วัดพระบรมธาตุ


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : วัดพระธาตุ, วัดพระบรมธาตุเมืองตาก, วัดพระบรมธาตุบ้านตาก

ที่ตั้ง : ถ.บ้านตาก–แม่ระมาด ม.3 บ้านพระธาตุ ต.เกาะตะเภา อ.บ้านตาก

ตำบล : เกาะตะเภา

อำเภอ : บ้านตาก

จังหวัด : ตาก

พิกัด DD : 17.061459 N, 99.043993 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ปิง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากตัวเมืองตากไปตามทางหลวงหมายเลข 1107 ประมาณ 35 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1175 อีกประมาณ 1 กิโลเมตร จะเห็นวัดพระบรมธาตุอยู่ทางซ้ายมือ
หรือหากใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 ตรงกิโลเมตรที่ 442 เข้าอำเภอบ้านตากผ่านสะพานข้ามแม่น้ำปิง แล้วเลี้ยวขวาผ่านวัดท่านา จนถึงสามแยกแล้วเลี้ยวซ้าย 200 เมตร ถึงวัดพระบรมธาตุอยู่ทางซ้ายมือ และเจดีย์ยุทธหัตถีอยู่ฝั่งตรงข้ามกัน

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดพระบรมธาตุ เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองวัดหนึ่งของจังหวัดตาก สิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนชาวตากและพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะองค์พระบรมธาตุและพระเจ้าทันใจ

พุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวที่สนใจ สามารถเข้าสักการะและเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม โดยมีแหล่งโบราณสถานสำคัญที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงคือ เมืองตากเก่าและเจดีย์ยุทธหัตถี

นอกจากนี้ ภายในวัดยังมีพิพิธภัณฑ์วัดพระบรมธาตุ ซึ่งจัดสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2544-2545 ภายในจัดแสดงและเก็บรักษาพระพุทธรูปไม้ หีบธรรม ตู้ธรรม ถ้วยชามสังคโลก อาวุธโบราณ เงินโบราณ เครื่องใช้โบราณ และวัตถุโบราณอื่นๆ ในอดีตพิพิภัณฑ์แห่งนี้เปิดให้ประชาชนเข้าชมอย่างอิสระ แต่เมื่อปลายปี 2548 เกิดการลักขโมยพระพุทธรูปในพิพิธภัณฑ์ ทางวัดจึงจำเป็นต้องปิดพิพิธภัณฑ์ จะเปิดให้เข้าชมต่อเมื่อมีผู้มาติดต่อขอชมและต้องมีเจ้าหน้าที่คอยดูแล

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดพระบรมธาตุ

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 114 ตอนพิเศษ 87ง วันที่ 29 กันยายน พ.ศ.2540

ภูมิประเทศ

เนินเขา

สภาพทั่วไป

วัดพระบรมธาตุอยู่ในอำเภอเมืองซึ่งเป็นพื้นที่ฝั่งตะวันออกของเทือกเขาถนนธงชัย สภาพโดยทั่วไปเป็นที่ราบน้ำท่วมถึงริมฝั่งแม่น้ำปิง พื้นที่มีความลาดเอียงไปทางทิศตะวันออกสู่แม่น้ำปิง

พื้นที่ตั้งวัดพระบรมธาตุมีลักษณะเป็นเนินสูงกว่าพื้นที่โดยรอบ มีแม่น้ำปิงไหลผ่านห่างออกไปทางทิศตะวันออกประมาณ 800 เมตร 

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

140 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำปิง

สภาพธรณีวิทยา

พื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบด้วยหินอัคนี ที่พบมากคือหินแกรนิต หินแกรโนไดโอเรต์ เป็นหินที่เกิดในยุคไทรแอสซิก และคาร์บอนิเฟอรัส มีลักษณะธรณีสัณฐานเป็นที่ราบน้ำท่วมถึง (flood plain) เป็นที่ราบแนวแคบๆขนานตามฝั่งแม่น้ำ และลำห้วยบางสาย วัตถุต้นกำเนิดดินเป็นพวกตะกอนลำน้ำใหม่ (recent alluvium) ตะกอนธารน้ำพาและตะกอนตะพักลำน้ำ

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยสุโขทัย, สมัยอยุธยา

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 19 ถึงปัจจุบัน

อายุทางตำนาน

พ.ศ.40

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : พระครูพิทักษ์บรมธาตุ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2475, พ.ศ.2512

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : วัดพระบรมธาตุ

ผลการศึกษา :

ระหว่าง พ.ศ.2475-2512 พระครูพิทักษ์บรมธาตุ (หลวงพ่อทองอยู่) เป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดพระบรมธาตุ ได้สร้างครอบเจดีย์องค์เดิมด้วยเจดีย์ที่เลียนแบบเจดีย์ชเวดากองของพม่า

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2540

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานวัดพระบรมธาตุ จ.ตาก โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 114 ตอนพิเศษ 87ง วันที่ 29 กันยายน พ.ศ.2540

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดพระบรมธาตุ หรือวัดพระธาตุ จังหวัดตาก ตั้งอยู่บนเนินสูง เดิมเป็นวัดร้าง ต่อมาราว พ.ศ.2440 ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 ปัจจุบันเป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย

ตามตำนานพระเจ้าเลียบโลกในสมุดข่อยที่พบภายในวัดที่เขียนเป็นภาษาเหนือ กล่าวถึงประวัติการก่อสร้างพระบรมธาตุองค์นี้ว่า เมื่อครั้งพุทธกาล สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จโปรดสัตว์ล่องมาตามลำน้ำปิง พระองค์ได้เสด็จมายังดอยมะหิยะกะ หรือมะหิยังกะ ในเขตตัวเมืองตาก และตรัสกับพระอานนท์ว่าสถานที่นี้เป็นสถานที่สำราญ ร่มรื่น หากเราตถาคตปรินิพพานแล้วให้นำอัฐิและเกศากลับมายังดอยมะหิยังกะ ภายหลังจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน พระอานนท์ (บางตำนานกล่าวว่าเป็นพระสาวก 4 องค์) ได้นำเอาพระบรมอัฐิ (หรือพระบรมสารีริกธาตุ) กับพระเกศา 4 เส้น มาประดิษฐานยังดอยมะหิยังกะแห่งนี้ แล้วก่อเจดีย์รูปทรงสี่เหลี่ยมแล้ว นำพระบรมอัฐิบรรจุไว้ในพระเจดีย์ เพื่อเป็นที่สักการบูชาของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย (บางตำนานกล่าวว่าชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างเจดีย์คลุมหลุมที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ)

อย่างไรก็ตาม จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดี นักวิชาการบางท่านจึงเสนอว่าวัดพระบรมธาตุอาจสร้างขึ้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18 ตรงกับสมัยสุโขทัย (คณะกรรมการฯ 2545 : 68-69) เพราะมีโบราณสถานสมัยสุโขทัยตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงคือ เจดีย์ยุทธหัตถี ตั้งอยู่บนดอยช้างทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัด ซึ่งเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ที่ระลึกเหตุการณ์ชนช้างระหว่างพ่อขุนศรีอินทราทิตย์กับขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด (กรมศิลปากร 2516)

สิ่งสำคัญภายในวัดพระบรมธาตุ ได้แก่

พระบรมธาตุ ตามประวัติกกล่าวว่าสร้างเลียนแบบเจดีย์ชเวดากอง สันนิษฐานว่าสร้างครอบเจดีย์องค์เดิมไว้โดยพระครูพิทักษ์บรมธาตุ (หลวงพ่อทองอยู่) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดพระบรมธาตุตั้งแต่ปี พ.ศ.2475-2512 แต่ลักษณะที่ปรากฏในปัจจุบันเป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมศิลปะล้านนา บุภายนอกด้วยทองดอกบวบ (ทองเหลืองผสมทองแดง) มีเจดีย์ขนาดเล็ก 16 องค์รายล้อม และมีซุ้มสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปอีก 12 องค์

สิ่งสำคัญภายในวัดอื่นๆ (กองพุทธศาสนา 2525 : 691) เช่น

อุโบสถ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนกว้าง 12 เมตร ยาว 20 เมตร สร้างในปี พ.ศ.2494 มีประตูเป็นไม้แกะสลักสวยงาม หน้าบันและจั่วเป็นไม้ หน้าต่างแกะเป็นภาพพุทธประวัติปิดทอง หัวบันไดเป็นนาค ภายในพระอุโบสถประดิษฐานหลวงพ่อทันใจ ลักษณะเป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน ปางมารวิชัย ลงรักปิดทอง มีเรื่องเล่ากันว่าสร้างเสร็จภายในวันเดียว นับเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองตาก มีผู้มาขอพรที่มักได้รับตามคำขอในเวลาอันรวดเร็ว จึงเป็นที่มาของชื่อ หลวงพ่อทันใจ

วิหาร เป็นวิหารเก่ามีเพดานสูง ๒ ชั้น มีช่องลมอยู่โดยรอบ ทำให้อากาศภายในวิหารมีอากาศเย็น และมีพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทองอยู่ภายในวิหาร นอกจากนี้ภายในบริเวณวัดยังมีวิหารไม้เก่าแก่อีกหลังหนึ่งที่มีลวดลายแกะสลักที่สวยงาม

ศาลาการเปรียญ กว้าง 8.5 เมตร ยาว 16 เมตร สร้าง พ.ศ.2467 หอสวดมนต์ กว้าง 6.5 เมตร ยาว 12 เมตร สร้างในปี พ.ศ.2523

กุฏิสงฆ์ทั้งที่เป็นศาลาไม้ และคอนกรีต 

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ภาวิณี รัตนเสรีสุข เรียบเรียง, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดตาก. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2545.

กรมศิลปากร. ทะเบียนโบราณวัตถุสถานทั่วราชอาณาจักร. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา พระสุเมรุ, 2516.

กองพุทธศาสนา. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 7. กรุงเทพฯ : กองพุทธศาสนา, 2525.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี