รองเท้านารี กล้วยไม้ป่าที่ปลูกเลี้ยงและหายาก ต่างชาติเริ่มสะสมสร้างธุรกิจลูกผสม

news_0123_1

รองเท้านารี เป็นกล้วยไม้ชนิดหนึ่งที่มูลนิธิโครงการหลวงได้นำมาทดลองปลูกเพื่อให้เกษตรกรชาวไทยภูเขามีรายได้ทดแทนการปลูกฝิ่น เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2544  เป็นกล้วยไม้ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและเป็นที่นิยมของคนทั่วไป บ้านเราเป็นถิ่นกำเนิดของรองเท้านารีพื้นเมืองหลายชนิด แต่ปัจจุบันมีการตัดไม้ทำลายป่า มีการเก็บจากป่ามาจำหน่าย นับวันจึงมีโอกาสสูญพันธุ์ได้ในที่สุด มูลนิธิโครงการหลวงจึงมีแนวคิดในการปลูกจิตสำนึกของการอนุรักษ์กล้วยไม้ไทย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงเกิดโครงการรวบรวมกล้วยไม้รองเท้านารีพันธุ์แท้และลูกผสมหลายสายพันธุ์ ตลอดจนหาวิธีการผสมพันธุ์ใหม่เพื่อให้เกษตรกรจำหน่ายในท้องตลาดได้อย่างถูกต้อง ไม่เกิดปัญหาระหว่างประเทศ

news_0123_2

นายวชิระ  เกตุเพชร นักวิชาการไม้ดอก สถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์ เล่าว่า รองเท้านารีเป็นกล้วยไม้ที่ปลูกเลี้ยงยากมากที่สุดเท่าที่เคยมีประสบการณ์ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้มานาน แต่ละสายพันธุ์มีความต้องการแตกต่างกัน ทั้งในด้านวัสดุปลูก ความเข้มของแสง การระบายน้ำ อุณหภูมิ ฯลฯ ดังนั้น ผู้เลี้ยงจะต้องมีความเข้าใจและสังเกตตลอดระยะเวลาการปลูก จากการดำเนินงานที่ผ่านมาได้ทดลองขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด สามารถขยายได้ทั้งในธรรมชาติและในสภาพปลอดเชื้อในห้องปฏิบัติการ วิธีตามธรรมชาติทำได้ง่ายด้วยการนำฝักที่สุกแก่เต็มที่แล้ว นำเมล็ดโรยบนโคนต้น เมล็ดจะใช้เวลางอกประมาณ  2 ปีขึ้นไป เพราะต้องอาศัยอาหารจากบริเวณโคนต้นแม่ รองเท้านารีที่เพาะเมล็ดตามธรรมชาติหลายชนิด เช่น อินทนนท์ลาว คางกบลาว เหลืองปราจีน และรองเท้านารีฝาหอย

news_0123_3

วิธีการขยายพันธุ์อีกวิธีหนึ่งคือ การแบ่งกอและแยกกอ ช่วยให้เพิ่มปริมาณของต้นและเป็นวิธีการที่เกษตรกรปฏิบัติอยู่ โดยแยกต้นใหม่ออกจากต้นแม่และให้มีรากติดอยู่ หรือนำต้นแม่วางบนวัสดุปลูกและมีความชื้น จะช่วยให้เกิดต้นใหม่ได้ ควรคำนึงถึงความสมบูรณ์ของต้นแม่ด้วย รองเท้านารีที่สามารถแยกกอเป็นต้นเดี่ยวได้ เช่น ขาวสตูล เหลืองพังงา ฝาหอย เหลืองปราจีน ส่วนรองเท้านารีที่แบ่งกอเป็นต้นเดี่ยวแล้วอาจไม่ออกดอกและตายได้ง่าย เช่น เมืองกาญจน์ เหลืองกระบี่ เหลืองเลย และไม้กลุ่มอินทนนท์ วิธีการแบ่งกอและแยกกอนี้ ควรกระทำระหว่างเดือนมีนาคม –เมษายน เพราะรองเท้านารีอยู่ในช่วงการพักตัวตามธรรมชาติ ต้นไม่อวบน้ำ ไม่เกิดโรคเน่าได้ง่าย

วัสดุปลูก รองเท้านารีสามารถใช้วัสดุปลูกได้หลากหลายชนิด เช่น อิฐมอญทุบ ถ่าน หินเกล็ด ออสมันดา ใบก้ามปูผุ ปุ๋ยหมักจากเศษไม้ผุหรือปุ๋ยคอก ดินขุยไผ่ เปลือกถั่วลิสงหมัก หรือโฟมหักเป็นชิ้นเล็ก ๆ จากการทดลองใช้เครื่องปลูกที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของรองเท้านารีลูกผสมฝาหอย และลูกผสมคางกบ พบว่าเครื่องปลูกที่ดีคือ ส่วนผสมของเปลือกถั่ว ทราย ถ่าน ทำให้มีจำนวนใบ ความยาวใบ ความกว้างของใบ และความกว้างของทรงพุ่มมากที่สุด ขณะเดียวกันหากปลูกรองเท้านารีคางกบในกระถาง โดยใช้ถ่านแกลบและไม้ผุ ทำให้ลำต้นที่ความแข็งแรงและสม่ำเสมอ  หากปลูกรองเท้านารีคางกบลงในแปลงโดยใช้ขุยมะพร้าว ใบไม้ผุ กิ่งไม้ผุ และรองพื้นด้วยพลาสติก จะเจริญเติบโตได้ดีตามลำดับคือ คางกบปักษ์ใต้ คางกบคอแดง คางกบลาว สุขะกุล และคางกบเขมร อย่างไรก็ตามผู้ที่เพาะเลี้ยงกล้วยไม้รองเท้านารี จะต้องเปลี่ยนวัสดุปลูกทุกปีหรือเมื่อวัสดุปลูกยุบ หรือเมื่อต้นที่แตกกอจนแน่นกระถาง พร้อมกับสังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงของต้นไม้ด้วย

news_0123_4

การปฏิบัติและเก็บเกี่ยว รองเท้านารีเป็นกล้วยไม้ที่ชูช่อก้านดอกขึ้นสูง ความจำเป็นต้องดัดดอกหรือค้ำต้น บางพันธุ์ดอกใหญ่ทำให้โน้มลงทำให้ไม่สวยงามหรือสง่าผ่าเผย ควรใช้ไม้หรือลวดดัดก้านให้ตั้งตรง  การดัดจะอยู่ในช่วงที่ดอกใกล้จะบาน พร้อมกับการจัดมุมดอกให้เหมาะสม อย่างไรก็ตาม การปลูกเลี้ยงรองเท้านารีเพื่อตัดอดอกขายนั้นไม่เหมาะสมกับเกษตรกรชาวไทยภูเขา ดอกของรองเท้านารีที่ตัดขายและแช่ไว้ในแจกัน สามารถอยู่ได้ประมาณ  1 เดือน หากขายดอกที่ติดลำต้นในกระถาง จะได้ราคาดีกว่าและมีอายุการไว้ดอกนานถึง 3 เดือน

news_0123_6 news_0123_5

สรุป การส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไทยภูเขาปลูกกล้วยไม้รองเท้านารีในกระถาง มีความเหมาะสมมากที่สุด เพราะใช้พื้นที่น้อย ประหยัดวัสดุปลูกและหาได้ง่ายในท้องถิ่น สภาพแวดล้อมช่วยให้การเจริญเติบโตอย่างสม่ำเสมอ การขยายพันธุ์ด้วยวิธีธรรมชาติสามารถปฏิบัติเองได้ ใช้เวลาเท่ากับการขยายพันธุ์ในห้องปฏิบัติการ รองเท้านารีพันธุ์พื้นเมืองมีราคาสูง ราคาในท้องตลาดใช้วิธีนับยอด เฉลี่ยยอดละ 100 – 200 บาท หากส่งเสริมให้ปลูกในกระถางที่มีดอกและหน่อประมาณ 2 3 หน่อ ราคาจำหน่ายทั้งกอในกระถางประมาณ 500 – 1,000 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้น จำนวนดอก และความหายากของพันธุ์ อีกทั้งในขณะนี้ชาวไต้หวันเริ่มให้ความสนใจต่อการปลูกรองเท้านารีเพื่อนำไปพัฒนาเป็นรองเท้านารีลูกผสมมากขึ้น เพราะลูกผสมปลูกเลี้ยงได้ง่าย ออกดอกง่าย เติบโตได้เร็วกว่าพันธุ์แท้ ในเขตพื้นที่ภาคเหนือที่มีการพัฒนารองเท้านารีทั้งพันธุ์พื้นเมืองและพันธุ์ลูกผสมอยู่ที่โครงการพัฒนาดอยตุง จังหวัดเชียงราย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เชียงใหม่และที่สถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์

By seefoonlamour

พรรณไม้งามพระนามราชสกุลมหิดล ตอนที่ ๖

Anniversary

 ณ เดือนตุลาคม เดือนแห่งวันพระราชสมภพของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี แม้ระยะเวลาจะผ่านมาเนินนานร่วมศตวรรษ เรื่องราวและภาพในความทรงจำจากคน จากรุ่นสู่รุ่น ต่างถูกถ่ายทอด เรียงร้อยเรื่องงราวในสมเด็จย่า ผู้ซึ่งได้รับพระราชสมัญญานามว่า “แม่ฟ้าหลวง”ตามความเข้าใจที่ว่า “แม่ของในหลวงเสด็จมาจากฟ้า” เนื่องจากพระองค์เสด็จเยี่ยมราษฎรชาวไทยภูเขาที่มีชีวิตความเป็นอยู่ลำบากในถิ่นทุรกันดาร และพระราชทานความช่วยเหลือด้านการสาธารณสุข เด็กๆ จะได้รับพระราชทานของเล่น เสื้อผ้า และอาหาร พระราชทานหมอรักษา พระราชทานอาชีพ โดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ซึ่งเปรียบเสมือนสมเด็จย่าเสด็จลงมาจากฟากฟ้าเพื่อปัดเป่าทุกข์ และช่วยให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น เมื่อเสด็จกลับก็เสด็จกลับโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง พวกเขาจะยืนเฝ้าส่งเสด็จมองตามเฮลิคอปเตอร์ที่ค่อย ๆ หายไปในท้องฟ้า พระองค์ท่านทรงเป็นผู้มีพระราชจริยวัตร และพระราชกรณียกิจที่ทรงบำเพ็ญมาตลอด พระชนมชีพล้วนงดงาม สะอาด บริสุทธิ์ และเป็นประโยชน์คุณูปการอันอเนกอนันต์ต่อประชาชน และประเทศชาติ ทรงเป็นแบบฉบับอันประเสริฐในการดำเนินชีวิต เราเหล่าพสกนิกรชาวไทยทุกคนต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเมื่อคราสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จสู่สวรรคาลัย ในวันอังคารที่ 18 กรกฎาคม 2538 ยังความวิปโยค โศกเศร้าอาลัยอย่างสุดซึ้งแก่พสกนิกรทั้งภายใน และภายนอกราชอาณาจักร นับเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่หลวงของชาติ แต่พระเกียรติคุณ และพระมหากรุณาธิคุณยังสถิตถาวรอยู่ในความทรงจำของพสกนิกรตลอดนิรันดร์กาล

          พรรณไม้งามพระนามราชสกุลมหิดล ตอนนี้ขอนำเสนอความงดงามของกล้วยไม้รองเท้านารีพันธุ์ลูกผสมในพระนามสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อเทิดพระเกียรติ ให้ได้รู้จัก ร่วมกันส่งเสริม และอนุรักษ์พรรณไม้งามที่ทรงคุณค่าให้อยู่คู่แผ่นดิน และเรื่องราวของพระองค์ท่านสืบต่อไป

           “กล้วยไม้งามพระนาม สังวาลย์            ขนานขานลูกผสมรองเท้านารี

นครินทราบรมราชชนนี                                      สง่าศรีสมเด็จย่าคณานันต์

พริ้นเซสสังวาลย์ งดงามยิ่ง                            พรรณไม้มิ่งนามมงคลหลากสีสัน

ดอกงามเด่น ซีรีเบรชั่น นั้น                              อีกสายพันธุ์ แอนนิเวอร์ซารี่

ฉลองวาระพระราชสมภพ                                   เก้ารอบครบปีนักษัตรร้อยแปดปี

สมพระเกียรติแม่ฟ้าหลวงพระบรามี                   คู่ถิ่นนี้เคียงแผ่นดินสยามไทย”

 

รองเท้านารีดอยตุง

Paphiopedilum charlesworthii (Rolfe) Pfitzer

          กล้วยไม้ ใบรูปขอบขนาน ค่อนข้างหนา ปลายแหลมหยักเป็น 2 แฉกตื้น ผิวใบด้านบนสีเขียว มีจุดประสีม่วงเป็นแถวตามแนวเส้นใบค่อนไปทางโคนใบ ด้านล่างมีจุดประสีม่วงกระจาย ใบบิดโค้งเล็กน้อย และกางออกเกือบอยู่ในแนวระนาบ ดอกเดี่ยวบานเต็มที่กว้าง 5 – 7 เซนติเมตร ก้านดอกสูง 12 – 15 เซนติเมตร สีม่วงคล้ำ มีขนสั้นนุ่ม กลีบบนแผ่นกว้างสีชมพูอมม่วง สานเป็นลายร่างแห กลีบดอกรูปขอบขนาน สีน้ำตาลอมเหลือง และมีเส้นสีน้ำตาลแดง สานเป็นลายตามยาว กลีบกระเป๋าเป็นถุงลึก สีน้ำตาลแดง

          พบขึ้นบนเขาหินปูน ตามชายแดนไทย – เมียนมาร์ ทางภาคเหนือ จีนตอนใต้ และพม่า ที่ระดับความสูง 1,200 – 1,700 เมตร ออกดอกช่วงเดือนสิงหาคม – ธันวาคม

 

รองเท้านารีดอยตุง “สังวาลย์”

Paphiopedilum charlesworthii (Rolfe) Pfitzer ‘Sangwan NO.1’ AM/ RHT

          รองเท้านารีดอยตุง (Paphiopedilum charlesworthii (Rolfe) Pfitzer) มีถิ่นกำเนิดในประเทศพม่า มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง โครงการพัฒนาดอยตุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้นำมาปลูกเลี้ยง และคัดเลือกพันธุ์จนได้ต้นที่มีลักษณะพิเศษ คือ หลังคากว้าง สีจัด และมีฟอร์มกลมสมมาตรสวยงาม ถือเป็นรองเท้านารีดอยตุงที่สวยที่สุดต้นหนึ่ง ได้รับรางวัลเกียรตินิยมจากสมาคมพฤกษชาติแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ทางโครงการพัฒนาดอยตุงฯ จึงจดทะเบียนตั้งชื่อว่า “สังวาลย์” ตามพระนามเดิมของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

           กล้วยไม้กึ่งรากอากาศ เจริญเติบโตทางด้านข้าง ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับทั้งสองข้าง รูปขอบขนาน แผ่นใบเรียวยาว สีเขียวเข้ม ปลายแฉกออกเป็นสองแฉก โคนใบมีจุดประสีแดงอมน้ำตาล ก้านดอกสีน้ำตาลเข้มชูขึ้นมาเหนือใบ แต่ละช่อมี 1 ดอก ดอกสีชมพูสด กระเป๋าสีน้ำตาลอมแดง กลีบบนกว้างแผ่ตึง ออกดอกช่วงเดือนสิงหาคม – ธันวาคม

            รองเท้านารีชุดสังวาลย์ เป็นกล้วยไม้รองเท้านารีดอยตุงที่ตั้งชื่อใหม่โดยมีพระนามของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเป็นชื่อประจำต้น เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จย่าให้อยู่คู่กับรองเท้านารีดอยตุงที่พระองค์ท่านทรงโปรด ซึ่งได้รับการคัดเลือกพันธุ์จากโครงการพัฒนาดอยตุงจนได้ต้นที่มีลักษณะดีเด่น และได้รับรางวัลเกียรตินิยมจากสมาคมพฤกษชาติแห่งประเทศไทยฯ จำนวน 2 ต้น ได้แก่ รองเท้านารีดอยตุง ต้นสังวาล #1 เกียรตินิยมระดับ 3 (Highly Commended Certificate) ในปี 2540 และต้นสังวาลย์ #2 เกียรตินิยมระดับ 2 (Award of Merit) ในปี 2547 ปัจจุบันมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ได้ปรับปรุงพันธุ์ลูกผสมรองเท้านารีดอยตุงใหม่ขึ้น 3 ชุดดังนี้

 

รองเท้านารีพริ้นเซสสังวาลย์

Paphiopedilum ‘Princess Sangwan’

          รองเท้านารีลูกผสมระหว่างต้นแม่พันธุ์รองเท้านารีช่องอ่างทอง (Paphiopedilum godefroyae var. angthong) และต้นพ่อพันธุ์รองเท้านารีดอยตุง (Paphiopedilum charlesworthii (Rolfe) Pfitzer) ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนตั้งชื่อรองเท้านารีลูกผสมพันธุ์ใหม่เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2547 เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

          กล้วยไม้ขนาดกลาง เจริญเติบโตทางด้านข้าง ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับทั้งสองข้าง รูปขอบขนาน แผ่นใบค่อนข้างหนา พื้นใบสีเขียวอมเทา มีจุดประสีเขียวจางๆ ใต้ใบสีเขียว โคนต้นและโคนใบมีจุดประสีชมพูกระจายอยู่เล็กน้อย ดอกทรงกลมมีตั้งแต่สีชมพูอมขาวจนถึงสีชมพู โล่สีขาว ดอกออกปีละ 1 – 2 ครั้ง ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้น

 

รองเท้านารีสังวาลย์เซเลเบรชั่น ปีที่ 108

Paphiopedilum ‘Sangwan Celebration 108th

          รองเท้านารีลูกผสมระหว่างต้นแม่พันธุ์รองเท้านารีดอยตุง (Paphiopedilum charlesworthii (Rolfe) Pfitzer) และต้นพ่อพันธุ์รองเท้านารีโฮลดีนิอาย (Paphiopedilum ‘Holdenii’) ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนตั้งชื่อรองเท้านารีลูกผสมพันธุ์ใหม่เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2551 ในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ 108 ปี ครบ 9 รอบปีนักษัตรของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

          กล้วยไม้ขนาดกลาง เจริญเติบโตทางด้านข้าง ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับสองข้าง รูปขอบขนาน แผ่นใบเรียวยาวสีเขียวเข้ม มีลายจุดประสีขาวจางๆ ใต้ใบสีเขียว มีจุดประสีชมพูกระจายเล็กน้อย โคนต้นมีปื้นสีแดงอมน้ำตาล ก้านดอกสีน้ำตาลเข้มชูขึ้นเหนือใบ ช่อละ 1 ดอก กระเป๋าสีแดง กลีบบนสีชมพูอมแดง กลีบข้างสีแดงพาดด้วยริ้วสีน้ำตาลเข้ม ดอกออกปีละ 1 – 2 ครั้ง ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้น

 

รองเท้านารีสังวาลย์แอนนิเวอร์ซารี ปีที่ 108

Paphiopedilum ‘Sangwan Anniversary 108th

          รองเท้านารีลูกผสมระหว่างต้นแม่พันธุ์รองเท้านารีดอยตุง (Paphiopedilum charlesworthii (Rolfe) Pfitzer) และต้นพ่อพันธุ์รองเท้านารีโรซีตา (Paphiopedilum ‘Rosita’) ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนตั้งชื่อรองเท้านารีลูกผสมพันธุ์ใหม่เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2551 ในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ 108 ปี ครบ 9 รอบปีนักษัตรของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

               กล้วยไม้กึ่งรากอากาศ เจริญเติบโตทางด้านข้าง ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับสองข้าง รูปขอบขนาน ปลายใบหยักเว้าตื้นๆ เป็นสองแฉก แผ่นใบสีเขียวเข้ม ใต้ใบสีเขียว โคนใบและโคนต้นมีปื้นสีแดงอมน้ำตาล ก้านดอกสีน้ำตาลเข้มชูขึ้นเหนือใบ ช่อละ 1 ดอก สีชมพูสด กระเป๋าสีน้ำตาลอมแดงเรื่อ เส้าเกสรสีขาว กลีบข้างสีแดงพาดด้วยริ้วสีน้ำตาลเข้ม กลีบบนสีชมพูอมแดง ดอกออกปีละ 1 – 2 ครั้ง ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้น

                การปลูกเลี้ยงกล้วยไม้รองเท้านารีชุด “สังวาลย์” นั้น เป็นกล้วยไม้ที่ชอบวัสดุปลูกที่ระบายน้ำ และเก็บความชื้นได้ดี แสงแดดรำไร หากปลูกเลี้ยงในที่ที่มีอากาศค่อนข้างเย็น และความชื้นสูง จะเลี้ยงง่ายโตเร็ว ขยายพันธุ์โดยการแยกหน่อ และเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ทั้งนี้ทางอุทยานหลวงราชพฤกษ์จะได้นำกล้วยไม้รองเท้านารีพระนามสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มาปลูกเลี้ยง และจัดแสดงให้นักท่องเที่ยวที่สนใจต่อไป

By seefoonlamour

รองเท้านารีในประเทศไทย

ตามรายงานในประเทศไทยพบรองเท้านารีชนิดต่าง ๆ ดังนี้

By seefoonlamour

แผนการดำเนินงาน

กรอบแนวทางการดำเนินงานในระยะ 5 ปีที่ 4 (ตุลาคม 2549 – กันยายน 2554)

เพื่อให้การดำเนินงานสนองพระราชดำริเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และสอดรับการนโยบายหลักของโครงการ อพ.สธ. คณะกรรมการโครงการ อพ.สธ. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีการทบทวนแผนแม่บทเพื่อปรับปรุงกรอบแนวทางการดำเนินงานในระยะ 5 ปีที่ 4 (ตุลาคม 2549 – กันยายน 2554) ดังนี้
1 กรอบการเรียนรู้ทรัพยากร
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กำหนดพื้นที่เพื่อใช้ในการศึกษาการเรียนรู้ทรัพยากร ณ ศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่หริภุญไชย จังหวัดลำพูน เพื่อเป็นการปกปักพันธุกรรมพืชที่มีอยู่ สำรวจเก็บรวบรวมพันธุกรรมพืช และปลูกรักษาพันธุกรรมพืช
2 กรอบการใช้ประโยชน์
ผลที่ได้จากการสำรวจเก็บรวบรวมพันธุกรรมพืช สามารถนำมาขยายผล โดยนำไปสู่การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุกรรมพืช การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลพันธุกรรมพืช และการพัฒนาพันธุ์พืชเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไปในอนาคต
3 กรอบการสร้างจิตสำนึก
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นสถาบันการศึกษา มีภารกิจในการส่งเสริมและสร้างจิตสำนึกให้นักศึกษาและบุคคลทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนที่อยู่โดยรอบพื้นที่อนุรักษ์ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช และการนำพันธุกรรมพืชไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ

By seefoonlamour

อนุกรมวิธานย่อย

สกุลรองเท้านารีแบ่งออกเป็นหลายสกุลย่อย (subgenus) จากนั้นจึงแบ่งออกเป็นหมู่ (section) และหมู่ย่อย (subsection) ลงไปอีก

  • สกุลย่อย Parvisepalum
  • สกุลย่อย Brachypetalum
  • สกุลย่อย Polyantha
    • หมู่ Mastigopetalum
    • หมู่ Polyantha
    • หมู่ Mystropetalum
    • หมู่ Stictopetalum
    • หมู่ Paphiopedilum
    • หมู่ Seratopetalum
    • หมู่ Cymatopetalum
    • หมู่ Thiopetalum
  • สกุลย่อย Sigmatopetalum
    • หมู่ Spathopetalum
      • หมู่ย่อย Macronidium
      • หมู่ย่อย Spathopetalum
    • หมู่ Blepharopetalum
    • หมู่ Mastersianum
    • หมู่ Punctatum
    • หมู่ Barbata
      • หมู่ย่อย Lorapetalum
      • หมู่ย่อย Chloroneura
    • หมู่ Planipetalum
    • หมู่ Venustum
  • สกุลย่อย Cochlopetalum
By seefoonlamour

ลักษณะทั่วไปของกล้วยไม้รองเท้านารี

บางชนิดเกาะอาศัยอยู่ตามต้นไม้ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นพวกที่ขึ้นอยู่ตามพื้นดินหรือซอกหินที่มีต้นไม้ใบหญ้าเน่าตายทับถมกัน เจริญงอกงามในที่โปร่ง ไม่ชอบที่รกทึบ แสงแดดส่องถึง รองเท้านารี เป็นกล้วยไม้ประเภทแตกกอเช่นเดียวกับ หวาย คัทลียา และซิมบิเดียม ต้นที่แท้จริงเรียกว่า ไรโซม (เหง้า)

ต้นหนึ่งหรือกอหนึ่งจะประกอบด้วยต้นย่อยหลายต้น รากออกเป็นกระจุกที่โคนต้นและมักจะทอดไปทางด้านราบมากกว่าหยั่งลึกลงไป หน่อใหม่จะแตกจากตาที่โคนต้นเก่า มีลำต้นสั้นมาก แต่ไม่มีลำลูกกล้วย ใบมีขนาดรูปร่างต่างกันไป บางชนิดมีใบยาว บางชนิดใบตั้งชูขึ้น บางชนิดใบทอดขนานกับพื้น บางชนิดใบมีลาย บางชนิดใบไม่มีลายแต่เป็นสีเดียวเรียบๆ การออกดอกจะออกที่ยอด มีทั้งชนิดออกดอกเป็นดอกเดี่ยว และออกดอกเป็นช่อ กลีบดอกชั้นนอกกลีบบนมีขนาดใหญ่สะดุดตา ส่วนกลีบชั้นนอกคู่ล่างจะเชื่อมติดกันและมีขนาดเล็กลงจนส่วนปากบังมิดหรือเกือบมิด กลีบคู่ในซึ่งมีลักษณะเหมือนกันกางออกไปทั้ง 2 ข้างซ้ายขวาของดอก ส่วนกลีบในกลีบที่ 3 จะเปลี่ยนเป็น “กระเปาะ” คล้ายรูปรองเท้า

กระเปาะนี้มีหน้าที่รับน้ำฝนตกลงไปเพื่อชะล้างเกสรตัวผู้ไปตัดกับแผ่นเกสรตัวเมีย กล้วยไม้สกุลนี้จะมีทั้งเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน แต่จะมีเส้าเกสรแตกต่างจากกล้วยไม้ทั่วๆ ไป คือ ที่ปลายสุดของเส้าเกสร แทนที่จะเป็นอับเรณูกลับเป็นแผ่นบางๆ ซึ่งทางพฤกษาศาสตร์ถือเป็นเกสรที่เปลี่ยนรูปร่างไปใช้การไม่ได้ เรียกส่วนนี้ว่า “สตามิโนด” สำหรับเกสรตัวผู้ที่ใช้การได้มีอยู่ 2 ชุด โดยจะอยู่ถัดต่ำลงมาทั้ง 2 ข้างของเสาเกสรข้างละ 1 ชุด

ในแต่ละชุดจะมีอับเรณูลักษณะเป็นก้อนแข็งอยู่ 2 อัน ถัดต่ำลงมาจากส่วนนี้อีกจะเป็นยอดเกสรตัวเมียซึ่งเป็นแอ่งลึกลงไปยึดติดกับเส้าเกสร (ปกติส่วนนี้จะถูกหูกระเป๋าโอบหุ้มเอาไว้จนมิด) ภายในมีน้ำเมือกเหนียวสำหรับยืดเกสรตัวผู้ที่ตกลงไปในแอ่ง รังไข่อยู่ตรงส่วนของก้านดอก ภายในรังไข่ยังไม่มีการพัฒนาเป็นไข่อ่อน จนกระทั่งผสมเกสรแล้วจึงเกิดไข่อ่อนในรังไข่ รังไข่จะกลายเป็นฝักเมื่อฝักแก่จะแตกเมล็ดสามารถเจริญงอกงามเป็นต้นใหม่ได้ โดยธรรมชาติของกล้วยไม้สกุลรองเท้านารีทุกชนิด เมื่อออกดอกแล้วก็จะตายไป แต่ก่อนตายจะแตกหน่อทดแทน ซึ่งหน่อนี้ก็จะเจริญงอกงามเป็นต้นใหม่ต่อไป

By seefoonlamour

กล้วยไม้สกุลรองเท้านารี Paphiopedilum

fehea9eaf79b9ahdfke9k

            กล้วยไม้รองเท้านารี (Lady’s Slipper) เป็นกล้วยไม้สกุล Paphiopedilum (พาฟิโอเพดิลัม) มีชื่อเรียกอื่นๆ อีกหลายชื่อ เช่น รองเท้านาง รองเท้าแตะนารี หรือ บุหงากะสุต ในภาษามาเลเซีย อันหมายถึงรองเท้าของสตรี เนื่องจากกลีบดอก หรือที่เรียกว่า “กระเป๋า” มีรูปร่างคล้ายกับรองเท้าของสตรีและรองเท้าไม้ของชาวเนเธอแลนด์ กระเป๋าของรองเท้านารีมีรูปร่างลักษณะและสีสันแตกต่างกันไปตามชนิดพันธุ์
            กล้วยไม้รองเท้านารี มีแหล่งกำเนิดอยู่ในเขตอบอุ่น และเขตร้อนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่อินเดีย ฟิลิปปินส์ พม่า มาเลเซีย และในประเทศไทยซึ่งพบกล้วยไม้รองเท้านารีขึ้นอยู่ในป่าทั่วๆ ไป บางชนิดเกาะอาศัยอยู่ตามต้นไม้ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นพวกที่ขึ้นอยู่ตามพื้นดินหรือซอกหินที่มีต้นไม้ใบหญ้าเน่าตายทับถมกัน เจริญงอกงามในที่โปร่ง ไม่ชอบที่รกทึบ แสงแดดส่องถึง
            รองเท้านารี เป็นกล้วยไม้ประเภทแตกกอเช่นเดียวกับ หวาย คัทลียา และซิมบิเดียม ต้นที่แท้จริงเรียกว่า ไรโซม (เหง้า) ต้นหนึ่งหรือกอหนึ่งจะประกอบด้วยต้นย่อยหลายต้น รากออกเป็นกระจุกที่โคนต้นและมักจะทอดไปทางด้านราบมากกว่าหยั่งลึกลงไป หน่อใหม่จะแตกจากตาที่โคนต้นเก่า มีลำต้นสั้นมาก แต่ไม่มีลำลูกกล้วย ใบมีขนาดรูปร่างต่างกันไป บางชนิดมีใบยาว บางชนิดใบตั้งชูขึ้น บางชนิดใบทอดขนานกับพื้น บางชนิดใบมีลาย บางชนิดใบไม่มีลายแต่เป็นสีเดียวเรียบๆ การออกดอกจะออกที่ยอด มีทั้งชนิดออกดอกเป็นดอกเดี่ยว และออกดอกเป็นช่อ กลีบดอกชั้นนอกกลีบบนมีขนาดใหญ่สะดุดตา ส่วนกลีบชั้นนอกคู่ล่างจะเชื่อมติดกันและมีขนาดเล็กลงจนส่วนปากบังมิดหรือเกือบมิด กลีบคู่ในซึ่งมีลักษณะเหมือนกันกางออกไปทั้ง 2 ข้างซ้ายขวาของดอก ส่วนกลีบในกลีบที่ 3 จะเปลี่ยนเป็น “กระเปาะ” คล้ายรูปรองเท้า กระเปาะนี้มีหน้าที่รับน้ำฝนตกลงไปเพื่อชะล้างเกสรตัวผู้ไปตัดกับแผ่นเกสรตัวเมีย กล้วยไม้สกุลนี้จะมีทั้งเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน แต่จะมีเส้าเกสรแตกต่างจากกล้วยไม้ทั่วๆ ไป คือ ที่ปลายสุดของเส้าเกสร แทนที่จะเป็นอับเรณูกลับเป็นแผ่นบางๆ ซึ่งทางพฤกษาศาสตร์ถือเป็นเกสรที่เปลี่ยนรูปร่างไปใช้การไม่ได้ เรียกส่วนนี้ว่า “สตามิโนด” สำหรับเกสรตัวผู้ที่ใช้การได้มีอยู่ 2 ชุด โดยจะอยู่ถัดต่ำลงมาทั้ง 2 ข้างของเส้าเกสรข้างละ 1 ชุด ในแต่ละชุดจะมีอับเรณูลักษณะเป็นก้อนแข็งอยู่ 2 อัน ถัดต่ำลงมาจากส่วนนี้อีกจะเป็นยอดเกสรตัวเมียซึ่งเป็นแอ่งลึกลงไปยึดติดกับเส้าเกสร (ปกติส่วนนี้จะถูกหูกระเป๋าโอบหุ้มเอาไว้จนมิด) ภายในมีน้ำเมือกเหนียวสำหรับยืดเกสรตัวผู้ที่ตกลงไปในแอ่ง รังไข่อยู่ตรงส่วนของก้านดอก ภายในรังไข่ยังไม่มีการพัฒนาเป็นไข่อ่อน จนกระทั่งผสมเกสรแล้วจึงเกิดไข่อ่อนในรังไข่ รังไข่จะกลายเป็นฝักเมื่อฝักแก่จะแตกเมล็ดสามารถเจริญงอกงามเป็นต้นใหม่ได้

By seefoonlamour