หอวัฒนธรรมนิทัศน์วัดโคกหม้อ (พรหมานุสรณ์)


ที่อยู่:
วัดโคกหม้อ หมู่ 2 ต.โคกหม้อ อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี 61120
โทรศัพท์:
089-5663412 ติดต่อคุณประทีป
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2545
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

โคกหม้อทอผ้า

ชื่อผู้แต่ง: แก้มนวล | ปีที่พิมพ์: ปีที่ 5, ฉบับที่ 63 (พ.ย. 2539) : หน้า 116-120

ที่มา: Life & Decor .

แหล่งค้นคว้า: มศก. วังท่าพระ

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

"บ่าวชยทัศน์ วิเศษศรี ผ้าทอลาวครั่งในราชสำนัก ผ้าที่ผู้ทอไม่มีสิทธิ์สวมใส่" ใน สยามหลากเผ่าหลายพันธุ์

ชื่อผู้แต่ง: องค์ บรรจุน | ปีที่พิมพ์: 2553;2010

ที่มา: กรุงเทพฯ: มติชน

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 28 กุมภาพันธ์ 2557


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของหอวัฒนธรรมนิทัศน์วัดโคกหม้อ (พรหมานุสรณ์)

หอวัฒนธรรมนิทัศน์ วัดโคกหม้อ เป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่ไม่ได้มีแต่เรื่องราวของโบราณวัตถุ สิ่งของจัดแสดงที่น่าสนใจเท่านั้น แต่รอบๆ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ยังมีเรื่องราววัฒนธรรมของกลุ่มชนที่น่าสนใจให้เรียนรู้และเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ 
 
จากตัวอ.เมืองอุทัยธานีเข้าสู่ อ.ทัพทัน เดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 3456 ออกจากตัวอำเภอทัพทันไปไม่ถึง 10 กิโลเมตรก็จะพบกับสามแยกบ้านโคกหม้อ ให้เลี้ยวขวาไปตามเส้นทางจนถึงวัดโคกหม้อก็จะพบกับ หอวัฒนธรรมนิทัศน์ ซึ่งตั้งอยู่ภายในวัดแห่งนี้
 
คุณประทีป  วิเศษศรี อดีตผู้ใหญ่บ้านและผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์มารอเราเพื่อจะนำชมอยู่แล้ว อาคารแห่งนี้เป็นตึกสองชั้นซึ่งดูภายนอกเพียงผิวเผินอาจไม่ได้บอกเรื่องราวภายในมากนัก คุณประทีปเล่าว่าปกติอาคารแห่งนี้ไม่ได้เปิดไว้ตลอดเวลา จะต้องติดต่อมาก่อนถึงจะเปิดให้เข้าชมได้ สาเหตุจากบางครั้งผู้ดูแลอาจจะมีธุระไม่อยู่ในพื้นที่ และสิ่งของจัดแสดงบางชิ้นเป็นของมีค่า จึงต้องป้องกันไว้ก่อน
 
ด้านหน้าอาคารแห่งนี้มีป้ายติดอยู่เหนือประตูว่า “พรหมานุสรณ์” อาคารหลังนี้จัดสร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2545 โดยงบประมาณส่วนตัวของพระครูนิวุตถ์พรหมจรรย์หรือหลวงพ่อพรหมวัดโกรกพระใต้ ซึ่งบ้านเกิดของท่านอยู่ที่บ้านโคกหม้อ อ.ห้วยทับทัน แห่งนี้ ท่านจึงนำวัตถุมีค่าที่ท่านสะสมไว้มาเก็บไว้ที่อาคารแห่งนี้และสร้างมณฑปไว้ตรงกลางเพื่อเก็บพระพุทธรูปต่างๆ โดยแต่เดิมไม่ได้ตั้งใจจะเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ ต่อมาเมื่อท่านพระครูนิวุตถ์พรหมจรรย์มรณภาพแล้วอาคารจึงถูกปิดไว้เฉยๆ โดยของโบราณหรือวัตถุที่สำคัญของท่านก็ยังคงเก็บรวบรวมไว้ที่นี่ ทางคณะกรรมการหมู่บ้านจึงมีความเห็นว่าต้องการจะเปิดอาคารแห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ในชุมชน จึงร่วมมือกันนำสิ่งของมาจัดแสดงรอบๆ มณฑปทั้งสองชั้นเป็นหมวดหมู่ประเภทต่างๆ  ตามความเข้าใจของชาวบ้านเอง และเปิดให้ชมระยะหนึ่ง ต่อมาวัตถุบางชิ้นถูกโจรกรรม พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จึงปิดตายเพื่อเป็นการป้องกันทรัพย์สินภายใน
 
เมื่อเดินเข้าไปในอาคารหอวัฒนธรรมนิทรรศน์วัดโคกหม้อ สิ่งแรกที่เห็นอยู่ตรงกลางก็คือมณฑปที่มีความสูงประมาณตึกสองชั้น ถูกล้อมด้วยลูกกรงสี่เหลี่ยม รอบๆ มณฑปมีทางเดินเป็นแนวสี่เหลี่ยมจัตุรัส และมีตู้จัดแสดงสิ่งของไว้รอบๆ ให้ความรู้สึกเหมือนเดินเข้าไปในศาสนสถานมาก
 
ชั้นแรกของอาคารจะเป็นการจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ทั้งของหลวงพ่อพรหมฯ และเครื่องใช้พื้นบ้าน ที่ดูมีแนวความคิดในการจัด แต่อาจจะถูกหยุดไปด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวไปแล้วข้างต้น เริ่มเดินจากซ้ายมือตู้จัดแสดงแรกเป็นตู้เกี่ยวกับผ้าทอของชาวลาวครั่ง ที่บ้านโคกหม้อ อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานีแห่งนี้ มีหมอนขวานและหมอนสามเหลี่ยมที่มีปลอกทอลวดลายสวยงาม แต่ไม่มีคำอธิบายว่าแต่ละลายเรียกชื่อว่าอะไร จากนั้นก็จะเป็นตู้จัดแสดงสิ่งของประเภทเครื่องทองเหลือง ถ้วยจานชามเบญจรงค์เป็นชุด ตะเกียงแก้วลายสวย เครื่องลายครามต่างๆ สันนิษฐานว่าเคยเป็นของใช้ของหลวงพ่อพรหมฯ มาก่อน อีกส่วนจัดแสดงที่น่าสนใจบริเวณชั้น 1 คือ ส่วนที่จัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ทางการเกษตร ซึ่งดูแล้วน่าจะมีการปรับปรุงพวกป้ายคำอธิบายต่างๆ ต่อไปในอนาคต 
 
จากนั้นจึงเดินต่อขึ้นไปยังชั้น 2 ซึ่งเป็นส่วนที่จัดแสดงพระพุทธรูปปางต่างๆ ทั้งที่เป็นเนื้อโลหะ สำริด หินแกะสลัก และแก้ว ซึ่งพระครูนิวุตถ์พรหมจรรย์ได้สะสมไว้ นอกจากนี้ยังมีพระเครื่องรุ่นต่างๆ สำหรับคนที่ชอบสะสมพระหรือเซียนพระใช้เป็นที่ศึกษาค้นคว้าได้ แต่สำหรับผู้ที่ไม่มีความรู้เรื่องพระอาจจะไม่ได้ข้อมูลเพิ่มเติมเพราะแต่ละตู้ไม่ได้ติดป้ายอธิบายไว้ ชั้นนี้เราสามารถมองลงไปเห็นมณฑปได้ทั้งองค์ 
 
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้กรมศิลปากรเคยเข้ามาช่วยทำทะเบียนข้าวของทั้งหมดไว้แล้ว  แต่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ ด้านหลังอาคารพิพิธภัณฑ์ติดกับแม่น้ำแควตากแดดซึ่งเป็นแม่น้ำสายเล็กที่ไหลไปรวมกับแม่น้ำสะแกกรังน้ำสูงมาก จนท่วมทั้งอาคารชั้นที่ 1 และบ้านของคุณประทีปซึ่งเก็บเอกสารทะเบียนข้าวของไว้ เอกสารถูกน้ำท่วมทำลายเสียหายไปจนหมด คุณประทีปบอกว่าอยากจะขอสำเนา เอกสารชุดนั้นจากกรมศิลปากรมาเก็บไว้อีกครั้ง แต่ยังไม่ได้ติดต่ออย่างเป็นทางการ
 
เมื่อเดินชมจนครบและออกมาด้านหน้าอาคาร สิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจและเป็นจุดเรียนรู้ที่ดีของหอวัฒนธรรมนิทัศน์วัดโคกหม้อคือ ชุมชนที่อยู่รอบๆ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ชุมชนบ้านโคกหม้อ อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี เป็นชุมชนชาวลาวครั่งที่อพยพมาจากหลวงพระบางประเทศลาว เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว เดิมบรรพบุรุษของคนโคกหม้ออาศัยอยู่แถบ จ.สุพรรณบุรี และ จ.ชัยนาท ต่อมาจึงอพยพมาตั้งครอบครัวที่บ้านโคกหม้อโดยท่านขุนพิลึกนับเวลาก็ราว 160 ปีมาแล้ว ที่นี่จึงมีเรื่องราววัฒนธรรมประเพณีต่างๆ ของชาวลาวครั่งให้ศึกษามากมาย สิ่งที่เด่นชัดที่สุดก็คือศูนย์ทอผ้าไหมลายโบราณบ้านโคกหม้อ ตั้งอยู่ติดกับหอวัฒนธรรมนิทัศน์ฯ ซึ่งก็คือบ้านของคุณประทีป วิเศษศรี ผู้นำชมพิพิธภัณฑ์นั่นเอง 
 
ศูนย์ทอผ้าไหมลายโบราณแห่งนี้เกิดจากกลุ่มแม่บ้าน บ้านโคกหม้อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมีเชื้อสายลาวครั่ง รวมตัวกันเพื่อถักทอผืนผ้าที่ย้อมมาจากครั่งแท้ๆ ตามแบบฉบับของชาวลาวครั่ง และสืบทอดลวดลายดั้งเดิมเอาไว้ในผืนผ้า ให้คนรุ่นต่อไปได้ศึกษา หากใครต้องการจะชมวิธีการทอและย้อมก็สามารถมาชมได้ที่ศูนย์แห่งนี้
 
ผ้าทอของลาวครั่งแต่ละผืนนั้นต้องใช้เวลาและความอุตสาหะในการทอ ผ้า 1 ผืนมีส่วนประกอบสำคัญคือตัวซิ่นซึ่งเป็นผ้าไหมมัดหมี่ ย้อมด้วยครั่ง และตีนซิ่นซึ่งต้องใช้มือจกให้เกิดลวดลายต่างๆ ผ้าทอของกลุ่มนี้จึงค่อนข้างมีราคา บางผืนก็เป็นหลักหมื่นเลยที่เดียว 
 
นอกจากเรื่องผ้าทอแล้ว คุณประทีป วิเศษศรี ก็เป็นคนที่ชอบรวบรวมเรื่องราววัฒนธรรมประเพณีต่างๆ ของชาวลาวครั่งเอาไว้ มีรูปถ่ายเก่าๆ เมื่อชาวลาวครั่งมาตั้งชุมชนที่บ้านโคกหม้อครั้งแรก เรื่องราวประเพณีต่างๆ ในรอบปีของชาวลาวครั่ง เช่นประเพณีแห่ดอกไม้ในช่วงสงกรานต์ ประเพณีบุญกลางบ้าน ซึ่งหากใครสนใจก็สามารถเข้าไปพูดคุยกับคุณประทีปได้โดยไม่หวงความรู้ เพียงแต่ต้องนัดล่วงหน้าไว้ก่อนทั้งการชมหอวัฒนธรรมนิทัศน์วัดโคกหม้อ และการชมศูนย์ทอผ้าลายโบราณ 
 
สำรวจวันที่ 1 สิงหาคม 2552
ชื่อผู้แต่ง:
-