ลำไส้อักเสบ โรคที่มนุษย์สายกินควรระวัง

ลำไส้อักเสบ โรคที่มนุษย์สายกินควรระวัง

โรคลำไส้อักเสบคืออะไร

โรคลำไส้อักเสบ (Enteritis) คือ ภาวะที่มีสาเหตุจากการอักเสบของเยื่อบุผนังลำไส้เล็ก ซึ่งส่วนมากเกิดจากเชื้อโรค หรือสารพิษที่ปนเปื้อนในอาหาร โรคลำไส้อักเสบสามารถพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย โดยส่วนมากจะเกิดอาการแบบเฉียบพลัน และจะค่อยๆ ดีขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ผู้ป่วยบางรายก็อาจเกิดอาการแบบเรื้อรังนานเป็นเดือนหรือเป็นปีก็ได้ ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความร้ายแรงของโรค

สาเหตุของโรคลำไส้อักเสบ   

การบาดเจ็บและอักเสบของเยื่อบุผนังลำไส้เล็ก มักมีสาเหตุจากการปนเปื้อนของอาหารที่รับประทานเข้าไป หรือสารพิษภายในอาหารซึ่งจะสร้างความระคายเคืองให้กับทางเดินอาหารของเราได้ แต่ในบางกรณี โรคลำไส้อักเสบก็เกิดจากสาเหตุอื่นได้เช่นกัน โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคลำไส้อักเสบ ได้แก่

  • มีการติดเชื้อในลำไส้: ซึ่งส่วนมากจะเป็นเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในอาหาร เช่น เชื้ออีโคไล (Escherichia coli: E.coli) เชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลลา (Salmonella) เชื้อแบคทีเรียชิเกลลา (Shigella)
  • ได้รับสารพิษในอาหาร: เช่น เผลอรับประทานเห็ดพิษเข้าไป การดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารที่มีสารโลหะปนเปื้อน ซึ่งนอกเหนือจากโรคลำไส้อักเสบแล้ว สารพิษดังกล่าวยังทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ได้อีกด้วย
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด: เช่น ยาแก้ปวดกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs: NSAIDs) อย่างไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ผู้ป่วยบางรายหากรับประทานกลุ่มยานี้อย่างต่อเนื่อง ก็อาจทำให้มีอาการลำไส้อักเสบแบบเรื้อรังได้
  • เป็นโรคออโตอิมมูน (Autoimmune) หรือโรคแพ้ภูมิตนเอง (Systemic Lupus Erythematosus: SLE): เช่น โรคโครห์น (Crohn’s disease) ซึ่งจะทำให้เกิดอาการลำไส้แปรปรวนและลำไส้อักเสบเรื้อรังได้
  • แพ้สารอาหารบางชนิด: ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยปวดท้องและอาการลุกลามเป็นโรคลำไส้อักเสบได้ เช่น แพ้น้ำตาลแลคโทส (Lactose) แพ้โปรตีนกลูเทน (Gluten)
  • เป็นผลจากการรักษามะเร็ง: เพราะการฉายรังสีและการใช้ยาเคมีบำบัด อาจทำให้เนื้อเยื่อในช่องท้อง และเยื่อบุผนังลำไส้อักเสบได้
  • ลำไส้อักเสบจากการขาดเลือดไปเลี้ยง เกิดจากภาวะช็อคจึงทำให้มีเลือดไปเลี้ยงลำไส้ไม่เพียงพอ ลำไส้จึงเกิดการขาดเลือด อาจต้องรักษาโดยการผ่าตัดลำไส้ส่วนที่ตายออก

อาการของโรคลำไส้อักเสบ

ผู้ป่วยโรคลำไส้อักเสบจะมีอาการเจ็บป่วยเกี่ยวกับการขับถ่ายและระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นผลมาจากการดูดซึมอาหารในลำไส้ที่ผิดปกติ

  • ปวดท้องบิดรุนแรงเป็นพักๆ หรือปวดท้องหน่วงๆ
  • ท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำ บางครั้งอาจถ่ายมีมูกเลือดปน
  • คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร
  • อาจมีไข้สูง หนาวสั่น โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอาการอย่างเฉียบพลัน
  • น้ำหนักลด
  • ขาดสารอาหาร

การสูญเสียน้ำจากอาการท้องเสีย ท้องร่วงและอาเจียนหลายครั้ง อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะร่างกายขาดน้ำ โดยจะมีอาการอ่อนเพลีย ตาแห้ง ปากแห้ง ผิวแห้ง ซึ่งเป็นภาวะอันตรายที่ต้องรีบรักษาโดยด่วน ทางที่ดีเมื่อคุณรู้สึกว่าตนเองมีความเสี่ยงจะเป็นโรคลำไส้อักเสบ หรือคลื่นไส้อาเจียน ขับถ่ายหลายครั้งจนรู้สึกอ่อนเพลียไม่มีแรง ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยเร็วจะดีที่สุด

อาหารช่วงเป็นโรคลำไส้อักเสบ

ลําไส้อักเสบ ห้ามกินอะไร

ในช่วงที่มีอาการป่วย ระบบย่อยอาหารจะยังทำงานได้ไม่เต็มที่ ผู้ป่วยจึงควรรับประทานอาหารอ่อนๆ ที่ย่อยง่าย รสไม่จัด เช่น ซุป โจ๊ก รวมถึงหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารบางประเภทซึ่งย่อยยาก ทำให้เกิดความระคายเคืองต่อทางเดินอาหารได้ และทำให้ถ่ายบ่อยกว่าเดิม เช่น

  • เนื้อสัตว์ติดมัน
  • เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและเครื่องดื่มบำรุงกำลัง
  • น้ำอัดลมทุกชนิด รวมถึงโซดาเปล่าด้วย
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
  • อาหารหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของนม
  • อาหารประเภทถั่ว
  • ผลไม้แห้ง ผลไม้ที่มีกากใยสูงและมีเมล็ดเยอะ
  • อาหารที่มีไฟเบอร์สูง
  • อาหารที่มีส่วนผสมของน้ำตาลขาวบริสุทธิ์ (Refined Sugar)
  • อาหารรสจัดและรสเผ็ด

ลําไส้อักเสบ ควรทานอะไร

  • ผู้ป่วยจะต้องได้รับสารน้ำและแร่ธาตุทดแทนโดยการดื่มน้ำผสมเกลือแร่ หรือการให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ เพื่อป้องกันภาวะร่างกายขาดน้ำ ซึ่งเกิดจากการท้องร่วงและอาเจียนหลายครั้ง
  • โดยทั่วไปโรคลำไส้อักเสบแบบเฉียบพลันมักหายได้เองโดยไม่ต้องใช้ยารักษา เพียงแต่ต้องมีการให้น้ำเกลือเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยอ่อนเพลียจากภาวะขาดน้ำเท่านั้น แต่หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงมากและมีไข้สูง ก็อาจต้องให้รับประทานยาแก้ปวดลดไข้ เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) และหากแพทย์พบว่าสาเหตุของโรคมาจากเชื้อแบคทีเรีย ก็อาจให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อด้วย

ผู้ป่วยโรคลำไส้อักเสบแบบเรื้อรังอาจได้รับยากลุ่มสเตียรอยด์ (Steroid) เพื่อลดการอักเสบ ซึ่งผลข้างเคียงจากยาตัวนี้อาจทำให้ผู้ป่วยหน้าบวม มีขนขึ้น กระสับกระส่าย ไปจนถึงความดันสูง จึงไม่ควรใช้ยาอย่างต่อเนื่องหากไม่จำเป็น หรือให้ใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น

การป้องกันโรคลำไส้อักเสบ

  • รับประทานอาหารที่สะอาดและปรุงสุก เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมากับอาหาร
  • รักษาสุขอนามัยให้ดี โดยการล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เยื่อบุทางเดินอาหารระคายเคือง เช่น รับประทานอาหารรสจัดบ่อยๆ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นหรือไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์

โรคลำไส้อักเสบมีสาเหตุสำคัญมาจากสิ่งสกปรกที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหาร ดังนั้น การเลือกรับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุก มีภาชนะจัดเก็บที่ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อมาอย่างดี รวมถึงอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค เช่น อยู่ข้างถนนซึ่งจะทำให้อาหารปนเปื้อนฝุ่นควัน ฝุ่นละออง หรืออยู่ใกล้แหล่งสิ่งปฏิกูลที่สกปรก ก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคลำไส้อักเสบไปได้เกินครึ่งแล้ว


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล


ที่มาของข้อมูล

  • Gregg, null; Nassar, null (1999-04-01). “Infectious Enteritis”. Current Treatment Options in Gastroenterology. 2 (2): 119–126. doi:10.1007/s11938-999-0039-9. ISSN 1092-8472. PMID 11096582
  • Dugdale, David C., IIII, and George F Longretch “Enteritis”. MedlinePlus Medical Encyclopedia, 18 October 2008. Accessed 24 August 2009.
Scroll to Top