Search
Close this search box.

Night-scented Plants รู้จัก 9 ไม้ดอกส่งกลิ่นตอนกลางคืน

นอกจากสเปซ เส้นสาย รูปทรง สีสัน แสงและเงาแล้ว ยังมีอีกหนึ่งความพิเศษที่ทำให้งานออกแบบภูมิทัศน์มีเสน่ห์ไม่เหมือนใคร ซึ่งนั่นก็คือ ‘กลิ่นดอกไม้’ นั่นเอง โดยพืชแต่ละชนิดก็จะมีความเข้มข้นของกลิ่นที่แตกต่างกันไปตามช่วงเวลา และวันนี้เราจะมาแนะนำ 9 พืชพรรณหลากหลายรูปทรง ที่จะส่งกลิ่นแรงตอนกลางคืน มาให้ทุกคนได้รู้จักกัน

ต้นกันเกรา / Photo Credit: Wikipedia

กันเกรา (Fagraea fragrans Roxb.)

ไม้ยืนต้นสุดฮิตที่หลายคนนิยมปลูก เพื่อช่วยสร้างร่มเงาให้กับพื้นที่สวนและอาคาร เนื่องจากสามารถสูงได้ ถึง 15–25 เมตร มีฟอร์มทรงพุ่มที่สวยงาม ซึ่งเริ่มแรกฟอร์มจะเป็นทรงกรวย แต่หากโตเต็มที่แล้วจะกลายเป็นทรงกลม สามารถเจริญเติบโตได้ดีในทุกสภาพดิน โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ชื้นแฉะ แต่ชอบแสงแดดจัด จึงเหมาะกับการปลูกในสวนสาธารณะ หรือพื้นที่โล่งรอบๆ บ้าน มากกว่าการปลูกในคอร์ทยาร์ดกลางบ้าน นอกจากนี้ดอกสีเหลืองอ่อนของกันเกรายังส่งกลิ่นสดชื่นในตอนกลางคืนของช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนอีกด้วย

ดอกกันเกรา / Photo Credit: https://training-yala.cdd.go.th/file/tree04-64
ต้นตีนเป็ด / Photo Credit: https://www.pptvhd36.com/health/news/2277#&gid=null&pid=2

พญาสัตบรรณ หรือตีนเป็ด (Alstonia scholaris)

เป็นพืชพรรณที่มักถูกถกเถียงว่ามีกลิ่นหอมหรือไม่หอมกันแน่ แต่ถึงแม้ต้นไม้ชนิดนี้จะมีกลิ่นฉุนแรงตั้งแต่ช่วงค่ำ แต่ก็ไม่ส่งผลอันตรายต่อร่างกายแต่อย่างใด และด้วยลำต้นที่มีขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงได้ถึง 15–35 เมตร มีฟอร์มทรงพุ่มกลม จึงเป็นประโยชน์แก่การนำมาใช้สร้างร่มเงาให้พื้นที่ใต้ต้นไม้ เหมาะกับการปลูกในพื้นที่โล่ง ที่คนเข้าไปใช้งานในช่วงเวลากลางวันเป็นหลัก เช่น พื้นที่ริมถนน, สวนสาธารณะ, สนามเด็กเล่น หรือลานจอดรถ เป็นต้น

ดอกตีนเป็ด / Photo Credit: https://www.springnews.co.th/spring-life/422951
ต้นลีลาวดี / Photo Credit: http://www.mauilawn.net/blog/plumerias

ลีลาวดี (Plumeria obtusa L.)

ไม้ดอกที่อยู่คู่กับงานออกแบบภูมิทัศน์มาอย่างยาวนาน โดยทั่วไปจะมีความสูงประมาณ 1-3 เมตร ฟอร์มลำต้นแตกกิ่งคดเคี้ยวสวยงาม ฟอร์มทรงพุ่มแผ่กว้าง สามารถออกดอกตลอดทั้งปี และส่งกลิ่นทั้งกลางวันและกลางคืน เหมาะกับการปลูกเพื่อสร้างร่มเงาให้กับพื้นที่ใช้งาน หรือสร้างบรรยากาศสบายๆ สไตล์ทรอปิคอล อย่างงานออกแบบภูมิทัศน์ของโรงแรมและรีสอร์ท โดยสามารถใช้เป็นต้นไม้ประธาน หรือต้นไม้ริมทางเดินก็ได้

ต้นกระดังงาไทย / Photo Credit: https://apps.phar.ubu.ac.th/phargarden/main.php?action=viewpage&pid=195

กระดังงาไทย (Cananga odorata (Lamk.) Hook. f. et Thomson var. ordorata)

อีกหนึ่งไม้ยืนต้นขนาดกลาง ที่มีดอกมีสีเหลือง ส่งกลิ่นแรงยิ่งขึ้นในช่วงพลบค่ำ โดยดอกออกรวมกันเป็นช่อตลอดทั้งปี ลำต้นมีลักษณะสูงตรง ซึ่งสูงได้ถึง 30 เมตร ฟอร์มทรงพุ่มเป็นแบบทรงกรวย ลักษณะใบเป็นใบเดี่ยวขนาดกลาง เรียงสลับกัน นอกจากนี้ยังเป็นพืชที่ต้องการแดดจัด จึงเหมาะกับการปลูกในบริเวณพื้นที่โล่ง หากปลูกในพื้นที่ร่มมักไม่ค่อยติดดอกออกผล

ดอกกระดังงาไทย / Photo Credit: https://thai-herbs.thdata.co/page/กระดังงาไทย/
ต้นโมกลา / Photo Credit: https://home.kapook.com/view44470.html#google_vignette

โมกบ้าน หรือโมกลา (Wrightia religiosa Benth.)

สำหรับใครที่กำลังมองหาต้นไม้แนวรั้ว ต้นโมกลาถือเป็นหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ เนื่องจากมีลักษณะใบค่อนข้างละเอียด ช่วยพรางตาได้ดี แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ทึบเกินไป เพราะมีช่องว่างระหว่างกิ่งก้านให้ลมลอดผ่านได้พอสมควร ดอกโมกลามีสีขาว สามารถออกดอกตลอดทั้งปี จะส่งกลิ่นแรงเป็นพิเศษในช่วงที่มีอุณหภูมิต่ำ ดังนั้นเราจึงมักได้กลิ่นในช่วงเย็น-เช้า นอกจากนี้โมกลาถือเป็นพันธุ์โมกที่มีกลิ่นแรงมากที่สุดอีกด้วย ข้อควรระวังของการปลูกต้นโมกคือ ควรปลูกในบริเวณที่มีแสงแดดปานกลางส่องทั่วถึงทั้งต้น ไม่เช่นนั้นอาจเกิดอาการใบโกร๋นช่วงโคน-กลางลำต้นได้

ดอกโมกลา / Photo Credit: https://home.kapook.com/view44470.html#google_vignette
ต้นทิวาราตรี / Photo Credit: http://clgc.agri.kps.ku.ac.th/resources/new-fragrant/cestrum.html

ทิวาราตรี (Cestrum nocturnum L.)

หากใครต้องการออกแบบสวนที่ใช้งานในตอนกลางคืนเป็นหลัก ต้องไม่พลาดพืชชนิดนี้ เพราะทิวาราตรีเป็นพืชดอกที่ยิ่งดึกยิ่งกลิ่นแรงสมชื่อ แถมยังส่งกลิ่นทุกฤดูอีกด้วย โดยมีลักษณะเป็นไม้พุ่มขนาดเล็กสูง 2-5 เมตร ฟอร์มทรงพุ่มเป็นทรงกลม มีดอกสีขาวเล็กๆ ออกเป็นช่อ ชอบแสงแดดจัดตลอดทั้งวัน และชอบความชื้นสูง จึงเหมาะกับการปลูกในบริเวณพื้นที่ชายน้ำ หรือพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคกลางที่มีความชื้นในดินสูง

ดอกทิวาราตรี / Photo Credit: http://clgc.agri.kps.ku.ac.th/resources/new-fragrant/cestrum.html
ต้นมะลุลี / Photo Credit: https://powo.science.kew.org/taxon/urn:lsid:ipni.org:names:609641-1

มะลุลี (Jasminum multiflorum (Burm.f.) Andrews)

แม้เราอาจได้ยินชื่อไม่บ่อยนัก แต่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งพืชไม้เลื้อยที่มีความโดดเด่นในตัวเอง ด้วยลักษณะปลายดอกที่แยกออกมาคล้ายรูปดาว พร้อมส่งกลิ่นแรงตั้งแต่ช่วงเย็น และสามารถออกดอกได้ตลอดปี ซึ่งหากปลูกในบริเวณที่ได้รับแสงแดดเต็มวัน จะยิ่งออกดอกดกมากขึ้น เหมาะกับการนำมาตกแต่งภูมิทัศน์อย่างยิ่ง ไม่ว่าจะปลูกเป็นแนวพุ่มไม้ ตัดแต่งเป็นไม้ดัด หรือนำมาทำเป็นซุ้มไม้เลื้อย

ดอกมะลุลี / Photo Credit: https://www.biolib.cz/en/image/id51014/
ต้นพุดซ้อน / Photo Credit: https://www.hobbyseeds.com/gardenia-jasminoides-cape-jasmine-15.html

พุดซ้อน (Gardenia jasminoides J.Ellis)

เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ 1-3 เมตร มีทรงพุ่มกลม ค่อนข้างทึบ และมีดอกสีขาวซ้อนกันหลายชั้นอย่างสวยงาม โดยปกติแล้วพุดซ้อนสามารถส่งกลิ่นได้ตลอดทั้งวัน แต่จะส่งกลิ่นแรงขึ้นในช่วงค่ำ เหมาะกับการปลูกรอบๆ บ้าน หรือสวนกว้าง เพราะต้องการแสงแดดจัดและความชื้นสูง หากปลูกในที่ร่มจะทำให้ไม่ค่อยออกดอก

ต้นพลับพลึงตีนเป็ด / Photo Credit: https://www3.ha.org.hk/toxicplant/en/hymenocallis_littoralis.html

พลับพลึงตีนเป็ด หรือพลับพลึง กทม. (Hymenocallis littoralis (Jacq.) Salisb.)

เป็นพืชล้มลุกที่มักเห็นในงานออกแบบสวนสาธารณะบ่อยๆ เนื่องจากเป็นพืชที่ปลูกง่าย มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมสูง เจริญเติบโตได้ดีในบริเวณพื้นที่ชายน้ำ จึงมักถูกปลูกประดับเป็นแนวพุ่มริมน้ำ สามารถปลูกได้ทั้งในบริเวณที่มีแดดรำไรและแดดเต็มวัน ซึ่งหากปลูกในสวนกลางแจ้ง จะมีดอกสวยมากกว่าปลูกในร่ม โดยกลีบดอกมีลักษณะโดดเด่นเฉพาะตัว จึงเป็นที่จดจำได้ง่าย รวมถึงสามารถออกดอกได้ทั้งปี และส่งกลิ่นแรงในช่วงพลบค่ำ

ดอกพลับพลึงตีนเป็ด / Photo Credit: https://www.scimath.org/image-biology/item/8774-2018-09-18-09-17-17

แม้ว่าแต่ละคนก็มีกลิ่นดอกไม้ที่ชอบแตกต่างกัน แต่เชื่อว่าการได้รู้จักกับกลิ่นดอกไม้ จะช่วยให้งานออกแบบของเรามีมิติยิ่งขึ้น ตอบโจทย์กับผู้ใช้งานหลากหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะนำไปใช้ในการสร้างบรรยากาศที่น่าประทับใจ หรือหลีกเลี่ยงใช้สำหรับใครที่ไม่พึงประสงค์กลิ่นดอกไม้

Writer
Picture of Nara Aunjai

Nara Aunjai

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ที่ดำรงอาชีพนักเขียนเป็นงานหลัก นักแปลเป็นงานรอง และรับออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมเป็นงานพาร์ทไทม์

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading