หอวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์


หอวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ ตั้งในอาคารเดิมของขุนพิเนตรจีนภักดิ์ คหบดีชาวจีน เป็นอาคาร 2 ชั้น สร้างด้วยไม้ศักดิ์ทั้งหลัง ยกพื้นสูง ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเรือนขนมปังขิง ภายในจัดแสดงโบราณวัตถุศิลปวัตถุ เอกสาร ข้อมูล และบุคคลสำคัญของจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยแบ่งเป็นส่วน ๆ ดังนี้ โบราณวัตถุศิลปวัตถุ เช่น พระพุทธรูป เทวรูป เครื่องปั้นดินเผา เป็นต้น สิ่งของในพระพุทธศาสนา เครื่องมือเครื่องใช้ เงินตราต่าง ๆ แร่เหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็กน้ำพี้ และภาพถ่ายและภาพวาดจังหวัดอุตรดิตถ์

ที่อยู่:
ถนนแปดวา ตรงข้ามจวนผู้ว่าราชการจังหวัด ต.ท่าอิฐ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์
โทรศัพท์:
0-5541-1096ต่อ 184, 0-5541-3965
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวันอาทิตย์ 09.00-12.00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2531
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของหอวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์

หอวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นอาคาร 2 ชั้น สร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง ยกพื้นสูงประมาณ 1 ศอก หลังคามุงด้วยกระเบื้องไม้สัก ตกแต่งหลังคาด้วยยอดไม้กลึง และตกแต่งอาคารด้วยบัวหัวเสา ไม้ฉลุ และซุ้มโค้ง สถาปัตยกรรมเป็นรูปแบบที่เรียกว่าแบบเรือนขนมปังขิง (Gingerbread House) 
 
อาคารหลังนี้เดิมเป็นของขุนพิเนตรจีนภักดิ์ คหบดีชาวจีนที่สร้างฐานะด้วยความขยันขันแข็ง และได้รับแต่งตั้งให้มีบรรดาศักดิ์เพื่อช่วยเหลือทางราชการ มีหน้าที่เป็นนายภาษีอากร รูปแบบของอาคารหลังนี้ เล่ากันว่าขุนพิเนตรจีนภักดิ์ได้แนวคิดมาจากรูปแบบพระที่นั่งวิมานเมฆและได้ช่างชาวจีนชื่อเถ้าแก่โฮกเป็นผู้รับเหมา ระดมช่างฝีมือมาดำเนินการก่อสร้างและตกแต่งอย่างงดงาม เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองอุตรดิตถ์ผ่านตลาดท่าอิฐล่างซึ่งเป็นที่ตั้งเดิมของบ้าน ทอดพระเนตรบ้านหลังนี้และตรัสกับผู้ตามเสด็จว่า "บ้านหลังนี้สวยงามมาก อย่างกับบ้านหลวงเลยทีเดียว"
 
ประมาณ พ.ศ. 2450 ขุนพิเนตรจีนภักดิ์ได้เป็นความกับทางราชการเนื่องจากนำส่งภาษีอากรไม่ครบตามจำนวน และถูกศาลพิพากษาให้แพ้ความต้องถูกยึดทรัพย์ทั้งบ้านหลังนี้ด้วย จากนั้นในช่วง พ.ศ. 2460 - 2461 พระยาวโรดมภักดีศรีอุตรดิตถ์นคร เจ้าเมืองอุตรดิตถ์ ได้สั่งให้ย้ายบ้านหลังนี้มาไว้ ณ ที่ตั้ง ปัจจุบัน โดยรักษารูปแบบให้เหมือนเดิมทุกประการ เพื่อใช้เป็นที่รับรองเจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่จากนั้นเมื่อมีสภาเทศบาลก็ได้ใช้อาคารหลังนี้เป็นที่ประชุมสภาเทศบาล จนถึงสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม อาคารหลังนี้จึงถูกประกาศให้เป็นสำนักงานหอวัฒนธรรมหญิง เมื่อ พ.ศ. 2494 ปัจจุบันได้รับการซ่อมแซมและใช้เป็นหอวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมโบราณวัตถุชิ้นสำคัญของจังหวัดอุตรดิตถ์ อาทิ "ยานมาศ" หรือคานหามไม้แกะสลักฝีมือช่างสมัยอยุธยาตอนปลาย และผ้าซิ่นตีนจกลวดลายต่างๆ ที่งดงาม
 
ข้อมูลจาก : สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์. 174 มรดกสถาปัตยกรรมในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พลับบลิชชิ่งจำกัด (มหาชน), 2547.
ชื่อผู้แต่ง:
-