Full Version ดอกไม้เทศและดอกไม้ไทยต้นที่ 15. เอนอ้าขน

เว็บไซต์ ทองไทยแลนด์ ดอทคอม > Article

ดอกไม้เทศและดอกไม้ไทยต้นที่ 15. เอนอ้าขน Date : 2015-02-16 21:59:01

ดอกไม้เทศและดอกไม้ไทย

ต้นที่15 เอ็นอ้าขน

โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ


ชื่อสามัญ  เอนอ้าขน โคลงเคลงหิน(เลย)  เฒ่านั่งฮุ่ง (เชียงใหม่)

ชื่อวิทยาศาสตร์  Osbeckia stellata Buch.-Ham. ex Ker Gawl.

ชื่อวงศ์  MELASTOMATACEAE


ถิ่นกำเนิดและการกระจายพันธุ์

           ในต่างประเทศ พบกระจายพันธุ์ตั้งแต่เนปาล ภูฏาน อินเดีย จีนตอนใต้ ไต้หวัน เวียดนาม กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ มาเลเซีย อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์

           ในประเทศไทย พบกระจายพันธุ์ห่างๆ แทบทุกภาค ขึ้นตามที่โล่ง ทุ่งหญ้าตามที่ราบจนถึงสันเขาที่ชื้นแฉะ ระดับความสูงจนถึง 2,000 เมตร 


ลักษณะประจำพันธุ์

           ต้น  เป็นไม้พุ่มสูง 1-3 เมตร ลำต้นเป็นเหลี่ยม มีขนนุ่ม  


           ใบ   เป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่ รูปรี หรือแกมรูปหอก กว้าง 4-5 ซม. ยาว 9-11 ซม. ปลายแหลม โคนกลม มีเส้นใบออกจากโคนใบไปจรดปลายใบ 5-7 เส้น มีขนแข็งเอนทั้งสองด้าน ก้านใบยาว 0.3-0.5 มม.

           ดอก  ออกเป็นช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง หรือซอกใบ หรือตามปลายยอด  ดอกมีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ 4 กลีบ ถ้วยรองดอกยาว 1.4-1.8 ซม. มีติ่งปลายเป็นขนแข็ง กลีบดอกรูปไข่กลับ ยาว 1.6-2.8 ซม. กลีบเลี้ยงเชื่อมกัน ปลายแยกเป็นพูรูปสามเหลี่ยม ยาว 3-5มม. กลีบดอกสีชมพูยาว 16-28 มม. เกสรเพศผู้มี 8 อัน ยาวเท่าๆกัน อับเรณูยาว 1-1.5 ซม. จะงอยยาวและเป็นรูปตัวเอส สีเหลือง รังไข่สั้นกว่าถ้วยรองดอก เกลี้ยง หรือที่ปลายมีขนสั้นราบ ออกดอกตลอดปี

            ผล แห้ง แบบแคปซูล รูปคนโทยาว 1.5-2 ซม. เมล็ดเล็กเป็นก้นหอย


การขยายพันธุ์  เพาะเมล็ด ดินร่วนซุย อุดมสมบูรณ์ ระบายน้ำดี

การใช้ประโยชน์ 

           1.ปลูกเป็นไม้ประดับ  พุ่มเตี้ย ตัดแต่งง่าย สามารถปลูกลงแปลงตกแต่งสถานที่ได้ทั่วไป เป็นไม้ในถิ่นกำเนิด สามารถนำไปปลูกประดับในเขตป่าอนุรักษ์ได้   


         2.ปลูกเป็นพืชสมุนไพร  มีสรรพคุณดังนี้คือ       

             ราก  ในจีน น้ำชงจากรากเป็นยาเจริญอาหาร ยาแก้โรคบิด และโรคหนองใน

             ผสมกับสมุนไพรอื่น   ต้มน้ำดื่มแก้โรคบิด


             ลำต้น น้ำต้มจากส่วนของลำต้น มีฤทธิ์ขยาย หลอดลมในสัตว์ทดลอง

             ใบ  ในอินโดจีนชาวเขาใช้น้ำต้มจากใบแห้ง เพื่อระงับอาการปวดฟัน โดยอมไว้ในปาก หรือใช้กลั้วปาก



ความคิดเห็น