Categories
โภชนาการโรคมะเร็ง

อาหารสำหรับโรคลำไส้อุดตัน

ภาวะลำไส้อุดตันเกิดขึ้นเมื่อมีการอุดกั้นหรือตีบแคบของทางเดินอาหาร ส่งผลทำให้น้ำหรืออาหารที่ถูกย่อยแล้วไม่สามารถผ่านเข้าไปได้ เปรียบเสมือนท่อน้ำที่มีการอุดตันจนไม่สามารถระบายน้ำได้ดีเหมือนเดิม ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ลำไส้มีการตีบแคบลงหรืออุดตัน อาจเกิดจาก โรคมะเร็งบริเวณลำไส้ หรือ ผลข้างเคียงจากการรักษา เช่น การผ่าตัด หรือการฉายแสง เป็นต้น

อาการของภาวะลำไส้อุดตัน

  • คลื่นไส้/อาเจียน
  • จุกเสียดแน่นท้อง/ท้องอืด
  • ปวดเกร็งท้อง
  • การขับถ่ายเปลี่ยนแปลงไป (ถ่ายลดลง)

อาการผิดปกติดังกล่าวอาจจะเป็นในช่วงเวลาสั้น ๆ หรือมีอาการอย่างต่อเนื่อง หากเป็นภาวะลำไส้อุดตันบางส่วน แล้วมีอาการไม่รุนแรงมาก ผู้ป่วยอาจจะสามารถกินอาหารเหลวหรือน้ำได้ แต่ถ้าหากมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรงจนต้องใช้ยาแก้ปวด มีคลื่นไส้และอาเจียนมาก และมีอาการอ่อนเพลียร่วมด้วย ควรรีบไปโรงพยาบาลทันทีเพื่อเข้ารับการรักษา

อาหารที่เหมาะสมกับผู้ป่วยลำไส้อุดตัน

ผู้ป่วยแต่ละรายอาจจะมีความรุนแรงของลำไส้อุดตันแตกต่างกัน จึงอาจจะรับอาหารได้ไม่เหมือนกัน แต่โดยทั่วไปแนะนำให้รับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย หั่นอาหารเป็นชิ้นเล็กๆ หรือปั่นให้ละเอียด และดื่มน้ำให้เพียงพอ

ผู้ป่วยอาจจะเริ่มจากอาหารเหลวใสก่อน แล้วจึงทดลองกินอาหารชนิดอื่น ๆ โดยเพิ่มอาหารทีละชนิดในปริมาณน้อย แล้วสังเกตอาการที่ผิดปกติ ถ้าไม่มั่นใจหรือรับประทานแล้วรู้สึกว่าการแย่ลง แนะนำให้หลีกเลี่ยงอาหารชนิดนั้นได้

หากต้องรับประทานอาหารเหลว หรืออาหารน้ำ ๆ เกิน 5 วันขึ้นไป ควรปรึกษาแพทย์และนักกำหนดอาหารเพื่อช่วยแนะนำอาหาร รวมถึงวิตามินและแร่ธาตุรวมที่จำเป็น

ผู้ป่วยลำไส้อุดตันที่มีอาการรุนแรง จนอาหารและน้ำไม่สามารถผ่านไปได้ ควรงดอาหารและน้ำทุกชนิดทางปาก และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์

อาหารที่ผู้ป่วยลำไส้อุดตันสามารถรับประทานได้และควรหลีกเลี่ยง มีดังนี้

ข้าว แป้ง และธัญพืช

รับประทานได้ควรหลีกเลี่ยง
  • ข้าวขาว, ปลายข้าว, แป้งข้าวเจ้า
  • เส้นก๋วยเตี๋ยว, ขนมจีน, วุ้นเส้น, พาสต้า
  • ขนมปังขาว, แครกเกอร์, ข้าวพอง, ขนมปังเบอร์เกอร์
  • โจ๊กปั่น, ข้าวต้ม, ซุปข้น, ซุปครีม
  • ข้าวกล้อง, ข้าวสาลี, จมูกข้าว
  • ขนมปังโฮลวีต, แป้งขนมปัง
  • ข้าวโพด, ข้าวโอ๊ต, ลูกเดือย, ควินัว, ซีเรียล, เม็ดแมงลัก
  • ถั่วเหลือง, ถั่วแดง, ถั่วดำ, ถั่วเขียว, ถั่วแระ

เนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์

ควรหั่นเนื้อสัตว์เป็นชิ้นบาง ๆ หรือบดให้ละเอียด ปรุงให้สุก อย่าลืมตัดเนื้อส่วนที่เหนียวและแข็งออก และเอาก้างออก

รับประทานได้ควรหลีกเลี่ยง
  • ไข่แดง, ไข่ขาว, เต้าหู้ไข่, เต้าหู้ขาว
  • เนื้อไก่, เนื้อเป็ด, เนื้อหมู, เนื้อวัว
  • ปลา, กุ้ง, ปู
  • ลูกชิ้นปลา, ลูกชิ้นกุ้ง, ลูกชิ้นหมู
  • เนื้อสัตว์ชิ้นหนาติดกระดูกอ่อน
  • ปลาที่ไม่ได้เอาก้างออก
  • เอ็น, ข้อ, หนังปลา
  • เนื้อสัตว์ตากแห้ง, เนื้อแดดเดียว

ผัก

ไม่ควรรับประทานเกิน 1 ส่วนหรือ 1 ทัพพีต่อวัน และควรปอกเปลือก คว้านเมล็ด ตัดก้านและส่วนที่เหนียวและแข็งออก หั่นเป็นชิ้นบาง ๆ และปรุงให้สุก ผักบางชนิดอาจทำให้เกิดแก๊สได้ในบางราย

รับประทานได้ควรหลีกเลี่ยง
  • ผักที่มีใยอาหารน้อยกว่า 2 กรัม ต่อทัพพี
  • ผักกาดขาว, ผักกาดหอม, กะหล่ำปลี
  • ถั่วงอก, หัวไชเท้า, ฟักทองปอกเปลือก
  • ผักที่มีเส้นใยและกากใยสูง
  • คะน้า, ผักบุ้ง, ผักกระเฉด, ขึ้นฉ่าย, ผักโขม, บร็อกโคลี่, หน่อไม้ฝรั่ง
  • ข้าวโพดอ่อน, ถั่วลันเตา, ถั่วฝักยาว, ถั่วพู
  • มันเทศ, มันฝรั่งมีเปลือก

ผลไม้

ไม่ควรรับประทานเกิน 1 ส่วน หรือ 1 ถ้วยตวงต่อวัน และควรปอกเปลือก คว้านเมล็ด ตัดส่วนที่เหนียวและแข็งออก หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ

รับประทานได้ควรหลีกเลี่ยง
  • ผลไม้ที่มีใยอาหารน้อยกว่า 2 กรัม ต่อถ้วย
  • แตงโม
  • แคนตาลูป
  • ผลไม้ที่มีเส้นใยและกากใยสูง รวมถึงผลไม้ที่กินเมล็ดได้
  • ผลไม้ตากแห้งทุกชนิด
  • ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ทุกชนิด
  • ส้ม, องุ่น, ทับทิม, อินทผลัม, อะโวคาโด

นมและผลิตภัณฑ์จากนม

รับประทานได้ควรหลีกเลี่ยง
  • นมจืด, นมเปรี้ยว, โยเกิร์ต
  • นมถั่วเหลือง, นมอัลมอนด์, น้ำนมข้าว
  • โยเกิร์ตใส่ผลไม้เบอร์รี่หรือกราโนล่า
  • นมปั่นผสมกับเบอร์รี่ต่างๆ หรือผลไม้ที่มีกากใยมาก

ไขมันและน้ำมัน

รับประทานได้ควรหลีกเลี่ยง
  • น้ำมัน, เนย, กะทิ
  • น้ำสลัด, มายองเนส
  • ถั่วเปลือกแข็งทุกชนิด เช่น ถั่วลิสง, เม็ดมะม่วงหิมพานต์, อัลมอนต์
  • เมล็ดพืชต่าง ๆ เช่น งา, เมล็ดฟักทอง, เมล็ดทานตะวัน, กราโนล่า

ขนม

รับประทานได้ควรหลีกเลี่ยง
  • ขนมครก, บัวลอย, ขนมถ้วย, ลอดช่อง
  • วุ้นกะทิ, พุดดิ้ง, เจลลี่
  • ขนมเค้ก, ไอศกรีม, แพนเค้ก, วาฟเฟิล
  • ขนมคุกกี้หรือขนมปังไม่ผสมธัญพืช
  • ถั่วต้มน้ำตาล, ถั่วกวน, ถั่วอบ, กระยาสารท
  • ขนมปังลูกเกด, ขนมป๊อบคอร์น
  • เผือก หรือมันเชื่อม
  • คุกกี้ใส่ถั่วและธัญพืช

เครื่องดื่ม

รับประทานได้ควรหลีกเลี่ยง
  • อาหารทางการแพทย์ที่มีใยอาหารน้อย
  • น้ำผลไม้เข้มข้น, น้ำผลไม้คั้นแยกกาก, น้ำมะพร้าว
  • เครื่องดื่มเกลือแร่, เครื่องดื่มวิตามิน
  • ชา, กาแฟ, น้ำสมุนไพร เครื่องดื่มมอลต์สกัด
  • สมูทตี้ปั่นหรือน้ำผลไม้ที่ไม่แยกกาก
  • ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มผสมใยอาหาร

ผู้ป่วยลำไส้อุดตันควรดูแลตนเองอย่างไร

  1. กินอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มปริมาณครั้งละน้อย กินให้บ่อยขึ้นทุก 2 ชั่วโมง หรืออย่างน้อยวันละ 6-7 มื้อ หรือ เพิ่มอาหารมื้อว่างเสริม
  2. จิบดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อย 6-8 แก้วต่อวัน
  3. เคี้ยวอาหารให้เอียดและกินอย่างช้า ๆ
  4. ตัดแบ่งอาหารเป็นชิ้นหรือคำเล็ก ๆ
  5. หลีกเลี่ยงอาหารที่เหนียว หรือเคี้ยวยาก
  6. เลือกกินอาหารที่อ่อนนุ่ม หรือปั่นละเอียด
  7. เลือกวิธีการปรุงประกอบ เช่น การตุ๋น หลน นึ่ง ต้ม อบ แทนการปิ้งหรือย่าง
  8. เลือกอาหารหรือเครื่องดื่มที่ให้พลังงานมาก เช่น อาหารทางการแพทย์ที่มีใยอาหารน้อย นม โยเกิร์ตพร้อมดื่ม ซุปข้นหรือซุปครีม
  9. ทดลองกินอาหารชนิดอื่น ๆ โดยเพิ่มอาหารทีละชนิดในปริมาณมื้อละน้อย ๆ ก่อน แล้วสังเกตอาการที่ผิดปกติ
  10. พยายามเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น การเดินเป็นระยะทางสั้น ๆ เพื่อช่วยให้ลำไส้เคลื่อนไหวมากขึ้น
  11. ปรึกษาแพทย์ นักกำหนดอาหาร หรือเภสัชกร ในเรื่องการเสริมวิตามินและแร่ธาตุรวม
  12. หากคำแนะนำดังกล่าวไม่ทำให้อาการผิดปกติดีขึ้น และผู้ป่วยผอมลง หรือน้ำหนักตัวลดลงมาก ควรปรึกษาแพทย์

สรุปแล้วภาวะลำไส้อุดตันแบบบางส่วน ส่งผลให้ผู้ป่วยมะเร็งไม่อยากอาหาร มีอาการแน่นท้อง คลื่นไส้อาเจียน ทำให้กินอาหารได้ลดลง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะทุพโภชนาการและการขาดสารอาหารได้อย่างมาก

ญาติและผู้ดูแล ควรช่วยดูแลผู้ป่วย ร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยมีสุขภาพแข็งแรง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดโอกาสการเสียชีวิตจากภาวะขาดสารอาหาร

By ญาณิศา พุ่มสุทัศน์

นักกำหนดอาหารวิชาชีพ (CDT)
วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาโภชนาการและการกำหนดอาหาร
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย