เรื่องเล่าชุมชน |

สามเงา, จ.ตาก 30 มิ.ย. 63

ยันฮีมา บ้านนาหาย

หลายคนอาจจะรู้จัก “ยันฮี” ในชื่อของโรงพยาบาล แต่น้อยคนที่จะรู้จักว่า “ยันฮี” เคยเป็นชื่อของเขื่อนมาก่อน เขื่อนที่ทำให้หมู่บ้านแห่งหนึ่งหายไปจากแผนที่ประเทศไทยตลอดกาล

โครงการบ้านนาในน้ำเหนือเขื่อนภูมิพล อำเภอสามเงา จังหวัดตาก เป็นโครงการที่จะพาทุกคนไปรู้จักกับเรื่องราวของหมู่บ้านหนึ่งที่ต้องอพยพย้ายถิ่น เมื่อโครงการโรงไฟฟ้ายันฮีถือกำเนิดขึ้น เรื่องราวความเป็นมาของหมู่บ้าน วิถีการดำเนินชีวิตของชาวบ้านนา ความรู้ภูมิปัญญาต่างๆ ที่ยังคงถือปฏิบัติและสืบทอด ถูกบันทึกไว้ผ่านโครงการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของโรงเรียนสามเงาวิทยาคม ภายใต้กิจกรรม “ผู้แก่เล่า ผู้เยาว์เขียน”

เมื่อ “ยันฮี” มา.. “บ้านนา” ก็หาย...
ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม (พ.ศ. 2494) มีแนวคิดที่จะสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การสำรวจพื้นที่ทั่วประเทศจึงเริ่มต้น และพบว่า ลำน้ำปิงบริเวณหุบเขา “ย่านรี” หรือ “ยันฮี” (เขาแก้ว) อำเภอสามเงา จังหวัดตาก มีความเหมาะสม จึงนำมาสู่การก่อตั้ง “การไฟฟ้ายันฮี” (กฟย.) เพื่อรับผิดชอบการสร้าง “เขื่อนยันฮี” และผลิตไฟฟ้าให้กับภาคกลางและภาคเหนือ ในปีพ.ศ. 2496

“เขื่อนภูมิพล” เป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานนาม จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อปีพ.ศ. 2500 เดิมชื่อ เขื่อนยันฮี ส่วนที่มาของชื่อ มีหลากหลายเวอร์ชั่น ทั้งที่บอกว่า เป็นการเพี้ยนเสียงมาจากคำว่า “ย่านรี” ที่เป็นชื่อหุบเขาที่สร้างเขื่อน บางก็บอกว่า มาจากลักษณะของลำน้ำปิงในช่วงนี้ ที่มีลักษณะแคบ ยาว เวลาพายเรือ หรือแพ ต้องค่อยใช้ไม้ยันขอบแกะแก่ง เพื่อไม่ให้เรือ/ แพแตก หรือบางคนก็เชื่อตามตำนานของพระนางจามเทวี ที่เชื่อว่า ลำน้ำนี้เป็นที่อาบน้ำของพระนาง แล้วระดับน้ำในแม่น้ำก็สูงถึงของลับของพระนาง ก็เลยเป็นที่มาของชื่อ ส่วนจะเชื่อแบบไหน?? ก็สุดแต่ใจ...

ประเด็นสำคัญคือ เมื่อมีโครงการสร้างเขื่อน ชาวบ้านนากว่า 12 หมู่บ้านที่เคยอาศัยอยู่บริเวณเขาแก้วต้องอพยพย้ายถิ่น เพราะบริเวณที่อยู่อาศัยและที่มาหากินของพวกเขาจะถูกแปรสภาพเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ การอพยพเริ่มต้นในช่วงปีพ.ศ. 2503 บางส่วนถอยร่นขึ้นไปบนภูเขาตั้งหมู่บ้านใหม่ ที่ต้องเดินทางเข้า- ออกด้วยเรือ บางส่วนยอมย้ายออกไปตั้งถิ่นฐานที่จังหวัดอื่น และหลายครอบครัวเปลี่ยนวิถีชีวิตมาเป็นชาวแพ อาศัยอยู่ในเขื่อน ขณะที่คนกลุ่มใหญ่ของบ้านนาย้ายมาลงหลักปักฐานใหม่ที่หมู่บ้านจัดสรร ตามที่ทางกรมชลประทานจัดหาไว้ให้ โดยเฉพาะหมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 4 ของหมู่บ้านจัดสรรในปัจจุบัน ส่วนใหญ่มีบรรพบุรุษเป็นชาวบ้านนา

จากบ้านนา สู่บ้านจัดสรร
การเดินทางออกจากบ้านนามาสู่บ้านจัดสรร (ที่รัฐจัดการให้) ไม่ใช่เรื่องง่าย การเดินทางเต็มไปด้วยความยากลำบาก ต้องเดินทางออกจากบ้านนาด้วยเรือพาย หรือแพไม้ไผ่ ต้องขนทั้งคน ทั้งทรัพย์สิน ท่ามกลางกระแสน้ำที่เชี่ยวกราก และโจรชุกชุม หลายครอบครัวต้องสูญเสียสมาชิกครอบครัว ขณะที่หลายครอบครัวสูญเสียทรัพย์สินระหว่างการย้ายออก

การตั้งบ้านในพื้นที่ที่รัฐจัดการให้ ไม่ใช่เรื่องที่คุ้นเคยสำหรับชาวบ้านในสมัยนั้น การจัดสรรพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินให้แต่ละครอบครัวจึงจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำชุมชน ซึ่งก็อาจจะไม่ได้รับความยุติธรรม หรือเท่าเทียมกันเสมอไป

เนื่องจากเป็นหมู่บ้านที่ทางรัฐ (กรมชลประทาน) จัดสรรให้ ผังบ้านของหมู่บ้านจึงมีลักษณะเหมือนกับหมู่บ้านจัดสรรในปัจจุบัน คือ มีการตัดถนนเป็นสายๆ ขนานไปกับลำน้ำปิง (มีทั้งหมด 8 สาย) นอกจากนั้นยังแบ่งพื้นที่ออกเป็นล็อคๆ (ปัจจุบันเรียกว่า ซอย) จากนั้นให้ชาวบ้านเข้าจับจองพื้นที่อยู่อาศัย โดยแต่ละครอบครัวจะได้ ครอบครัวละ 1 ไร่ สำหรับที่อยู่อาศัย ส่วนพื้นที่ทำมาหากินจะอยู่รอบนอกของหมู่บ้าน

ดังนั้น “หมู่บ้านจัดสรร” จึงไม่ได้มีความหมายแค่ หมู่บ้านที่รัฐเป็นผู้จัดสรรให้ แต่ยังหมายรวมถึงลักษณะของหมู่บ้านด้วย ที่มีการแบ่งที่ดินออกเป็นแปลงๆ ให้ชาวบ้านเข้ามาจับจอง

โปรเจคในโรงเรียน สู่การเรียนรู้นอกห้อง
กิจกรรม “ผู้แก่เล่า ผู้เยาว์เขียน” เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ภายใต้หลักสูตรท้องถิ่นของโรงเรียนสามเงาวิทยาคม ที่จัดให้นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายได้เรียน มีการนำเครื่องมือเก็บข้อมูลชุมชน ทั้งแผนที่เดินดิน ผังเครือญาติ ประวัติชุมชน ปฏิทินชุมชน และประวัติบุคคล มาให้นักเรียนได้เรียน ได้รู้จัก และลงมือทำ


คุณครูชลอ ถนัดวณิชย์ คุณครูสังคม ที่เป็นลูกหลานบ้านนา ที่เติบโตและใช้ชีวิตในบ้านจัดสรร เป็นผู้ริเริ่มคิด และทำโครงการในโรงเรียน โดยมีแรงบันดาลใจอยากให้เรื่องราวของ “บ้านนา” เป็นที่รู้จัก ว่า ครั้งหนึ่งภายใต้มวลน้ำมหาศาลของเขื่อนภูมิพลมีพื้นที่ทำกิน วัด โรงเรียน และหมู่บ้านขนาดใหญ่ตั้งอยู่

แน่นอนว่า กิจกรรมผู้แก่เล่า ผู้เยาว์เขียน หมายถึง ผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้รู้ในชุมชนเป็นคนเล่าเรื่อง คนเขียนเรื่องหรือผู้เยาว์ คือ นักเรียนม.ปลาย ของโรงเรียนสามเงา การเรียนเริ่มจากแนวคิดทฤษฎีในห้อง ต่อด้วยการลงพื้นที่เรียนรู้เรื่องราว (ชุมชน) ผ่านเรื่องเล่าของผู้คนนอกห้องเรียน เด็กนักเรียนจะต้องทำแผนที่เดินดิน ผังเครือญาติ และประวัติบุคคลของผู้ (แก่) เล่ากลับมาส่งทุกครั้ง ไม่ว่าเรื่องที่ไปเก็บ/ สัมภาษณ์จะเป็นประเด็นอะไรก็ตาม

จากการเรียนการสอนและการทำกิจกรรมผู้แก่เล่า ผู้เยาว์เขียน ที่ยาวนาน ทำให้คุณครูและนักเรียนหลายรุ่นของโรงเรียนสามเงาวิทยาคม ได้เรียนรู้ และมีข้อมูลเกี่ยวกับบ้านนา (ในน้ำ) หลากหลายเรื่อง ทั้งเรื่องตำแหน่งที่ตั้งหมู่บ้าน ประวัติศาสตร์ความเป็นมา การอพยพย้ายถิ่น เรื่องเล่าวิถีชีวิต เรื่องอาหารการกิน เรื่องความเชื่อ ความศรัทธา เรื่องงานบุญประเพณี ตลอดจนแนวทางการปฏิบัติต่างๆ


เรื่องเล่าและข้อมูลมหาศาลเหล่านี้ กำลังถูกจัดการ แบ่งแยก และจัดหมวดอย่างเป็นระบบ ก่อนจะถูกนำเสนอให้คนทั่วไปได้รับรู้ ติดตามและให้กำลังใจการทำงานของคณะคุณครู และนักเรียน โรงเรียนสามเงาวิทยาคม ได้ที่หน้าเว็บไซต์คลังข้อมูลชุมชน

ผู้สร้าง: จุฑามาศ ลิ้มรัตนพันธ์

เรื่องเล่าชุมชน