...

วัดจองคำ วัดจองกลาง
วัดจองคำ วัดจองกลาง
          วัดจองคำ วัดจองกลาง วัดฝาแฝดที่สร้างขึ้นเป็นวัดแห่งแรกของจังหวัดแม่อ่องสอน ตั้งอยู่บริเวณหนองจองคำ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน โดยมีการประกาศรวมวัดทั้งสองเข้าด้วยกัน เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๗ ตามประกาศของกระทรวงศึกษาธิการที่ดูแลกรมการศาสนาในช่วงเวลานั้น
        วัดจองคำ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๐ โดยพญาสิงหนาทราชา และเจ้านางเมี้ยะ ได้รับพระราชทานให้เป็นพระรามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๗ มีรูปแบบสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมไทใหญ่ ภายในวัดมีองค์พระเจดีย์สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๘ ความสูง ๓๒ ศอก ฐานสี่เหลี่ยมมีมุข ๔ ด้าน ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ประดิษฐานพระพุทธรูป และมีสิงห์ประดับอยู่ด้านละหนึ่งตัว และมีวิหารหลวงพ่อโต รูปแบบสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างไทใหญ่กับตะวันตก ภายในประดิษฐานหลวงพ่อโต สร้างโดยช่างชาวพม่า ซึ่งจำลองแบบพระศรีศากยมุนี (หลวงพ่อโต) จากวัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพมหานคร ตัววิหารก่ออิฐฉาบปูน ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นรูปทรงโค้ง หลังคามุงด้วยสังกะสี เชิงชายมีฉลุลูกไม้แบบขนมปังขิงที่นิยมสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากตะวันตก
         วัดจองกลาง เดิมเป็นศาลาการเปรียญที่ชาวบ้านสร้างถวายให้แก่พระภิกษุชาวพม่าที่มาร่วมงานศพเจ้าอาวาสวัดจองใหม่ ด้วยความศรัทธาชาวบ้านจึงนิมนต์ให้ท่านมาอยู่ประจำศาลาต่อ จนเกิดเป็นวัดจองกลางขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๐ โดยมีพิพิธภัณฑสถานวัดจองกลาง ซึ่งจัดแสดงวัตถุโบราณจำนวนมาก เช่น ตุ๊กตาไม้แกะสลักชุดมหาเวสสันดรชาดก โดยช่างฝีมือชาวพม่า พระพุทธรูปหินอ่อน เครื่องถ้วยลายครามจีน อาวุธโบราณ หนังสือธรรมภาษาไทใหญ่ เป็นต้น
        วัดจองคำและวัดจองกลางเสมือนเป็นวัดฝาแฝดที่อยู่คู่เมืองแม่ฮ่องสอนมาแต่แรกเริ่ม และยังคงได้รับการทำนุบำรุง ให้คงความงดงาม คงคุณค่ารอให้เข้ามาสัมผัสความงดงามทางสถาปัตยกรรม และแรงศรัทธาในพระพุทธศาสนาที่ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
#แม่ฮ่องสอน
#วัดในแม่ฮ่องสอน
#วัดจองคำ
#วัดจองกลาง
เรียบเรียง นายวีระยุทธ ไตรสูงเนิน นักจดหมายเหตุ ชำนาญการ
ภาพ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่
อ้างอิง
         กรมการศาสนา. ๒๕๓๓. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักรไทย เล่ม ๙. โรงพิมพ์กรมศาสนา : กรุงเทพมหานคร
         กรมศิลปากร.  ๒๕๒๕.  การขึ้นทะเบียนโบราณสถานภาคเหนือในเขตความรับผิดชอบของ หน่วยศิลปากรที่ ๔ ตามโครงการสำรวจและขึ้นทะเบียนโบราณสถานของกองโบราณคดี. ม.ป.ท : ม.ป.พ.
         ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม และคณะ. ๒๕๕๓ รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการ "การออกแบบเบื้องต้นและการศึกษาความเป็นไปได้สำหรับพิพิธภัณฑ์มีชีวิตของเมืองแม่ฮ่องสอน". สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)



























(จำนวนผู้เข้าชม 324 ครั้ง)