ข่าวจารึก

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images

ศิลาจารึก เสาหลักเมืองเพชรบูรณ์

ศิลาจารึก เสาหลักเมืองเพชรบูรณ์

QR-code edit Share on Facebook
เวลาที่โพส

โพสต์เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2560 เวลา 10:26:29

บทความโดย : ทีมงาน

        จากการบูรณะศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ โดยมีการก่อสร้างอาคารศาลขึ้นมาใหม่แทนหลังเดิมนั้น เป็นผลให้มีการตรวจพบว่า "เสาหลักเมือง" ประจำเมืองเพชรบูรณ์ ที่ตั้งเด่นสง่าอยู่ใจกลางเมืองภายในศาลแห่งนี้มาอย่างยาวนานนั้น ที่แท้กลับกลายเป็น "หลักศิลาจารึก" ที่ทรงคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์เมืองเพชรบูรณ์อย่างยิ่งยวด
        จึงนำไปสู่การตรวจสอบจากคณะนายเทิม มีเต็ม และ น.ส.ก่องแก้ว วีระประจักษ์ นักวิชาการด้านอักษรโบราณ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร เมื่อวันที่ 3-4 กันยายน2548  เป็นการค้นพบครั้งสำคัญ เพราะพบว่าอักษรขอมโบราณ ภาษาสันสฤต ที่ถูกจารึกอยู่บนหลักศิลานั้น ไม่ได้มีเพียงแค่ 6 แถว ตามข้อมูลเดิมของกรมศิลปากร ที่ได้เคยตรวจสอบไว้ก่อนหน้านี้
       การค้นพบจารึกอักษรขอมเพิ่มเติมครั้งนี้ มีความสำคัญถึงขนาดที่จะบ่งชี้ได้อีกว่า ศิลาจารึกเมืองเพชรบูรณ์หลักนี้ ได้ถูกจารึกขึ้นเมื่อปีมหาศักราช 948 ซึ่งมีอายุเก่าแก่ถึง 979 ปีทีเดียว สร้างความปีติยินดีให้กับผู้เกี่ยวข้องทุกคน เพราะหมายถึง ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของเมืองเพชรบูรณ์กำลังจะถูกไขให้เกิดความกระจ่างมากกว่าที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ 
        "ในวันแรกหลังทำความสะอาดหลักศิลาแล้ว ได้พบตัวอักษรขอมจารึกบนหลักศิลาครอบคลุมทั้ง 4 ด้าน โดยเฉพาะบริเวณส่วนล่างของเสา ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกฝังจมอยู่ในดินค่อนข้างมีรอยจารึกอักษรชัดเจนกว่าบริเวณส่วนบนของเสาที่ถูกทองคำเปลวปิดทับไว้" นายเทิมเล่าให้ฟังโดยดวงตาทั้งสองจับจ้องอยู่ที่ตัวอักษรขอมจารึกบนหลักอย่างไม่ละสายตา มือก็จับลูกประคบแต้มหมึกจีน บรรจงตบลงไปบนกระดาษสาที่ทาบกดทับอยู่บนหลัก เพื่อให้การลอกสำเนารอยอักษรขอมมีความสมบูรณ์ชัดเจนจนทำให้ง่ายต่อการอ่านแปลในโอกาสต่อไป นายเทิมเล่าว่า การที่หลักศิลาถูกทองคำเปลวปิดทับไว้นาน ทำให้ตัวอักษรที่ลอกสำเนาข้อความไม่ค่อยสมบูรณ์ ซึ่งจะส่งผลให้การอ่านและแปลข้อความยากลำบากและใช้เวลานานตามไปด้วย ในชั้นนี้จึงยังไม่สามารถจะระบุได้ว่าข้อความบนหลักศิลาบ่งบอกถึงอะไรบ้าง หลังการทำสำเนาคัดลอกเกือบ 2 วัน ความพยายามหาหลักฐานบ่งบอกถึงอายุขัยศิลาจารึกของคณะผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรก็เป็นผลสำเร็จ แม้ว่าร่องรอยอักษรจารึกที่ว่านี้จะไม่ชัดเจนก็ตาม แต่ก็พอจะบ่งบอกได้ว่า "อักษรขอมบนหลักศิลาหลักนี้ได้ถูกจารึกขึ้นเมื่อปีมหาศักราช 948"
        "อย่างไรก็ตาม ต้องมีการตรวจสอบ โดยเทียบเคียงรูปแบบพยัญชนะบนจารึกหลักที่มีการระบุปีศักราชที่ชัดเจนอีกครั้งก่อนถึงจะยืนยันได้" นายเทิมกล่าวแบบออกตัวตามวิสัยของนักวิชาการที่ต้องพิสูจน์อย่างรอบคอบเพื่อให้ข้อมูลถูกต้องชัดเจนก่อน
        ก่อนหน้านี้ นายวิศัลย์ โฆษิตานนท์ นายกเทศมนตรีเมืองเพชรบูรณ์ พยายามให้ทีมงานศึกษาค้นคว้าวิจัยประวัติศาสตร์เมืองเพชรบูรณ์ ติดตามหาหลักศิลาจารึกเมืองเพชรบูรณ์ ที่ปรากฏหลักฐานในการบันทึกขึ้นทะเบียนโบราณสถานกรมศิลปากรไว้ แต่ปัจจุบันกลับไม่พบศิลาจารึกหลักนี้ถูกเก็บรักษาไว้ที่ไหน กระทั่งเมื่อสืบสาวเส้นทางตลอดจนคำบอกเล่า ทำให้ค่อนข้างแน่ใจว่าเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์หรือเสมาหินวัดมหาธาตุหลักนี้ ที่ตั้งตระหง่านอยู่ใจกลางเมืองเพชรบูรณ์และเป็นที่เคารพสักการะของชาวเพชรบูรณ์ ที่แท้ก็คือหลักศิลาจารึกที่กำลังตามแกะรอยค้นหากันอยู่ จึงนำไปสู่การตรวจสอบกระทั่งเป็นผลสำเร็จตามข้อสันนิษฐาน"
       "อักขระที่พบบางตัวพอจะบ่งชี้ได้ว่าเป็นมงคลต่อบ้านเมือง เพราะมีการจารึกโดยเข้าใจว่าเป็นพระนามของพระมหากษัตริย์ในยุคสมัยนั้น รวมทั้งมีการระบุถึงปีมหาศักราชในการสร้างจารึกหลักนี้ ซึ่งอาจทำให้การปะติดปะเรื่องราวทั้งหมดทำได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยมีการอ่านและแปลจารึกเสาหลักนี้ไว้แล้วเพียงแค่ 6 แถวเท่านั้น"
       "การพบอักษรขอมจารึกที่ระบุถึงปีมหาศักราชในศิลาหลักนี้ มีนัยยะสำคัญพอที่จะบอกได้ว่า มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่ของเมืองเพชรบูรณ์ โดยศิลาจารึกหลักนี้มีอายุเก่าแก่ราว 979 ปี แต่ที่ผ่านมามีการบันทึกว่าเมืองเพชรบูรณ์สร้างขึ้นในยุคกรุงสุโขทัยซึ่งมีอายุแค่ราว 700 ปีเท่านั้น" นายวิศัลย์กล่าวด้วยความสนใจและยังยืนยันด้วยว่า "หลังจากนี้พร้อมจะให้การสนับสนุนแก่นักวิชาการและนักประวัติศาสตร์ได้ศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์เมืองเพชรบูรณ์กันอย่างจริงจัง"
         นายกเทศมนตรีเมืองเพชรบูรณ์เปรยถึงขั้นตอนต่อไปว่า ได้รับมอบสำเนาลอกอักษรขอมบนเสาหลักเมืองดังกล่าว จำนวน 1 ชุด ซึ่งจะนำออกจัดแสดงที่หอวัฒนธรรมเพชรบูรณ์ เพื่อให้ประชาชนและนักเรียนนักศึกษารวมถึงนักท่องเที่ยวได้เดินทางมาชมและศึกษาค้นคว้า
        "ส่วนการก่อสร้างอาคารศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ซึ่งตามแบบเดิมผนังอาคารบริเวณด้านหลังของเสาจะถูกปิด แต่เมื่อพบว่าเสาหลักเมืองกลายเป็นศิลาจารึกซึ่งมีอักษรขอมอยู่บริเวณด้านหลัง อาจจะต้องทบทวนเปลี่ยนแปลงแบบโดยเปิดฝาผนังส่วนนี้ออก เพื่อให้สามารถชมได้ หรืออาจทำครอบแก้วป้องกันการปิดทองทับตัวเสา แต่ทั้งนี้ต้องฟังเสียงชาวเพชรบูรณ์ก่อน" นายวิศัลย์กล่าวทิ้งท้าย ฉะนั้นทั้งนักประวัติศาสตร์และชาวเพชรบูรณ์ในขณะนี้จึงทำได้แต่เพียงเฝ้ารอการอ่านและแปลข้อความอักษรขอมจารึกจากผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรโบราณด้วยใจที่จดจ้อง และต้องการใคร่อยากรู้ว่าข้อความเหล่านี้กล่าวอ้างไว้อย่างไร ที่สำคัญเพียงพอจะเป็นหลักฐานใหม่ในการพลิกหรือเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์เมืองเพชรบูรณ์ไปในทิศทางไหน

 
ข้อมูลเพิ่มเติม
         เสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ เป็นแท่งเสาหินทรายสีเทา มีลักษณะปลายป้านโค้งมน มีความสูงจากฐานล่างถึงปลายยอด  184 เซนติเมตร  กว้าง  30  เซนติเมตร  ความหนาประมาณ 15 – 16 เซนติเมตร  มีจารึกอักษรขอม ภาษาสันสกฤต 
         ปัจจุบันนี้  กรมศิลปากรได้ทำการอ่านและแปลศิลาจารึกเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว  โดยสรุปได้ความว่า เป็นการจารึกลงในเสาหินทรายสีเทาใน 2 ยุคด้วยกันคือ ครั้งแรกเป็นการจารึกในด้านที่ 1 เมื่อประมาณ 900 กว่าปีที่แล้ว ข้อความเป็นการสรรเสริญพระศิวะในศาสนาพราหมณ์ ส่วนครั้งที่ 2 เป็นการจารึกใหม่ในด้านที่เหลือ โดยจารึกหลังจากครั้งแรกประมาณ 500 กว่าปีและเป็นข้อความเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา กระดาษลอกลายและสำเนาคำอ่านและแปลศิลาจารึกเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ดังกล่าว สามารถชมได้ที่หอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์  ซึ่งตั้งอยู่ตรงกันข้างกับศาลเจ้าพ่อหลังเมืองเพชรบูรณ์นั่นเอง
         นอกจากนั้น  ยังอาจสรุปได้ว่า  ประวัติเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ที่ได้มีการบันทึกกันทั่วไปไว้ว่า  เป็นเสาที่ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงนำมาจากเมืองศรีเทพนั้น น่าจะเป็นการคลาดเคลื่อน  เพราะตามบันทึกของพระองค์ท่าน ได้บันทึกไว้ว่าเสด็จเดินทางมาเพชรบูรณ์ทางบกผ่านจังหวัดพิจิตร และเสด็จกลับทางเรือโดยแวะค้นหาเมืองเก่าศรีเทพ ฉะนั้น จึงคงไม่สามารถทรงนำเสาหลักเมืองย้อนกลับมาจากศรีเทพแล้วนำกลับมาไว้ที่เพชรบูรณ์ได้อีก 
       ในทางกลับกัน ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร ได้เก็บรักษาเสาศิลารูปหัวตะปูที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนำไปจากเมืองเก่าศรีเทพและยังได้ทรงสันนิฐานไว้ว่าน่าจะเป็นเสาหลักเมืองศรีเทพ ฉะนั้น จากข้อมูลการกล่าวถึงเสาหลักเมืองนี้เอง จึงน่าจะทำให้เกิดการสับสนในการบันทึกความเป็นมาของเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ในประวัติอย่างเป็นทางการของจังหวัดเพชรบูรณ์  และยังคงสืบทอดกันอย่างผิดๆ มาจนทุกวันนี้
 
ที่มา : เสาหลักเมืองเพชรบูรณ์เป็นศิลาจารึก, มติชน วันที่ 2 พฤศจิกายน 2548
ที่มาและเรียบเรียงใหม่ : วิศัลย์  โฆษิตานนท์ https://wisonk.wordpress.com/2009/08/11/ศิลาจารึก-เสาหลักเมือง/ วันที่ 11 สิงหาคม 2552

ผู้เขียน :

คำสำคัญ : ศิลาจารึก เสาหลักเมือง เพชรบูรณ์