พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมปกากะญอ บ้านกุยต๊ะ


ที่อยู่:
บ้านกุยต๊ะ(87 กม.จากอุ้มผาง) ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก 63170
จัดการโดย:
เนื้อหา:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรม มรดกจากการต่อสู้กุยต๊ะ

ชื่อผู้แต่ง: ประชา แม่จัน | ปีที่พิมพ์: 1 มค.2550-1 กพ.2550

ที่มา: กรุงเทพฯ: ท่องเที่ยวมิติใหม่, สยามปริทัศน์

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

เสียงจากปกากะญอ อุ้มผางกับการท่องเที่ยว

ชื่อผู้แต่ง: ประชา แม่จัน | ปีที่พิมพ์: 1 ธค.2549-1 มค.2550

ที่มา: กรุงเทพฯ: ท่องเที่ยวมิติใหม่,สยามปริทัศน์

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมปกากะญอ บ้านกุยต๊ะ

ผืนป่าแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ของไทยส่วนใหญ่อยู่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า บริเวณนี้เป็นที่อยู่อาศัยของชาวปกากะญอมาอย่างยาวนาน วิถีชีวิตของชาวปกากะญอผูกพันอย่างมากกับป่าเขาตามธรรมชาติ แต่นโยบายการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติตามแนวทางการพัฒนาของรัฐ ทำให้การเกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างชาวบ้านที่อาศัยอยู่เดิมกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติที่เป็นตัวแทนของรัฐ ในประเด็นปัญหาเรื่องที่ทำกิน การควบคุมการใช้พื้นที่ป่าและการดูแลรักษา 
 
บ้านกุยต๊ะ หมู่ 6  ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก เป็นบ้านชาวปกากะญอ แยกจากถนนลาดยางสายอุ้มผาง-เปิ่งเคลิ่ง ที่บ้านกุยเลอตอไปตามถนนดินเป็นระยะทาง 6 กิโลเมตร ชื่อ “กุยต๊ะ” แปลว่า “วังห้าม” หรือวังน้ำเขตอภัยทาน ตำนานกล่าวว่า มีพระสงฆ์รูปหนึ่งได้มาบิณฑบาตห้ามจับปลาในวังแห่งนี้ จึงเรียกเป็นชื่อวังสืบต่อมา แต่มีข้อน่าสงสัยว่าชาวปกากะญอในอุ้มผางนับถือศาสนาที่เรียกว่า “เพอเจะ” ซึ่งคนไทยเรียกว่า “ฤๅษี” ดังนั้น พระสงฆ์จึงไม่น่าจะมีอิทธิพลเหนือความเชื่อของชาวบ้าน  “เพอเจะ” มีหลักศีลธรรมเหมือนกับศีล 5 ส่วนการเรียกว่า“ฤๅษี” เข้าใจว่ามาจากการแต่งกายของชาวปกากะญอ ผู้ชายไว้ผมยาว มัดมวยผม นุ่งโสร่ง 
 
ชาวบ้านบ้านกุยต๊ะถูกห้ามไม่ให้ถางไร่โดยเจ้าหน้าที่ เป็นการปะทะทางวัฒนธรรมและการดำรงชีพ นำมาสู่การแตกหักด้วยการประท้วง ในปี 2547 จอวาโพ บ้านกุยต๊ะ ได้นำชาวบ้านจำนวน 16 ครัวเรือนประมาณ 100 คน อดข้าวประท้วงเจ้าหน้าที่อุทยานที่จำกัดพื้นที่เพาะปลูกของชาวบ้าน ระหว่างการประท้วงชาวบ้านได้รวบรวมเครื่องมือทำมาหากิน เครื่องจักสาน หัตถกรรม และประกาศว่า “พวกเราจะวางมือจากการทำมาหากิน และยอมอดตาย ถ้าพวกเราทำไร่ไม่ได้” 
 
โดยพื้นฐานการผลิต การทำไร่เป็นศูนย์กลางของธัญญาหาร นอกจากการปลูกข้าวแล้ว ในไร่จะมีการปลูกพริก ขิง ข่า ตะไคร้ แตงต่างๆ มะเขือ ยาสูบ งา และพืชอื่นๆสำหรับการบริโภค แม้กระทั่งผู้ที่ทำนาต้องถางไร่ขนาดเล็กเพื่อปลูกพืชอื่นนอกเหนือจากข้าว ในขณะที่การทำไร่ของชาวบ้านดูเหมือนว่าเป็นการบุกรุกป่า แต่ความจริงการถางไร่จะวนรอบภายใต้พื้นที่ที่ชุมชนได้กำหนดให้เพาะปลูกได้ โดยรอบของการทำไร่จะนาน 7-10 ปี จึงวนกลับมาทำที่เดิม ป่าที่นี่ยังไม่เสื่อมโทรม ทั้งที่พวกเขาอยู่อาศัยมามากกว่า 200 ปี
 
ความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ (ชาวบ้านเรียกว่า “อนุรักษ์”) ที่จำกัดพื้นที่การทำไร่หมุนเวียนในการประท้วงทางการได้ส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจังหวัด วุฒิสมาชิก ได้เดินทางมาเจรจากับผู้ประท้วงซึ่งนำโดย จอวาโพ เมื่อยุติการประท้วง ชาวบ้านบ้านกุยต๊ะจึงได้รวบรวมเครื่องมือ เครื่องจักสาน และหัตถกรรมต่างๆและสร้างบ้านเป็นพิพิธภัณฑ์ สำหรับจัดแสดงและใช้ทำพิธีทางศาสนาทุกวันพระ
 
ภายในพิพิธภัณฑ์ประกอบด้วย กลุ่มเครื่องจักสานที่เป็นเครื่องมือการผลิตและเครื่องใช้ เช่นชุดกันฝนที่สานจากตอก กระด้ง กระบุงขนาดต่างๆ คบขี้ไต้ เครื่องมือจับปลาประเภทต่างๆ  กลุ่มสิ่งทอ ประกอบด้วยย่าม ผ้าผูกผม ผ้าถุง โสร่ง เสื้อ ผ้าห่ม สิ่งทอเหล่านี้มีหลายลวดลาย แขวนไว้ภายในบ้าน  กลุ่มเครื่องมือ เช่นเครื่องปั่นฝ้าย กลุม และกลุ่มเครื่องดนตรี เช่นตะนะ ระนาดเล็ก  
 
ในตำบลแม่จันมีบางหมู่บ้านที่ต้องการให้นักท่องเที่ยวเข้าไปโดยหวังว่าพวกเขาจะได้ค่าจ้าง การเป็นลูกหาบหรือนำทาง แต่ก็มีบางหมู่บ้านเช่น บ้านกรูโบ ที่ชาวบ้านมีความเห็นว่าไม่ควรเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว เพราะคงไม่ได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวและต้องคอยเก็บขยะจากการเหมือนหมู่บ้านที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามา จอวาเอหรืออดีตสหายจริงจัง สมาชิก อบต. หมู่บ้านทิจอซี หมู่ 11 ตำบลแม่จัน ได้กล่าวว่า เขาได้ห้ามเจ้าหน้าที่อุทยานมาสำรวจน้ำตกในเขตหมู่บ้านและนำไปเปิดสถานที่ท่องเที่ยว เพราะการท่องเที่ยวจะนำมาซึ่งการเสื่อมเสียทางวัฒนธรรม รายได้จากการท่องเที่ยวตกอยู่ในอุ้มผาง ไม่ตกถึงหมู่บ้านเหล่านี้ ชาวบ้านที่นี่จึงยินดีต้อนรับเป็นพิเศษสำหรับบุคคลหรือคณะใดที่ต้องการไปเยือนอุ้มผางเพื่อพักผ่อนหย่อนใจอย่างเป็นธรรมชาติ ศึกษาแลกเปลี่ยนรู้วิถีชีวิต และสร้างมิตรไมตรีเยี่ยงมิตรสหาย 
 
เรียบเรียงจาก :
ประชา แม่จัน. “เสียงจากปกากะญอ อุ้มผางกับการท่องเที่ยว”, สยามปริทัศน์ (1 ธค.2549-1 มค.2550) :36-37
ประชา แม่จัน. “พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรม มรดกจากการต่อสู้กุยต๊ะ”.สยามปริทัศน์ (1 มค.2550-1 กพ.2550):53-54
ชื่อผู้แต่ง:
-