[บทความ] สัมผัสวิถีชีวิตไทลื้อเชียงคำ จ.พะเยา

16297-4

 “ความอ่อนน้อมถ่อมตนดูเหมือนจะเป็นบุคคลิกเฉพาะแบบของชาวไทลื้อ ยามที่ผมมีโอกาสเดินทางเข้ามาในดินแดนที่มั่งคั่งด้วยกลิ่นอายของอารยธรรมไทลื้อที่อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา จนยากที่จะละจากไปได้โดยง่าย..”ว่ากันว่าวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวไทลื้อนั้นดูโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ยากแก่กลุ่มชนอื่นจะลอกเลียนแบบได้ ทั้งประเพณี พิธีกรรม การแต่งกายและภาษาพูดของชาวไทลื้อดูจะผสมกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวจนเป็นแบบอย่างของการหลอมรวมวัฒนธรรมที่ยากแก่คนภายนอกอย่างเรา ๆ จะเข้าใจ

ความอ่อนน้อมถ่อมตนดูเหมือนจะเป็นบุคคลิกเฉพาะแบบของชาวไทลื้อยามที่ผมมีโอกาสเดินทางเข้ามาในดินแดนที่มั่งคั่งด้วยกลิ่นอายอารยธรรมไทลื้อที่อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยาจนยากที่จะละจากไปได้โดยง่ายแต่เดิมชุมชนของชาวไทลื้อมีการตั้งถิ่นฐานทำมาหากินอยู่ในแคว้นสิบสองปันนา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ในรอบ 200 ปีที่ผ่านมาชาวไทลื้อมีการอพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาอยู่ในดินแดนทางภาคเหนือของไทย พื้นที่ที่ชาวไทลื้อตั้งถิ่นฐานมากที่สุดเห็นจะได้แก่จังหวัดพะเยาและน่าน นอกจากนั้นยังกระจายไปอยู่ตามที่ต่างๆของเชียงใหม่ เชียงรายและลำปาง

ย้อนกลับไปเมื่อตอนต้นพุทธศตวรรษที่ 24 สมัยเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน (พ.ศ.2374 – 2461) เมืองน่านและเมืองเชียงใหม่มีบทบาทสำคัญทางการเมืองและทหารในแว่นแคว้นสิบสองปันนารวมไปถึงเชียงตุง สมัยนั้นมีการกวาดต้อนและชักชวนให้ชุมชนไทลื้อในเมืองต่าง ๆ ของสิบสองปันนาให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานรกรากอยู่ในจังหวัดน่าน

จากเอกสารการค้นคว้าของคุณอิสรา ญาณตาลได้กล่าวไว้ว่าชาวไทลื้อที่อพยพมาจากเมืองพง เมืองหย่วนและเมืองมางได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่แรกในบริเวณลุ่มปากแม่น้ำแวน ดังนั้นต้นตระกูลบรรพบุรุษของไทลื้อในอำเภอเชียงคำ น่าจะมีเชื้อสายมาจากกลุ่มไทลื้อเมืองพง เมืองมาง เมืองหย่วนและเมืองล้าในสิบสองปันนา สังเกตได้จากการตั้งชื่อของหมู่บ้านต่าง ๆ ในเชียงคำ นอกจากนั้นยังมีประเพณีในการนับถือเทวดาเมืององค์เดียวกันคือ เจ้าหลวงเมืองล้า

ชาวไทลื้อในอำเภอเชียงคำมีวิถีการดำรงชีวิตอย่างเรียบง่ายส่วนใหญ่จะตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่มอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของบ้านไทลื้อคือจะมีบ่อน้ำไว้ประจำแต่ละบ้านนอกจากนั้นก็ยังมีการปลูกพืชผักสวนครัวอยู่ในบริเวณบ้านด้วย โดยปกติแล้วชาวไทลื้อจะประกอบอาชีพทำไร่นา หลังจากหมดสิ้นฤดูทำนาแล้วผู้หญิงไทลื้อก็จะพากันจับกลุ่มทอผ้าซึ่งผ้าทอไทลื้อนั้นถือว่ามีเอกลักษณ์โดดเด่นสวยงามไม่แพ้ผ้าทอจากที่อื่น

ที่บ้านหย่วนหมู่ที่ 3 อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา นอกจากที่นี่จะเป็นหมู่บ้านไทลื้อที่เก่าแก่แล้ว หมู่บ้านแห่งนี้ยังมีศูนย์ทอผ้าไทลื้อที่มีชื่อเสียงของอำเภออีกด้วย แม่นวลจิรา ปริญญา ประธานศูนย์ทอผ้าไทลื้อบอกว่าที่ศูนย์ฯ จะมีการสาธิตการทอผ้าไทลื้อไว้ให้ผู้สนใจได้ชมนอกจากนั้นยังผลิตและจำหน่ายผ้าทอไทลื้อไม่ว่าจะเป็นผ้าถุง ผ้าปูโต๊ะ ผ้าคลุมเตียง ตุงและชุดแต่งงานไทลื้อไว้จำหน่ายในราคาถูกเป็นพิเศษ สำหรับผู้ที่สนใจการทอผ้าไทลื้อแล้วหากมีโอกาสลองแวะเข้าไปเที่ยวชมที่ศูนย์ทอผ้าไทลื้อบ้านหย่วนแห่งนี้ดู

การแต่งกายของชาวไทลื้อนั้นดูเหมือนจะเลือนหายไปจากสังคมเสียแล้ว จนเมื่อล่าสุดได้มีการพยายามรณรงค์ให้ชาวไทลื้อรุ่นใหม่หันมาสนใจวัฒนธรรมดั่งเดิมของไทลื้อ โดยการกำหนดให้มีการแต่งกายไทลื้อในช่วงวันสำคัญทางศาสนาของพวกเขา ผู้ชายไทลื้อส่วนใหญ่จะนิยมสวมเสื้อขาวแขนยาว สวมทับด้วยเสื้อกั๊กปักลวดลายด้วยเลื่อม สวมกางเกงม่อฮ่อมขายาวโพกหัวด้วยผ้าสีขาวหรือชมพู ส่วนหญิงไทลื้อนิยมสวมเสื้อปั๊ด (เป็นเสื้อที่ไม่มีกระดุมแต่จะสะพายเฉียงมาผูกไว้ที่เอวด้านข้าง) นุ่งซิ่นลื้อ สะพายกระเป๋าย่ามและนิยมโพกศรีษะด้วยผ้าขาวหรือชมพูเช่นกัน

ใกล้ ๆ กับศูนย์ทอผ้าไทลื้อจะเป็นศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อที่จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำของไทลื้อมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อไทลื้อเก่าอายุนับร้อยปี อุปกรณ์เครื่องมือในการจับสัตว์ นอกจากนี้ยังมีการจำลองห้องต่าง ๆ ของชาวไทลื้อ เช่นห้องนอน ห้องครัว เป็นต้น

นอกจากนั้นที่อ.เชียงคำ ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลาย เรียกว่าเหมาะอย่างยิ่งสำหรับพักผ่อน ทั้งวัดวาอาราม ธรรมชาติป่าเขาจนกระทั่งถึงวิถีชีวิตของผู้คน เช่น วัดนันตารามที่สร้างขึ้นด้วยศิลปกรรมพม่าตัววิหารของวัดสร้างจากไม้สักทั้งหลังสวยงามมาก วัดพระนั่งดินมีความพิศดารที่พระประธานของวัดนี้ไม่มีฐานรองรับ องค์พระจะนั่งอยู่กับพื้น พระธาตุสบแวนเป็นพระเจดีย์ที่เก่าแก่ที่สุดอายุกว่า 700 ปี อนุสรณ์สถาน พคท.ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่วีรชนในการต่อสู้กับคอมมิวนิตส์ในบริเวณพื้นที่อ.เชียงคำ ฯลฯ

หากใครสนใจที่จะสัมผัสวิถีชีวิตอันดั่งเดิมของชาวไทลื้อลองแวะไปเที่ยวที่ศูนย์ทอผ้าไทลื้อและศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อที่อำเภอเชียงคำ บางทีความรู้สึกอันน่าประทับใจที่ได้พบเจอก็ยากแก่การพรรณนาได้ครบถ้วนผ่านตัวอักษรที่ถูกจำกัดด้วยเนื้อที่ของหน้าหนังสือพิมพ์ ทว่าความรู้สึกและความทรงจำต่าง ๆ ที่ได้พบเห็นเหล่านี้จะประทับอยู่ในมโนสำนึกของแต่ละคนในมุมมองที่ต่างกันออกไป.

จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ใส่ความเห็น