เรื่องเล่าชุมชน |

เขวาสินรินทร์, จ.สุรินทร์ 28 ก.ย. 65

แซนโฎนตา

พิธีแซนโฎนตาหรือวันสาร์ทเขมร เป็นประเพณีเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษ ของชาวไทยเชื้อสายเขมร บางคนก็เรียกว่า “สารทเขมร”

“แซนโฎนตา” เป็นภาษาเขมร คำว่า “แซน” ภาษาไทยตรงกับคำว่า “เซ่น” หมายถึงการเซ่นไหว้ ส่วนคำว่า “โฎนตา” แปลว่า ยายตา ใกล้เคียงกับคำว่าบรรพบุรุษ ญาติโกโหติกา ความหมายของแซนโฎนตา คือการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศล ให้กับผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยเฉพาะบรรพบุรุษหรือญาติที่ใกล้ชิดและหมายรวมทั้งผู้ที่ล่วงลับไปแล้วโดยไม่เจาะจงว่าเป็นใครด้วย

ประเพณีแซนโฎนตาเริ่มต้นดังนี้
1. วันเบ็ณฑ์ตู๊จ วันขึ้น 14 ค่ำเดือน 10 จะมีทำพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่บ้าน และนำภัตตาหารไปถวายพระสงฆ์ที่วัด
2. วันกันซ็อง เป็นวันหลังจากวันเบ็ญฑ์ตู๊จ คือเป็นวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 10 ตอนเช้าและเพล ชาวบ้านจะไปถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ที่วัด
3. วันแซนโฎนตา หรือวันเบ็ณฑ์ธม (วันสารทใหญ่) คือวันแรม 14 ค่ำ เดือน 10 เป็นวันที่ญาติพี่น้องทุกคนต้องร่วมกันทำบุญที่วัด เป็นหน้าที่ที่ขาดไม่ได้ มีการเซ่นไหว้บรรพบุรุษอีกครั้งที่บ้าน

เชื่อกันว่าเป็นช่วงเวลาที่ยมบาลจะปลดปล่อยวิญญาณ ให้ขึ้นมาปะปนกับมนุษย์บนโลก เพื่อเยี่ยมเยียนญาติพี่น้องและรอรับส่วนบุญ ทั้งจากญาติพี่น้องและบุคคลอื่น โดยผ่านพิธีกรรมการทำบุญอุทิศไปให้ ชาวบ้านในชุมชนจึงมีการทำบุญตั้งแต่วันเบ็ณฑ์ตู๊จ จนถึง วันแซนโฎนตาเพื่อเป็นการอุทิศบุญให้กับญาติโกโหติกาที่ล่วงลับไปแล้วเป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการทำบุญบูชาบรรพบุรุษมีขึ้นในวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 ของทุกปีชาวสุรินทร์หรือกลุ่มชาติพันธุ์เขมรมีความเชื่อว่า เมื่อวันดังกล่าวนี้เวียนมาถึงวิญญาณบรรพบุรุษผู้ถึงกาละไปก่อนแล้วจะพากันเดินทางมาเยือนเยียนลูกหลานหรือญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่เพื่อรวมโฮปปะชา (รับประทาน) ข้าวปลา อาหาร ของหวาน ของคาว เครื่องดื่มต่าง ๆ การเซ่นล้วนแล้วแต่มีอาหารที่บรรพบุรุษเคยชอบเมื่อยังมีชีวิตอยู่เมื่อเครื่องเช่นทุกอย่างพร้อมแล้วผู้อาวุโสในพิธีก็จะถามถึงลูกหลานคนนั้นคนนี้ เมื่อพร้อมหน้าเป็นที่พอใจแล้วก็จะเริ่มทำการเซ่นโดยจุดธูปเทียนยกขันห้าไหว้ และเรียกดวงวิญญาณบรรพชนให้มารับเครื่องเซ่นไหว้แล้วรินน้ำให้ล้างมือในเครื่องดื่มทั้งหนัก และเบาชี้บอกให้วิญญาณรู้ว่ามีเครื่องเซ่นอะไรบ้างเสียงเรียกวิญญาณของบรรพชนเรียกวิญญาณเอ่ยชื่อให้ได้มากที่สุดขณะเดียวกันก็รินเครื่องดื่มไปด้วย

สิ่งของที่ต้องเตรียมในพิธีแซนโฎนตาแต่ละบ้านจะทำพิธีแซนโฎนตาแล้วแต่เวลาตามสะดวก สิ่งของที่ต้องเตรียมในพิธีแซนโฎนตา ได้แก่
   1. กรวยดอกไม้ 5 กรวย หรือที่เรียกว่าขันธ์ 5 ใส่พานพร้อมทั้งเงินทองของมีค่า
   2. เสื้อผ้า ผ้าโสร่ง และผ้าซิ่นไหม ที่ยังไม่ได้ใช้ 1 สำรับ พร้อมแป้งหอม น้ำหอม น้ำอบ หวี กระจก
   3. สำรับกับข้าว 1 สำรับ เป็ดต้ม 1 ตัว ไก่ต้ม 1 ตัว หรืออาจมีหัวหมู แล้วแต่ลูกหลานแต่ละบ้านจะจัดจะหามา
   4. ขนมต่าง ๆ ได้แก่ ขนมข้าวต้มห่อด้วยใบมะพร้าวอ่อน ขนมข้าวต้มหมู ข้าวต้มมัด ขนมเทียน ขนมใส่ไส้ กันเตรือม ขนมกันตางราง ขนมนางเล็ด ขนมไข่หงส์ ขนมข้าวเกรียบ ขนมข้าวพอง
   5.ผลไม้ต่าง ๆ แต่ที่ขาดไม่ได้คือ มะพร้าวอ่อนและกล้วยน้ำว้าสุก
   6. น้ำดื่ม เหล้า ตามแต่เห็นสมควร เทียน 2 เล่ม จุดไว้อย่าให้ดับกระถางธูปและธูป ไว้สำหรับจุดเวลาเซ่น และจะใช้ปักไว้ตามจานอาหารด้วย

ในช่วงเทศกาลแซนโฎนตาจะมีประเพณีที่เรียกว่า “จูนโฎนตา” คือ บรรดาลูกหลานญาติพี่น้องจะกลับมาบ้านมาไหว้พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย และญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ และจะนำเอามะพร้าว ข้าวสารเหนียว ขนมต่าง ๆ มามอบให้หรืออาจมอบเงินด้วย เพื่อให้ได้ใช้ทำบุญในประเพณีแซนโฎนตา หากพ่อแม่ ปู่ย่าตายายเสียชีวิตไปแล้ว ก็จะไปกราบไหว้ญาติผู้ใหญ่ที่เคารพและมอบข้าวของเงินทองให้ หรือถ้าทำไม่ได้ก็จะนำสิ่งของเหล่านี้ไปถวายพระที่วัดแทน เหมือนกับเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ญาติผู้ใหญ่หรือบรรพบุรุษที่ล่วงลับ

แซนโฎนตาจัดเป็นประเพณีวัฒนธรรมประจำปีของคนไทยเชื้อสายเขมร ประเพณีและงานประจำปีของกลุ่มชาติพันธ์ุเขมรถือได้ว่าเป็นกลุ่มชาติพันธ์เดียวกัน ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณีนั้นคนในท้องถิ่นจึงมีความเชื่อและปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน การประกอบพิธีกรรมประเพณี ในชุมชนนั้นจึงมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ประเพณีส่วนใหญ่ของคนในชุมชนจึงมีความเชื่อ มุขปาฐะ สอดแทรกไปในการประกอบพิธีกรรมนั้น ๆ ประเพณี พิธีกรรมโดยส่วนใหญ่ไม่พ้นความเชื่อในเรื่องของการบูชา นับถือผีทั้งนี้ในประเพณีพิธีกรรมของคนในชุมชนจึงมีที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา และการนับถือผี ซึ่งเป็นวัฒนธรรมความเชื่อแบบเขมรที่คนในชุมชนยังยึดถือและปฏิบัติตามจนถึงปัจจุบัน

ภาพจาก: อาจารย์พงศธร ยอดดำเนิน, คุณภชร รัมพณีนิล, คุณภณพล คิดสำราญ, คุณคณิศร ชาวนา

                        

ผู้สร้าง: คณิศร ชาวนา

เรื่องเล่าชุมชน