เอื้องหมายนา

เอื้องหมายนา

เผยแพร่เมื่อ 17-07-2020 ผู้ชม 22,228

[16.4258401, 99.2157273, เอื้องหมายนา]

เอื้องหมายนา ชื่อสามัญ Crape ginger, Malay ginger, Spiral Flag, Wild ginger

เอื้องหมายนา ชื่อวิทยาศาสตร์ Cheilocostus speciosus (J.Koenig) C.D.Specht (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Costus speciosus (J.Koenig) Sm.) จัดอยู่ในวงศ์เอื้องหมายนา (COSTACEAE)

สมุนไพรเอื้องหมายนา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เอื้อง (อุบลราชธานี), เอื้องช้าง (นครศรีธรรมราช), เอื้องต้น (ยะลา), เอื้องเพ็ดม้า (ภาคกลาง), เอื้องดิน เอื้องใหญ่ บันไดสวรรค์ (ภาคใต้), ซูแลโบ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), ชู้ไลบ้อง ซูเลโบ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), กู่เก้ง (ม้ง), ชิ่งก๋วน (เมี่ยน), ลำพิย้อก (ลั้วะ), ดื่อเหม้ (ยึ) (ปะหล่อง), จุยเจียวฮวย (จีน) เป็นต้น

ลักษณะของเอื้องหมายนา

  • ต้นเอื้องหมายนา มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงเกาะนิวกินี จัดเป็นพืชล้มลุก มีเหง้าอยู่ใต้ดิน มักขึ้นเป็นกอ ๆ มีความสูงของต้นประมาณ 1-3 เมตร ไม่แตกกิ่งก้านสาขา ลำต้นกลมฉ่ำน้ำและเป็นสีแดง วัดเส้นผ่านศูนย์กลางของต้นได้ประมาณ 1.5 เซนติเมตร รากเป็นหัวใหญ่ยาว ที่โคนแข็งเหมือนไม้ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการแตกหน่อ เจริญเติบโตได้ดีร่วนระบายน้ำดี ต้องการน้ำค่อนข้างมาก ควรปลูกในที่มีแสงแดดร่มรำไร มักพบขึ้นตามบริเวณที่มีความชุ่มชื้น ใต้ต้นไม้ใหญ่ ตามน้ำตก ชายน้ำ ริมทางน้ำ ริมหนองบึง ตามบริเวณเชิงเขา และป่าดิบชื้นทั่วทุกภาคของประเทศ ที่ระดับความสูงเหนือระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 87-126 เมตร ส่วนในต่างประเทศพบได้ตั้งแต่อินเดียตะวันออกจนถึงคาบสมุทรอินโดจีน 
  • ใบเอื้องหมายนา ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเวียนสลับรอบลำต้น ลักษณะของใบเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบมนเรียวเข้าหาก้านใบ ส่วนขอบใบเรียบ กาบใบอวบเป็นสีเขียวหรือสีน้ำตาลแดงโอบรอบลำต้น ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 15-40 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างหนา หลังใบเรียบเป็นมัน ส่วนท้องใบมีขนนุ่มสั้นคล้ายกำมะหยี่ เส้นใบขนานกับขอบใบ เส้นใบออกจากเส้นกลางใบแต่จะไปสิ้นสุดที่จุดเดียวกัน ทุกส่วนของต้นมีขน ก้านใบมีขนาดสั้นหรือไม่มีก้านใบ
  • ดอกเอื้องหมายนา ออกดอกเป็นช่อ ช่อดอกจะออกที่ปลายของลำต้น ลักษณะเป็นรูปไข่ ยาวประมาณ 8-12 เซนติเมตร กาบรองดอกเป็นรูปไข่ปลายแหลม ปลายแข็งคล้ายหนาม สีเขียวปนแดง ยาวประมาณ 1.5-4.5 เซนติเมตร ในแต่ละกาบรองรับดอกย่อย 1 ดอก ดอกจะทยอยบายครั้งละ 1-2 ดอก กลีบเลี้ยงดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ๆ และเป็นสัน 3 สัน ปลายแยกเป็น 3 กลีบ แยกออกเป็น 2 ปาก มีปากด้านบน 2 กลีบ และปากด้านล่าง 1 กลีบ กลีบแยกลึก ส่วนกลีบดอกนั้นมี 3 กลีบ มีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเล็กน้อยเป็นสีขาว ดอกมีเกสรเพศผู้ที่ไม่สมบูรณ์เปลี่ยนไปมีลักษณะคล้ายกลีบดอก มีขนาดใหญ่กว่ากลีบดอก มีขนาดกว้างประมาณ 10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5 เซนติเมตร ลักษณะเป็นรูปไข่กลับสีขาว ขอบม้วนซ้อนทับกัน ตรงกลางกลีบด้านในของดอกเป็นสีเหลือง มีขนสีเหลืองปกคลุม เป็นสันตื้น ๆ 3 สันไปยังปลายกลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ 1 อัน ก้านเกสรเพศผู้จะแผ่แบนเป็นแถบ มีขนาดกว้างประมาณ 1.2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-4.5 เซนติเมตร โดยส่วนของปลายจะกว้างประมาณ 6-7 มิลลิเมตร สีเหลืองเข้มและม้วนลงด้านล่าง อับละอองเกสรเพศผู้จะติดอยู่ใต้บริเวณสีเหลือง ขนาดกว้างประมาณ 3.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ส่วนเกสรเพศเมียนั้นมี 1 อัน ก้านเกสรเป็นอิสระ ส่วนปลายแทรกอยู่ระหว่างถุงละอองเกสรเพศผู้ ยอดเกสรเพศเมียจะแผ่ออกอยู่เหนืออับละอองเกสรเพศผู้ มีรังไข่ 3 ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม หรือในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนพฤศจิกายน 
  • ผลเอื้องหมายนา ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมหรือเป็นรูปขอบขนานแกมรูปสามเหลี่ยม ผลมีขนาดยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร ผลเมื่อแห้งแล้วจะแตก มีเนื้อแข็ง สุกสีแดงสด ปลายยอดมีกลีบเลี้ยง 1 กลีบ หรืออยู่เป็นกระจุกแหลม 3 แฉก กาบหุ้มผลเป็นสีแดง ภายในผลมีเมล็ดสีดำเป็นมัน 

สรรพคุณของเอื้องหมายนา

  1. ชาวม้งจะใช้เหง้าใต้ดิน นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาโรคความดันโลหิตต่ำ อาการหน้าซีด (เหง้า)
  2. ชาวไทใหญ่จะใช้รากนำมาดองกับเหล้าดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง (ราก) หลายพื้นที่ริยมกินหน่ออ่อนและดอกอ่อนเป็นผัก โดยชาวม้งจะนิยมนำมาต้มกินกับไก่เป็นยาบำรุงกำลัง แก้ตัวเหลือง แก้อาการอ่อนเพลียไม่มีแรง (หน่อ,ดอก)
  3. คนเมืองจะใช้ลำต้นนำไปต้มกิน เชื่อว่าเป็นยาต้านโรคมะเร็ง (ลำต้น)
  4. ตำรายาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี จะใช้เหง้าเอื้องหมายนาเข้ายาแก้ซางเด็ก (เหง้า)
  5. ลำต้นนำมาย่างไฟคั้นเอาน้ำใช้หยอดหู แก้หูน้ำหนวก (ลำต้น)[4],[8]ส่วนชาวไทใหญ่จะใช้ใบนำไปรมไฟ แล้วบีบเอาน้ำมาหยอดหู รักษาโรคหูเป็นหนอง (ใบ)
  6. ใบมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ (ใบ) รากใช้เป็นยาแก้ไข้หวัด (ราก)
  7. รากมีรสขมเมา มีสรรพคุณช่วยแก้อาการไอ (ราก)
  8. ช่วยขับเสมหะ (ราก)
  9. หมอยาบางพื้นที่จะใช้ใบเอื้องหมายนากับใบเปล้าใหญ่ นำมาซอยตากแห้งอย่างละเท่ากัน นำมามวนสูบเป็นบุหรี่เพื่อรักษาริดสีดวงจมูก (ใบ)
  10. ต้นตลอดถึงราก มีสรรพคุณเป็นยาช่วยบำบัดอาการปวดมวนในท้องคล้ายโรคกระเพาะ ถ่ายเป็นเลือด กินอาหารแสลงแล้วจะมีอาการปวดและออกทางทวาร (ต้นตลอดถึงราก)
  11. น้ำคั้นจากลำต้นใช้เป็นยารักษาโรคบิด (น้ำคั้นจากลำต้น)
  12. ช่วยแก้อาการท้องผูกเป็นประจำ (ต้นตลอดถึงราก)
  13. ช่วยในการย่อยอาหาร (ราก)
  14. เหง้านำมาตำพอกบริเวณสะดือเป็นยารักษาโรคท้องมาน (เหง้า)
  15. เหง้าใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาสมานแผลภายใน (เหง้า)
  16. เหง้ามีสรรพคุณเป็นยาถ่าย ยาแก้พยาธิ ฆ่าพยาธิ (เหง้า) น้ำคั้นจากเหง้าสดมีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างแรง (น้ำคั้นจากเหง้าสด)
  17. รากมีสรรพคุณเป็นยาขับพยาธิ (ราก)
  18. เหง้ามีรสขมเมา มีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ (เหง้า)
  19. ใช้ลำต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ แก้อาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือจะใช้ลำต้นนำมารับประทานสดเป็นยาแก้นิ่ว โดยตัดให้มีความยาวหนึ่งวา แล้วเอาไปย่างไฟคั้นเอาน้ำดื่ม (ลำต้น) ส่วนชาวลั้วะจะใช้ใบเป็นส่วนประกอบในยารักษาโรคนิ่ว ร่วมกับใบของมะละกอตัวผู้ และพืชอื่น ๆ อีกหลายชนิด (ใบ)
  20. ช่วยแก้โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ (เหง้า)
  21. น้ำคั้นจากเหง้าสด ใช้เป็นยารักษาซิฟิลิส (เหง้า)
  22. ต้นตลอดถึงรากมีสรรพคุณเป็นยาสมานมดลูก (ต้นตลอดถึงราก)
  23. เหง้ามีสรพคุณช่วยแก้อาการตกขาวของสตรี (เหง้า)
  24. เหง้ามีฤทธิ์ทำให้แท้ง ควรระวังในการใช้ (เหง้า)
  25. เหง้าใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาช่วยบำรุงมดลูก (เหง้า)
  26. รากมีสรรพคุณช่วยกระตุ้นความต้องการทางเพศ (ราก)
  27. ช่วยแก้อาการบวมน้ำ (เหง้า)
  28. รากใช้เป็นยาขม ฝาดสมาน (ราก)
  29. ใช้รักษาพิษงูกัด (ราก)
  30. รากใช้เป็นยาแก้โรคผิวหนัง (ราก)
  31. เอื้องหมายนายังมีสรรพคุณเป็นยารักษาอาการผิวหนังเป็นผื่น มีอาการคันตามผิวหนัง รวมทั้งอาการคันจากพิษหมามุ่ย โดยชาวไทใหญ่จะนิยมตัดลำต้นเอื้องหมายนายาวประมาณ 1 นิ้ว พกใส่กระเป๋าในยามที่ต้องเข้าป่า หรือไปถางไร่เพื่อป้องกันไม่ให้ขนหมามุ่ยติด กล่าวคือ มีความเชื่อว่าถ้ามีก้านเอื้องหมายนาพกติดตัวไว้จะไม่มีคันเมื่อถูกหมามุ่ย (ลำต้น)
  32. เหง้าใช้เป็นยาแก้แผลหนอง อักเสบ บวม ด้วยการนำเหง้ามาต้มเอาแต่น้ำใช้ชะล้างหรือใช้ตำพอกบริเวณที่เป็น (เหง้า)

หมายเหตุ : วิธีการใช้ตาม [3] ในส่วนของเหง้า ให้ใช้เหง้าแห้งครั้งละประมาณ 3-6 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินหรือใช้ตุ๋นกับเนื้อสัตว์กิน[3]

ข้อควรระวังในการใช้เอื้องหมายนา

  • สตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้สมุนไพรชนิดนี้ เพราะอาจทำให้แท้งบุตรได้ เนื่องจากสมุนไพรชนิดนี้มีฤทธิ์ต้านการฝังตัวของตัวอ่อนที่ผนังมดลูก และการใช้สมุนไพรชนิดนี้อาจไปรบกวนรอบประจำเดือนด้วย[10]
  • เหง้าสดมีพิษมาก หากใช้ในปริมาณมากจะทำให้มีอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ท้องร่วงอย่างรุนแรง ต้องนำมาทำให้สุกก่อนนำมาใช้
  • ส่วนการรักษาพิษให้กินน้ำข้าวที่เย็นครั้งละ 1 ถ้วย ทุก ๆ 15 นาที จนกว่าอาการท้องร่วงจะหายไป

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของเอื้องหมายนา

  • เหง้าพบสาร beta-sitosterol glucoside, cyanophoric substance, dipsgenin, dioscin, fatty acid, gracillin, tigofenin, saponin A, B, C, D
  • เหง้าเอื้องหมายนา มีสาร diosgenin ซึ่งมีฤทธิ์คล้ายกับฮอร์โมนเพศหญิง ใช้เป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์ยาสเตียรอยด์หลายชนิด
  • เหง้าเอื้องหมายนามีสารจำพวก Saponins ซึ่งมีฤทธิ์รักษาอาการอักเสบและข้ออักเสบอย่างเฉียบพลันในหนูใหญ่สีขาวทดลอง ที่เกิดจากการละลายคาร์ราจีนินและฟอร์มาลิน นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์รักษาอาการผิวหนังอักเสบมีน้ำเหลือง เนื่องจากการระคายเคืองจากน้ำมันสลอด และแผลผิวหนังอักเสบเนื่องจากการระคายเคืองของใยสำลีในหนูใหญ่สีขาวทดลอง
  • สาร Saponins ในเหง้าเอื้องหมายนา มีผลทำให้มดลูกของหนูใหญ่สีขาวที่ทำให้เป็นหมัน จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น และยังมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงต่อเยื่อบุภายในมดลูก และช่องคลอดของหนูใหญ่สีขาว
  • น้ำคั้นที่ได้จากเหง้าเอื้องหมายนามีฤทธิ์กระตุ้นกล้ามเนื้อมดลูก ที่แยกจากตัวของหนูใหญ่ หนูตะเถา กระต่าย และคน และมดลูกที่อยู่ในตัวของสุนัขและกระต่าย โดยการทำให้กล้ามเนื้อมดลูกบีบตัวมากขึ้น สารสกัดด้วยคลอโรฟอร์ม ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้มดลูกบีบตัวได้แรงที่สุดและออกฤทธิ์ต่อกล้ามเนื้อมดลูกโดยตรง ผลึก Saponin D มีฤทธิ์ในการกระตุ้นกล้ามเนื้อมดลูกของหนูใหญ่ หนูตะเถา สุนัข กระต่าย และคน ในภาวะที่ระดับฮอร์โมนต่างกันส่วนมดลูกที่แยกจากตัวของคน มดลูกในระยะตั้งท้อง และมดลูกที่อยู่ในตัวของหนูตะเภา สุนัข และกระต่าย จะไวต่อฤทธิ์กระตุ้นกล้ามเนื้อมดลูกของผลึก Saponin D นี้มาก
  • นอกจากนี้ยังพบสารอัลคาลอยด์ที่สกัดได้จากเอื้องหมายนา มีฤทธิ์ยับยั้งฤทธิ์ของเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรส และมีฤทธิ์คล้ายกับ acetylcholine ที่กระตุ้นกล้ามเนื้อลำไส้ตรงของกบ และยังเพิ่มความดันโลหิตของสุนัข ซึ่งเป็นสารอัลคาลอยด์ที่มีฤทธิ์คล้ายกับ physostigmine แต่จะอ่อนกว่า

ประโยชน์ของต้นเอื้องหมายนา

  1. หน่ออ่อนที่งอกจากต้นในช่วงฤดูฝน สามารถนำมาใช้รับประทานเป็นอาหารได้ แต่ต้องนำมาต้มให้สุกเสียก่อนเพื่อขจัดกลิ่น เมื่อนำมาต้มหรือลวกแล้วจะใช้เป็นผักจิ้มกับน้ำพริก หรือนำไปปรุงอาหาร เช่น แกงเลียง แกงส้ม นำมาหั่นแล้วผัดใส่เนื้อหรือใส่แกงเนื้อ เป็นต้น หรือใช้เหง้าซึ่งมีเมือกลื่นรสฝาด และไม่มีกลิ่นเป็นอาหาร[3] ในประเทศอินเดีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์จะใช้หน่ออ่อนใส่แกง และใช้รับปะทานเป็นผัก
  2. ใช้เป็นอาหารสัตว์จำพวก โค กระบือ
  3. ใช้กำจัดหอยเชอรี่ ด้วยการใช้ใบ ดอก และเหง้าเอื้องหมายนามาบดให้ละเอียดผสมกับน้ำ แล้วนำไปเทลาดลงบนแปลงนาที่มีการระบาดของหอยเชอรี่ เนื่องจากสมุนไพรชนิดนี้มีสารแทนนินที่สามารถทำให้ไข่ฝ่อ และหอยเชอรี่ตายได้
  4. ชาวลั้วะจะใช้ใบเอื้องหมายนาเป็นส่วนประกอบในการทำพิธีสู่ขวัญควาย (การขอขมาลาโทษจากควาย เนื่องจากที่ถูกชาวนาดุด่า ทุบตีระหว่างการไถพรวน)[8],[10]ซึ่งในพิธีจะมีการนำต้นเอื้องหมายนามาปักไว้ทั้ง 4 ทิศของพื้นที่นา โดยจะมีประโยชน์ในการช่วงป้องกันวัชพืชของต้นข้าวที่จะมาทำลายต้นข้าว จึงช่วยทำให้ต้นข้าวออกรวงได้ดี นี้จึงเป็นที่มาของชื่อสมุนไพรชนิดนี้ว่า "เอื้องหมายนา"
  5. ชาวไทลื้อจะใช้ทั้งต้นเพื่อประกอบพิธีกรรมก่อนการทำนา (พิธีแฮกข้าว) โดยนำไปมัดติดกับตะแหลวร่วมกับดอกปิ้งแดง แล้วนำไปใส่ไม้ปักไว้ที่ไร่น่าก่อนจะปลูกข้าว เพื่อเป็นการบอกกล่าวเจ้าที่ว่าจะทำการปลูกข้าวในที่นาผืนนั้นๆ โดยเชื่อว่าจะช่วยทำให้ข้าวเจริญงอกงามขึ้น (แต่ในปัจจุบันไม่ค่อยทำกันแล้ว)
  6. เอื้องหมายนา เป็นดอกไม้ที่นิยมนำมาตัดไว้ประดับแจกันทั้งต้นที่มีช่อดอก เนื่องจากทั้งต้นและกาบประดับมีความสวยงามแปลกตา
  7. ต้นเอื้องหมายนานิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ ปลูกเลี้ยงได้ง่าย

คำสำคัญ : เอื้องหมายนา

ที่มา : https://medthai.com/

รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์


สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2563). เอื้องหมายนา. สืบค้น 18 พฤษภาคม 2567, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=1784&code_db=610010&code_type=01

Facebook Twitter LINE Linkedin

PDF

https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=1784&code_db=610010&code_type=01

Google search

Mic

กระดอม

กระดอม

ต้นกระดอมเป็นไม้เถา ลำต้นเป็นร่อง และมีมือเกาะ (tendril) ใบกระดอมเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ มีรูปร่างต่างๆ กัน มีตั้งแต่รูปไตจนถึงรูปสามเหลี่ยม ห้าเหลี่ยม หรือเป็นแฉก โคนเว้าลึกเป็นรูปหัวใจ โคนใบเว้าลึกเป็นรูปหัวใจ ดอกกระดอมดอกแยกเพศ อยู่บนต้นเดียวกัน ใบประดับยาว 5-2 ซม. ขอบจักเป็นแฉกลึกแหลม ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อ กลีบเลี้ยงติดกันเป็นหลอดยาว ปลายแยกเป็นแฉกรูปใบหอก 5 แฉก กลีบดอก 5 กลีบ สีขาว โคนติดกันเล็กน้อย เกสรเพศผู้ 3 อัน ดอกเพศเมียออกเดี่ยวๆ กลีบเลี้ยง และกลีบดอกมีลักษณะเหมือนดอกเพศผู้ รังไข่มีช่อเดียว ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น 3 แฉก

เผยแพร่เมื่อ 13-05-2020 ผู้เช้าชม 3,267

สลัดไดป่า

สลัดไดป่า

ไม้ต้น ลำต้นเป็นสามเหลี่ยมสีเขียว ตรง สูงประมาณ 2-5 เมตร ลำต้นมักแตกออกเป็นสามยอด ตรงสันของลำต้นมีหนามเป็นกระจุกๆ ละ 2 เรียง ลงมาตลอดลำต้น-ลำต้นมียางสีขาวเหมือนนํ้านม ใบ เดี่ยวขนาดเล็ก เรียงสลับรูปไข่กลับ ร่วงง่ายจึงดูคล้ายไม่มีใบ ดอกจะออกหน้าหนาวออกเป็นตุ่มๆ สี

เผยแพร่เมื่อ 17-02-2017 ผู้เช้าชม 2,272

มะขาม

มะขาม

มะขามจัดเป็นพันธุ์ไม้ยืนต้นที่มีถิ่นกำเนิดในทวีฟแอฟริกาและมีการนำเข้ามาปลูกในแถบเอเชีย นอกจากนี้มะขามยังเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดเพชรบูรณ์ และตามตำราพรหมชาติยังถือว่ามะขามเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่งที่ช่วยป้องกันสิ่งเลวร้าย ผีร้ายต่างๆ ไม่ให้มากล้ำกราย อีกทั้งยังเป็นต้นไม้ที่มีชื่อมงคล ถือกันเป็นเคล็ดทำให้มีคนเกรงขาม สำหรับประโยชน์ของมะขามและสรรพคุณมะขามนั้นมีมากมาย จัดว่าเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงและยังมีสรรพคุณใช้เป็นยารักษาโรคอีกด้วย 

เผยแพร่เมื่อ 10-07-2020 ผู้เช้าชม 5,520

ว่านตีนตะขาบ

ว่านตีนตะขาบ

ว่านตีนตะขาบ จัดเป็นพรรณไม้ขนาดเล็ก ลำต้นเป็นปล้อง ๆ มีลักษณะกลมโตเท่ากับหางหนูมะพร้าวอ่อน แต่เมื่อลำต้นนั้นสูงขึ้นก็จะกลายเป็นไม้เลื้อย ต้นหนึ่งจะยาวได้ประมาณ 7-10 ฟุต ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำ ใบว่านตีนตะขาบ ใบจะออกติดกันเป็นปีกสองข้าง จากโคนต้นจนถึงยอด ดูคล้ายตะขาบ 

เผยแพร่เมื่อ 16-07-2020 ผู้เช้าชม 13,535

ชำมะเลียง

ชำมะเลียง

ชำมะเลียงเป็นไม้พุ่มถึงไม้ต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง 8 เมตร ใบชำมะเลียงเป็นใบ ประกอบแบบขนนก ใบย่อยรูปไข่ถึงรูปไข่กลับ กว้าง 2-8 ซม. ยาว 9-30 ซม. ปลายใบแหลมทู่ โคนใบสอบ ผิวใบเกลี้ยง มีหูใบ แผ่เป็นแผ่น รูปเกือบกลม ขนาดกว้าง 2-3.5 ซม. เรียงเวียน ซ้อนกันบริเวณโคนก้านใบใกล้ปลายยอด ดอกชำมะเลียงสีขาวครีม ออกเป็น ช่อห้อย ยาวถึง 75 ซม. แยกเพศ ดอกบานกว้าง 5-7 มม. กลีบรองดอก 4 กลีบ รูปเกือบกลม กลีบดอก 4 กลีบ เกสรผู้ 5-8 อัน รังไข่มี 2 ช่อง

  • ผลชำมะเลียงรูปไข่ถึงรูปรีป้อม สีม่วงดำถึงออกแดง ผิวเกลี้ยงมักมี 2 เมล็ด

เผยแพร่เมื่อ 28-05-2020 ผู้เช้าชม 1,766

เสน่ห์จันทน์แดง

เสน่ห์จันทน์แดง

เสน่ห์จันทน์แดง หรือ ว่านเสน่ห์จันทน์แดง มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนชื้นของเอเชียและอเมริกา จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก ลำต้นเกิดจากหัวใต้ดิน ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง ประกอบด้วยก้านใบหลายๆ ก้าน ไม่แตกกิ่งก้านสาขา มีความสูงได้ประมาณ 45-60 เซนติเมตร นอกนั้นจะเป็นก้านใบและตัวใบ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำหรือแยกหัว เป็นพรรณไม้ในที่ร่มหรือแดดรำไร เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีความชื้นสูง ระบายน้ำได้ดี แต่ไม่ชอบน้ำขัง

เผยแพร่เมื่อ 17-07-2020 ผู้เช้าชม 6,268

ต้นตะเคียน

ต้นตะเคียน

ต้นตะเคียนทอง จัดเป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดใหญ่ ลำต้นเปลาตรง มีความสูงของต้นประมาณ 20-40 เมตร วัดรอบได้ถึงหรือกว่า 300 เซนติเมตร ลักษณะของเรือนยอดเป็นทรงพุ่มทึบ กลม หรือเป็นรูปเจดีย์แบบต่ำๆ เปลือกต้นหนาเป็นสีน้ำตาลดำ แตกเป็นสะเก็ด กะพื้นเป็นสีน้ำตาลอ่อน ส่วนแก่นไม้ตะเคียนเป็นสีน้ำตาลแดง ลักษณะของไม้ตะเคียน เนื้อไม้เป็นสีเหลืองหม่นหรือสีน้ำตาลอมสีเหลือง มักมีเส้นสีขาวหรือเทาขาวผ่านเสมอ ซึ่งเป็นท่อน้ำมันหรือยาง เนื้อไม้มีความละเอียดปานกลาง 

เผยแพร่เมื่อ 01-06-2020 ผู้เช้าชม 12,119

ถั่วดาวอินคา

ถั่วดาวอินคา

ดาวอินคาเป็นไม้เลื้อยอายุหลายปี มีอายุได้นาน 10 ถึง 50 ปี ลำต้นสูง 2 เมตร กิ่งและยอดแผ่เลื้อยพันตามกิ่งไม้หรือโครงสร้างเลื้อยพันอื่นๆ ใบดาวอินคาเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปหัวใจ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบตรงถึงรูปหัวใจ ขอบใบจักฟันเลื่อย ใบยาว 10-12 เซนติเมตร กว้าง 8-10 เซนติเมตร ก้านใบยาว 2-6 เซนติเมตร ดอกดาวอินคาดอกช่อแบบช่อกระจะ ดอกแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน ดอกเพศผู้ขนาดเล็ก สีขาว เรียงเป็นกระจุกตลอดความยาวช่อ ดอกเพศเมีย 2 ดอก อยู่ที่โคนช่อดอก

เผยแพร่เมื่อ 26-05-2020 ผู้เช้าชม 4,723

ไข่เน่า

ไข่เน่า

ต้นไข่เน่า เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 10-25 เมตร ผิวลำต้นเกลี้ยงเป็นสีหม่นและมีด่างเป็นดวงสีขาวๆ ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าเปลือกมีสีเทาหรือสีน้ำตาลแกมสีเหลือง ลักษณะผิวเรียบหรือแตกเป็นสะเก็ด หรือเป็นร่องตื้นตามความยาวของลำต้น ส่วนกิ่งอ่อนและยอดอ่อนจะมีขนนุ่ม กิ่งอ่อนมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม ส่วนต้นเป็นทรงเรือนยอดรูปกรวยแตกกิ่งต่ำ เจริญเติบโตได้ดีในที่แห้งแล้ง โดยจะเริ่มให้ผลผลิตเมื่อมีอายุประมาณ 3-4 ปีหลังการปลูก

เผยแพร่เมื่อ 25-05-2020 ผู้เช้าชม 6,694

ไทรย้อย

ไทรย้อย

ต้นไทรย้อย มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย อินเดีย และภูมิภาคมาเลเซีย จัดเป็นไม้ยืนต้นหรือพุ่มไม้ผลัดใบขนาดกลาง ที่มีความสูงได้ประมาณ 5-15 เมตร ลำต้นแตกเป็นพุ่มหนาทึบและแผ่กิ่งก้านสาขาทิ้งใบห้อยย้อยลง เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาล กิ่งก้านห้อยย้อยลง มีลำต้นที่สูงใหญ่ ตามลำต้นจะมีรากอากาศแตกย้อยลงสู่พื้นดินเป็นจำนวนมากดูสวยงาม รากอากาศเป็นรากขนาดเล็ก เป็นเส้นสีน้ำตาล ลักษณะรากกลมยาวเหมือนเส้นลวดย้อยลงมาจากต้น รากอากาศที่มีขนาดใหญ่จะมีเนื้อไม้ด้วย มีรสจืดและฝาด ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง และวิธีการปักชำ

เผยแพร่เมื่อ 02-06-2020 ผู้เช้าชม 12,346