Feeds:
Posts
Comments

Posts Tagged ‘วิลเลจฟาร์ม’

เมื่อหลานอาและคู่เขยซึ่งมีลูกตัวน้อยที่รักการท่องเที่ยวเป็นชีวิตจิตใจชักชวนให้ไปเปลี่ยนบรรยากาศที่วังน้ำเขียว สถานที่ที่กล่าวกันว่า มีอากาศที่บริสุทธิ์เป็นอันดับ 1 ในเมืองไทย และอันดับ 7 ของโลก ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงไม่ปฏิเสธ เพราะตั้งใจจะไปดูแปลงผักและคุยกับคนปลูกผักที่นั่นด้วย ปรากฏว่าระยะนี้มีแต่เค้าโครงของแปลงผัก แต่ไม่ค่อยมีผักให้ดู เพราะถูกฝนกะหน่ำอย่างหนัก คนปลูกผักที่นั่นบอกว่าอีกเดือนสองเดือนค่อยมาดูใหม่ก็แล้วกัน

ครั้งก่อนๆ ที่ไปเที่ยววังน้ำเขียว ไปกับทัวร์ เป็นโปรแกรมตามตารางแวะผ่านที่ทางทัวร์กำหนด จึงเหมือนไปไม่ถึง แต่ครั้งนี้ เป็นการเที่ยวแบบสบายๆ แล้วก็รู้สึกชอบอัธยาศัยไมตรีของผู้คนที่นั่น เมื่อกลับมา ได้เข้าไปอ่านเกี่ยวกับสถานที่ที่ประทับใจแห่งนี้ที่  www.wnk.go.th จึงได้ข้อมูลพอสรุปสั้นๆ ดังนี้

วังน้ำเขียวเป็นอำเภอหนึ่งที่อยู่ตอนใต้ของจังหวัดนครราชสีมา  ปัจจุบันมีการปกครอง แยกเป็น 5 ตำบล  ประกอบด้วย ตำบลวังน้ำเขียว ตำบลไทยสามัคคี ตำบลอุดมทรัพย์ ตำบลวังหมี และตำบลระเริง และมีพื้นที่ติดต่อกับ อำเภอนาดี อำเภอปักธงชัย อำเภอปากช่อง อำเภอเสิงสาง และอำเภอครบุรี

ที่มาของชื่อวังน้ำเขียวนี้ เนื่องจากพื้นที่มีสภาพภูมิประเทศที่เป็นวังน้ำงดงามเป็นธรรมชาติ และน้ำนั้นใสจนมองเห็นเงาสะท้อนสีเขียวของต้นไม้นั่นเอง สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง จึงทำให้วังน้ำเขียวมีอากาศที่เย็นสบายเกือบทั้งปี ฝนก็ชุก และมีหมอกมาก จนมีคำกล่าวจากนักท่องเที่ยวว่าเป็น “สวิตเซอร์แลนด์แดนอีสาน”  เลยทีเดียว

คำขวัญของอำเภอ

วังน้ำเขียว เมืองหนาว ภูเขามากมาย น้ำตกหลากหลาย ผลไม้นานาพันธุ์ แดนสวรรค์เมืองหมอก

จันทารา วัลเล่ย์ คือ สถานที่พักที่หลานสาวจองไว้ เป็นรีสอร์ทร่วมสมัยสไตล์บาหลี ตั้งอยู่บนเนินเขา ในทำเลที่ดีที่สุดของอำเภอวังน้ำเขียว เห็นภาพทิวทัศน์รอบด้าน สวยงามมาก หากสนใจ สามารถเข้าไปดูได้ที่  http://www.chantaravalley.com  และ www.facebook.com/like.chantara ส่วน E-mail: chantaravalley@hotmail.com  โทร. 081 7777 580 และ 081 7777 530 คุณหมู ลูกชายสุดเท่ห์ของท่านเจ้าของรีสอร์ตจะเป็นคนรับโทรศัพท์การจองค่ะ บ้านพักมีไม่กี่หลัง วันเสาร์-อาทิตย์จึงมีการจองเต็มตลอด ส่วนวันธรรมดาจะมีผู้เข้าพักประมาณ 50%

บ้านพักแบบ full moon มีเตียงขนาดใหญ่ 2 เตียง แบบ honeymoon มี 1 เตียง หน้าต่างและประตูเรือนพักเป็นกระจก ห้องน้ำทันสมัย เรียบง่าย สะดวกแก่การใช้งาน มีห้องอาบน้ำภายใน 1 ห้อง และส่วนติดกันที่เปิดประตูกระจกออกด้านนอกอีก 1 ห้อง ส่วนนี้เป็นแบบมิดชิดโดยรอบแต่ไม่มีหลังคา นอกจากนี้ยังมีส่วน camping ที่มีเครื่องนอน ห้องน้ำ และน้ำอุ่นไว้บริการครบครัน

อาหารเช้าเป็นแบบง่ายๆ ชา กาแฟ โอวัลติน ปาท่องโก๋ และข้าวต้มหมูนุ่มๆ ใส่เห็ดหอมและแครอทหั่นเต๋า ถามพนักงานว่าข้าวต้มอร่อย ใช้น้ำซุปอะไรหรือ เค้าบอกไม่ได้ใช้ซุปอะไร ใช้แต่รสดีเท่านั้น

ที่จันทารา วัลเลย์ ยังมีแปลงผักเกษตรอินทรีย์ ไร่กุหลาบหมื่นต้น ไม้ผลและพันธุ์ไม้ต่างๆ ที่กำลังเจริญเติบโต ต้นไม้ขนาดใหญ่ยังไม่ค่อยมีค่ะ

ตอนเย็นวันเสาร์ หลังจากพาหลานสาวตัวน้อยไปเลี้ยงแกะแล้ว เรายังมีโอกาสขึ้นเขาแผงม้าไปดูฝูงกระทิงที่ออกมาหากินแถวบริเวณที่เป็นหนองน้ำ ต้องใช้กล้องส่องดู ประชากรกระทิงแถบนั้นมีประมาณ 70 -100 ตัว น้ำหนักอยู่ระหว่าง 750-1,000 ก.ก. นอกจากนี้ยังได้เอื้องจิ๋วมณีรัตนาและเอื้องชะนีจากเขาแผงม้าออคิดฟาร์มกลับมาแขวนเพิ่มในเรือนเลี้ยงบ้านด้วย

ทานอาหารเย็นตอนค่ำๆ ที่ร้านมิ่งไม้ บรรยากาศดี อาหารอร่อย แต่รอนานหน่อยค่ะ ไม่มีใครบ่น เพราะเจ้าของเค้าติดป้ายเตือนไว้ที่หน้าร้านแล้ว  ทานอาหารคาวเสร็จ เค้ามีเต้าฮวยเย็นฟรุตสลัดแถมเป็นของหวานให้ด้วย แถมเวลาคิดเงินยังปัดเศษจำนวนเงินสองหลักให้ด้วยอีก น่ารักจริงๆ

วันรุ่งขึ้น ไปเที่ยวสวนองุ่น วิลเลจ ฟาร์ม

ซื้อผักปลอดสารที่สวนลุงไกร แวะฟาร์มเห็ด ดูการเพาะเห็ดนานาชนิด มีเห็ดราคาแพงประเภทหลินจือ หัวลิง และอื่นๆ เราซื้อและชิมผลิตภัณฑ์จากเห็ดจนอิ่มท้องกันทุกคน

แวะดูสวนดอกไม้ตามทาง ทานอาหารกลางวันตอนบ่ายๆ ประเภทส้มตำ-ไก่ย่างในร้านอาหารแบบชาวบ้านข้างทางผ่านกลับบ้าน ร้านนี้ขายพันธุ์พืชและพันธุ์ไม้ผลด้วย หลานเขยบอกว่าเค้าแจกฟรี เพราะขายต้นละ 30 บาทเอง จึงซื้อหูกระจงมา 1 ต้น ถามเจ้าของว่าทำไมขายถูกจัง เค้าบอกว่า ไม่รู้จะตั้งราคาเท่าไรดี อ้อ ก่อนให้ไปซื้อ หลานถามว่าจะไปปลูกที่ใหน เลยบอกว่า ให้ซื้อมาก่อนก็แล้วกัน ตกลงก็เลยต้องเอามาลงกระถางไว้ก่อนค่ะ

เกร็ดความรู้

เคยได้ยินคำกล่าวเรื่องการสูดอากาศบริสุทธิ์ว่า  “ไปสูดโอโซนกัน”  จริงๆ แล้วโอโซนที่อยู่บริเวณเหนือพื้นดิน หากสูดดมเข้าไปจะเกิดการเป็นพิษต่อระบบทางเดินหายใจ  โอโซนมีประโยชน์ หากอยู่ในชั้นบรรยากาศสูงๆ มันเป็นตัวช่วยซับกรองรังสีอัลตราไวโอเลต ไม่ให้ลงมาสู่พื้นผิวโลก

Read Full Post »