www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




คลังความรู้ > ภูมิศาสตร์ > มัธยมปลาย

บทเรียนออนไลน์ วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง วิกฤตการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2016-11-21 23:52:02

ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้



 

 

 

 

1. ความสัมพันธ์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
    ทรัพยากรธรรมชาติแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
    1. ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป (non-renewable resource) เช่น น้ำมัน แก๊สธรรมชาติ แร่ต่าง ๆ
    2. ทรัพยากรที่ใช้แล้วเกิดทดแทน (renewable resource) เช่น สัตว์ ป่าไม้ ดิน
    3. ทรัพยากรที่ใช้แล้วไม่หมดแต่มีการหมุนเวียน (flow renewable resource) เป็นวัฏจักร เช่น น้ำ อากาศ แสงอาทิตย์

    สิ่งแวดล้อม (environment) หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเรา ทั้งสิ่งที่มีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต สิ่งแวดล้อมแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
     1. สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ (natural environment) หรือทรัพยากรธรรมชาติ นำมาใช้ในการพัฒนาความเป็นอยู่ของมนุษย์ให้ดีขึ้น
     2. สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น (man-made environment) คือ สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ในการดำเนินชีวิต
    ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีความสัมพันธ์กัน ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งย่อมมีผลต่อสิ่งอื่น ๆ มนุษย์จึงต้องรู้จักใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างถูกต้อง ไม่ใช้จนเกินขอบเขตและความจำเป็น

 

 

 

 

 

 

 

 

2. วิกฤตการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย
    2.1 วิกฤตการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติ
       2.1.1 ทรัพยากรป่าไม้
       ป่าไม้ (forest) ประโยชน์ทางตรงที่มนุษย์ได้รับจากป่าไม้ คือ การนำมาใช้ประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต ส่วนประโยชน์ทางอ้อม คือ ช่วยปรับสภาพอากาศให้บริสุทธิ์ ช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ ช่วยลดอันตรายที่เกิดจากภัยธรรมชาติและมลพิษ และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า
       ป่าไม้ในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท โดยมีลักษณะภูมิประเทศ ลักษณะดิน และภูมิอากาศ เป็นปัจจัยที่ทำให้ป่าแต่ละประเภทแตกต่างกัน ดังนี้
          1. ป่าไม่ผลัดใบ (evergreen forests) เป็นป่าที่มีอุณหภูมิแบบป่าฝนร้อนชื้น (tropical rain forests climate) จำแนกได้เป็น 6 ชนิด ได้แก่ ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าสน ป่าพรุหรือป่าบึง และป่าชายหาด
          2. ป่าผลัดใบ (deciduous forests) เป็นป่าที่อยู่ในเขตภูมิอากาศที่ค่อนข้างแห้งแล้งหรือเขตภูมิอากาศแบบสะวันนา (savanna climate) จำแนกได้เป็น 3 ชนิด ได้แก่ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าหญ้า
       ในปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้ในประเทศไทยลดลงจากอดีตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อนำมาสร้างที่อยู่อาศัย พื้นที่เพาะปลูก และการทำสัมปทานป่าไม้ นอกจากนี้การเกิดไฟป่าซึ่งเกิดจากฝีมือมนุษย์และธรรมชาติก็เป็นสาเหตุที่ทำให้พื้นที่ป่าไม้ลดลง
       การลดลงของพื้นที่ป่าไม้นี้ก่อให้เกิดผลกระทบที่สำคัญ ดังนี้
       1. ผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อป่าไม้ถูกทำลาย ทำให้เกิดความร้อนและความแห้งแล้งซึ่งส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ และสัตว์ป่าไม่มีที่อยู่อาศัย

 

 

 

 

 

 

 

 

       2. ผลกระทบทางเศรษฐกิจ เมื่อป่าไม้ถูกทำลาย เศรษฐทรัพย์ จะเกิดการขาดแคลน
       3. ผลกระทบทางด้านสังคม หลายฝ่ายอาจแย่งกันถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน จนเกิดความไม่สงบและมีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ
       การแก้ไขวิกฤตการณ์การลดลงของพื้นที่ป่าไม้และผลกระทบที่เกิดขึ้นมีแนวทางดำเนินการดังนี้
       1. การปลูกป่าทดแทน ดำเนินการได้ 2 ลักษณะ ดังนี้
          1) การปลูกป่าในบริเวณพื้นที่ป่าไม้เสื่อมโทรม
          2) การปลูกป่าในพื้นที่ที่ยังไม่เคยเป็นป่า
       2. การป้องกันการเกิดไฟป่า
       3. การใช้มาตรการทางกฎหมายในการคุ้มครองป่าไม้
       4. การให้การศึกษาและสร้างจิตสำนึกให้แก่ประชาชน

 


       2.1.2 ทรัพยากรดิน
       ดิน (soil) มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เนื่องจากเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชผล ซึ่งเป็นที่มาของปัจจัย 4 แต่ในปัจจุบันประเทศไทยประสบวิกฤตการณ์เกี่ยวกับทรัพยากรดิน คือ ปัญหาความเสื่อมโทรมของดินและปัญหาสภาพดินที่ไม่เหมาะสมแก่การเพาะปลูก ซึ่งเกิดจากการกระทำของมนุษย์และธรรมชาติ
          1. ปัญหาความเสื่อมโทรมของดินจากการพังทลายของหน้าดิน สาเหตุที่มาจากภัยธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม ทำให้เกิดการพังทลายของหน้าดิน ส่วนสาเหตุที่มาจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งทำให้หน้าดินถูกน้ำฝนชะล้างได้ง่าย การเพาะปลูกพืชตามแนวลาดเทของพื้นที่ เมื่อเกิดฝนตกเป็นเวลานานอาจทำให้ดินพังทลายลงมาได้ง่าย
          2. ความเสื่อมโทรมของดินจากการสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ เช่น การปลูกพืชชนิดเดียวกันติดต่อเป็นเวลานาน การปลูกพืชโดยขาดการบำรุงรักษาดิน การใช้ปุ๋ยเคมีติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน การใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช และการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า
          3. ปัญหาสภาพดินที่ไม่เหมาะสมแก่การเพาะปลูก สภาพดินที่เกิดปัญหาในประเทศไทยที่สำคัญ ได้แก่ ปัญหาดินเค็มและปัญหาดินเปรี้ยว
             ดินเค็ม (saline soil) หมายถึง ดินที่มีปริมาณเกลือคลอไรด์ แมกนีเซียมซัลเฟต และโพแทสเซียมปะปนอยู่ในเนื้อดินสูง โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภาคที่ประสบปัญหาดินเค็มมากที่สุด รองลงมาคือ ภาคกลาง และบริเวณชายฝั่งทะเล นอกจากนี้มนุษย์ยังมีส่วนสำคัญที่ทำให้ดินเค็มแพร่กระจายออกไป เช่น การลักลอบสูบน้ำใต้ดินเพื่อทำเกลือสินเธาว์ การทำนากุ้งโดยการสูบน้ำทะเลไปใส่บ่อ
             ดินเปรี้ยว (acid soil) เป็นดินที่ขาดธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช และมีธาตุอาหารบางชนิดมากเกินความจำเป็นจนเป็นอันตรายต่อพืช ในเนื้อดินจะพบสารสีเหลืองฟางที่เรียกว่า จาโรไซท์ (jarosite) ในประเทศไทยส่วนใหญ่พบดินเปรี้ยวในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่าง แถบบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกเฉียงใต้ และชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของภาคใต้

       การแก้ไขปัญหาการเสื่อมคุณภาพของดินในประเทศไทยมีแนวทางในการปฏิบัติที่สำคัญ เช่น
       1. การแก้ไขปัญหาการชะล้างพังทลายของดิน เช่น การปลูกพืชคลุมดินหรือพืชตระกูลถั่ว รวมทั้งรัฐบาลควรส่งเสริมให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการปลูกป่า 

 

 

 

 

 

 

 

 

       2. การแก้ไขปัญหาดินเค็ม มีแนวทางปฏิบัติดังนี้
          1) คำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดจากการดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำของภาครัฐ
          2) ควบคุมการทำนาเกลือสินเธาว์และการทำบ่อเลี้ยงกุ้งให้อยู่ในพื้นที่จำกัด
          3) สนับสนุนให้ประชาชนปลูกพืชที่ทนความเค็มและช่วยลดความเค็ม หรือปลูกไม้ป่าที่ช่วยฟื้นฟูสภาพดิน
       3. การแก้ปัญหาดินเปรี้ยว ทำโดยการเติมปูนขาวหรือหว่านปูนมาร์ล พร้อมกับใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยชีวภาพ จะช่วยลดความเป็นกรดลงได้
       4. การแก้ไขปัญหาดินขาดความอุดมสมบูรณ์ โดยการป้องกันมิให้เกิดไฟป่า ปลูกพืชหมุนเวียน และบำรุงรักษาดินโดยการใส่ปุ๋ย

 


       2.1.3 ทรัพยากรน้ำ
       แหล่งน้ำที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์เป็นน้ำจืดจากแหล่งต่าง ๆ และน้ำทะเลดังนี้
          1. แหล่งน้ำผิวดิน ได้แก่ น้ำจากแม่น้ำ คลอง บึง ห้วย หนอง ตลอดจนอ่างเก็บน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์มากที่สุด
          2. แหล่งน้ำใต้ดิน การใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำใต้ดินต้องลงทุนสูง โดยการขุดบ่อต่อท่อลงไปในดิน หากมีระดับไม่ลึกมาก สามารถใช้แรงงานคนนำน้ำขึ้นมาใช้ได้ หากมีระดับลึกมากจำเป็นต้องใช้เครื่องยนต์สูบน้ำขึ้นมา
          3. แหล่งน้ำจากทะเล เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อการเกิดวงจรน้ำในโลกและการดำเนินชีวิตของมนุษย์ เนื่องจากเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญ และสามารถแปลงน้ำทะเลเป็นน้ำจืดเพื่ออุปโภคบริโภคได้อีกด้วย
          4. แหล่งน้ำจากฟ้า เป็นแหล่งน้ำสำคัญในการอุปโภคบริโภคของมนุษย์อีกชนิดหนึ่ง แต่ในปัจจุบันสภาพแวดล้อมมีมลพิษ ทำให้น้ำฝนมีสารปนเปื้อนที่เป็นอันตราย
       ปัจจุบันวิกฤตการณ์เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำในประเทศไทย มีดังนี้
          1. ความไม่สม่ำเสมอของปริมาณน้ำฝน พื้นที่บางแห่งมีฝนทิ้งช่วงนานกว่าปกติทำให้เกิดความแห้งแล้ง แต่เมื่อถึงฤดูฝนก็มีน้ำมากจนเกินพอดี ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมรุนแรง
          2. การเกิดน้ำเน่าเสีย การเกิดน้ำเน่าเสียมีสาเหตุสำคัญมาจากการทิ้งสิ่งปฏิกูลและสารพิษลงในแหล่งน้ำ ซึ่งตัวการสำคัญคือครัวเรือนและโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นปัญหาที่รุนแรงและเป็นอันตรายต่อประชาชนโดยตรง เพราะเป็นแหล่งเพาะและแพร่เชื้อโรคหลายชนิด นอกจากนี้ยังทำให้สัตว์น้ำลดจำนวนหรือสูญพันธุ์ไป และส่งผลเสียต่อการเกษตรเพราะทำให้ผลผลิตลดลง

 

 

 

 

 

 

 


          3. ปริมาณน้ำที่จะใช้ประโยชน์มีปริมาณลดลง ปริมาณน้ำฝนบางช่วงมีน้อยเกินไปทำให้ขาดน้ำ แต่ในบางช่วงมีน้ำมากเกินไปทำให้เกิดอุทกภัย จึงไม่สามารถใช้ประโยชน์จากน้ำได้เต็มที่
       แนวทางในการแก้ไขวิกฤตการณ์ด้านทรัพยากรน้ำ มีดังนี้
       1. การควบคุมการใช้น้ำโดยตราเป็นกฎหมาย
       2. การพัฒนาแหล่งน้ำ รักษาต้นน้ำ และที่เก็บน้ำให้คงคุณภาพอยู่ได้
       3. การบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงแม่น้ำลำคลอง
       4. การสร้างระบบส่งน้ำที่มีประสิทธิภาพ
       5. การสร้างเขื่อนหรือทำนบเพื่อสำรองน้ำดิบไว้ใช้ในยามขาดแคลน

 

 

       2.1.4 ทรัพยากรแร่
       แร่ (mineral) หมายถึง ธาตุหรือสารประกอบอนินทรีย์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีโครงสร้างภายในที่เป็นระเบียบ มีสูตรเคมีและสมบัติอื่น ๆ ที่แน่นอนหรือเปลี่ยนแปลงได้ในวงจำกัด หากจำแนกตามประโยชน์ทางเศรษฐกิจแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
          1. แร่ประกอบหิน (rock-forming minerals) หมายถึง แร่ที่เป็นส่วนประกอบของหิน พบได้ในหินทั่วไป แร่ที่เป็นสายแร่ยาวจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ดี แต่ปัจจุบันก็มีการนำหินซึ่งมีแร่เป็นองค์ประกอบมาใช้ประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรมก่อสร้างและอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เช่น หินปูน หินดินดาน หินอ่อน
          2. แร่เศรษฐกิจ (economic minerals) หรือแร่อุตสาหกรรม (industrial minerals) หมายถึง แร่ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจหรือมีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ จำแนกตามสภาพแร่และการนำไปใช้ได้หลายกลุ่ม เช่น กลุ่มแร่ที่ใช้ในอุตสาหกรรมซีเมนต์ กลุ่มแร่ที่ใช้ในอุตสาหกรรมเซรามิก กลุ่มแร่รัตนชาติ กลุ่มแร่เชื้อเพลิง
       วิกฤตการณ์เกี่ยวกับทรัพยากรแร่ที่สำคัญมีอยู่ 2 ประการ คือ ปัญหาจากปริมาณลดลง เนื่องจากมีประชากรเพิ่มขึ้นและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้มีการนำทรัพยากรมาใช้มากขึ้น และปัญหาที่เป็นผลกระทบจากกรรมวิธีการผลิตที่ไม่เหมาะสม เช่น การทำเหมืองแร่แล้วไม่กลบดินไว้ในสภาพเดิม ทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ การฉีดแร่แล้วปล่อยให้น้ำเสียไปทำลายพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้เกิดสารปะปนกลายเป็นมลพิษ ซึ่งการแก้ไขมีแนวทางในการปฏิบัติดังนี้
          1. การใช้เครื่องมือและวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการทำเหมืองแร่เพื่อให้ได้แร่ที่มีคุณภาพ
          2. การรักษาคุณภาพและปริมาณมิให้เกิดความเสียหาย โดยอาจนำเทคนิคหรือวิทยาการสมัยใหม่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
          3. การใช้อย่างรู้คุณค่าและประหยัด คือ สิ้นเปลืองน้อยแต่ได้ประโยชน์มาก
          4. การหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่
          5. การลดปริมาณการใช้แร่ที่หายาก โดยการนำสิ่งอื่นมาใช้ทดแทน
          6. การสำรวจหาแหล่งเพิ่มเติม

 

 

       2.1.5 ทรัพยากรสัตว์ป่า
       สัตว์ป่าเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มนุษย์พึ่งพาอาศัยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยมนุษย์ใช้ประโยชน์จากสัตว์ป่าหลายด้าน เช่น ล่าเป็นอาหาร นำมาทำเครื่องนุ่งห่ม นำส่วนต่าง ๆ มาประดิษฐ์เป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องประดับในด้านเศรษฐกิจ มนุษย์นำชิ้นส่วนต่าง ๆ ของสัตว์ป่ามาซื้อขายแลกเปลี่ยนกันทั้งภายในและภายนอกประเทศ ในด้านสิ่งแวดล้อม สัตว์ป่าเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศที่ช่วยสร้างความสมดุล แต่ปัจจุบันสัตว์ป่ามีจำนวนลดลงหรือสูญพันธุ์ไป เนื่องจากมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องดังนี้
          1. วิกฤตการณ์ของสัตว์ป่าในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นการลดลงของจำนวนสัตว์ป่าแทบทุกชนิด และปัญหาการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าหายาก ซึ่งมีสาเหตุมาจากการทำลายป่าและการล่าของมนุษย์
          2. วิกฤตการณ์ของสัตว์น้ำจืด ปัจจุบันสัตว์น้ำจืดมีจำนวนลดลงมากและสัตว์น้ำบางชนิดต้องสูญพันธุ์ไป เนื่องจากการจับที่ผิดวิธีและผิดฤดูกาล และสาเหตุที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การเกิดน้ำเน่าเสีย
          3. วิกฤตการณ์ของสัตว์น้ำเค็ม สัตว์น้ำเค็มมีจำนวนลดลงและบางชนิดได้สูญพันธุ์ไปเช่นเดียวกับสัตว์น้ำจืด สาเหตุสำคัญมาจากการจับสัตว์น้ำเค็มมากเกินไปและจับอย่างผิดวิธี ขณะเดียวกันก็มีการทำลายป่าชายเลนซึ่งเป็นที่เพาะพันธุ์และแหล่งอนุบาลตัวอ่อนของสัตว์น้ำ ส่วนการทิ้งน้ำเสียจากชุมชน แหล่งท่องเที่ยว และโรงงานอุตสาหกรรมลงในทะเล และการเกิดน้ำเสียในแม่น้ำสายหลักของประเทศ ทำให้น้ำเสียไหลลงสู่อ่าวไทยอันเป็นแหล่งทรัพยากรสัตว์น้ำทะเลที่สำคัญของประเทศ
       นอกจากนี้สาเหตุจากธรรมชาติก็มีส่วนทำให้จำนวนสัตว์ป่าลดลง เช่น ไฟป่า อุทกภัย และสภาพความแห้งแล้งการแก้ไขวิกฤตการณ์ดังกล่าวมีแนวทางในการปฏิบัติ ดังนี้
          1. การสร้างจิตสำนึกในเรื่องคุณค่าของทรัพยากรสัตว์ป่าให้ประชาชน
          2. การใช้มาตรการทางกฎหมายในการป้องกันและปราบปรามผู้ที่กระทำผิด เช่น การออกกฎหมายห้ามล่า หรือจับสัตว์บางชนิด บางฤดูกาล
          3. การจัดการด้านถิ่นที่อยู่ของสัตว์ให้เหมาะสมปลอดภัย เช่น การจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า สถานีวิจัยหรือเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า
          4. การส่งเสริมให้มีการศึกษาและเพาะเลี้ยงเพื่อขยายพันธุ์อย่างถูกวิธี

 

 


   2.2 วิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม
       2.2.1 การเกิดมลพิษ
       ปัญหามลพิษที่สำคัญ ได้แก่
          1. มลพิษทางอากาศ เกิดจากการที่สภาพอากาศมีมวลสารเจือปนอยู่มาก ซึ่งเมื่อสารเหล่านี้เข้าไปสะสมในร่างกายมนุษย์และสัตว์ จะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ซึ่งสาเหตุการเกิดมลพิษทางอากาศมาจาก 2 แหล่งใหญ่ ๆ ได้แก่ แหล่งจากธรรมชาติ เช่น ลมที่พัดเอาควันไฟป่าหรือฝุ่นละอองมา และแหล่งกิจกรรมของมนุษย์ ได้แก่ จากยานพาหนะที่เครื่องยนต์เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ โรงงานอุตสาหกรรม และจากกิจกรรมอื่น ๆ เช่น กิจกรรมด้านการเกษตรจากการฉีดพ่นยาฆ่าแมลง การทิ้งขยะมูลฝอยและของเสียลงแหล่งน้ำ
          2. มลพิษทางเสียง มีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากแหล่งกำเนิดเสียงที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น เสียงจากยานพาหนะ เสียงจากเครื่องกลที่ใช้ในการก่อสร้าง เสียงจากเครื่องขยายเสียง นอกจากนี้แหล่งกำเนิดเสียงตามธรรมชาติก็อาจเป็นอันตรายได้ เช่น เสียงภูเขาไฟระเบิด เสียงฟ้าร้อง ฟ้าผ่า
          3. มลพิษทางน้ำ เกิดจากมีสารพิษหรือสารปนเปื้อนปะปนอยู่ในน้ำจนไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ผลกระทบที่เกิดจากมลพิษทางน้ำ ทำให้ระบบนิเวศในแหล่งน้ำเปลี่ยนแปลง สัตว์น้ำตายและอาจสูญพันธุ์ เป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดมลพิษทางน้ำส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์
          4. มลพิษทางดิน สาเหตุที่ทำให้เกิดมลพิษในดินส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การใช้ปุ๋ยเคมีเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดดินเปรี้ยว การปลูกพืชเพียงชนิดเดียวติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้การใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืชก็ทำให้เกิดสารตกค้างขึ้น ทำให้ดินเป็นพิษ รวมทั้งการทิ้งขยะที่ทำจากสารเคมี หรือสิ่งของที่ย่อยสลายยากลงดินก็ทำให้เกิดมลพิษขึ้นได้
       ผลกระทบจากมลพิษในดินยังส่งผลให้เกิดมลพิษทางน้ำและทางอากาศตามมาด้วย เช่น หากหน้าดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์และแห้ง เมื่อลมพัดจะกลายเป็นฝุ่นละอองทำให้เกิดมลพิษทางอากาศได้ หรือดินที่มีสารพิษตกค้างเมื่อฝนตกน้ำฝนจะชะล้างหน้าดินและพัดพาสารเคมีไหลลงสู่แหล่งน้ำจนทำให้เกิดมลพิษทางน้ำ

       แนวทางสำคัญที่ใช้เป็นหลักในการแก้วิกฤตการณ์ด้านมลพิษ มีดังนี้
          1. การเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับปัญหาของแหล่งกำเนิด ผลกระทบ รวมทั้งแนวทางในป้องกัน แก้ไข
          2. การใช้กฎระเบียบและมาตรการทางกฎหมาย
          3. การกำหนดเขตการใช้ที่ดินหรือกำหนดผังเมือง
          4. การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจดำเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

 

 

       2.2.2 การเกิดวิกฤตการณ์ของแหล่งท่องเที่ยว
       แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาเสื่อมโทรมที่เกิดขึ้นกับแหล่งท่องเที่ยว และการช่วยรักษาให้แหล่งท่องเที่ยวมีสภาพและลักษณะที่เหมาะสม มีดังนี้
          1. การกำหนดเขตพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว จะช่วยให้ชุมชนหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบมีความชัดเจนที่จะกำหนดแนวทางในการพัฒนา โดยเฉพาะการพัฒนาที่อาจส่งผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวนั้น ๆ
          2. การใช้มาตรการทางกฎหมายในการจัดการแหล่งท่องเที่ยว จะช่วยให้แหล่งท่องเที่ยวไม่ได้รับผลกระทบจนทำให้เกิดสภาพเสื่อมโทรม
          3. การสำรวจและบูรณะแหล่งท่องเที่ยว จะช่วยให้แหล่งท่องเที่ยวมีสภาพที่เหมาะสมต่อการท่องเที่ยวสืบไป
          4. การสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์แหล่งท่องเที่ยวแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง เป็นวิธีการที่ช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ของแหล่งท่องเที่ยวที่ได้ผลอย่างยั่งยืน

 

 

 

 

 

 

 

 

3. วิกฤตการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของโลก
   วิกฤตการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของโลกแบ่งออกได้ 3 กลุ่มที่สำคัญ คือ
   กลุ่มที่ 1 ปัญหาการลดลงของทรัพยากรธรรมชาติ เกิดจากการที่มนุษย์นำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ประโยชน์โดยขาดความระมัดระวัง ไม่มีการอนุรักษ์ และไม่คำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
   กลุ่มที่ 2 ปัญหาการเกิดมลพิษ เป็นผลมาจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของมนุษย์ เช่น การปล่อยน้ำเสียออกจากบ้านเรือน ชุมชน หรือโรงงาน ซึ่งผลจากการกระทำดังกล่าวจะย้อนกลับมาสร้างอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งต่าง ๆ ในโลกอย่างร้ายแรง
   กลุ่มที่ 3 ปัญหาจากการทำลายระบบนิเวศ การนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศ จึงทำให้ระบบนิเวศแปรปรวน เช่น การเกิดความแห้งแล้งในภูมิภาคต่าง ๆ ที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น

 

 

   3.1 สาเหตุการเกิดวิกฤตการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของโลก
       3.1.1 การเพิ่มจำนวนของประชากรโลก
       การเพิ่มขึ้นของประชากร ส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนที่ทำกิน ประชากรในเขตชนบทต้องอพยพเข้ามาอยู่ในเขตเมือง มีการแปรรูปทรัพยากรธรรมชาติเพื่อนำมาใช้ประโยชน์มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับเปลี่ยนสภาพของพื้นที่ป่าไม้ โดยการบุกรุกทำลายเพื่อเปลี่ยนแปลงพื้นที่เป็นเขตที่อยู่อาศัยและใช้เป็นพื้นที่เพื่อทำการเกษตรกรรม ทำให้พื้นที่ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอากาศบริสุทธิ์และเป็นแหล่งที่ช่วยรักษาความสมดุลของระบบนิเวศมีจำนวนลดลง

 


       3.1.2 การใช้วิทยาการและเทคโนโลยีที่ทันสมัย
       จำนวนประชากรในโลกที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ความต้องการสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพิ่มขึ้นตามไปด้วย และมีความต้องการใหม่ ๆ ที่ไม่สิ้นสุด ทำให้เกิดปัญหาจากการใช้วิทยาการและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อเพิ่มการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งการใช้วิทยาการและเทคโนโลยีมีทั้งผลในด้านบวกและด้านลบ เช่น การสร้างเขื่อนเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านชลประทานและผลิตกระแสไฟฟ้า แต่การก่อสร้างเขื่อนทำให้สูญเสียพื้นที่ป่าไม้ หรือการที่มนุษย์นำวิทยาการและเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมให้สามารถผลิตสินค้าและบริการตอบสนองความต้องการของมนุษย์ที่เพิ่มมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรมก็เป็นตัวการสำคัญที่มีส่วนในการทำลายสภาพแวดล้อม ทำให้เกิดมลพิษทางน้ำ มลพิษทางอากาศ รวมทั้งมลพิษในดิน

 

 

 

 

 

 

   3.2 วิกฤตการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของโลกในปัจจุบัน
   องค์การสหประชาชาติได้จัดให้มีการประชุมในหัวข้อว่าด้วยสิ่งแวดล้อมมนุษย์ ซึ่งผลจากการประชุมได้มีการจัดตั้งโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme–UNEP) ขึ้น และกำหนดให้วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) โดยวิกฤตการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ประเทศทั่วโลกมีแนวคิดและยอมรับว่าเป็นปัญหาวิกฤตการณ์เร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไขร่วมกัน มีดังนี้



       3.2.1 วิกฤตการณ์เกี่ยวกับการตัดไม้ทำลายป่า
       การที่ประชากรเพิ่มจำนวนขึ้นส่งผลให้พื้นที่ป่าถูกบุกรุกเพื่อเสาะแสวงหาที่ดินทำกินในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การทำไร่เลื่อนลอย การค้าซุง ทำให้พื้นที่ป่าไม้สำคัญหลายแห่งของโลกถูกทำลายลงอย่างรวดเร็ว จากการสำรวจพบว่าทั่วโลกมีการทำลายพื้นที่ป่าไม้โดยเฉลี่ยรวมกันวันละประมาณ 390 ตารางกิโลเมตร โดยเฉพาะพื้นที่ป่าไม้ในเขตร้อน และประเทศที่มีการตัดไม้ทำลายป่าส่วนใหญ่เป็นประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งการตัดไม้ทำลายป่านี้เป็นวิกฤตการณ์หนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร แหล่งผลิตแก๊สออกซิเจนแหล่งใหญ่ของโลก เป็นการทำลายหน้าดินและปุ๋ยธรรมชาติ นอกจากนี้ยังส่งผลให้สัตว์และสิ่งมีชีวิตหลายชนิดสูญพันธุ์ไปจากโลก

 


       3.2.2 วิกฤตการณ์เกี่ยวกับความเสื่อมโทรมของแหล่งน้ำจืด
       ประเทศที่กำลังพัฒนา มักมีปัญหาแหล่งน้ำเสื่อมโทรม โดยสาเหตุมาจากการทำลายป่าไม้เพื่อใช้พื้นที่ทำการเกษตร ส่งผลให้เกิดการชะล้างพังทลายของดินลงสู่แหล่งน้ำ แหล่งน้ำจึงขุ่นข้นและตื้นเขิน รวมทั้งกิจกรรมทางการเกษตรและอุตสาหกรรม ทำให้มีการปล่อยทิ้งของเสียลงสู่แหล่งน้ำ จึงไม่เหมาะที่จะนำน้ำมาใช้เพื่ออุปโภคบริโภค และเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ

 


       3.2.3 วิกฤตการณ์เกี่ยวกับความเสื่อมโทรมของดิน
       ความเสื่อมโทรมของดินที่ปรากฏให้เห็นในหลายภูมิภาคของโลก ได้แก่ สภาพความแห้งแล้งและความแข็งกระด้างของดิน หรือดินที่ถูกกัดเซาะจนหน้าดินขาดความอุดมสมบูรณ์ สภาพความเสื่อมโทรมของดินที่เกิดขึ้นดังกล่าวมีสาเหตุสำคัญมาจากการใช้ประโยชน์จากดินที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม และใช้ดินผิดประเภทผิดวิธี เช่น มีการขุดตักหน้าดินที่เหมาะสำหรับการเพาะปลูกไปถมที่ หรือนำพื้นที่ที่เหมาะสำหรับใช้เป็นที่เพื่อทำการเกษตรไปใช้เป็นพื้นที่สำหรับก่อสร้างที่อยู่อาศัยหรือตั้งโรงงาน

 


       3.2.4 วิกฤตการณ์เกี่ยวกับการขยายตัวของพื้นที่แห้งแล้ง
       การขยายตัวของพื้นที่แห้งแล้งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการลดลงของพื้นที่ป่าไม้ โดยเฉพาะป่าดิบชื้นหรือป่าฝน ส่งผลให้ภูมิอากาศแปรปรวน ความชื้นในบรรยากาศลดลง และหากเกิดฝนตกน้ำฝนก็จะชะล้างหน้าดินอย่างรุนแรง ส่งผลให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ กลายสภาพเป็นพื้นที่แห้งแล้ง

 


       3.2.5 วิกฤตการณ์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ
          1. ปัญหาภาวะโลกร้อน (global warming) เกิดจากอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและความสมดุลทางธรรมชาติ ซึ่งมีสาเหตุสำคัญจากแก๊สเรือนกระจก (greenhouse gases)

 

 

 

 

 

 

 

 

          ปกติในชั้นบรรยากาศประกอบด้วยแก๊สโอโซน ไอน้ำ และแก๊สต่าง ๆ เมื่อดวงอาทิตย์แผ่รังสีมายังโลกส่วนหนึ่งที่เป็นรังสีอัลตราไวโอเลตจะถูกบรรยากาศชั้นโอโซนดูดซับไว้ รังสีบางส่วนจะสะท้อนกลับหรือกระจายไปในบรรยากาศ ส่วนรังสีที่ตกมาถึงพื้นโลกจะถูกพื้นโลกดูดซับไว้ แล้วสะท้อนออกไปในรูปของความร้อนหรือรังสีอินฟราเรด ซึ่งเมื่อสะท้อนไปในชั้นบรรยากาศ แก๊สเรือนกระจกจะดูดซับรังสีอินฟราเรดบางส่วนไว้ ทำให้อุณหภูมิของโลกเหมาะสมต่อการดำรงชีวิต และเกิดการหมุนเวียนของวงจรธรรมชาติให้เป็นไปอย่างปกติ แต่เมื่อปริมาณแก๊สเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศเพิ่มมากขึ้น จะส่งผลให้มีการสะสมของรังสีอินฟราเรดไว้ในชั้นบรรยากาศจนเกินสมดุล ผิวโลกจะสะท้อนรังสีได้น้อยลง ทำให้ชั้นบรรยากาศและพื้นผิวโลกมีระดับอุณหภูมิสูงขึ้น เรียกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ว่า ปรากฏการณ์เรือนกระจก (green house effect) และในปัจจุบันการเพิ่มปริมาณของแก๊สเรือนกระจกมีอัตราสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากกิจกรรมของมนุษย์ โดยการตัดไม้ทำลายป่า ถือว่าเป็นตัวการสำคัญที่สุดในการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศก๊าซเรือนกระจกทั้ง 4 ชนิด มีสมบัติและแหล่งที่มาดังตารางต่อไปนี้

 

 

 

 

 

 

          โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNEP ได้คาดการณ์ไว้ว่า หากยังมีการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกขึ้นสู่บรรยากาศอย่างต่อเนื่อง ภายในสิ้นคริสต์ศตวรรษหน้า อุณหภูมิของโลกจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1.3 องศาเซลเซียส ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำในทะเลหรือมหาสมุทรสูงกว่าระดับปกติ และใน พ.ศ. 2573 น้ำทะเลจะสูงขึ้น 20 เซนติเมตร และเพิ่มเป็น 65 เซนติเมตร ใน พ.ศ. 2643 เนื่องจากการละลายของภูเขาน้ำแข็งที่บริเวณขั้วโลกและที่เกาะกรีนแลนด์ เมื่อน้ำทะเลสูงขึ้นจะส่งผลให้เกาะบางเกาะที่อยู่ในมหาสมุทรหรือชายขอบของทวีปที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นจะถูกน้ำทะเลท่วมจมหายได้
          การสูงขึ้นของระดับน้ำทะเลยังส่งผลกระทบต่อความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศชายฝั่งทะเลและมหาสมุทร ทำให้พื้นที่ป่าชายเลนลดลง เนื่องจากถูกน้ำทะเลกัดเซาะ และปัญหาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่สูงขึ้นยังส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำบนพื้นทวีป ทำให้มีการระเหยของน้ำจากแหล่งน้ำมากขึ้น เกิดการขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคและบริโภค
          ภาวะโลกร้อนและปรากฏการณ์เรือนกระจกยังมีผลกระทบในด้านอื่น ๆ อีก เช่น ทำให้มนุษย์เป็นมะเร็งผิวหนังมากขึ้น ทำให้พื้นที่และสภาพลมฟ้าอากาศไม่เหมาะแก่การทำการเกษตร และมีการระบาดของแมลงศัตรูพืชมากขึ้น ทำให้เกิดความแห้งแล้ง ดินเค็ม น้ำท่วม เป็นผลให้แหล่งกำเนิดและถิ่นที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์ถูกทำลายไปเรื่อย ๆ จนพืชและสัตว์บางชนิดสูญพันธุ์ไป

 


          2. ปัญหาชั้นโอโซนของโลกถูกทำลาย เนื่องจากมีการนำสารซีเอฟซีมาใช้ในกิจกรรมหลายอย่าง ซึ่งสารดังกล่าวเมื่อลอยสู่บรรยากาศชั้นสแตรโทสเฟียร์จะถูกทำลายโดยรังสีอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์ ทำให้เกิดการปล่อยคลอรีนในรูปของอนุมูลคลอไรด์ออกมาและไปทำลายแก๊สโอโซน ทำให้มีปริมาณแก๊สโอโซนน้อยลง และไม่สามารถดูดซับหรือกั้นรังสีอัลตราไวโอเลตได้มากเท่าที่ควร รังสีนี้จึงผ่านเข้ามายังพื้นโลกมากขึ้น เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม ดังนี้
             1) ผลกระทบต่อมนุษย์ เช่น ทำให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนัง
             2) ผลกระทบต่อพืชและสัตว์ เช่น ทำให้โปรตีนในถั่วเหลืองลดลง แพลงก์ตอนในทะเลถูกทำลาย
             3) เมื่อรังสีอัลตราไวโอเลตทำปฏิกิริยากับไอเสียรถและอากาศเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม จะเกิดแก๊สโอโซนซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต

 


       3.2.6 วิกฤตการณ์เกี่ยวกับพลังงาน
       การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรโลกทำให้มีการนำพลังงานที่ไม่สามารถสร้างทดแทนได้ เช่น น้ำมัน ถ่านหิน มาใช้เพื่อการผลิตและการบริการมากขึ้น ซึ่งแหล่งทรัพยากรพลังงานที่กระจายอย่างไม่เท่าเทียมกันในพื้นที่ต่าง ๆ ประกอบกับความไม่สมดุลในการใช้ทรัพยากรพลังงานของประเทศต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนมีความสัมพันธ์และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤตการณ์พลังงานขึ้นในโลก โดยในปัจจุบันได้มีการนำพลังงานที่ใช้แล้วไม่หมด แต่มีการหมุนเวียนได้มาใช้ทดแทนพลังงานเชื้อเพลิงที่กำลังเกิดวิกฤตการณ์ เช่น พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์

 



แหล่งที่มา : สำนักพิมพ์ วัฒนาพานิช www.wpp.co.th