ข้ามไปยังเนื้อหา

เอื้องผึ้ง ( Dendrobium lindleyi )

มีนาคม 5, 2013

dendrobium-lindleyi

 

เอื้องผึ้ง ( Dendrobium lindleyi Steud)
ในบรรดากล้วยไม้หลากหลายร้อยพันธุ์ชนิด เอื้องผึ้ง เป็น 1 ใน 150 ชนิดของกลุ่มกล้วยไม้สกุลหวายในประเทศไทยที่มีความผูกพันกับท้องถิ่นทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาช้านาน
เอื้องผึ้ง จัดอยู่ในสกุลของ Dendrobium ในประเทศไทยนิยมเรียกสกุลนี้ว่า หวาย หรือ เอื้อง ซึ่งนับเป็นสกุลที่ใหญ่ที่สุดของวงศ์กล้วยไม้อีกทั้งยังเป็นสกุลที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย
ในปี ค.ศ. 1840 เอื้องผึ้ง ถูกค้นพบครั้งแรกทางภาคเหนือของประเทศพม่า โดย Ernst Gottlieb von Steudel เป็นผู้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ และชื่อระบุชนิดนั้นตั้งให้เป็นเกียรติแด่ Sir John Lindley
ด้วยลักษณะกลิ่นหอมหวานอันพิเศษราวกับน้ำผึ้ง เอื้องผึ้ง จึงถูกขนานนามอีกชื่อว่า Honey fragrant ซึ่งกลิ่นของมันได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากนักสกัดกลิ่น เพื่อนำไปใช้เป็นน้ำหอมอันล้ำค่าในยุคปัจจุบัน

     หากมีโอกาสได้สำรวจป่าไม้ในเมืองไทยในทางภาคเหนือหรือทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เราจะพบว่า เอื้องผึ้ง มักขึ้นอยู่บริเวณของป่าดิบแล้ง สูงจากระดับน้ำทะเลราว ๆ 300 – 1,500 เมตร โดยเกาะอยู่กับต้นไม้ตามคาคบสูง
ลักษณะต้นของ เอื้องผึ้ง จะมีผิวลำลูกกล้วยที่คล้ำคือมีสีเขียวเข้ม ใบมีลักษณะกลมรีและหนา และที่ดูง่ายที่สุด 1 ลำลูกกล้วยจะมีเพียง 1 ใบเท่านั้น
เอื้องผึ้ง จะให้ดอกเร็วกว่าเอื้องคำ ดอก เอื้องผึ้ง จะออกดอกในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน ดอกมีกลิ่นหอมแรงในช่วงกลางวัน สีเหลืองสดใส ช่อห้วยย้อยชลงยาวตั้งแต่ 15-40 ซ.ม. มีจำนวนดอกไม่แน่นจนเกินไปและพลิ้วไหวได้ง่ายยามต้องลม ดอกบานเต็มที่ขนาด 2-3 ซ.ม. แรกบานจะมีสีเหลืองอมเขียว ระยะต่อ ๆ มาสีจะเข้มขึ้น จนเป็นสีเหลืองอมส้มแสด
ดอกของ เอื้องผึ้ง บานได้นานสุดราว ๆ 4 – 5 วันนับจากวันที่บานได้เต็มที่แล้ว แต่หากดอกของเอื้องผึ้งถูกน้ำจะบานได้เพียง 2-3 วันเท่านั้น
เอื้องผึ้ง กอขนาดกลางในงานพืชสวนโลกปี 2555 เป็นกล้วยไม้ฟาร์ม
เนื่องจากเป็นกล้วยไม้ที่เลี้ยงไม่ยาก ทนต่ออากาศร้อน และเป็นที่รู้จักแพร่หลายในประเทศไทย เอื้องผึ้ง จึงเป็นกล้วยไม้อีกชนิดที่เป็นที่นิยมเป็นอย่างมากในบ้านเรา แต่กลับกันเอื้องผึ้ง ในธรรมชาติ ลดลงไปกว่า 60% ในผืนป่าภาคเหนือ ซึ่งทำให้ประชากรของมันเบาบางลงกว่าแต่ก่อนอย่างน่าตกใจ !

การปลูกเลี้ยง เอื้องผึ้ง
๏ เอื้องผึ้ง ที่เป็นไม้ฟาร์ม หากเป็นไม้ขวด ให้อนุบาลลูกไม้ไว้บนสเฟกนั่มมอส หรือ หนีบใส่กาบมะพร้าวลงบนถ้วนนิ้ว ในแต่ละปี ลูกไม้จะแตกหน่อและมีขนาดใหญ่ขึ้น หากขนาดโตเกินกระถางนิ้วแล้วก็สามารถนำไปติดขอนไม้ หรือ ใส่กระเช้าที่ใหญ่ขึ้นได้เลยครับ
๏ เอื้องผึ้ง ที่เป็นไม้แยกหน่อ เราสามารถนำหน่อ เอื้องผึ้ง ไปแปะติดกับขอนไม้ได้ทันทีครับ แต่ก่อนจะมัดเอื้องผึ้งกับขอนไม้ ให้เราหา กาบมะพร้าว หรือ สเฟกนั่มมอส รองให้ เอื้องผึ้ง สักหน่อย เพื่อให้รากเดินเร็วขึ้น ยึดเกาะได้เร็วขึ้นครับ
ดอกเอื้องผึ้ง ที่ได้รับการบำรุงเลี้ยงเป็นอย่างดีจากฟาร์ม

เทคนิคการเลี้ยง เอื้องผึ้ง
๏ ในช่วงที่ไม่แทงดอก หรือ ช่วงที่ยังเป็นลูกไม้ ให้ใส่ปุ๋ยบำรุงสูตรเสมอ 21-21-21 สลับกับสูตรตัวอื่น ๆ จะเป็นสูตรไดก็ได้ครับ แต่ขยันให้อย่างน้อยให้ได้สัปดาห์ละ 1 ครั้งจะดี
๏ ช่วงหลังฤดูหนาวตั้งแต่เข้ากุมภาพันธ์เป็นต้นไป บางท่านกล่าวไว้ว่า งดน้ำ ไปเลยจะทำให้เอื้องผึ้งให้ดอกดกพรั่งพรูมาก แต่บางท่านก็ให้น้ำจนกระทั่งมีดอกเลยก็มี เทคนิคนี้แล้วแต่ชอบครับ แต่ผมชอบสูตรงดน้ำมากกว่า เพราะดอกออกได้พรูโดนใจมาก แต่มีข้อเสียคือ ลำลูกกล้วยผอมแห้ง พอหลังให้ดอกแล้วต้องรีบขุนใหม่ครับ ซึ่งปกติ เอื้องผึ้ง จะแตกหน่อในช่วงฤดูฝน หากไม่ขุนหลังให้ดอกในช่วงฤดูร้อน หน่อใหม่จะมีน้อย และทำให้ดอกในปีถัดไปน้อยตามครับ !
๏ หากปลูกเอื้องผึ้งแล้วไม่มีดอก แนะนำให้ลองย้ายไปยังจุดที่มีแสงมากขึ้นครับ เอื้องผึ้ง เป็นกล้วยไม้ที่ค่อนข้างชอบแสงมาก ถ้าได้รับแสงน้อย หรืออยู่ใต้ร่มไม้ทึบเกินไป หากดอกไม่ออก ก็จะเริ่มฝ่อและตายครับ
๏ ให้ดอกแต่ช่อห่าง ออกประปรายไม่ดก เป็นสาเหตุเนื่องจากได้รับสารอาหารน้อย น้ำเป็นหินปูน และที่สำคัญคือได้รับแสงน้อยเกินไปครับ

ดอก เอื้องผึ้ง บานสะพรั่งที่ออร์คิดทรอปิคอล

เทคนิคยืดอายุดอก
๏ เอื้องผึ้ง เป็นกล้วยไม้ที่บานสั้น – สั้นมากครับ อาจจะไม่ถึงสัปดาห์ เทคนิคการยืดให้ดอกอยู่กับเรานาน ๆ คือ งดให้น้ำช่วงมีดอกครับ ซึ่งจะทำให้เราได้เชยชมต่อได้อีก 1-2 วัน ครับ

ในช่วงที่มีโอกาสได้เดินทางไปยังอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ในหมู่บ้านอะไรสักอย่างจำไม่ได้ครับ ตอนนั้นผมเห็นชาวบ้านปลูกเอื้องผึ้งติดกับต้นลำไย ซึ่งเป็นเพียงกิ่งต้นลำไยที่ตายแล้วเท่านั้นครับ เอื้องผึ้ง ต้นนั้นได้รับแสงแดด 100% แต่คงเป็นเพราะอากาศเย็นด้วยใบจึงไม่ได้รับความเสียหายจากแสงแดดมากนัก แต่ที่สังเกตุได้ เอื้องผึ้ง ต้นนั้นให้ดอกพรูมาก และยิ่งเป็นกอที่ใหญ่มากด้วยครับ มองดูแล้ว คล้ายลูก บอลขนาดใหญ่ กลม ๆ สีเหลือง สวยงามมากทีเดียวครับ จึงอยากจะแนะนำว่า เลี้ยง เอื้องผึ้ง พยายามให้ได้แสงมาก ๆ เข้าไว้ รับรองว่าดอกพรูสวยงามแน่นอนครับ !

From → Uncategorized

ให้ความเห็น

ใส่ความเห็น