วัดมหาธาตุ, วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง


โพสต์เมื่อ 26 ก.ค. 2021

ชื่ออื่น : วัดพระบรมธาตุ, พระบรมธาตุทุ่งยั้ง, วัดทุ่งยั้ง, วัดมหาธาตุเจดีย์

ที่ตั้ง : เลขที่ 158 บ้านทุ่งยั้ง ม.3 เทศบาลตำบลทุ่งยั้ง

ตำบล : ทุ่งยั้ง

อำเภอ : ลับแล

จังหวัด : อุตรดิตถ์

พิกัด DD : 17.599986 N, 100.055397 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : น่าน

เขตลุ่มน้ำรอง : แม่พร่อง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากตัวเมืองอุตรดิตถ์ไปตามทางหลวงหมายเลข 102 ประมาณ 3 กิโลเมตร จะพบวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้งอยู่ทางซ้ายมือ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้งได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์อยู่สม่ำเสมอ เนื่องจากเป็นวัดสำคัญประจำเมืองทุ่งยั้งและจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นที่เคารพสักการะของชาวอุตรดิตถ์และพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป ทั้งนี้นอกจากโบราณพุทธสถานและวัตถุภายในวัด อาทิ พระบรมธาตุ วิหาร และหลวงพ่อโต แล้ว วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้งยังมีประเพณีประจำปีที่สำคัญคือ

ประเพณีอัฐมีบูชา หรือพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธสรีระจำลอง จัดขึ้นทุกวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี โดยเป็นวันงานสลากภัตของวัดและจะมีการจัดแสดงพุทธประวัติตอนถวายพระเพลิงพระบรมศพด้วย โดยทางวัดจะจัดให้มีการจำลองเหตุการณ์ย้อนไปเมื่อครั้งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ณ เมืองกุสินารา ประเทศอินเดีย โดยจะมีการสร้างพระบรมศพจำลอง ประทับนอนในปางปรินิพพาน อยู่ในโลงแก้ว โดยจัดประดิษฐานไว้บนศาลาการเปริยญ ตั้งแต่วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ให้พุทธศาสนิกชนได้ร่วมถวายสักการะพระบรมศพ จนถึงวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 จึงได้จัดพิธีจำลองเหตุการณ์ การถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระจำลอง จัดสร้างจิตกาธาน พระเมรุมาศเหมือนจริง และมีการถวายพระเพลิงจริง ซึ่งถือว่าเป็นพิธีที่ยิ่งใหญ่และมีการจัดพิธีแบบนี้แห่งเดียวในโลก

งานบวชนาคสามัคคี ทางวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้งจัดให้มีงานบวชนาคสามัคคีในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี เป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้ถาวรสืบไป

วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง โทร. 084-493-9972

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง, กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 47 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2529

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

พื้นที่ตั้งวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้งเป็นที่ราบท่ามกลางหมู่บ้าน ทางด้านตะวันออกมีลำรางสาธารณะ ทางด้านทิศตะวันตกติดกับคูเมืองทุ่งยั้ง

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

73 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำน่าน, แม่พร่อง

สภาพธรณีวิทยา

ที่ตั้งของวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้งอยู่ถัดลงมาทางใต้ของจังหวัดอุตรดิตถ์ซึ่งเป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ ต่อเนื่องมาจากภาคกลาง และบริเวณลุ่มน้ำขนาดใหญ่จะมีภูมิประเทศแบบหุบเขา ได้แก่ ที่ราบลุ่มน้ำปาดเป็นที่ราบหุบเขาที่กว้างที่สุด ที่ราบหุบเขาบริเวณคลองตรอนและบริเวณคลองแม่พร่อง (ส่วนทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดเป็นภูเขาและที่สูง เป็นเทือกเขาที่ต่อเนื่องมาจากจังหวัดแพร่และน่าน) ทิวเขาบริเวณนี้มีอายุและโครงสร้างทางธรณีวิทยาอยู่ในมหายุคพาลีโอโซอิกต่อเนื่องมาจนถึงยุคซีโนโซอิก โดยมีการแทรกตัวของหินหนืด ประกอบกับแรงบีบอัดในแนวตะวันออก-ตะวันตก พื้นผิวจึงโก่งงอกลายเป็นภูเขาและเทือกเขาสูง ระหว่างภูเขามีหุบเขาที่เกิดจากรอยเลื่อนในยุคเทอร์เชียรี่ที่ทรุดต่ำลง รวมทั้งการสึกกร่อน ตลอดจนการทับถมกลายเป็นที่ราบแคบๆระหว่างภูเขา ซึ่งมีแม่น้ำไหลผ่านจะเกิดที่ราบตะกอนน้ำพาแคบๆ เป็นบริเวณที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก (สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม 2538 : 42)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยสุโขทัย, สมัยอยุธยา

อายุทางโบราณคดี

พ.ศ.1902 (พระราชพงศาวดารเหนือ)

อายุทางตำนาน

พระเจ้าอู่ทอง พ.ศ.1893-1912

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2283

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้ทรงมาปฏิสังขรณ์วัดมหาธาตุทั้งที่เมืองพิษณุโลกและเมืองทุ่งยั้ง โดยปรากฏความในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เป็นหมายรับสั่งมีความโดยสังเขปว่า “โปรดให้มีตราพระราชสีห์ให้เมืองลับแล เมืองทุ่งยั้งรื้อวิหารและกำแพงแล้วสร้างใหม่” มีการสมโภชใหญ่ 3 วัน 3 คืน หากในส่วนขององค์พระบรมธาตุนั้นไม่มีข้อความในพงศาวดารระบุว่าได้มีการปฏิสังขรณ์

ชื่อผู้ศึกษา : พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2444

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

ในรัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำการบูรณะวิหารหลวงและบูรณะพระมหาธาตุเจดีย์ โดยการนำฉัตรมาติดยอดพระบรมธาตุเจดีย์และสร้างเจดีย์องค์เล็กที่ฐานชั้นล่างทั้ง 4 มุม

ชื่อผู้ศึกษา : พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2450

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชนิพนธ์หนังสือ เที่ยวเมืองพระร่วง บันทึกเหตุการณ์คราวเสด็จเมืองลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ มีพระราชดำริถึงเมืองทุ่งยั้งว่าคงไม่ใช่เมืองกัมโพชที่ปรากฏในพงศาวดารเหนือ โดยกัมโพชนครน่าจะเป็นที่ตำบลลับแลมากกว่า

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2451

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

พ.ศ.2451 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งยอดหักพังเนื่องจากแผ่นดินไหว

ชื่อผู้ศึกษา : สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2471

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายเพิ่มเติมในส่วนท้ายบทนี้ว่า ส่วนเมืองทุ่งยั้งคงสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย เป็นเมืองหน้าด่านแทนเวียงเจ้าเงาะ ปรากฏชื่อว่า “เมืองทุ่งยั้งเมืองบางยม” ในบานแผนกกฎหมายลักษณะลักพาตั้งในรัชกาลพระเจ้าอู่ทอง (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว 2519 : 204-211)

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร, วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2527

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร, วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง

ผลการศึกษา :

บูรณปฏิสังขรณ์วิหารหลวง

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร, วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2550

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร, วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง

ผลการศึกษา :

บูรณปฏิสังขรณ์เจดีย์ประธานและพระอุโบสถ

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2551

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย กรมศิลปากร จัดทำโครงการบูรณะวิหารหลวงวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง โดยมีบริษัท ดำรงก่อสร้างวิศว จำกัด เป็นบริษัทเอกชนผู้ดำเนินงาน

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง  หรือที่ชาวบ้านมักเรียกว่าวัดทุ่งยั้ง หรือวัดมหาธาตุเจดีย์ (คำว่าทุ่งยั้ง มาจากตำนานเก่าแก่ที่เล่ากันมาว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับยับยั้งที่เมืองนี้) เป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ รอบวัดมีคูน้ำ 2 ชั้นเจาะลึกลงไปในชั้นหินแลง และมีกำแพง 3 ชั้น แต่ตอนที่อยู่ที่ลุ่มต่ำมีกำแพงชั้นเดียวบ้าง สองชั้นบ้าง และคูน้ำมีชั้นเดียวบ้าง (หวน พินธุพันธ์ 2521 : 39)

วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง ปัจจุบันเป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย คงสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย โดยพระยาลิไท ราวปี พ.ศ.1902 ตามหลักฐาน ศิลาจารึกวัดป่าแดด หลักที่ 9 แผ่นที่ 1 หน้า 435 (กองพุทธศาสนา 2525 : 116)

สำหรับความสำคัญของวัดแห่งนี้ในสมัยสุโขทัย แม้จะยังไม่มีข้อยุติเกี่ยวกับความเห็นเรื่องเมืองทุ่งยั้งในสมัยสุโขทัยว่าเป็นเป็นเมืองบางยาง หรือเป็นเมืองราดของพ่อขุนผาเมืองหรือไม่ (ชาติชาย มุกสง 2543 : 26) แต่จากการมีวัดพระบรมธาตุที่เชื่อว่าเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ตั้งอยู่กลางเมืองโบราณที่มีแนวคูและปราการปรากฏอยู่ สะท้อนให้เห็นว่าบริเวณวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้งเป็นพื้นที่ที่มีบทบาทในสมัยสุโขทัย ซึ่งอาจเป็นเมืองหน้าด่านตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว 2519 : 204-211) เนื่องจากไม่ปรากฏชื่อเมืองทุ่งยั้งในจารึกสมัยสุโขทัย แต่ปรากฏในกฎหมายลักษณะลักพา สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) เรียกชื่อเมืองทุ่งยั้งบางยม (พระราชพงศาวดารเหนือ 2506 : 8)

เมืองทุ่งยั้งตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ควบคุมเส้นทางที่ใช้ติดต่อขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ไปตามลำน้ำน่านสู่เมืองน่านและเมืองหลวงพระบาง และไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ตัดผ่านเมืองตรอนลงไปยังลุ่มแม่น้ำแควน้อย ผ่านเมืองชาติตระการไปยังเมืองนครไทย แล้วต่อไปยังเวียงจันทน์ เวียงคำในลุ่มแม่น้ำโขง ส่วนทางด้านตะวันตกสามารถใช้ติดต่อกับบ้านเมืองในลุ่มแม่น้ำยมได้โดยตรงไปจะเป็นเมืองศรีสัชนาลัย (ชาติชาย มุกสง 2543 : 25)

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาแม้ว่าเมืองทุ่งยั้งดูจะเสื่อมความสำคัญลง แต่สันนิษฐานว่าในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระองค์ได้เสด็จมาบูรณปฏิสังขรณ์พระวิหารวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้งในคราวเสด็จมานมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ในปี พ.ศ.2283 (สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ 2509 : 77)

ภายในบริเวณวัดมีโบราณสถานสำคัญ ได้แก่

เจดีย์ประธาน เป็นเจดีย์ทรงระฆัง ขนาดประมาณ 22x22 เมตร สูงประมาณ 25 เมตร ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว ตัวเจดีย์ประกอบด้วยฐานเขียงซ้อนกัน 3 ชั้น ฐานชั้นล่างสุดก่อด้วยศิลาแลง มีเจดีย์ประจำมุมที่ฐาน ถัดขึ้นไปก่อด้วยอิฐและมีศิลาแลงปะปนอยู่บ้าง ตรงกลางเรือนธาตุทั้งสี่ด้าน ประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืนอยู่ภายในซุ้มจรนำ สันนิษฐานว่าคงทำขึ้นในภายหลัง ส่วนบนเป็นเจดีย์ทรงระฆังส่วนล่างที่ค่อนข้างคอดตกแต่งด้วยบัวปากระฆัง ต่อเนื่องไปเป็นบัลลังก์สี่เหลี่ยมและปล้องไฉน

จากฐานเขียงที่ซ้อนกัน 3 ชั้นและรูปทรงที่ปรากฏ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเชื่อว่าเดิมเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์มาก่อน (สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ 2509 : 77) ซึ่งก็รับกันดีกับหลักฐานศิลาจารึกปีที่สร้างวัดที่ตรงกับพระยาลิไท ซึ่งนิยมสร้างเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ นอกจากนี้ยังมีหลักฐานบันทึกการปฏิสังขรณ์เจดีย์วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง ในปี พ.ศ.2444 ในพระราชนิพนธ์จดหมายระยะทางไปพิษณุโลกของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ตามรายละเอียดดังนี้

“หลังพระวิหารมีพระธาตุ สูงเห็นจะเกือบ 20 วา เป็นรูปเจดีย์พม่าใหม่อล่องฉ่อง พระสีบาสงครามว่า พระธาตุเดิมเล็ก นี่เขาทำบวกเข้าใหม่เมื่อสองเดือนนี้ ช่างพม่ารับจ้างทำอย่างพม่า พร้อมทั้งประตูกำแพงแก้วด้วย รูปร่างใหม่ก็ดีอยู่” (พระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ 2506 : 20)

วิหาร ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเจดีย์ประธาน เป็นวิหาร 5 ห้อง ก่อด้วยศิลาแลงและอิฐ ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว มีขนาดประมาณ 10.5x25 เมตร สูงประมาณ 14 เมตร หลังคามุงกระเบื้องลด 3 ชั้น ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ไม้แกะสลักที่จั่วเป็นไม้แกะสลักรูปสัตว์ทาสี มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประธานปูนปั้นลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 2 วา 10 นิ้ว สูง 3 วา 10 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองทุ่งยั้ง ชาวบ้านได้ถวายนามว่า “หลวงพ่อโต” บ้าง “หลวงพ่อประธานเฒ่า” บ้าง “หลวงพ่อหลักเมือง” บ้าง ด้านหน้าพระพุทธรูปมีเสากลม หัวเสาเป็นกลุ่มบัวรับน้ำหนักเพดานเป็นไม้ทาสีแดงมีลวดลายไทย และที่ผนังด้านในที่ผนังด้านหน้ามีภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนเรื่องพุทธประวัติตอนมารผจญในระดับเหนือประตู ที่ผนังตอนล่างเขียนเรื่องสังข์ทองแต่ลบเลือนไปมาก ผนังตอนบนที่ติดกับหลังคาเขียนภาพเทพชุมนุม จิตรกรรมเหล่านี้สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (หวน พินธุพันธ์ 2521 : 44)

ในจดหมายเหตุระยะทางไปพิษณุโลก กล่าวถึงการบูรณปฏิสังขรณ์สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า และพระพุทธรูปภายในพระวิหารตอนหนึ่งว่า

“ ....มีพระวิหารใหญ่หลังหนึ่ง...เห็นได้ว่าพระนั่งเกล้ารับสั่งให้พระยาท้ายน้ำ พระยานครสวรรค์ พระยาอุตรดิฐ มากระทำการปฏิสังขรณ์จะเปนปีไรแลไม่เห็นยังซ่อมชั้นใหม่ดูเหมือนเมื่อวานซืนนี้ก็มีในภายนอก พระอุตรดิฐว่าหลวงเดิมชื่ออิน เปนชาวสวรรคโลกมาปฏิสังขรณ์ พระในวิหารมีพระปูนองค์ใหม่ไม่งามอยู่ประจำที่กับพระหล่อเล็กๆ มากกว่ามาก งามก็มีไม่งามก็มี หักก็มี ดีก็มี ได้เลือกพระยืนหักเอามาองค์หนึ่ง เพราะทรงดี พระดีมีองค์หนึ่ง สูงประมาณ ๓ ศอก เปนพระทรงเครื่อง ทำด้วยทองเหลืองแผ่นตัดซ้อนตัวประณีตมาก แลปิดทองก็งาม มุขหลังพระวิหาร มีรูปพระศรีอารย์เก่าเหมือนกัน แต่องค์พระเกลี้ยงเกลี้ยง ไม่ประหลาดอะไร ดีที่ฐานทำลายทองเหลืองแผ่นตัดซ้อน เปนกนกงามนัก.....” (พระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ 2506 : 20)

อุโบสถ ก่ออิฐถือปูน อยู่ภายในกำแพงแก้วเดียวกับพระวิหาร มีขนาดประมาณ 7.6x19 เมตร สูงประมาณ 13 เมตร ผนังด้านข้างมีช่องหน้าต่าง หลังคามุงกระเบื้องลดหลั่น 3 ชั้น ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ปูนปั้นประดับกระจก ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประธานปูนปั้น ปรากฏความในจดหมายเหตุระยะทางไปพิษณุโลก พระนิพนธ์ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ กล่าวถึงพระอุโบสถไว้ดังนี้

“.....ข้างเบื้องซ้ายแห่งวิหารใหญ่ มีโบสถ์หลังหนึ่งแต่ไม่ใหญ่โต อิฐเครื่องประดุเก่าแต่ได้ซ่อมเสียใหม่ เช่นวิหารแล้วเหมือนกัน พระประธานในโบสถ์เป็นพระเก่าพอดูได้ ฝีมือช่างไม่มีอะไรที่ควรจะกำหนดจดจำ....” (พระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ 2506 : 20)

นอกจากนี้ ภายในวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้งยังมีซากเจดีย์ก่อด้วยศิลาแลงหลายองค์ตั้งอยู่ที่ด้านข้างวิหาร บางองค์ถูกซ่อมใหม่แล้ว ทางด้านหน้าวิหารมีหอระฆังเก่ามียอดเป็นรูปพรหมพักตร์ปูนปั้น และมีรูปปูนปั้นที่เชิงบันไดแต่หักพังไปมาก มีจิตรกรรมบนแผ่นไม้คอสองของศาลาการเปรียญหลังเก่าที่ถูกรื้อไปแล้ว เขียนภาพพระมาลัยสูตร เก็บรักษาไว้บนกุฏิเจ้าอาวาส  (หวน พินธุพันธ์ 2521 : 44) มีศาลาการเปรียญ สร้างในปี พ.ศ.2372 ศาลาอเนกประสงค์ สร้างปี พ.ศ.2514 (กองพระพุทธศาสนา 2525 : 116)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ภาวิณี รัตนเสรีสุข เรียบเรียง, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒนวรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

กองพระพุทธศาสนา. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร. กรุงเทพฯ : กอง, 2525.

คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดพิจิตร. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2545.

ตรี อมาตยกุล. เมืองเหนือและเมืองใต้. พระนคร : แพร่พิทยา, 2513.

ชาติชาย มุกสง. อุตรดิตถ์. กรุงเทพฯ : ต้นอ้อ1999, 2543.

“พระราชพงศาวดารเหนือ.” ประชุมพงศาวดารเล่ม 1. พระนคร : คุรุสภา, 2506.

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. เที่ยวเมืองพระร่วง. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2519.

สมัย สุทธิธรรม. สารคดีชุดถิ่นทองของไทย : อุตรดิตถ์. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2545.

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม, ธรณีสัณฐานประเทศไทยจากห้วงอวกาศ กรุงเทพฯ : สำนักงาน, 2538.

สมเด็จฯกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์. จดหมายระยะทางไปพิษณุโลก. พระนคร : โรงพิมพ์พระจันทร์, 2506.

สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. เที่ยวตามทางรถไฟ. พระนคร : โรงพิมพ์สุทธิสารการพิมพ์, 2509.

สมเด็จฯกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. สาส์นสมเด็จ เล่ม 20. กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา, 2505.

หวน พินธุพันธ์. อุตรดิตถ์ของเรา. พิษณุโลก : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พิษณุโลก, 2521.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี