็ดูเป็นญี่ปุ่นไปหมด

นักท่องเที่ยวบางส่วนก็มากันตั้งแต่เช้ามืดเพื่อมาดูพระอาทิตย์ขึ้นกับทะเลหมอก เพราะด้านบนนี้เป็นจุดชมวิวได้สวยพอสมควรเลย เสียดายว่าเราไม่ได้ขึ้นไป เพราะติดธุระช่วงเช้า เลยมาที่วัดเอาสายใกล้เที่ยงในฤดูหนาวที่อุณหภูมิเกือบ 30 องศา เหงื่อท่วมกันเลยทีเดียว

การขึ้นไปพระใหญ่และองค์พระธาตุไม่จำเป็นต้องเดินขึ้นบันไดไปอย่างเดียว จากลานจอดรถด้านล่าง ให้ไปซื้อบัตร 40 บาท นั่งรถกระบะขึ้นมาด้านบน มีระบบจัดการที่ดีพอสมควร แต่ค่ารถแอบแพง (40 บาทไม่ใช่ขึ้น-ลง แต่เป็นเที่ยวละ 40 บาท) เราจึงนั่งรถขึ้นไปแต่เดินลงมา อ่าจจากรีวิวบอกว่าถ้ามาแต่เช้ามืด ขับรถขึ้นไปถึงด้านบนได้เลย แต่ไม่แน่ใจนะเพราะเห็นมีไม้กั้นอยู่เหมือนกันๆ

ก่อนขึ้นรถเดินไปศาลาธัมมวิโมกข์ ก่อนก็ได้ สวยงามดี

มีเวลาอาหารแค่มื้อเดียวคือมื้อเย็นวันเสาร์ ตอนแรกว่าจะเดินกินอะไรให้อิ่มในกาดกองต้า แต่ก็รู้สึกไม่ค่อยสะดวกนัก และอยากกินอาหารเมืองแบบเป็นเรื่องเป็นราว ก็เลยลองหาข้อมูลแนะนำร้านอาหาร เริ่มแรกที่ร้านแม่แห แต่ร้านปิดชั่วคราว ก็เลยเปลี่ยนเป็นร้าน เดอะ ฮังเล เพราะชอบกินแกงฮังเล เอามาตั้งชื่อร้านก็น่าจะเป็นเมนูเด็ดของร้านอยู่ ร้านอยู่ริมถนนซุปเปอร์ หาไม่ยาก ชื่อดูทันสมัย ร้านก็ดูทันสมัยหน่อยตามชื่อร้าน จานชามสวยงาม อาหารแต่ละจานค่อนข้างเยอะ มา 2 คน สั่ง 3 อย่างกินไม่หมด ราคาพอประมาณ รสชาติโดยรวมดี แกงฮังเลเข้มข้นเครื่องเทศแน่น น้ำพริกอ่องกินได้ไม่ถึงกับโดนใจแต่ดีที่ไม่หวาน ลาบคั่วก็อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

เดอะฮังเล

เปิด/ปิด : 11:00 – 23:00
708 ถ.ลำปาง ไฮเวย์, จ.ลำปาง
โทรศัพท์: 054 018 393

คราวนี้มีเวลาแค่วันกว่าๆ เหมือนได้มาเยี่ยมเยือนเพื่อนเก่า ไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบ ลำปางโดยภาพรวมยังเหมือนเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เพียงแต่มีความทันสมัยมากขึ้น มีร้านอาหาร ร้านกาแฟ กิ๊บๆฮิปๆ เพิ่มขึ้นเยอะแยะ อาคารสูงก็เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังคงเหม็นรถม้าวื่งกั๊บๆ ปะปนกับรถเครื่อง รถยนต์ ยังมีเรือนไม้เก่าๆแต่สวยงาม ไม่มีเวลาได้ไปหลายๆวัดสวยงามที่เคยไปเมื่อครั้งก่อน อย่างวัดพระแก้วดอนเต้า วัดพระธาตุลำปางหลวง หรือวัดศรีชุม คงต้องกลับมาไหว้พระในเมืองลำปางอีกสักทริป

Leave a comment

Website Built with WordPress.com.

Up ↑