วัดนางพญา บน.4


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : วัดนางพญา

ที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ต.หนองอ้อ อ.ศรีสัชนาลัย

ตำบล : หนองอ้อ

อำเภอ : ศรีสัชนาลัย

จังหวัด : สุโขทัย

พิกัด DD : 17.428775 N, 99.788419 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ยม

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

วัดนางพญาตั้งอยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ภายในกำแพงเมือง สามารถเดินทางมายังอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยได้หลายวิธี ดังนี้

            1. รถโดยสารประจำทาง  โดยมีรถประจำทางของบริษัทสุโขทัยวินทัวร์จากกรุงเทพฯ (สถานีขนส่งหมอชิต)ทุกวัน

            2. รถไฟ เส้นทางกรุงเทพฯ-อุตรดิตถ์ ลงที่สถานีสวรรคโลก จากนั้นต่อรถโดยสารประจำทาง

            3. เครื่องบิน มีเที่ยวบินจากกรุงเทพฯ-สุโขทัย วันละ 2 เที่ยว

            4. รถส่วนตัว จากตัวเมืองสุโขทัย ใช้ทางหลวงหมายเลข 101  เส้นสุโขทัย-สวรรคโลก-ศรีสัชนาลัย ไปจนถึงระหว่างกิโลเมตรที่ 17 - 19  เลี้ยวซ้ายข้ามสะพานแม่น้ำยม จะมีทางแยกขวาเข้าอุทยานฯ ไป ประมาณ 1.5  กิโลเมตร เป็นระยะทาง 68  กิโลเมตร หรือ  หรือ จากอำเภอสวรรคโลกไปตามทางหลวงหมายเลข 1201 ไปจนถึงตำบลเมืองเก่า บริเวณเชิงสะพานข้ามแม่น้ำยมแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าอุทยานฯ อีก 2  กิโลเมตร รวมระยะทาง 22 กิโลเมตร

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดนางพญาเป็นกลุ่มโบราณสถานที่อยู่ในเขตกำแพงเมืองศรีสัชนาลัย มีลวดลายปูนปั้นประดับผนังวิหารที่สวยงามอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย และเป็นกลุ่มโบราณสถานเมืองโบราณที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานประวัติศาสตร์และมรดกโลกทางวัฒนธรรม อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 - 17.00 น. และมีรถรางให้บริการนำชมทั่วอุทยานฯ

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์เมื่อปี พ.ศ.2533 และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจาก UNESCO เมื่อปี พ.ศ.2534 ร่วมกับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ในฐานะเมืองบริวารของสุโขทัย

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยเปิดให้บริการแก่นักท่องเที่ยวและผู้ที่มาเยี่ยมชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 น. ไม่เว้นวันหยุดราชการ มีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวต่าง ดังนี้

            - ศูนย์บริการข้อมูลที่เปิดให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยและประวัติศาสตร์ของเมืองศรีสัชนาลัย เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลที่ประชาชนและผู้ที่สนใจสามารถค้นคว้าข้อมูลได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

            - เจ้าหน้าที่นำชมโบราณสถาน/วิทยากร ที่คอยแนะนำเส้นทางท่องเที่ยวภายในอุทยานฯ และพร้อมนำชมโบราณสถานในเขตอุทยานฯทุกวัน

            - แผ่นพับประชาสัมพันธ์และป้ายอธิบายโบราณสถานแต่ละแห่ง

            - เส้นทางท่องเที่ยวภายในอุทยานฯที่สะดวกสบาย เชื่อมโยงโบราณสถานแต่ละแห่ง

            - ป้ายบอกทางไปโบราณสถานเป็นระยะ

            - จักรยานและรถรางในพื้นที่ภายในกำแพงเมือง

อัตราค่าเข้าชมสำหรับชาวไทย 20 บาท และ 40 บาท(สำหรับบัตรรวม) สามารถเข้าชมภายในอุทยานฯ วัดชมชื่น และแหล่งอนุรักษ์เตาเผาสังคโลกหมายเลข 61 และ 42

ค่าเข้าชมสำหรับชาวต่างชาติ 100 บาท และ 220 บาท (สำหรับบัตรรวม)

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่คอยบริการนักท่องเที่ยวด้วย เช่น ค่าเช่าจักรยานคันละ 20 บาท สำหรับชาวไทย, ค่ารถรางคนละ 20 บาท สำหรับชาวไทย และ 40 บาทสำหรับชาวต่างชาติ หรือเหมาคันละ 300 บาท (ไม่เกิน 15 คน) *จักรยานและรถรางเป็นสัมปทานเอกชน อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้*

สามารถสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการเข้าชมได้ที่ สำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย โทรศัพท์ 055 679211

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร, ขึ้นทะเบียนของ UNESCO

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

            1. กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานวัดนางพญา โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม 2478 หน้า 3702 โดยในขณะนั้น ประกาศขึ้นทะเบียนเพียงแค่ชื่อเท่านั้น ไม่ได้กำหนดขอบเขตของโบราณสถานแต่อย่างใด

            2. กรมศิลปากร ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 105 ตอนที่ 57 ลงวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2531 เนื้อที่ 28,217 ไร่ หรือ 45.14 ตารางกิโลเมตร มี โบราณสถาน 283 แห่ง ทั้งในและนอกกำแพงเมือง  โดยโบราณสถานวัดนางพญาเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย

ขึ้นทะเบียนของ UNESCO

วันที่ 12 ธันวาคม 2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย เป็นมรดกโลกตามบัญชีลำดับที่ 574

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย พร้อมด้วย อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ได้รับเกียรติให้ลงทะเบียนเป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก ภายใต้ชื่อว่า "เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร" (Historic Town of Sukhothai and Associated Historic Towns) ในวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2534 ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 15 ระหว่างวันที่ 9-13 ธันวาคม พ.ศ. 2534 ณ กรุงคาร์เทจ สาธารณรัฐตูนิเซีย

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดนางพญาปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ใกล้กับกำแพงเมืองศรีสัชนาลัยด้านทิศใต้ วัดหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ขนานไปกับแม่น้ำยม ตั้งอยู่ห่างจากแม่น้ำยมมาทางทิศตะวันตกประมาณ 400 เมตร วัดนางพญาตั้งอยู่ใกล้กับกำแพงเมืองด้านทิศใต้ในแนวเดียวกันกับวัดช้างล้อม วัดเจดีย์เจ็ดแถว และวัดสวนแก้วอุทยาน 

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

75 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำยม

สภาพธรณีวิทยา

เมืองศรีสัชนาลัยตั้งอยู่บริเวณที่เรียกกันทั่วไปว่า แก่งหลวง ซึ่งก็คือ แก่งหินในแม่น้ำยมที่เกิดจากการไหลผ่านแนวภูเขาที่เป็นผนังหินควอร์ทซ์ วางตัวขวางแม่น้ำยม ของแม่น้ำยม (วันวิสาข์ ธรรมานนท์ 2543 : 31 อ้างถึง กรมพัฒนาที่ดิน 2511 และกรมชลประทาน 2543)

ลักษณะทางธรณีวิทยาบริเวณอำเภอศรีสัชนาลัย มีสภาพเป็นหินเชล (Shale) สี Olive หรือสี Grey จนถึงสี Dark Grey พบเป็นผืนใหญ่ตั้งแต่พื้นที่ นอกจากนี้ยังพบว่ามีลักษณะ ของหินปูน (Limestone) สีจาง เนื้อละเอียดแทรกอยู่บริเวณตอนกลางของต้นน้ำห้วยแม่สานอีกด้วย

ลักษณะทางปฐพีวิทยานั้น เป็นดินที่เกิดอยู่กับที่ (Residual soil) เกือบทั้งสิ้น เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ภูเขาที่มีความลาดชัน จึงจัดหน่วยของดินนี้ไว้เป็นที่ลาดเชิงซ้อน (Slope complex)

สภาพพื้นที่ของอำเภอศรีสัชนาลัยค่อนข้างเรียบถึงสภาพพื้นที่ลูกคลื่นลอนลาดเล็กน้อยและสภาพพื้นที่เนินเขา พื้นที่ส่วนใหญ่ลาดเทจากด้านตะวันตกไปสู่ด้านตะวันออก ลักษณะของดินมีทั้งดินที่เกิดจากการสลายตัวของหินดินดานและดินที่เกิดจากตะกอนของลำน้ำ เป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างสูง

กลุ่มเทือกเขาทางด้านตะวันตกเป็นกลุ่มหินราชบุรี จัดอยู่ในยุคคาร์บอนิฟอรัสและเพอร์เมียน
กลุ่มเทือกเขาทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ เป็นกลุ่มหินตะนาวศรี จัดอยู่ในยุคคาร์บอนิฟอรัส และ Silurian Devonian

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2478

วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากร ประกาศกำหนดจำนวนโบราณสถานระดับชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ลงวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2478 หน้า 3702 ในขณะนั้นเพียงแต่ประกาศแค่ชื่อเท่านั้น (ชื่อที่ใช้ในประกาศฯคือ วัดนางพระยา) แต่ยังไม่ได้กำหนดขอบเขตโบราณสถานแต่อย่างใด

ชื่อผู้ศึกษา : อภัย ปาณินท์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2529

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

อภัย ปาณินท์ “วัดนางพญา ศรีสัชนาลัย” รายงานรายวิชาการอนุรักษ์อาคารทางประวัติศาสตร์และโบราณสถานในประเทศไทย สาขาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2529.

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2531

วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากร ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 105 ตอนที่ 57 ลงวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2531 เนื้อที่ 28,217 ไร่ หรือ 45.14 ตารางกิโลเมตร มี โบราณสถาน 283 แห่ง ทั้งในและนอกกำแพงเมือง โดยโบราณสถานวัดนางพญา เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย

ชื่อผู้ศึกษา : ไกรสินธุ์ อุ่นใจจินต์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2534

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : สำนักพิมพ์เมืองโบราณ

ผลการศึกษา :

ไกรสินธุ์ อุ่นใจจินต์ ศึกษาการอนุรักษ์และการบำรุงรักษาโบราณสถานในจังหวัดสุโขทัย แผยแพร่เป็นบทความเรื่อง “ลักษณะ เจดีย์ทรงระฆัง 3 แบบ ที่ศรีสัชนาลัย = Three types of the bell-shaped chedis at Si Satchanalai.” ตีพิมพ์ในนิตยสาร เมืองโบราณ. ปีที่ 17 ฉบับที่ 2 (เม.ย. - มิ.ย. 2534) : หน้า 54-62. โดยเจดีย์ประธานที่วัดนางพญาแห่งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในครั้งนี้

ชื่อผู้ศึกษา : ประยูร อุลุชาฎะ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2538

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : สำนักพิมพ์สารคดี

ผลการศึกษา :

ประยูร อุลุชาฎะ ศึกษาลายปูนปั้นบนผนังด้านนอกพระวิหารหลวง วัดนางพญา อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย โดยตีพิมพ์เผยแพร่ใน นิตยสารสารคดี. ปีที่ 10 ฉบับที่ 119 (ม.ค. 2538) หน้า 71

ชื่อผู้ศึกษา : กฤช เหลือลมัย, ชูศักดิ์ เสถียรพัฒโนดม, กฤษฎา พิณศรี

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2539

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : สำนักพิมพ์เมืองโบราณ

ผลการศึกษา :

กฤช เหลือลมัย, ชูศักดิ์ เสถียรพัฒโนดม และ กฤษฎา พิณศรี. เผยแพร่ข้อมูล – ข้อคิดใหม่ : จีนในไทย ไทในจีน”ในนิตยสาร เมืองโบราณ. ปีที่ 21 ฉบับที่ 1 (ม.ค.-มี.ค. 2539) : หน้า 143-160. โดยทำการศึกษาลายดอกกลมที่วัดนางพญา จังหวัดสุโขทัย

ชื่อผู้ศึกษา : ศิริศักดิ์ คุ้มรักษา

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2546

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : สำนักพิมพ์แปลน รีดเดอร์ส

ผลการศึกษา :

เป็นการรวบรวมข้อมูลโบราณสถานในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยที่สำคัญ เพื่อเป็นตัวแทนของประวัติศาสตร์และศิลปะของสกุลช่างสุโขทัย เป็นการนำเสนอโดยใช้ภาพวาดประกอบการอธิบายลักษณะทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมที่สวยงาม

ชื่อผู้ศึกษา : ม.ศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

ภาควิชาศิลปะสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร จัดทำรายงานแบบสำรวจรังวัดโบราณสถานเมืองศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย

ชื่อผู้ศึกษา : สันติ เล็กสุขุม

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2551

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง

ผลการศึกษา :

ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม จัดทำรูปแบบสันนิษฐานของโบราณสถาน ของพื้นที่มรดกโลกสุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร และตีพิมพ์เผยแพร่

ชื่อผู้ศึกษา : นารีรัตน์ ปรีชาพีชคุปต์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากรได้จัดทำหนังสือนำชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร เพื่อเผยแพร่ความรู้ที่ได้จากการดำเนินงานทางโบราณคดี ทั้งการสำรวจ การขุดค้นและการขุดแต่งที่ผ่านมาทั้งหมด ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้เข้าใจอดีตของแคว้นสุโขทัยได้มากยิ่งขึ้น โดยในหนังสือนำชมจะมีเนื้อหาของประวัติความเป็นมาของเมืองโบราณแต่ละแห่ง รวมทั้งรายละเอียดของโบราณสถานแต่ละแห่ง

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดนางพญาตั้งอยู่ภายในเมืองศรีสัชนาลัย ใกล้กับกำแพงเมืองด้านทิศใต้ ในแนวเดียวกันกับวัดช้างล้อม วัดเจดีย์เจ็ดแถว และวัดสวนแก้วอุทยานใหญ่ (วัดช้างล้อมตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือสุด ถัดมาเป็นวัดเจดีย์เจ็ดแถว วัดสวนแก้วอุทยานใหญ่ และวัดนางพญาที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้สุด) วัดหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นโบราณสถานที่ปรากฏลวดลายปูนปั้นที่สวยงาม  ภายในกลุ่มโบราณสถานประกอบด้วย

1.       เจดีย์ประธาน เป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณ ที่ชั้นมาลัยเถาก่อซุ้มออกมาทั้ง 4 ทิศ โดยซุ้มทางด้านหน้าเป็นซุ้มประตูทางเข้าสู่ภายในโถงเจดีย์ซึ่งมีเจดีย์ขนาดเล็กตั้งยู่ ส่วนอีก 3 ซุ้ม เป็นซุ้มจระนำประดิษฐานประพุทธรูป

2.       วิหาร ก่อด้วยศิลาแลงขนาด 5 ห้อง กว้าง 16.40 เมตร ยาว 24 เมตร มีมุขทั้งทางด้านหน้าและหลัง ผนังวิหารเจาะช่องแสง ผนังด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ยังคงปรากฏลวดลายปูนปั้นที่สวยงาม ลักษณะเด่นคือลวดลายปูนปั้นรูปกึ่งมนุษย์กึ่งวานรกำลังวิ่ง แต่ถูกทำลายไปบางส่วน นอกจากนั้นยังทำเป็นรูปลวดลายพรรณพฤกษา และรูปเทพพนมเป็นรูปแบบศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น 

3.       โบสถ์ ตั้งอยู่หลังเจดีย์ประธาน หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ก่อด้วยศิลาแลงกว้าง 11.90 เมตร ยาว 14 เมตร มีแท่นเสมาตั้งอยู่โดยรอบ 8 แท่น โดยภายในเมืองศรีสัชนาลัยปรากฏโบสถ์เพียง 2 วัดเท่านั้น คือวัดนางพญาและวัดเจดีย์เจ็ดแถว

4.       เจดีย์ราย จำนวน 2 องค์ อยู่ทางด้านซ้ายของเจดีย์ประธาน

5.       กำแพงวัด ก่อด้วยศิลาแลงกว้าง 58 เมตร ยาว 123 เมตร ล้อมรอบเจดีย์ประธาน วิหาร โบสถ์ มีประตูทั้งหมด 4 จุด สามารถเข้าออกได้ 3 ด้าน แต่อีกหนึ่งด้านเป็นประตูหลอก

นอกจากนี้วัดนางพญายังปรากฏอยู่ในหนังสือพระราชนิพนธ์  “เที่ยวเมืองพระร่วง” ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และมีหลักฐานกล่าวถึงวัดนางพญาโดยเป็นบันทึกจดหมายระยะทางไปพิษณุโลก ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพรานริศรานุวัติวงศ์เมื่อครั้งเสร็จไปเมืองพิษณุโลก เมื่อ พ.ศ.2444 โดยทรงเรียกว่า วัดสมเด็จเจ้าพระยา ทรงบันทึกไว้ว่า    “...เห็นวิหารด้านเดียว นอกนั้นรกเห็นว่ามีอะไรอีกไม่ได้ วิหารนั้นเป็นวิหารมีฝามุขหน้าโถงทำฝีมืออย่างวิจิตร เสาและฝาปั้นลายทั้งนั้น ฝาแบ่งเป็นช่องเป็นลูกปกน ในช่องลูกฟักปั้นลายก้านขดดอกไม้ กลางมีภาพลิงตัวหนึ่ง หน้าต่างทำเป็นอย่างหน้าต่างลูกกรง มีส่วนกว้างมากกว่าสูง ลายกรอบหน้าต่างปั้นเป็นลายลูกฟัก ก้ามปูดอกไม้ ลายลูกกรงปั้นเป็นรักร้อยดอกไม้ มีประจำยามอย่างอกเลา แต่ไม่เผล้เหลี่ยม เสาในประธานกลม อาจารย์เทียนว่ามีลายเหมือนกันแต่กะเทาะเสียหมดแล้ว เสานอกเหลี่ยม มุมเป็นรักร้อยดอกไม้ กลายเป็นลายรักร้อยใหญ่ ดูชอบกลอยู่ จึงได้ถ่ายมาลงไว้นี้ ลายนี้ดอกบัวใหญ่ ทำด้วยดินเผาแทรกปั้นด้วยปูน...”

ปัจจุบันลายกระเบื้องดินเผาเคลือบที่ประดับเสาได้สูญหายไปหมดสิ้น คงเหลือแต่ร่องรอยติดอยู่เท่านั้น

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

วาทินี ถนอมพลกรัง เรียบเรียงข้อมูล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. ทำเนียบโบราณสถานศรีสัชนาลัย.กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2535.

กรมศิลปากร. “วัดนางพญา บน.4” ใน ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมและระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 1 มีนาคม 2558. แหล่งที่มา http://www.gis.finearts.go.th/fad50/fad/display_data.aspx?id=0004282.

กระทรวงวัฒนธรรม. เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร. ศูนย์ข้อมูลมรดกโลก (The World Heritage Information Center) (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อ 1 มีนาคม 2558. แหล่งที่มา  http://www.thaiwhic.go.th/heritage_culture.aspx

กฤช เหลือลมัย, ชูศักดิ์ เสถียรพัฒโนดม, และ กฤษฎา พิณศรี. “ข้อมูลใหม่ – ข้อคิดใหม่ : จีนในไทย ไทใน     จีน” เมืองโบราณ. 21, 1 (ม.ค.-มี.ค. 2539) : 143-160.

ไกรสิน อุ่นใจจินต์. “เจดีย์ทรงระฆัง 3 แบบ ที่ศรีสัชนาลัย = Three types of the bell-shaped chedis     at Si Satchanalai.” เมืองโบราณ. 17, 2 (เม.ย.-มิ.ย. 2534) : 54-62.

นารีรัตน์ ปรีชาพีชคุปต์. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ : สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ, 2553.

ประยูร อุลุชาฎะ. “ลายปูนปั้นบนผนังด้านนอกพระวิหารหลวง วัดนางพญา อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัด สุโขทัย สารคดี. 10, 119 (ม.ค. 2538) : 71.

ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรม. แบบสำรวจรังวัดโบราณสถานเมืองศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย (ภาค 1). มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2549.

ศิริศักดิ์ คุ้มรักษา. เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย. กรุงเทพฯ : แปลน รีดเดอร์ส, 2546.

สันติ เล็กสุขุม. โบราณสถานกับรูปแบบสันนิษฐานมรดกโลกสุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร.     กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2551.

อภัย ปาณินท์. “วัดนางพญา ศรีสัชนาลัย” รายงานรายวิชาการอนุรักษ์อาคารทางประวัติศาสตร์และโบราณสถานในประเทศไทย สาขาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2529.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง